บทความโดย สังฆะวัชรปัญญา
“แนวทางพื้นฐานของการภาวนาก็คือ การฝึกความรู้สึกตัว เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น แล้วเราอาจจะหลุดตามไป หรือเผลอไป เมื่อรับรู้ว่าเผลอไป ก็ให้กลับมาที่พื้นที่ว่างในร่างกายของเรา เหมือนที่ว่างแห่งนี้เป็นบ้าน เมื่อรู้สึกตัวก็ให้กลับมาที่บ้านของเรา”
อุษณี นุชอนงค์
ในค่ำคืนหนึ่งของสังฆะปฏิบัติ อุษณี นุชอนงค์ หรือ “พี่น้อง” ของชาวสังฆะ ได้แชร์ถึงประเด็นที่น่าสนใจจากคำถามของผู้เข้าร่วมกิจกรรม “ค้นพบความรักตัวเองในร่างกาย” คำถามมีอยู่ว่า…
“เวลาที่เราฝึกภาวนากับร่างกาย เป็นเหมือนกับการฝึกให้เรามีความคุ้นชินกับ “สัมผัสภายในกาย” หรือ sensation ที่มีความดิบ มีความตรงไปตรงมาผ่านร่างกายจริงๆ และด้วยการฝึกที่จะอยู่กับร่างกายแบบนี้ จะเริ่มทำให้เราสังเกตเห็นหรือตั้งคำถามต่อเรื่องเล่า ความคิด อารมณ์ หรือความรู้สึกของเราว่ามันอาจจะไม่ใช่ของจริงหรือเปล่า? แล้วเราจะมีวิธีที่จะหยุด หรือตัด หรือสร้างช่องว่าง (gap) ให้กับสายเรื่องอันต่อเนื่องของเราได้อย่างไร?”
โดยในคืนนี้พี่น้องได้มีรูปภาพ The Spectrum of Felt Energy มาแชร์ให้ชาวสังฆะดู
พี่น้อง อุษณี มีคำอธิบายประมาณนี้
- ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่า(Storyline) อารมณ์ (Emotions) หรือความรู้สึก (Feelings) ของเรา สิ่งเหล่านี้ล้วนมีเบื้องหลังซ่อนอยู่
- ด้วยการฝึกภาวนากับร่างกาย ฝึกที่จะอยู่กับประสบการณ์ดิบๆในลักษณะของ Sensation ในเนื้อในตัวไปเรื่อยๆ เราฝึกร่างกายของเราให้มีพื้นที่ว่าง เราอนุญาตหรือปล่อยให้ทุกอย่างเกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่ เราสัมพันธ์หรือมีประสบการณ์กับสิ่งที่เรียกว่า เฟลท์เซนส์ “Felt Senses” ประสบการณ์ที่แสนจะดิบในเนื้อในตัวของเรา เป็นสิ่งที่ไปพ้นจากการแปะป้าย หรือการเรียกชื่อว่าเป็นสิ่งนั้น-สิ่งนี้ รู้สึกอย่างนั้น-รู้สึกอย่างนี้
- เมื่อเรามีโอกาสที่จะสัมพันธ์กับ Felt Senses บ่อยขึ้น เราจะเรียนรู้การสัมพันธ์กับประสบการณ์ที่กำกวม ไม่ชัดเจน ประสบการณ์ที่ไม่อาจให้ชื่อได้ (ที่ตรงนั้นเราอาจสังเกตช่วงเวลาที่เรากำลังจะเริ่มแปะป้ายหรือให้ชื่อก็ได้)
- เมื่อเราได้สัมพันธ์อยู่กับประสบการณ์ของ Felt Senses ไปเรื่อยๆ เราอาจเริ่มสังเกตเห็นความมีชีวิตชีวาที่เป็นพื้นฐานมากๆ (Basic Aliveness) เป็นพลังงานมากมายมหาศาลซึ่งที่มีอยู่แล้วเสมอในตัวเราทุกคน อยู่ข้างใต้หรือในพื้นหลังของเรื่องเล่า(Storyline) รวมถึงอารมณ์ (Emotions) ความรู้สึก(Feelings) อันเกิดจากการแปะป้าย การเรียกชื่อ หรือการตีความของเรา
- วิธีที่จะหยุด หรือตัด หรือสร้างช่องว่าง (Gap) ให้กับสายเรื่องอันต่อเนื่องของเรา คือ เมื่อเราตระหนักรู้ (Aware)ว่าเรากำลังทำ ก็ให้กลับมาอยู่กับ Felt Sense อย่างตรงไปตรงมาและเป็นมิตร
จากนั้นครูตั้มก็ได้เสริมในประเด็นนี้เพิ่มเติม
- ภาพ Spectrum of Felt Energy เป็นเหมือนผ้าห่มที่คลุมทับศักยภาพอันมหาศาล ภายใต้ผ้าห่มของเรื่องเล่าหรือคำตัดสินที่มีลักษณะเป็นทวิลักษณ์มากๆ (จากการที่เราคิดขึ้นมา แล้วก็เชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้องเที่ยงแท้) มีพลังงานมากมายมหาศาลของอารมณ์ ความรู้สึก สัมผัสภายใน และ “ชีวิตชีวา” ที่รอให้เราเข้าไป unlock จากกระบวนการภาวนา
- ผ้าห่มที่เราใช้เรื่องเล่าคลุมไว้นี้ ทำให้เกิดการแบ่งแยก ทำให้เรารู้สึกตัดขาด ไม่ว่าจะเป็นการตัดขาดจากอารมณ์ ความรู้สึก ความมีชีวิตชีวา อาจลึกไปถึงการตัดขาดต่อความสัมพันธ์ การเชื่อมโยง เจตจำนง และอีกหลายๆ อย่างที่เป็นไปได้
