ศิลปะและการภาวนา: เมื่อการภาวนาอยู่ในทุกมิติของชีวิต

ตามความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ การภาวนาและการปฏิบัติทางจิตวิญญาณเป็นสิ่งที่ดูแยกขาดจากชีวิตประจำวัน เรามีภาพว่าการปฏิบัติธรรมคือการปลีกวิเวกเพื่อแสวงหาความสงบ ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับคนวัยทำงานที่ต้องใช้ชีวิตเร่งรีบและยุ่งวุ่นวายตลอดทั้งวันในการหาเวลาว่างเพื่อมาสงบจิตสงบใจ หลายๆ ครั้งการปฏิบัติธรรมถูกมองว่าเป็นกิจกรรมของคนสูงวัย หลังจากที่ได้ใช้ชีวิตมาอย่างโชกโชนก็ถึงเวลาแสวงหาความหลุดพ้น ทำให้คนวัยรุ่นรู้สึกว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องไกลตัว อีกทั้งการมานั่งเฉยๆ ก็ดูจะขัดกับช่วงวัยที่เต็มไปด้วยพลังงานอย่างมาก การภาวนาเลยกลายเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มไปอย่างน่าเสียดาย

จากเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่อย่างการเข้าถึงสัจธรรมของโลกและบรรลุมรรคผลนิพพาน เมื่อมองผ่านแนวคิดศาสนาโลกวิสัย ก็อาจบอกได้ว่าผู้คนที่แสวงหาความจริงของตัวเองต่างก็เป็นผู้ปฏิบัติทางจิตวิญญาณกันทั้งสิ้น และการที่จะเข้าใจตัวเองก็ไม่ได้มีแค่การภาวนาวิธีเดียว แต่โลกได้พัฒนาองค์ความรู้ (เช่น จิตวิทยา) เครื่องมือ และกระบวนการที่ผสานศาสตร์และศิลป์เข้าด้วยกัน ทำให้ในปัจจุบันเรามีคำอธิบายใหม่ๆ ที่ช่วยขยายขอบเขตให้การภาวนาเข้าถึงวิถีชีวิตยุคใหม่และกลายเป็นเรื่องของทุกคนมากขึ้น

นอกเหนือจากการอธิบายในเชิงวิชาการ เราอาจจะพบว่าในช่วงชีวิตที่ผ่านมาเรามีกระบวนการทำความเข้าใจตัวเองที่เรียบง่ายกว่านั้นมาก เช่น การเขียนไดอารี การวาดรูป การทำความสะอาดบ้าน กิจกรรมอะไรก็ตามที่ทำให้เราได้มีเวลาใคร่ครวญและกลับมาสู่หัวใจตนเองอย่างเป็นธรรมชาติ ลงตัวกับกิจวัตรเดิมของเรา เป็นการภาวนาที่เราทำไปโดยไม่รู้ตัว

“คนจำนวนเยอะมากในสังคมเราไม่รู้ว่าตัวเองกำลังภาวนาอยู่ แค่ไม่มีวิธีการที่ conventional ศิลปินหลายคนก็ทำงานภาวนา นักธุรกิจหลายคนก็ทำงานภาวนา แม่ค้าหาบเร่ขายของ พนักงานที่กวาดพื้นถนน ทุกคนภาวนาในแบบของตัวเอง บางคนทำมานานมากแล้ว พอเขาไม่รู้ เขาเลยไม่ associate ว่าเขาเป็นนักปฏิบัติทางจิตวิญญาณ

ตอนที่เราศึกษายุง (Carl Gustav Jung) แรกๆ แล้วมารู้จักกับวัชรยาน เราตกใจมาก หรือว่ายุงเป็นวัชรยาน แต่จริงๆ มันหมายความว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งสากล ไม่ใช่ว่าใครสอนให้ใครเป็น ใครเป็นความรู้ของใคร เราทุกคนมีศักยภาพนี้ แต่เราก็เริ่ม explore ในแบบของเรา อะไรที่ทำอยู่ต่อเนื่องก็ทำต่อไป ถ้าเรารู้ว่านี่คือการภาวนา”

