ขณะนั้นที่มันงดงาม : การจัดดอกไม้กับท่าทีที่มีต่อความสัมพันธ์

สนทนากับ อ.เชค ดิเรก ชัยชนะ

บทสัมภาษณ์โดย CHES วัชรสิทธา

“ตอนที่เรียนวันแรก เราพูดถึงอิเคบานะในความหมายทางตัวอักษรหรือตามวัฒนธรรม ที่เขาเรียกว่าอิเคบานะก็เพราะเป็นการจัดดอกไม้ในภาชนะที่บรรจุน้ำ แต่พอจัดจริง เราสัมพันธ์กับทุกอย่างตามที่มันเป็น ฝึกสัมพันธ์อย่างแม่นยำด้วยขั้นตอน 14 ขั้นตอน ซึ่งมันช่วยให้เราช้าลง ในการจะสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ อาจจะเรียกว่านี่เป็นวิธีหนึ่งของการฝึกสติ เป็นวินัยอันหนึ่งในการที่จะใส่ใจกับสิ่งต่างๆ ด้วยความเคารพ…”

การสนทนาเริ่มต้นขึ้นด้วยการที่ อ.เชค ดิเรก ชัยชนะ พูดถึงขั้นตอนการจัดดอกไม้อิเคบานะเบื้องต้น และการได้สัมพันธ์กับธรรมชาติของสิ่งต่างๆ ตามที่ปรากฏในคอร์ส ‘ดอกไม้สื่อใจ’

“พอพูดถึงเรื่องของความสัมพันธ์ลักษณะนี้ มันก็คือ การเปิดกว้าง การเปิดรับ และการเข้าไปทำความเข้าใจ สนใจใคร่รู้ อยากที่จะรู้ว่าสิ่งที่เราสัมพันธ์ด้วยมันเป็นยังไงกันแน่ มันมีคุณลักษณะยังไง ธรรมชาติความงามของมันนั้นอยู่ตรงไหน มุมไหน เราถึงจะจัดวางมันได้อย่างเป็นธรรมชาติ ทุกๆ กิ่งสามารถมีพื้นที่ในการสื่อสารความงามของมันได้”

“เป็นความสัมพันธ์ที่เราอยู่ตรงนั้นอย่างเต็มที่กับเขา

เปิดกว้างอย่างเต็มที่ รับรู้อย่างเต็มที่ ชื่นชมอย่างเต็มที่”

เชษฐ์ : แต่บางครั้งในการจัดดอกไม้ เราฝึกที่จะสัมพันธ์แล้ว แต่มันก็ยังไม่ถึงกับเพลิดเพลิน อารมณ์แบบ… จัดยังไงก็ไม่เสร็จสักที-ไม่สวยสักที

อ.เชค : ถ้าแบบนั้น ก็คือเรื่องของความคิดเนอะ อย่างที่บอกในขั้นตอนแรกของการจัดอิเคบานะ มันจะมีการยืนภาวนานิ่งๆ เพื่อเราจะได้ปล่อยความคิด ความคาดหวัง หรือว่าความกลัวเกี่ยวกับผลลัพธ์ของผลงานที่เกิดขึ้นว่าจะเป็นอย่างไร

ตัวความคิดพวกนี้ ถ้าเราสามารถที่จะปล่อยให้มันเป็นอิสระได้ ว่างจากมันได้ เราก็จะสามารถจัดดอกไม้ได้อย่างเพลิดเพลินมีความสุขได้ หรืออีกทางนึงเราก็สามารถไปสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติโดยที่ไม่มีความคิดของเราเข้าไปขวาง เข้าไปควบคุมจัดการ หรือว่าเข้าไปกำหนดให้มีเป้าหมาย เราจะอยู่กับประสบการณ์ตรงนั้นจริงๆ “การไม่ใช้ความคิด” น่าจะเป็น Keyword นึงของความอิสระหรือความเพลิดเพลินที่เกิดขึ้นจากการจัดดอกไม้แบบอิเคบานะ

เชษฐ์ : ขั้นตอนสำคัญคือ การยืนนิ่งๆ ปลดปล่อยความคิด? ยังไงนะครับ?

