Not All Roses: หลุมพรางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ


บทความ โดย อุษณี นุชอนงค์


ช่วงนี้คิดถึงคำว่า “วัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ” บ่อยครั้งขึ้น

คำนี้ได้ยินเป็นครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน จากหนังสือชื่อ “ทะลวงวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ”​ จำได้ว่าครูตั้ม วิจักขณ์ พานิช ซึ่งเป็นผู้แปลหนังสือเล่มนี้ เคยพูดว่า “ทะลวงวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ” เปรียบเสมือนคำเตือนว่า เราในฐานะผู้ปฏิบัติกำลังใช้การภาวนาเป็นวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณอยู่หรือไม่?

หนังสือ: ทะลวงวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ ISBN: 9786167102221

วัตถุนิยมทางจิตวิญญาณคืออะไร?

ความหมายดูจะตรงไปตรงมา วัตถุนิยม (materialism) ในที่นี้อาจหมายถึงวัตถุ สิ่งของ การกระทำ หรือสิ่งใดก็ตามที่เราใช้เพื่อเลี่ยงการเผชิญหน้ากับบางอย่างที่เราไม่ต้องการรู้สึก เพื่อให้จิตใจหรือจิตวิญญาณ (spiritual) ของเรา “ดีขึ้น โล่งขึ้น มีความสุขมากขึ้น” ดังนั้น การปฏิบัติภาวนาจึงสามารถเป็นวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณได้เช่นกัน หากเรามุ่งหวังให้การภาวนานำพาเราเลี่ยง หลีกหนี หรือออกไปจากความทุกข์ตรงหน้า

เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้กล่าวว่า วัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ คือการที่เราปฏิเสธจะอยู่กับความจริง เราพยายามดิ้นรน ขัดขืน เราพยายามปกป้องตัวเอง และเราพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง เช่น หากไม่สบายใจ เราจะพาตัวเองไปดู NETFLIX  โทรหาเพื่อน กินเหล้า เล่นโยคะ หรือแม้แต่หันมาภาวนา เราคิดเองว่าหากเราสามารถเปลี่ยนตัวเองให้ดีกว่านี้ เข้าใจอดีต หรือความเจ็บปวดของเราได้มากกว่านี้ เป็นคนดีได้มากกว่านี้ ทุกอย่างจะดีขึ้น ดังนั้น ทุกการกระทำจึงถูกใช้เป็นทางออกเพื่อไม่ให้เราอยู่กับความจริงตรงหน้าได้แทบทั้งสิ้น

ตรุงปะกล่าวว่า เมื่อเราเสียเวลามาเรียนรู้เรื่องจิตวิญญาณ เรามาภาวนา เราต้องตั้งคำถามกับการแสวงหาของเราด้วยว่า…

“เรามาภาวนาเพื่ออะไรกันแน่?”

Chögyam Trungpa Rinpoche ที่มาภาพ: https://pin.it/3nFTKqg

ตรุงปะกล่าวต่อว่า สาระสำคัญของการฝึกฝนทางจิตวิญญาณคือการก้าวออกมาจากอัตตา หากเราไม่ออกมาและยังคงยืนยันที่จะฝึกตนบนหนทางของการอยากได้ อยากเอา อยากไปนั่น อยากบรรลุนี่ เราจะพบว่าตัวเองเป็นเจ้าของ “Collection ทางจิตวิญญาณ” กล่าวคือ เราพบว่าทุกอย่างที่ไปเรียนมาช่างมีค่ายิ่งนัก เราไปเรียนโยคะ เราไปเรียนภาวนากับอาจารย์ที่มีชื่อเสียง เราได้ใกล้ชิดอาจารย์ เราเรียนรู้ปรัชญาตะวันตก ปรัชญาตะวันออก

เรารู้ทุกอย่าง ทว่าจะให้เราปล่อยวางน่ะหรือ? …

“ไม่มีทาง! เราเรียนรู้สิ่งเหล่านี้เพื่อปกป้องไม่ให้เราเจ็บปวดหรือ​ทุกข์ต่างหาก!”