- ทั้งหมดของเส้นทางของการภาวนา คือ การถอดสิ่งที่มันเป็น Cover นี้ออก มันไม่ได้หมายความว่าการภาวนาจะช่วยให้เรากลายเป็นคนดีขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นคนอื่น แต่การภาวนาจะถอดผ้าห่มที่ปิดกั้นเนื้อแท้ของชีวิตเรา ถอดถอนมายาคติบางอย่างที่เราใช้ในการหลีกเลี่ยงหรือหนี ด้วยเรื่องเล่าที่เราเฝ้าบอกตัวเองหรือตัดสินเอาไว้แล้วว่ามันเป็นปัญหา ข้างใต้ cover คือพื้นที่ว่าง พื้นที่ของความเป็นไปได้
- มากกว่าแค่การไม่ตัดสิน หรือการไม่อินไปกับสายเรื่อง ในการภาวนา เราจะได้ทำงานกับสิ่งที่อยู่ข้างใต้ด้วยการอยู่กับร่างกาย ด้วยการอยู่กับ Felt Sense, Basic Anxiety, Vulnerability หรือภาวะอะไรก็ตามที่ดิบๆ ตรงไปตรงมา กำกวม ไม่ชัดเจน หรือกำลังอยู่ในกระบวนการ มันคือภาวะที่ยังไม่เกิดการแบ่งแยก
“somatic meditation คือการฝึกดำรงอยู่ในมณฑลอันศักดิ์สิทธิของร่างกาย ฝึกที่จะอุ้มตัวพลังงานหรือภาวะ tension ก่อนที่มันจะพัฒนาไปสู่การแบ่งแยกเป็นถูก-ผิด-ดี-ชั่ว เราให้พื้นที่กับทุกสภาวะในร่างกายอย่างที่มันเป็น”
- มากกว่าแค่เรื่องความสัมพันธ์ หรือปัญหาชีวิต somatic meditation เป็นทิศทางที่เราจะเชื่อมต่อกับอีก 95% มันคือการที่เราเข้าไปอยู่ในมหาสมุทรที่ คาร์ล ยุง เรียกว่า Collective Unconscious เป็นมหาสมุทรของจิตใต้สำนึกที่มนุษยชาติแชร์ร่วมกัน
- มีหลายๆอย่างมากที่เวลาเรามองจากมุม Collective Unconscious เราไม่สามารถที่จะตัดสินได้จริงๆ มันกว้างใหญ่มาก มันมีขุมทรัพย์ของปัญญาที่เราไม่สามารถที่จะใช้จิตสำนึกเพียง 5 % ของเราตีความได้ มันคือการฝึกที่จะอยู่กับความไม่รู้ ฝึกที่จะอยู่กับ unknown ฝึกที่จะอยู่กับอะไรบางอย่างที่มันยังรอการเผยให้เราเห็น ตรงนี้เป็นที่ที่การพัฒนาของปัญญาจะเกิดขึ้น ความเข้าใจใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นในระดับปัจเจก หรือในระดับความสัมพันธ์ ต่อสถานการณ์ที่เรายังไม่รู้ว่าจะเป็นยังไงต่อ คือเราก็ยังไม่รู้ แต่การภาวนาฝึกเราได้สามารถรอการเผยขึ้นของการรู้
- การละจากสายเรื่องหรือความคิดที่ห่มคลุมอยู่ แล้วเชื่อมต่อกับ Collective Unconscious เป็นสิ่งที่วัชรยานสนใจ การเชื่อมต่อกับ unknown นี้เองสะท้อนถึงความเป็น Mystic ของวัชรยานหรือตันตระ มันเป็นพลังงานที่ค่อยๆ เผยให้เราสัมพันธ์ใกล้ชิดขึ้นเรื่อยๆ และมันทำให้เราค้นพบตัวเองมากขึ้นว่าเจตจำนงในชีวิตเราคืออะไร เราเกิดมาด้วยพันธกิจอะไร มีอะไรที่ทำให้เรารู้สึกมีชีวิตชีวาที่เราจะใช้ชีวิตเพื่อสิ่งๆ นี้ มันเป็นพลังงานอะไรบางอย่างที่ใหญ่กว่าตัวเรามากๆ ที่เราปรารถนาจะเชื่อมต่อและสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด
- somatic meditation คือหนทางในการเชื่อมต่อกับอีก 95% ซึ่งจะช่วยทำให้เราค้นพบตัวเองจากเส้นทาง จากอุปสรรค จากประสบการณ์ และจากผู้คนที่เราพบเจอ แทนที่จะมองว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัว เรากลับมองว่ามันเป็นสัญญาณอะไรบางอย่างที่เชื่อมต่อกับพลังงานสูงสุดหรือ “ตันตระ” ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เราได้ค้นพบและเป็นหนึ่งเดียวกับ “Sacred Being” ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ
สรุปความ โดย พรทิภา จันทรพราม
จากกิจกรรม “สังฆะปฏิบัติ” วันที่ 6 มกราคม 2565