อ.เชค : ส่วนหนึ่งคือการกลับไปสู่การอยู่กับอะไรที่ไม่มีแบบแผน ไม่มีความคิดเรื่องการจัด มันเป็นไปได้นะว่าเวลาที่เราเข้าไปในห้องเรียน เราเห็นดอกไม้ โอ้ดอกนี้สวย ดอกนั้นก็สวย แจกันนี้ก็น่าจับ บางครั้งเราก็อาจจะสร้างรูปแบบการจัดไว้ในหัวเรียบร้อยแล้ว จากนั้นพอเราเดินไปสัมพันธ์กับดอกไม้เราก็จะเดินมองหาเลย เพื่อที่จะให้มันเป็นเหมือนกับที่เราคิดอยู่ในหัว ที่เราวางแผนไว้

สุดท้ายพอเราไปสัมพันธ์กับดอกไม้ซึ่งมันเป็นธรรมชาติ เป็นรูปทรงอิสระ เราก็จะไม่เจออะไรที่มันลงตัวกันแบบ 100% กับที่ต้องการ ดังนั้นเราคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับอิเคบานะคือการปล่อย ..ให้มันว่าง สลายความคิดหรือจุดอ้างอิงที่เรายึดๆ เอาไว้

“จริงๆ แล้วเวลาเราพูดถึงการไม่คิด ความหมายในเชิงปฏิบัติก็คือ การเปิดรับ การยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข”

เชษฐ์ : ธรรมชาติที่เราสัมพันธ์ด้วย นี่รวมไปถึงแจกันที่มนุษย์สร้างสรรค์ออกแบบขึ้นด้วยไหมครับ?

อ.เชค : เวลาเราพูดถึงคำว่าธรรมชาติในที่นี้ เราต้องให้ความหมายว่ามันเป็นธรรมชาติอย่างที่มันเป็นน่ะ มันจะเป็นอะไรก็ได้นะ จะเป็นดอกไม้ กิ่งไม้ แจกัน หรือว่าเป็นสถานที่ อาคารบ้านเรือน สถาปัตยกรรม ธรรมชาติในที่นี้ก็คือคุณลักษณะของสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็น

นิยามนี้มันครอบคลุมทุกสิ่งที่แสดงคุณลักษณะของมันเองที่เป็นอย่างนั้น และเราก็สามารถสัมพันธ์กับสิ่งที่มันเป็นได้ ผ่านประสาทสัมผัสของเรา

เมื่อไหร่ที่เราเริ่มเอาความคิดไปควบคุม มันก็จะไม่เป็นธรรมชาติแล้ว เพราะว่ามีอะไรบางอย่างที่เราอยากจะให้มันเป็น หรือว่าเวลาเราเข้าไปสัมพันธ์ผ่านความคิดเรา มันก็จะไม่เป็นรูปทรงตามธรรมชาติเดิมของมันแล้ว มันจะกลายเป็นสิ่งที่เราอยากจัดการหรืออยากสร้างมันขึ้นมา

ดังนั้นถ้าเราพูดถึงธรรมชาติ มันก็คือสิ่งที่เรารับรู้อย่างตรงไปตรงมา ไม่มีม่านของความคิดใดๆ เข้ามาขวางกั้น นั่นจึงจะเป็นธรรมชาติตามความหมายของการจัดดอกไม้แบบอิเคบานะ

เชษฐ์ : แล้วความงามพวกนี้ เราใช้อะไรสื่อสารออกมาล่ะครับ
อ.เชค : ถ้าเรามองจากกรอบคิดอิเคบานะ เวลาเราพูดคำว่างาม-ไม่งาม หลายๆ คนอาจรับรู้ได้เลย เออแจกันนี้มันงาม มันก็สามารถแสดงออกความเป็นธรรมชาติของมันได้อย่างเต็มที่ หลายคนที่เรียนก็จะรับรู้ได้จากประสบการณ์ตรงของตนเอง