ที่มาภาพ: Pixabay จาก Pexels

สำหรับผู้สนใจฝึกภาวนา

■ เราอาจกำลังใช้การภาวนาเป็นวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ…ถ้าเรารู้สึกแย่หรือล้มเหลว หากวันนี้นั่งแล้วรู้สึก “ไม่ดีเลย”

■ เราอาจกำลังใช้การภาวนาเป็นวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ…หากเราพยายามปรับปรุงหรือพัฒนาตัวเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะนั่นหมายความว่าเราไม่สามารถรับบางเสี้ยวส่วนของตัวเองได้เลย

■ เราอาจกำลังใช้การภาวนาเป็นวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ…หากเราไม่อดทน เพราะการตื่นรู้อาศัยความอดทนเพื่อทำงานกับอัตตาของเราอย่างไม่หยุดพัก และ ….

■ เราอาจกำลังใช้การภาวนาเป็นวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ…หากยิ่งฝึกเรายิ่งรู้สึกว่าตัวเองต่างจากคนอื่น ดีกว่าคนอื่น

ถ้าเช่นนั้น หนทางใดเล่าที่จะไม่ใช่การภาวนาแบบวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ?

ตรุงปะกล่าวว่า “เราต้องเลิกล้มที่จะเปลี่ยนตัวเอง เลิกล้มที่จะปกป้องอัตตาของตัวเอง เลิกกลัวพื้นที่ว่าง เลิกกลัวกับการไม่อาจผูกตัวเองไว้กับจุดยืนอันมั่นคงใดๆ”

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ในการภาวนาเราจะเปิดใจต่อสถานการณ์ตรงหน้า ต่อสถานการณ์ชีวิตอย่างสมบูรณ์ เราเรียนรู้ถึงคุณสมบัติความหยาบ ดิบ กระด้าง เทอะทะ น่าเขย่าขวัญในตัวตนของเรา เราจะเผชิญความผิดหวังและความกลัวอย่างตรงไปตรงมา

ท่าทีเช่นนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะนั่นหมายความว่าเราต้อง “ศิโรราบ” หรือ “อนุญาต” ​ให้ตัวเองได้เผชิญหน้ากับบางอย่างตรงหน้า ที่ตัวเองรับมือไม่ค่อยไหว ซึ่งจะทำเช่นนั้นได้ตัวตนเราต้อง “ยอม” ก่อน กระนั้นการสูญเสียตัวตนเป็นประสบการณ์ที่น่าหวาดกลัวยิ่งนัก ดังนั้นสิ่งสำคัญยิ่งอีกประการในการฝึกเผชิญหน้ากับความวิปลาสเหล่านี้ คือ “ทีละนิด ทีละนิด” “ค่อยเป็นค่อยไป” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Titration

“เราเพิ่มความสามารถที่จะเผชิญหน้ากับการไม่ยอม แรงต้าน การดิ้นรนขัดขืน วันละนิด วันละนิ และหากเราไม่สามารถที่จะรับมือกับความท่วมท้นของความรู้สึกหวั่นไหว เราก็แค่ยอมรับว่าเรารับมือกับมันไม่ได้ นี่คือท่าทีของไมตรีที่มีต่อตัวเอง”

เมื่อใดก็ตามที่เรามองหนทางจิตวิญญาณว่าเป็นหนทางสู่ชีวิตที่สะดวกสบาย ทันทีที่เกิดความผิดหวังหรือประสบการณ์อันไม่น่าพอใจขึ้น เราก็จะพยายามหาเหตุผลบางอย่างมาอธิบาย เพราะเราคิดว่าเส้นทางการฝึกตนของเราควรต้องโรยด้วยกลีบกุหลาบเท่านั้น หากเราล้มเราจะสามารถล้มบนพื้นรองรับนุ่มๆ ได้

ทว่า ตรุงปะตั้งคำถามว่า “ใช่หรือไม่ว่านั่นคืออัตตาของเราที่คอยเรียกร้องมองหาเส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ?”

จะดีกว่าหรือไม่ หากเราจะมองเห็นความผิดหวังหรือการมีประสบการณ์อันไม่น่าพอใจทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับเราเป็นเพียงแค่การล้มลงสู่พื้นธรรมดาที่ทั้งแข็งและขรุขระ เพราะสุดท้ายแล้วเราจะลงสู่พื้นอย่างที่มันเป็น เราจะสื่อสารกับโลกอย่างที่เป็น