คุยกับ บรูซ ทิฟต์ – อุษณี นุชอนงค์

1.

เมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา เราและ วิจักขณ์ พานิช บก.หนังสือ Already Free ที่รู้จักในภาคภาษาไทยที่ชื่อ “เธอคืออิสรภาพ” มีโอกาสได้คุยกับบรูซ ทิฟต์ (Bruce Tift) ผู้เขียนหนังสือเล่มที่รู้สึกว่าเปิดโลกข้างในของเราอย่างมากในแง่การชี้ให้เห็นความคู่ขนานของการทำงานและการฝึกใจในบริบทของชีวิตทุกวันที่ลุ่มๆ ดอน ๆ ของเรา หนังสือสร้างความเข้าใจว่าเรากำลังปฏิบัติต่อตัวเองอย่างไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้นอย่างไร และเรามีทางเลือกอะไรบ้าง

นัดนี้เป็นนัดอุ่นเครื่องก่อนที่บรูซจะมาคุยกันนักอ่านชาวไทยในอีก 2 อาทิตย์ [เสาร์ที่ 20 พ.ย.] ระหว่างรอให้บก. เข้าซูม เราโชว์หนังสือให้บรูซดู เธอถามว่าภาษาไทยใช้ชื่ออะไร เราตอบไปว่า “เธอคืออิสรภาพ” แปลตรงๆ ตามตัวภาษาอังกฤษคือ You Are Freedom บรูซยิ้มๆ ยังไม่ทันคุยไรต่อ บก. ก็โผล่มา

เรานึกไม่ออกว่าจะคุยอะไรกับเค้า ประสาคนประหม่าเวลาคุยกับคนไม่รู้จักแต่ข้างในก็ไม่ได้เต้นตึกๆ มากมาย ลึกๆ คิดเอาเองว่ารู้จักเค้าจากการ stalking เค้าทางออนไลน์เล็กๆ คือมีวิดีโอไหน บทความใดของบรูซ (ซึ่งจริงๆ ก็มีไม่มาก เพราะเขาไม่ได้มองตัวเองว่าเป็น “นักเขียน” หรือ “ธรรมาจารย์”) เราก็ไปฟัง ไปอ่านมาจนหมด แถมเรามีเพื่อนที่เป็นผู้รับบริการ(ใช้ศัพท์ที่อยู่ในหนังสือ จริงๆ คือคนที่ไปนั่งพูดให้บรูซ ซึ่งเป็นนักจิตบำบัดค่อยๆ แคะปมที่ยุ่งเหยิงให้คลี่คลาย) อยู่เมืองเดียวกันกับเธอเพื่อนคนนี้มักคุยถึงบรูซบ่อยๆ เพราะมีบรูซคอยบำบัดจิตให้ เนื่องจากเราชอบหนังสือเล่มนี้ของเค้ามาก พอเพื่อนพูดถึงทีไร ก็หูผึ่งประมาณว่าโอย ใช่ๆ นี่ๆ เค้าพูดอย่างงี้ในหนังสือเลยนะ เพื่อนคนนี้ก็คอยอัพเดทความเคลื่อนไหวของบรูซให้ฟัง

หลังจากเริ่มต้นเซสชั่นแบบไม่ค่อยเป็นโล้เป็นพาย โดยบอกเค้าไปว่าเซสชั่นอุ่นเครื่องนี้เพื่อจะเตี๊ยมกับบรูซวันจริงจะเป็นอย่างไร ซึ่งจริงๆ เราก็บอกเค้าไปแล้วทางอีเมล์ บก. เรา เธอก็ต่อยหนัก หมัดรัวแนะนำตัวอย่างพรั่งพรูว่าเธอเป็นใคร มาจากไหน ทำอะไรบ้างสัมพันธ์กับใคร เนื่องจากเรารู้จักบก. เราอยู่แล้ว เราเลยฟังแบบข้ามๆ

2.