แจกันบางแจกันพอดอกไม้ที่มันติดปากแจกัน หรือขอบขวด มันก็ให้อีกความรู้สึก แต่หลังจากที่เราดึงก้านมันขึ้นมาอีกหน่อยนึง มีช่องว่างให้มันแสดงความงามมากขึ้น ก็จะรู้สึกได้ว่ามันมีพลังสื่อสารอะไรบางอย่างกับเรา แล้วเราก็รู้สึกว่ามันงาม มันกลมกลืน ซึ่งเวลาที่จัดในคอร์สทุกคนก็มีโอกาสจะได้เห็นความงามแบบนี้เหมือนกัน

ความงามแบบนี้มันข้ามพ้นการตัดสิน การที่จะมาว่าสวย-ไม่สวย ความงามแบบนี้มันอาจจะเป็นแง่มุมของความอิสระก็ได้ เหมือนมันเปิดประสบการณ์อะไรบางอย่าง หรือมันเชื่อมโยงกับอะไรบางอย่างภายในของเราที่มันข้ามพ้นเรื่องการตัดสินงาม-ไม่งามออกไป

เชษฐ์ : แสดงว่าแต่ละคนที่เราสัมพันธ์ด้วย ก็มีความงามในตัวของเขาเองใช่ไหม?

อ.เชค : ใช่ๆ เราว่าในแง่มุมนั้น มันคือความงามอันไร้เงื่อนไข เช่น มันคือความงามอย่างที่คุณเป็น หมายความว่ามันก็ดีในแบบที่คุณเป็น เราก็เปิดรับทุกอย่างที่คุณเป็นโดยไม่ตัดสิน ซึ่งความงามแบบนี้ คำว่าถูก-ผิด ดี-ไม่ดี สวย-ไม่สวย มันจะไม่มีคำพวกนี้อยู่ในนั้นนะ

เหมือนกับว่าเราก็โอเคไปหมด ในทุกแง่มุมที่สิ่งนั้นแสดงออกมา หรือว่าที่คนนั้นแสดงออกมา เราโอเคกับทุกสถานการณ์ที่ทุกสิ่งเกิดขึ้น มันเป็นความงามที่ไร้เงื่อนไขเนอะ เฉพาะตัวมากๆ ซึ่งอิเคบานะจากมุมมองของธรรมศิลป์ที่เราฝึกกัน ก็สื่อสารความงามจากแง่มุมนี้

ถ้าเราจะไปสัมพันธ์กับใคร คือเราไปตัดสินแทนเขาไม่ได้ว่าเขาจะทำผิดหรือเปล่า เราไม่ใช่เขาเนอะ มันต้องไม่มีการตัดสินว่าสิ่งที่เขาทำมันเรียกว่าผิดหรือเปล่า ถ้าเรามองว่าสิ่งที่เขาทำมันผิดก็หมายความว่า เรามีการตัดสินอยู่ก่อนที่จะไปสัมพันธ์กับเขาแล้ว มันก็เป็นการปิดไปด้านนึงแล้ว ถึงจะเปิดรับอีกด้านนึงไว้แต่ก็รู้จักกันไม่ครบ 100% อยู่ดี

เชษฐ์ : ถ้าเราตั้งใจกับมันมาก แล้วเราก็ชอบมันมาก เราจะไม่เสียใจหรอครับที่ต้องรื้อมันทิ้งไป

อ.เชค : อันนี้มันก็เหมือนกับเรารับรู้ความงาม ชื่นชมธรรมชาติความงามนั้นอย่างเต็มที่ จากนั้นก็รื้อแจกันอะไรออกไป ถึงมันจะยังซาบซึ้งอยู่ก็ตาม

พี่จำได้เวลาที่มันเกิดประสบการณ์แบบนี้ในการภาวนา ครูตั้มก็เคยแนะนำเหมือนกันว่าบางครั้งเรามีประสบการณ์ที่เรารู้สึกเชื่อมโยงกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วบางครั้งเราก็อยากจะไปยึดติดกับประสบการณ์แบบนั้น ที่ครูตั้มบอกก็คือ เราอาจจะมอบประสบการณ์ที่มันซาบซึ้งตรงนั้นให้กับครูบาอาจารย์ไป