ถิง ชู

การเรียนกับพี่ถิง (ถิง ชู, นักวาดภาพประกอบและนักปั้นเซรามิก) ในคอร์ส Drawing Unconscious เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาทำให้คำพูดของพี่ถิงแจ่มชัดขึ้น มีคำหลายคำที่ผู้เข้าร่วมพูดออกมาระหว่างแลกเปลี่ยนประสบการณ์ไปตรงกับคำที่เรามักได้ยินบ่อยๆ ในชั้นเรียนภาวนา ณ วัชรสิทธา อย่าง ‘หัวใจเปล่าๆ เปลือยๆ’ ‘การมีพื้นที่’ ‘การยอมรับทุกเสี้ยวส่วนของตัวเอง’ และ ’ความเปิดกว้าง’ ฉะนั้นการวาดรูปและการภาวนามีแง่มุมและกระบวนการบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน นำไปสู่การตระหนักรู้ในตัวเองได้ไม่ต่างกัน

ร่างกาย

แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะมองว่าศิลปินมักทำงานกับอารมณ์ความรู้สึก หรือเป็นพวกใช้ความคิดเพื่อสร้างสรรค์งานในรูปแบบใหม่ๆ ให้กับอุตสาหกรรม แต่ในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ สังคมเริ่มแสวงคำตอบให้กับเสียงเรียกร้องภายใน และความหมายในการดำรงอยู่ของตน ศิลปะจึงไม่เพียงถูกใช้เพื่อแสดงความงามของธรรมชาติ สภาพความเป็นจริงของสังคม และอุดมคติ แต่ยังรวมถึงความจริงข้างในตัวบุคคลด้วย

“automatism คือการเคลื่อนไหวทางศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากฟรอยด์และคาร์ล ยุง เพื่อคานกับความแข็งทื่อของสงครามโลกที่ 2 ซึ่งทำให้ไม่มีการทำงานภายใน เขาเลยไปยืมคำว่า automatism ที่หมายถึงการเคลื่อนไหวทางร่างกายที่เกิดขึ้นเอง เลือดไหล หรือหัวใจเต้นเองตามธรรมชาติของร่างกาย มาจากกลุ่มทางสายแพทย์ เรายืมกระบวนการที่เป็นไปตามอัตโนมัติในการสื่อสารหรือการเฝ้ามองสิ่งที่เกิดขึ้นภายในของเรา”

ถิง ชู

ในชีวิตของคนเรามีเรื่องเกิดขึ้นมากมาย อารมณ์ความรู้สึกและบาดแผลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ถูกรับรู้ จะกลายเป็นพลังงานคงค้างเก็บไว้ในลิ้นชักของจิตใต้สำนึก บางครั้งมันเผยตัวผ่านเรื่องเล่าเกี่ยวกับตัวเองของเราซึ่งถูกบิดเบือนและปรุงแต่งจากตัวตน (ego) แต่มันจะถูกเล่าอย่างซื่อตรงกว่ามากเมื่อแสดงออกผ่านร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรม รูปแบบการดำเนินชีวิต หรืออาการเจ็บป่วย เพราะร่างกายที่เราทุกคนมีนี้ถือเป็นโทรศัพท์สายตรงของจิตใต้สำนึก แม้ว่ายุงจะให้คุณค่ากับเรื่องเล่า เขาก็ยังส่งเสริมให้เราทำงานกับร่างกายในการคลี่คลายและปลดปล่อยพลังงานคงค้างต่างๆ อาจด้วยการภาวนา หรือกิจกรรมอย่างทำความสะอาดบ้าน ทำสวนซึ่งจะช่วย grounding ให้เรากลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว

automatism คือกระบวนการวาดรูปโดยปราศจากการควบคุมจากความคิด ซึ่งจะต่างจากการวาดรูปเล่น (doodle) แก้เบื่อระหว่างครูสอน ตรงที่เรามีเจตจำนงที่จะสื่อสารกับตัวตนภายใน แนวทางนี้ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างทำงานศิลปะมากกว่าจะเป็นคุณค่าความงามของตัวผลงาน ความรู้สึกคั่งค้างถูกพาขึ้นมาสู่การตระหนักรู้ และชักจูงร่างกายของเราให้ช่วยถ่ายทอดมันออกมาเป็นตำแหน่งของรูปบนกระดาษ น้ำหนัก ลักษณะของเส้น รวมถึงโทนสี

