หยาดฝนบนห่าเพลิง…ทิเบตกับคืนวันกลางสมรภูมิ

บทความโดย รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และ manager online 20 มีนาคม 2552

ปลดปล่อยทิเบตจากการที่ถูกจองจำ

ในงานเสวนา วิจักขณ์ พานิช ได้คัดสรรข้อความในหนังสือ Born in Tibet ซึ่งกล่าวโดยเชอเกียม ตรุงปะ สะท้อนถึงจิตวิญญาณท่ามกลางสถานการณ์ที่ทิเบตกำลังถูกรุกรานจากกองทัพคอมมิวนิสต์จีน

สถานการณ์วิกฤติ

“เป็นที่ชัดเจนว่า ชีวิตของข้าพเข้าได้มาถึงจุดวิกฤติ  ข้าพเจ้ากำลังเผชิญกับความเป็นจริงที่ว่า ทิเบตตะวันออกจะไม่ได้เป็นศูนย์กลางทางจิตวิญญาณอีกต่อไป ทุกสิ่งทุกอย่างช่างดูมืดมนเหลือเกิน”

“แม้จีนคอมมิวนิสต์จะทำลายสถานที่นี้ทั้งหมด  เมล็ดพันธุ์แห่งปัญญาในหัวใจของเราก็ไม่สามารถถูกทำลายได้ แม้ว่าสิ่งที่เราสร้างวันนี้จะถูกทำลายไม่มีเหลือในวันพรุ่งนี้ ฉันก็ไม่เสียใจกับสิ่งที่ได้ทำลงไป  เพราะมันคงจะน่าเสียใจยิ่งกว่า หากเรามัวแต่พยายามเก็บกันมันไว้ด้วยความกลัว และท้ายที่สุดสิ่งที่เราพยายามจะเก็บรักษากลับถูกพรากจากเราไป โดยปราศจากความงอกงามใดๆในหัวจิตใจของผู้คนชาวทิเบต”

เคนโป กังชา

“เค็นโป กังชา ออกไปเยี่ยมโยคีตามถ้ำต่าง ที่ได้ตั้งปณิธานการฝึกเงียบตลอดชีวิต เขาเตือนผู้ปฏิบัติเหล่านั้นว่า ทุกคนควรตระหนักถึงความยากลำบากในการกลับมาดำเนินชีวิตในโลกอันวุ่นวายอีกครั้งในไม่ช้า”

ครั้งหนึ่งท่านกล่าวว่า “แม้เราจะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำพิธีกรรมทางศาสนาอีกต่อไป แต่นั่นก็ไม่ได้ทำลายคำสอนพื้นฐานของพระพุทธองค์ที่ได้ให้ไว้กับเรา และมันก็ไม่มีทางจะทำลายศักดิ์ศรีสูงสุดในหัวใจของชาวทิเบต”

“เค็นโป กังชา เน้นย้ำในช่วงเวลาวิกฤติกับศิษย์ทุกคน  อย่างก่อกรรมทำชั่ว สรรค์สร้างแต่กรรมดี ขัดเกลาจิตใจให้เปิดกว้างและบริสุทธิ์ตามธรรมชาติเดิมแท้ นั่นคือหัวใจคำสอนของพระพุทธองค์ ตั้งแต่นี้ เราจะต้องปฏิบัติตนในหนทางที่ถูกต้อง และตระหนักรู้ถึงภาวะภายในของเราอย่างแท้จริง เราต้องสร้างอารามทั้งหลายขึ้นในหัวใจของเราเอง”

จัมกอน คองโทร

“ตั้งแต่นี้ต่อไป ฉันไม่คิดว่าทิเบตจะสามารถดำเนินต่อไปได้ อย่างเช่นในอดีต

กฎแห่งกรรมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เราแต่ละคนจะต้องเผชิญกับชะตากรรมของตนอย่างกล้าหาญ เราแต่ละคนจำต้องเดินตามการชี้แนะของเสียงภายในของเราเอง”

“ตั้งแต่นี้ต่อไปเธอทุกคนจะต้องเผชิญกับความทุกข์ยากอันใหญ่หลวง โดยไม่มีอาจารย์คอยประคับประคอง สั่งสอน หรือชี้แนะอีกต่อไป ทุกคนจะต้องฝึกฝนจนพร้อมที่จะยืนบนลำแข้งของตนเองให้ได้”