ก่อนหน้านี้ก็เคยมีนักเรียนที่แบบ หูยยย… แจกันนี้จัดแล้วรู้สึกว่าเขาได้สื่อสารความงามออกมาได้เต็มที่ รู้สึกสนุกเพลิดเพลิน แล้วมันก็สวยด้วย พอทุกคนชื่นชมเสร็จแล้ว พี่ก็ให้รื้อแจกัน ทุกคนก็บอก โหยยย… ขอเก็บไว้ได้ไหมคะ ก็เลยบอกเขาไปเหมือนกันว่า ให้นำประสบการณ์ที่มันซาบซึ้งตรงนั้น มอบให้กับครูไป

โดยธรรมชาติมันต้องเหี่ยวเฉาอยู่แล้ว อาจจะทิ้งไว้ได้สักวันสองวันน้ำก็อาจจะเริ่มเน่าแล้ว แต่คือจริงๆ แล้ว คือแค่โมเมนต์นั้น เราได้ชื่นชมมันเต็มที่ มันก็สมบูรณ์ในตัวมันเองไปแล้ว

เชษฐ์ : สุดท้ายความสัมพันธ์ทั้งหมดที่เรามีกับธรรมชาติของสิ่งต่างๆ ในห้องเรียนมันจะสะท้อนอะไรภายในตัวเราเองบ้าง?

อ.เชค : คอร์สชื่อว่า “ดอกไม้สื่อใจ” ซึ่งมันก็สะท้อนความหมายของมันออกมาได้ดีนะ คือมันจะสะท้อนความเป็นธรรมชาติของผู้จัด สะท้อนการรับรู้ของผู้จัด ณ ตอนนั้น ถ้าการรับรู้ของเรามันมีม่านของความคิดอยู่ที่ไม่ใช่การรับรู้แบบไม่มีเงื่อนไข ความสัมพันธ์ก็จะออกมาผ่านตัวความคิดที่เรามี

จริงๆ แล้วการจัดดอกไม้มันก็มาทำงานกับการรับรู้ของเราให้มัน Pure มากขึ้น ให้มันบริสุทธิ์มากขึ้น ให้มันเปิดมากขึ้น ให้มันไม่มีความคิดมากขึ้น เราก็จะสามารถสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ได้อย่างที่มันเป็นจริงๆ  

ดังนั้นการจัดดอกไม้มันก็สะท้อนการรับรู้ของเรากับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า กับดอกไม้ แจกัน พื้นที่ ผู้คน หรือมันก็สะท้อนความสัมพันธ์เนี่ยแหละ ที่เราสัมพันธ์กับพืช กิ่งไม้ ดอกไม้ แจกัน กับสถานที่ที่เราไปจัด

จากการที่ได้จัดดอกไม้อิเคบานะ และการได้สนทนาสัมภาษณ์เพิ่มเติมกับ อ.เชค สุดท้ายแล้วพวกเราก็ได้รู้ว่า การมีความสัมพันธ์ผ่านความคิดมันจะพาเราวนลูปอยู่แต่ในนั้น ครุ่นคิดทบทวนอยู่แค่ในความคิดของตัวเอง แตกต่างจากการมีความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ อย่างเปิดกว้างอนุญาตให้ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ พลังงานเหล่านั้นมันชัดเจนและงดงามกว่าที่เราคิดซะอีก ขอแค่เราไว้วางใจ ปล่อยความรู้สึกไปกับประสบการณ์ของตัวเองอย่างเต็มที่ อยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้น ก่อนที่ช่วงเวลาจะพาทุกอย่างผ่านไป แปรเปลี่ยนไป เลือนหายไป

ช่วงเวลาสั้นๆ แค่นั้น ความสัมพันธ์ของเราที่มีต่อชั่วขณะนั้น มันสวยงาม และสมบูรณ์ในตัวของมันแล้ว”