หลังจากที่ฉันผ่านเข้าออกห้องนอนเหมือนเงาที่ไร้น้ำหนักเป็นระยะเวลาหลายปี ไม่กี่เดือนนี้เองที่ฉันตัดสินใจจัดห้องนอน ฉันมองลิ้นชักใต้เตียงที่ไม่ได้เปิดมานานมาก จนลืมไปแล้วว่ามีอะไรอยู่บ้าง
ด้าย
เศษแมกกาซีน
เศษโลหะ
เปลือกถั่วลิสง
.
เมื่อมองเข้าไปในลิ้นชักที่ยุ่งเหยิง ฉันจำได้ทันทีว่าจุดประสงค์ของลิ้นชักนี้คืออะไร: มันคือหีบสมบัติ จุดรวมตัวของชิ้นส่วนหลากหลาย ที่ฉันสะสมในวัยเด็ก ด้วยความตั้งใจที่จะใช้ทำงานศิลปะเมื่อโตขึ้น
ลิ้นชักนี้เหมือนเป็นไทม์แคปซูลที่รักษาคุณลักษณะบางอย่าง ความสร้างสรรค์ ความกระตือรือร้น ความเป็นศิลปิน ที่ถูกตัดออกจากอัตลักษณ์ฉันในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ฉันตัดมันออกอย่างราบคาบจริงๆ
แต่ตอนนี้การได้เห็นภาพลิ้นชักรกรุงรัง กลับเหมือนได้พบคนแปลกหน้าที่คุ้นเคย
.
คอร์สอบรม Drawing Unconscious ที่วัชรสิทธา ได้มอบภาษาที่พาไปพบกับเงาของความสร้างสรรค์ของฉันอีกครั้ง ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า automatic drawing ซึ่งเป็นการถ่ายทอดสภาวะของจิตไร้สำนึก (unconscious) เป็น สี เส้น ฟอร์ม สัญลักษณ์ แบบแอบสแตรคท์
ฉันรู้สึกแปลกใจกับความมั่นใจและความแคล่วคล่องในการใช้ภาษานี้ ทั้งๆ ที่ฉันไม่ได้ใช้ทักษะทางวาดรูปในชีวิตประจำวัน ฉันรู้โดยสัญชาตญาณว่าจะใช้สี เส้น และฟอร์ม อะไร และรู้ความหมายของมันอย่างชัดเจน ภาพที่วาดออกมาอาจดูเหมือนไร้สาระ แต่ก็ไม่มีลายเส้นใดที่ปรากฏโดยบังเอิญ และชิ้นงานทุกชิ้นก็มีความหมายสำหรับทุกคน ที่อยู่ในกระบวนการนี้กับฉัน
เรากำลังผลิตเครื่องมือบางอย่างเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกและจินตนาการของตนเอง ซึ่งพื้นที่ว่างที่เหลืออยู่บนหน้ากระดาษก็เป็นส่วนประกอบสำคัญของพลังงานของภาพที่ไม่น้อยกว่าสีและเครื่องหมายต่างๆ
.
สำหรับ Carl Jung นักปรัชญาชาวสวิส ผู้ก่อตั้งสาขาจิตวิทยาวิเคราะห์ analytical psychology งานศิลปะต่างๆ เช่น automatic drawing เป็นเหมือนเทคโนโลยีที่สามารถพาเราเข้าหาจิตไร้สำนึก ผ่านกระบวนการที่ถ่ายทอดและสะท้อนเสี้ยวส่วนของมันในงานศิลปะให้เราเห็น และใช้วิเคราะห์จิตไร้สำนึกของเราเอง
จิตตามความหมายของ คาร์ล ยุง ประกอบด้วย ego (ตัวตนในจิตสำนึก ที่นึกคิดและตัดสินใจ และเป็นสิ่งที่เรารับรู้ว่าเป็นตัวตนของเรา) และ the Self (จิตที่สืบทอดมาก่อนเรา และมีความใกล้ชิดกับธรรมชาติ สรรพสัตว์ โลกของความฝัน และพระเจ้า) ยุงอธิบายว่า the Self “ไม่มีอักขระพิเศษเลย เกิดมา มีชีวิต ตาย ทุกอย่างอยู่ในหนึ่งเดียว เป็นวิสัยทัศน์ของชีวิตทั้งหมด”
จิตสำนึกของเราเหมือนเป็นใบไม้ที่ลอยอยู่บนทะเลของจิตไร้สำนึก ทะเลจิตไร้สำนึกนี้คือมรดกของมนุษยชาติ ซึ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ตั้งแต่มนุษย์คนแรกที่เกิดขึ้น มรดกนี้ประกอบด้วย archetype ต่างๆ ซึ่งก็คือรูปแบบของจิต (psychic structures) ที่แสดงออกในวัฒนธรรม ตำนาน และ ฝัน ของสังคมและคนทุกเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ ยุงจึงเรียกจิตไร้สำนึกว่าเป็นมรดกสากล