ในการภาวนา เราเรียกร่างกายอันเป็นบ่อเกิดของปัญญาญาณว่า ‘SOMA’ เมื่อเทียบกับคนยุคโบราณ เราเชื่อมต่อกับร่างกายน้อยลงมากด้วยการงานที่ต้องใช้ความคิดเป็นหลัก โดยไม่รู้ตัว ร่างกายได้สะสมความเครียดไว้ในกล้ามเนื้อกลายเป็นความปวดเมื่อยและเขม็งเกร็ง การกลับมาอยู่กับร่างกายหรือ soma จะช่วยอารมณ์ความรู้สึกของเราสัมพันธ์กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันขณะมากกว่าจะเป็นเรื่องเล่าจากตัวตน เมื่อเราเชื่อมต่อกับร่างกายได้อย่างคล่องแคล่วก็จะเริ่มมีความไว้วางใจ สามารถผ่อนคลายที่จะอยู่กับสภาวะต่างๆ ทั้งที่น่ายินดีและไม่น่าอภิรมย์ภายในตัวเอง

“การภาวนาและการวาดรูปด้วยกัน มันคือการหาเทคนิคที่จะให้ร่างกายทำซ้ำๆ เพื่อที่ว่าสุดท้ายร่างกายจะมีความคุ้นเคยที่จะสบายๆ กับสภาวะที่ตัวเองเป็นอยู่มากขึ้นเรื่อยๆ”

ถิง ชู

หัวใจที่เปลือยเปล่า

พอเราเริ่มทำงานกับร่างกายในลักษณะนี้ไปเรื่อยๆ เรื่องเล่าของอัตตาจะค่อยๆ ถูกปอกลอกออกจนเหลือเพียงความเปลือยเปล่า เราไร้เกราะป้องกันเมื่อต้องกับปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกและสถานการณ์ซึ่งคาดเดาไม่ได้ เมื่อนั้นในความผ่อนคลายก็มีความกลัวปรากฏขึ้น

ตามการตีความของยุง จิตไร้สำนึกของมนุษย์มีขนาดกว้างใหญ่กว่าก้อนภูเขาน้ำแข็งที่ฟรอยด์นำเสนอมาก เพราะมันคือท้องทะเลทั้งหมด ส่วนจิตสำนึกรู้ของมนุษย์เป็นเพียงใบไม้ที่ลอยเคว้งคว้างอยู่ท่ามกลางความไพศาล จิตไร้สำนึกเปรียบเหมือนสถานที่ที่ไฟยังส่องไปไม่ถึง จึงไม่แปลกเลยหากเราจะกลัว แต่ในขณะเดียวกันก็หมายถึงโอกาสที่ตัวตนของเราจะได้ขยับขยายสู่คำนิยามใหม่ๆ ศักยภาพใหม่ๆ

หลายครั้งเราคิดว่าหัวใจที่ไม่มีสิ่งห่อหุ้มจะไม่สามารถต้านทานความเจ็บปวดและอะไรต่างๆ ที่เข้ามาได้ แต่เมื่อเรายอมให้หัวใจได้เผยความไม่ประสาโดยไม่ถอยหนีผลที่ตามมา นอกจากท่าทีในการสัมพันธ์กับตัวเองจะเปลี่ยนไปแล้ว ก็ได้เปิดอีกหนทางหนึ่งในการสัมพันธ์กับโลกด้วย

“เรื่องเล่า หรือ มาตรฐานอะไรบางอย่าง ไม่ใช่ว่ามันไม่มีประโยชน์และชั่วร้าย ต้องกำจัดออกไปซะ มันมีเหตุผลที่มันต้องอุบัติขึ้น มันเคยมีหน้าที่ของมัน แต่ตอนนี้มันไม่รับใช้เราแล้ว มันก็เลยระเบิดออก กล่องที่ว่ามันเคยดีมาก มันเป็นเพื่อนสนิทของเราเลย เขาเคยช่วยเราให้ผ่านมาหลายเหตุการณ์ แต่ตอนนี้เขาเล็กเกินไปสำหรับใจของเราแล้ว พอมันระเบิดออกเราก็เห็นว่าใจมันบาง แต่มันใหญ่ขึ้น แล้วก็กว้างขวางมากขึ้น”

ถิง ชู

พื้นที่

เมื่อเราอนุญาตให้เรื่องราวที่ถูกกดทับไว้เผยตัวบนกระดาษออกเป็นเส้น รูปทรง และสีสัน เราก็เริ่มจะเห็นว่ากระดาษทำหน้าที่เหมือนกับพื้นที่ที่โอบอุ้มทุกสิ่งทุกอย่างไว้ ไม่ว่าเราจะมีท่าทีใดต่อรูปภาพนั้น หรือตีความมันอย่างไร พื้นที่ก็จะดำรงอยู่ตรงนั้นเสมอ