พลางนึกในใจว่าเออ ทำไมเราถึงไม่พูดอะไรที่ฟังดูฉลาดๆ แบบบก. เราบ้าง พลางก็เริ่มนึกออกล่ะว่าจะพูดอะไรกับเค้า ครั้นพอมีโอกาส เราก็เลยบอกเค้าไปว่าที่อยากแปลหนังสือเล่มนี้เพราะมันพูดจากับเรามาก เราสนใจปฏิบัติวัชรยาน บรูซเคยเป็นลูกศิษย์ของเชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช (Chögyam Trungpa Rinpoche) สายปฏิบัติที่เราสนใจมากๆ ก็มีอาจารย์เป็นลูกศิษย์ตรุงปะ รินโปเชเช่นกัน เราพบว่าหนังสือของเค้า แม้จะเขียนโดยนักจิตบำบัด ทว่าการที่เค้าสนใจและปฏิบัติพุทธวัชรยาน มันเปิดมุมมองใหม่ๆ ในภาษาร่วมสมัยว่าคำสอนที่ครูบาอาจารย์สอน จริงๆ แล้วแปลว่าอย่างไรในบริบทโลกย์ๆ ศตวรรษที่ 21 นี้ที่เราประสงค์จะใช้ชีวิต

บรูซถ่ายทอดคำสอนออกมาด้วยการชี้ให้เห็นผ่านภาษาของนักจิตบำบัดว่าเรากำลังทำ (ร้าย) ตัวเองอย่างไรในแง่จิตวิทยาตะวันตก และเราจะหยุดการทำ (ร้าย) ตัวเองผ่านความเข้าใจกลไกการทำงานของใจด้วยการเผชิญหน้ากับปีศาจในใจในแง่คำสอนพุทธวัชรยานอย่างไร ความเข้าใจตรงนี้เองจะเปิดประตูให้เราก้าวสู่อิสรภาพที่มีอยู่แล้วเสมอมา

บก. ถามถึงตรุงปะกับบรูซ เค้าเล่าให้ฟังว่ามันมีความเปิดกว้างของตรุงปะที่งับบรูซไว้ตั้งแต่พบกันครั้งแรก บรูซเล่าว่าได้บอกตรุงปะไปว่ายังอยากใช้ชีวิต อยากมีเซ็กซ์ ประสาเด็กหนุ่มอายุ 20 กว่าๆ ที่ตอนนั้นเพิ่งกลับจากขี่มอเตอร์ไซค์ไปทั่วอินเดียและเนปาล ตรุงปะบอกว่าได้เลย ประมาณว่าไม่มีอะไรห้ามเธอไม่ให้ทำเช่นนั้นในขณะที่เธอสนใจเรื่องจิตวิญญาณ “Keep open, Keep open.” บรูซเล่าโดยเลียนเสียงแหลมๆ ของตรุงปะ เรารู้สึกประหลาด เหมือนมีคนมาเล่าให้ฟังถึงญาติผู้ใหญ่ที่ไม่เคยรู้จักบรูซบอกว่าเค้ารู้สึกถึงความเปิดนี้ตั้งแต่แรกพบ เค้าไม่สามารถรู้ได้ว่าตรุงปะคือใครเพราะตรุงปะมีความลื่นไหลมาก

เรานึกถึงตอนที่เพม่า (Pema Chödron) ที่เคยให้สัมภาษณ์หนังสือด้วยคำๆนี้เหมือนกันว่าเธอไม่รู้จริงๆ ว่าตรุงปะคือใคร สำหรับบรูซ เธอบอกเราว่าความรู้สึกเปิดกว้างที่เธอรู้สึกกับตรุงปะคือสิ่งที่ตรึงเธอไว้กับตรุงปะ

3.

บก. ถามถึงความสัมพันธ์ครู-ศิษย์ ทว่าบรูซดูเหมือนไม่ค่อยสนใจความสัมพันธ์ในลักษณะนี้เท่าใดนัก เธอตอบทันทีว่าเธอไม่ใช่ศิษย์วงในใกล้ชิดกับครู เธอบอกด้วยว่าเธอไม่ได้ฝึก “อย่างเป็นทางการ” มากว่า 10 ปีแล้ว เราก็ได้แต่อ้าปากค้างในหัวใจ เธอยังเล่าด้วยว่าในบรรดาศิษย์ที่ฝึกกับตรุงปะ แน่นอนว่าในขณะนั้น ทุกอย่างมีลำดับชั้น (hierarchy) ทว่าความสำคัญคือเราจะสามารถอุ้มความรู้สึกของเราที่มีต่อ hierarchy หรือลำดับความไม่เท่าเทียมกัน (ของบรรดาลูกศิษย์) กับความเปิดกว้างที่อยู่ตรงนั้นเสมอได้อย่างไร