อัตตาของเราตอบสนองกับจิตไร้สำนึกอยู่ตลอดเวลา ในคำพูดของ Anthony Stevens ผู้ศึกษางานของยุง “จิตไร้สำนึกเป็นเพื่อนที่อยู่กับเราตลอดเวลา ในทุกวินาทีที่เราตื่น (และหลับ)”
ดังนั้น ในปรัชญาของยุง เป้าหมายของการทำงานกับตัวเอง ก็คือการเป็นหนึ่งกับเพื่อนจิตไร้สำนึก เริ่มด้วยการเปิดเผยศักยภาพของ archetype ที่อยู่ในตัวเราอยู่แล้ว ปกติพลังงานต่างๆ ที่ฝังอยู่ในจิตไร้สำนึกจะแสดงตัวในความฝัน อาการประสาทหลอน (hallucination) และการเข้าสู่ภวังค์ (trance) โดยใช้เหตุการณ์และคนที่รู้จักเป็นเครื่องหมาย เสริมชุดสัญลักษณ์ทั่วไป ยุงจึงให้ความสำคัญมากกับมิติเร้นลับพวกนี้ และถือเป็นแหล่งความรู้มหัศจรรย์ สิ่งนี้ทำให้ยุงแตกต่างจากนักวิทยาศาสตร์ของยุคเขา ที่ไม่ให้เกียรติกับสิ่งที่พวกเขาตีตราว่า เป็น ”ความบ้าคลั่ง” และเป็นสิ่งที่ต้องปฏิรูป
เจตนาของยุง คือการเข้าใจสภาพจริงของจิตผ่านการปฏิสัมพันธ์โดยตรง และคลี่คลายความหมายด้วยตัวเอง หลักการนี้เป็นพื้นฐานของกระบวนการ automatic drawing ซึ่งสะท้อนสภาวะจิตใจให้เราเห็น แล้วก็สร้างชุดภาษาให้เราสามารถเข้าหาจิตไร้สำนึกได้
การผลิตชิ้นงานศิลปะไม่ใช่จุดสิ้นสุดของกระบวนการสร้างสรรค์ แต่เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของการรับรู้ความรู้สึก ถ่ายทอด และวิเคราะห์ เราเห็นชิ้นงานแปรเปลี่ยนอยู่อย่างต่อเนื่อง สะสมมิติและความหมายเพิ่มขึ้นในช่วงที่เราแบ่งกลุ่มและชื่นชมภาพของกันและกัน เราเห็นชิ้นงานของเราเปลี่ยนลักษณะจากกระจกเงาที่เป็นส่วนขยายของจิตเราเพียงคนเดียว เป็นอะไรสักอย่างที่อยู่นอกกรอบตัวเอง แสดงถึงการตอบสนองไปพร้อมๆ กันเป็นกลุ่มของแต่ละคน และสะท้อนแนวโน้มของจิตที่คล้ายกันให้ทุกคนเห็น (collective unconscious) ชิ้นงานของเรามีทั้งคุณลักษณะของสิ่งที่คุ้นเคยและแปลกหน้า แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหมาย
“พระเจ้าคือโลกแห่งความเป็นจริง” ยุงกล่าว
ส่วน archetype ทั้งหลายเป็นพลังงานที่มีชีวิต (living powers) ซึ่งถือเป็น ความคิดส่วนหนึ่งของพระเจ้า ที่ปักหลักอยู่ใน collective unconscious ยุงเคยกล่าวไว้ด้วยซ้ำว่าเราสามารถถือว่า collective unconscious คือ พระเจ้า
ประสบการณ์หนึ่งที่ทำให้ยุงรับรู้ถึงเรื่องนี้ คือการเดินทางไปแอฟริกาตะวันออกในปี 1925 ขณะนั้นเขาอายุ 50 ปี เขาไปเยือนพื้นที่ราบกว้างใหญ่ ที่ชื่อว่า Athai Plains ที่เต็มไปด้วยสัตว์ป่า เขาบันทึกความรู้สึกของเขา เมื่อมองลงบนพื้นที่ราบจากยอดเขา ในหนังสือ Memories, Dreams, Reflections เขารู้สึกถึงพลังมหัศจรรย์ของจิตมนุษย์ ที่สามารถพาการสร้างสรรค์ของพระเจ้า (God’s creation) ไปสู่ความสมบูรณ์ ผ่านศักยภาพเฉพาะของมนุษย์ ที่สามารถรับรู้และให้ความหมายแก่โลกแห่งความเป็นจริง