“ถ้าศิลปะถูกกำหนดเป็นแค่ความงาม ความสวย การซื้อ-ขาย แล้วก็อำนาจ มันก็เศร้าเนอะ เพราะจริงๆ แล้วมันก็คือพื้นที่ที่จะเป็นอะไรก็ได้ผ่านงานศิลปะ”

ถิง ชู

ขณะที่เราหลับตาลง มองเห็นเพียงความมืดมิดและไร้หลักให้ยึดเหนี่ยว เราเคว้งคว้างจากความรู้สึกไร้ตัวตน แต่การภาวนาเปลี่ยนร่างกายของเราให้กลายเป็นพื้นที่ซึ่งสามารถรองรับทุกสภาวะและปรากฏการณ์ได้ เราดำรงอยู่ตรงนั้นกับความกลัว กับความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ไปพร้อมๆ กับเพิ่มพูนความมั่นใจว่าเราสามารถเป็นพื้นที่ให้ตัวเองได้จริงๆ

ตามคำอธิบายของยุง พลังงานที่บังเกิดขึ้นในตัวเราหากไม่มีพื้นที่ให้แสดงตัวออกมาก็จะถูกกดทับไว้ ยิ่งสะสมนานวันเข้าสุดท้ายแล้วพลังงานนั้นก็จะพยายามหาทางออกของตัวเองไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง เช่น การระเบิดอารมณ์ หรืออาการทางร่างกาย ฉะนั้นการมี ‘บ้าน’ หรือ ‘เวที’ ให้พลังงานเหล่านี้มีที่ทางภายในตัวของเราจึงสำคัญ โดยเฉพาะในเวลาที่หลากความรู้สึกเกิดขึ้นพร้อมกัน เราไม่จำเป็นต้องข่มความรู้สึกไหนลงเพื่อให้เพียงความรู้สึกเดียวทำงาน แต่สามารถปล่อยให้ทุกความรู้สึกทำหน้าที่ของมันโดยมีเราเป็นผู้โอบอุ้มอย่างรู้เนื้อรู้ตัว

พอเราอนุญาตความรู้สึกหนึ่ง ความรู้สึกอื่นๆ ซึ่งอาจจะไม่เคยเผยตัวออกมาก็จะเริ่มส่งเสียงของตัวเอง นี่เป็นโอกาสที่ดีมากๆ ที่เราจะได้ทำความรู้จักกับสภาวะอารมณ์ใหม่ๆ ตัวตนที่เราสามารถเป็นได้ ตลอดจนเรียนรู้การใช้ศักยภาพอันเกิดจากญาณทัศนะที่ไปพ้นตรรกะและเหตุผล

การมีพื้นที่เทียบได้กับหลักคำสอนสำคัญเรื่อง ‘ความว่าง’ หรือ ‘สุญญตา’ ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานและวัชรยาน ความว่างไม่ได้หมายถึงความว่างเปล่าไม่มีอะไรเลยอย่างที่คนมักเข้าใจ แต่มันคือสภาวะพื้นฐานของสรรพสิ่ง เป็น ‘โพธิจิต’ อันเป็นจิตเดิมแท้ก่อนเกิดการปรุงแต่งจากความคิดแบ่งแยกและคำตัดสิน เมื่อว่างจากความคิด สิ่งทั้งหลายจึงสามารถก่อเกิดขึ้นได้

การยอมรับ

ในสายวัชรยานมองว่าทั้งสิ่งดีและเลวมีศักยภาพที่จะนำเราไปสู่การตื่นรู้ หรือการที่หัวใจของเราเปิดออกและเข้าถึงจิตเดิมแท้ของตัวเอง ถึงอย่างนั้นมันก็เป็นเรื่องยากมากที่เราจะเห็นสภาวะนี้ หรืออยู่ในสภาวะนี้ได้ตลอด เพราะเราไม่ได้มีเพียงแค่อารมณ์ทางบวก หลายครั้งคลื่นอารมณ์ลบก็เข้ามามีบทบาทในชีวิตมากเหลือเกิน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องกำจัดสิ่งไม่พึงประสงค์ออกไป เราสามารถประคองสิ่งเหล่านี้ไว้ในพื้นที่ พร้อมๆ กับตระหนักถึงศักยภาพของหัวใจที่จะรักและยอมรับทุกๆ ด้านของตัวเรา และยอมรับได้ที่เราจะยังไม่ยอมรับเสี้ยวส่วนที่เราไม่ชอบ