บรูซวนกลับมาพูดถึงการตระหนักรู้ถึงความเปิดกว้างครั้งแล้วครั้งเล่า เธอเล่าว่าเธออยู่กับตรุงปะจนถึงปี 1987 ปีที่ตรุงปะปรินิพพาน ก่อนตัดสินใจแยกตัวออกจากชุมชน เธอเล่าให้ฟังว่าเธอโชคดีที่ได้รู้จักกับอาจารย์อีกท่าน คือ ชัลปะ เท็นซิน รินโปเช และอาจารย์ของท่านคือชัททรัล รินโปเชและสิ่งที่อาจารย์ทั้งสองท่านมีคือความเปิดกว้างที่บรูซรู้สึก เราเริ่มรู้สึกว่าบรูซกลับมาที่หัวใจของ “หนังสือ” เค้าซ้ำๆ เอ หรือว่านี่คือหัวใจของ “ชีวิต” เค้า ซึ่งก็คือการตระหนักรู้ว่าความเปิดกว้างอยู่ตรงนั้นอยู่แล้วตลอดเวลา

บรูซพูดถึงการอยู่กับความเปิดกว้างที่เป็นธรรมชาติและความเอาแน่เอานอนไม่ได้ในความสัมพันธ์ที่เรามีกับทุกคนและทุกสิ่ง เราจึงถามบรูซว่าเพราะความเปิดกว้างนี้หรือเปล่า จึงทำให้เค้าลุกขึ้นมาเขียนหนังสือเล่มนี้ เราถามไปด้วยว่า “ความเปิดกว้างในวันนั้น” กับ “ความเปิดกว้างในวันนี้” ที่เค้ามีประสบการณ์ แตกต่างกันหรือไม่อย่างไร ระหว่างที่เราถาม บรูซล้อเราเล็กๆว่าเราค้นพบคำสอนที่เค้าซ่อนไว้จนกว่าจะมีใครมาค้นเจอที่พุทธวัชรยานเรียกว่า เทอม่า (terma) ในหนังสือของเค้าหรือเปล่า? เรารู้สึกแปลกใจระคนอยากรู้อยากเห็นว่ายังมีอะไรซ่อนอยู่อีกหรือ อยากบอกเค้าไปว่า ในแง่นี้ หนังสือทั้งเล่มของเค้าคือเทอม่าที่เราค้นพบ แต่ก็ไม่ได้โพล่งอะไรออกไป

4.

ความรู้สึกเปิดกว้างเป็นความรู้สึกที่เค้าค่อยๆ รู้สึก มันคล้ายๆ กับการค่อยๆ รู้สึกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งที่ถึงจุดพลิกผันที่ทุกอย่างไม่กลับมาเหมือนเดิม

บรูซยกตัวอย่างว่ามันคล้ายผลแอปเปิ้ลที่ค่อยๆ สุก จนถึงวันหนึ่งในเสี้ยววินาทีหนึ่ง แอปเปิ้ลผลนั้นก็ร่วงหล่นปลิดตัวออกจากขั้ว เราบอกว่าใช่ๆ เราจำได้ มีตอนหนึ่งในหนังสือที่บรูซพูดถึงเก้าอี้ การที่เราค่อยๆ เอนหลังพิงพนักเก้าอี้จนข้ามจุดตรงกลาง จะส่งผลให้เก้าอี้ล้มหงายหลัง บรูซกำลังบอกเราว่ากระบวนการไม่เคยเปลี่ยน เราตระหนักรู้ไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งที่สิ่งที่เกิดขึ้นจะเปลี่ยนอย่างสิ้นเชิง

กว่าครึ่งชั่วโมงที่คุยกับบรูซ เรารู้สึกได้ถึงความสบาย ความเปิดกว้างที่เป็นเนื้อเป็นตัวของบรูซ การตระหนักรู้และดำรงอยู่ในความเปิดกว้างผ่านคำพูดและบทสนทนา หลังปิดห้องซูม เราหยิบหนังสือของเค้าขึ้นมาอ่านในช่วงต้นๆ อีกครั้ง ก่อนจะค้นพบความหมายเพิ่มเติมบางอย่างที่ไม่เคยแตะใจเรามาก่อน

“ความรู้สึกตัดขาดจากชีวิตเป็นสิ่งที่ “เรา” เป็นคนทำให้เกิดขึ้นทั้งสิ้น มันไม่ได้เกิดกับเรา เราทำให้มันเกิดขึ้นด้วยเหตุผลที่ดีมากๆ คือเราต้องการป้องกันตัวเอง” บรูซเขียน

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะหันกลับมาเผชิญหน้ากับความจริงที่เจ็บปวดนี้ตรงๆ เปลือยๆ ซะที

บันทึกโดย : อุษณี นุชอนงค์