ยุงเชื่อว่าจักรวาลที่ไร้ความตระหนักรู้ในตัวเอง เป็นข้อบกพร่องของจักรวาลที่ถูกสร้างขึ้นมา พระเจ้าจึงจำเป็นต้องจุติลงมาเป็นมนุษย์ เพราะว่าจิตของมนุษย์คือสิ่งที่สามารถให้ความหมายกับโลกแห่งวัตถุได้ และเป็นการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ เกิด “ความสว่างอุบัติขึ้นจากความมืด” ของจักรวาลที่ปราศจากความตระหนักรู้ เพื่อที่ “พระเจ้าจะสามารถตระหนักถึงผลงานสร้างสรรค์ของพระเจ้าเอง” ในขณะที่ “มนุษย์จะตระหนักรู้ในตัวเอง” นี่คือบทบาทของมนุษย์ ที่เราอาจทำแด่พระเจ้า
`That is the meaning of divine service, or the service that man can render to God, that light may emerge from the darkness, that the Creator may become conscious of His creation, and man conscious of himself’ (MDR 312).”
.
จิตของมนุษย์เปรียบเสมือน “สะพานที่เชื่อมกับสสารในโลก” เพราะ archetype ไม่ได้ปรากฎขึ้นในจิตมนุษย์เท่านั้น แต่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของจักรวาลที่มีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่ของทั้งสิ่งมีชีวิต และสิ่งไม่มีชีวิตในโลกนี้ แม้แต่การเปลี่ยนแปลงในโลกของสารอนินทรีย์ ก็เชื่อมโยงกับ archetype
ยิ่งครุ่นคิด ยิ่งทำให้คาร์ล ยุงรู้สึกว่า archetype เป็นสื่อกลางของทุกปรากฏการณ์ในจักรวาล และทุกอย่าง ทั้งจิตมนุษย์ ธรรมชาติ และ จิตวิญญาณ เชื่อมโยงกันหมด
.
กฏที่กำหนดการปฏิบัติการของจิต เป็นกฏเดียวกันกับกฏธรรมชาติที่ครอบงำจักรวาลนั่นเอง ยุงอธิบายว่า จิตมนุษย์ถูกกำหนดโดยกฏของธรรมชาติและได้บรรลุถึงสภาวะสูงสุดในกฏเหล่านี้ ภาวะโลกีย์และกิจวัตรประจำวัน พฤติกรรมของจิตและร่างกาย คือแหล่งของความศักดิ์สิทธิ์ ยุงเน้นย้ำว่าพระเจ้าไม่ใช่คอนเซ็ปต์เชิงนามธรรม ไม่ได้ดำรงอยู่ในที่ที่ไปพ้นจากโลกนี้ แต่พระเจ้าคือความศักดิ์สิทธิ์ซึ่งอยู่ใกล้ชิด อยู่ในความฝันของเราตอนกลางคืน ทำให้เราเกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก และสภาวะจิตต่างๆ มากมาย
จิตที่ตระหนักรู้ของมนุษย์ เป็นพลังนฤมิตที่พาจักรวาลเข้าสู่แสงสว่างของความรู้ เทียบเท่าพลังนฤมิตของพระเจ้า ยุงนิยามว่ามนุษย์เป็น “the second creator of the world” เป็นผู้ก่อกำเนิดความหมายให้จักรวาลที่ “ไม่มีใครได้ยิน ไม่มีใครเห็น … กิน เกิด ตาย พยักหน้า อย่างเงียบเฉยอยู่เป็นร้อยล้านปี” และอาจอยู่ในสภาวะอันไร้ความหมายนี้จนถึงจุดสิ้นสุดของจักรวาลเลยก็ได้ หากไม่มีบทบาทอันศักดิ์สิทธิ์ของมนุษย์ ผู้รับรู้และให้ความหมายกับทุกอณูของผลงานสร้างสรรค์ของพระเจ้า
บทความสะท้อนประสบการณ์จากคอร์สอบรม Drawing Unconscious กับ ถิง ชู ณ วัชรสิทธา 7-8 พฤศจิกายน 2563