สำหรับยุง เป้าหมายในการทำงานกับตัวเองก็คือการที่เราสามารถหลอมรวมทุกภาคส่วนของความเป็นเราเข้าด้วยกัน ทั้งจิตสำนึกกับจิตใต้สำนึก ส่วนที่น่ามองและไม่น่ามอง ศักยภาพทั้งหมดทั้งมวล มองเห็นความสมบูรณ์พร้อมในความไม่สมบูรณ์แบบ กลายเป็นตัวตนที่เต็มเปี่ยมและไม่มีสิ่งใดขาดพร่อง ซึ่งเป็นตัวตนที่แท้จริงของเรา หรือ true self ในกระบวนการ individuation

“เมื่อจิตสำนึกกับจิตใต้สำนึกเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และเสริมส่วนที่อีกฝ่ายขาดไปได้เมื่อไหร่ นั่นคือกระบวนการของ individuation แล้วมันไม่ใช่กระบวนการที่เกิดขึ้นแล้วสมบูรณ์ โลกสงบสุข แต่มันคือกระบวนการที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดไปจนกระทั่งเราตาย individuation คือแรงขับเคลื่อนที่แท้จริงของ psyche (จิต) ของเรา เราไม่สามารถที่จะปฏิเสธได้ ถ้าหากเราพูดในเชิงวัชรยาน มันเป็นกระบวนการที่เปิดให้เราเข้าสู่การหลอมรวมตัวเองเข้าสู่ศักยภาพอันไร้ขอบเขตของตัวเอง แล้วให้เราสามารถที่จะยอมรับทุกภาคส่วนของศักยภาพเหล่านั้น และสิ่งที่เป็นอยู่ ณ ขนาดนั้น และรับรู้ว่าที่เป็นอยู่ ณ ขณะนี้มันไม่ใช่ความจริงทั้งหมด โดยที่กระบวนการทั้งหมดเกิดขึ้นด้วยการยอมรับ สันติ มันคล้ายกระบวนการของการเปิดโพธิจิตของเราเอง ของการเห็นความดีพื้นฐานสูงสุด ซึ่งวัชรยานอธิบายว่าโพธิจิตคืออะไรบางอย่างที่ทุกคนมีอยู่แล้ว แต่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้นในกระบวนการของโพธิจิตคือสิ่งที่ยุงต้องการ”

ถิง ชู

ความแตกต่างแต่เหมือนกันของจิตวิญญาณและจิตวิทยาทำให้เราเห็นว่า มนุษย์ทุกคนมีพื้นฐานที่จะทำงานภายใน และมีแรงขับคอยผลักดันเราไปสู่การเข้าใจตัวเองอย่างถ่องแท้ เพียงแค่เราเปิดช่องทางรับสัญญาณเหล่านี้ เพราะไม่ว่าเราจะแสวงหาการยอมรับจากสังคมมากแค่ไหน พื้นฐานที่สุด เราก็ต้องการการยอมรับจากตัวเราเอง อาจจะเริ่มจากการยอมให้ตัวเองวางมือจากการทำงานแล้วผ่อนคลายได้จริงๆ ไม่รู้สึกผิดที่ตัวเองจะรู้สึกผิดกับเรื่องบางเรื่อง หรือสามารถยิ้มให้กับรูปวาดของตัวเองได้แม้ว่ามันจะไม่สวยนัก

พอพูดถึงผลงานศิลปะแล้ว เรามักมีภาพจำว่ามันจะต้องมีความงามบางอย่าง แต่ศิลปะบางแนวก็ไม่ได้ให้คุณค่ากับผลลัพธ์เท่ากับกระบวนการ เช่นแนว automatic surrealism ศิลปินอยู่กับสภาวะอารมณ์ของตัวเองและถ่ายทอดมันออกมาเป็นชิ้นงาน บางครั้งมันเป็นงานที่หาความหมายไม่ได้ ดูไม่รู้เรื่อง หรือไม่สวยเลยสักนิด แต่อย่างน้อยเราก็ยอมให้มันปรากฏขึ้นบนโลกนี้

ท่าทีที่อ่อนโยนกับตัวเองต่อการกระทำเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน ต่อท่าทีที่ก้าวร้าวและจอมปลอมของเรา รวมไปถึงการภาวนาจริงจัง เป็นสิ่งที่เราสามารถเลือกทำให้เข้ากับจริตของตัวเองได้ เมื่อเรามีพื้นที่ที่จะโอบอุ้มความแตกต่างในตัวเราเอง เราก็มีแนวโน้มที่จะยอมรับผู้คนที่ต่างไปจากตัวเราได้ด้วย

ความเปิดกว้าง

“ถึงแม้ว่าขณะนี้เราเป็นปัจเจก แต่ว่ายังไงเราก็ตายไปสู่ collective เราก็ยังเป็นน้ำที่จะไปรวมกับมหาสมุทร ถ้าหากทำงานในสายการทำงานของยุง มันยากมากที่เราจะไม่ไปยุ่งเรื่องของโลก เพราะว่ามันมี collective และมันมีเรื่องเล่าของยุคสมัยที่สำคัญต่อ psyche ของเรา psyche ของสังคมสำคัญต่อ psyche ของเรา และมันมีความจริงของความสัมพันธ์ชุดนั้นเกิดขึ้นอยู่

ถ้าหากเราสามารถที่จะไปตัดอะไรบางอย่างในหัวเพื่อไม่ให้มีความสัมพันธ์ของ psyche ของเรากับสังคม มันก็ไม่ต้องเครียดอะไรแล้ว แต่บังเอิญว่ามันทำแบบนั้นไม่ได้ และจริงๆ แล้วมันดีซะด้วยซ้ำ เพราะว่ามันเป็นการเติบโตของเราในฐานะปัจเจกที่เติบโตไปร่วมกับสังคมข้างนอก เพราะฉะนั้นการกระทำของเราจะเล็กน้อยแค่ไหนมีผลในฐานะ psyche ของเราซึ่งจะส่งผลต่อสังคมอีกทีหนึ่ง เพราะฉะนั้นในเมื่อเราไม่สามารถที่จะตัดตัวเองออกจากสังคมโดยรวมได้ แต่เราจะสัมพันธ์ยังไงได้บ้าง”

ถิง ชู

ชีวิตของเราไม่ได้แยกขาดจากสังคม แม้แต่กับคนที่โดดเดี่ยวตัวเองจากผู้คนรอบข้างก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการสัมพันธ์กับผู้อื่นได้อย่างหมดจด ฉะนั้นการทำงานภายในกับตัวเราเองก็จะส่งผลต่อสภาพแวดล้อมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เราค่อยๆ ขยายพื้นที่ออกไปตลอดการทำงานภายในชั่วชีวิตจนรวมเอาคนอื่นๆ หรือความเป็นอื่นที่พ้นไปจากตัวตนอันเล็กจ้อยเข้ามา เช่นเดียวกับการที่เราเลิกกำหนดขอบเขตของความเป็น ‘เรา’ และ ‘เขา’ ในการภาวนา

เราเปิดกว้างมากพอที่จะอยู่กับความแตกต่างหลากหลายของสังคมปัจจุบันที่ผู้คนต่างก็แสดงความเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่โดยไม่จำเป็นต้องยอมรับและเข้าใจไปเสียทั้งหมด พอเราให้พื้นที่กับคนอื่น คนเหล่านั้นก็จะเห็นความเป็นไปได้ว่าเขาสามารถสร้างพื้นที่ลักษณะเดียวกันนี้ให้กับตัวเอง และขยายส่งต่อพื้นที่ไปให้กับคนอีกมากมาย โดยเฉพาะในการทำงานเพื่อสังคมซึ่งจะต้องเปิดรับความคิดเห็นของชุมชน และสื่อสารกับผู้มีอำนาจ เพราะท้ายที่สุดเราก็ไม่สามารถตัดใครออกไปจากสังคมได้จริงๆ แต่มันมีหนทางที่ทุกฝ่ายจะอยู่ร่วมกันต่อไปได้อยู่

การทำงานกับตัวเองหรือการภาวนาก็คือการเข้าไปสัมพันธ์กับบุคคลและสถานการณ์ต่างๆ เป็นไปไม่ได้ที่จะมีเพียงวิธีเดียวเท่านั้นที่เป็นคำตอบของทุกๆ ความสัมพันธ์ ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ภายนอก แต่รวมถึงความสัมพันธ์ในตัวเราด้วย เราจะเปิดกว้างและต้อนรับวิธีการที่ไม่คุ้นเคย หรือลองให้วิธีเก่าและใหม่ลองหาจุดร่วมในการทำงานร่วมกัน ส่งเสริมกันและกันได้ไหม? บางทีเราอาจจะเห็นก็ได้ว่า อาณาเขตที่เราสามารถกระโดดลงไปทำงานด้วยได้กว้างใหญ่มากขนาดไหน และทักษะ ความชำนาญ ความชอบที่เรามีก็มีคุณค่าในแบบของมันเอง