“จัมกอน คองโทร พูดกับฉันบ่อยครั้งว่า เราจะต้องมีความมุ่งมั่นในการเอาชนะการแบ่งแยกระหว่างสายการปฏิบัติของพุทธศาสนา โดยเฉพาะในยุคสมัยที่เรากำลังเผชิญอยู่ หากเรายังหวังที่จะปกป้องหัวใจของมนุษย์จากพลังการทำลายล้างแห่งวัตถุนิยมและคอมมิวนิสต์”

ในวินาทีสุดท้ายที่ฉันได้เห็นหน้าจัมกอน คองโทร เราร่ำลากันทั้งน้ำตา ฉันขอร้องให้ท่านสัญญาว่าเราจะได้พบกันอีกครั้ง ท่านตอบฉันว่า “เราจะพบกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จงจำไว้เสมอว่า ครูได้สถิตอยู่ในใจ และหนทางได้ทอดยาวอยู่ภายในดวงใจนั้นแล้ว”

+++++++++++++++++

นับแต่จีนบุกรุกทิเบต ในปี พ.ศ.2492 กองทัพของรัฐบาลจีน ในนาม “กองทหารปลดแอกประชาชน” ได้เข่นฆ่าทำลายล้างชาวทิเบตไปมากกว่า 1 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 6 ล้านคน วัดวาอารามมากกว่า 6,000 แห่งถูกทำลาย

ตราบกระทั่งวันนี้ ชาวทิเบตจำนวนไม่น้อย ผู้ได้ชื่อว่าเป็นชนชาติซึ่งหลอมรวมตนเองเป็นหนึ่งเดียวกับวิถีทางจิตวิญญาณ ยังคงดำเนินชีวิตอย่างเข้มแข็งแม้ในสภาพดวงใจแหลกสลาย ด้วยมีบางสิ่งสำคัญสูงสุด ฉุดดึงพวกเขาให้ยังหยัดยืน ปลุกให้ฟื้นตื่นขึ้น น้อมรับ แล้วเผชิญหน้ากับความทุกข์อันสาหัสอย่างกล้าหาญ

คือพลังแห่ง “ศรัทธา”…อาวุธอันอ่อนโยนและทรงพลานุภาพ ที่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ไม่อาจระรานให้สูญหาย

ใต้ลมปีก นกไร้เหย้า

10 มีนาคม พ.ศ. 2502 การกดขี่ ทำร้าย และทำลายศาสนสถานอันเป็นศูนย์รวมทางจิตวิญญาณ ปลุกให้ประชาชนชาวทิเบตรวมตัวมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเรียกร้องอิสรภาพ นำไปสู่การก่อจลาจล ลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลจีนครั้งใหญ่

เมืองลาซาในวันนั้น นองเลือดและถูกถมทับไปด้วยซากศพชาวทิเบตกว่า 87,000 คน ที่ถูกทางการจีนปราบปราม เหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าว ผลักให้องค์ทะไล ลามะจำต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ และไม่อาจหวนคืนสู่ทิเบตได้อีก

10 มีนาคม พ.ศ. 2502 ถูกจดจำในฐานะ ‘วันลุกขึ้นสู้’ ที่ทิ้งรอยแผลใหญ่หลวงไว้ในความทรงจำอันรวดร้าวของชาวทิเบต ขณะเดียวกัน มันคือบทบันทึกประวัติศาสตร์ที่ราวกับบอกกล่าวโลกทั้งโลกให้รับรู้ว่า ครั้งหนึ่ง ชนชาติผู้รักสงบ มิอาจยอมจำนนอีกต่อไป ต่อชนผู้ก้าวเข้ามารุกรานอารามแห่งจิตใจของพวกเขา ในนามของ …ผู้มาปลดปล่อยสู่ความเจริญ

เลือดที่เจิ่งนองและลมหายใจที่ถูกปลิด หมายความว่าชาวทิเบตปราชัยในสมรภูมิหรือ ?

ใช่, เป็นความจริงที่ว่า ปัจจุบันมีประชากรชาวทิเบตพลัดถิ่น กระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมากทั้งในอินเดีย เนปาล ภูฏาน สหรัฐอเมริกา แคนาดา สวิสเซอร์แลนด์ และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แต่ใครกัน คือผู้ตัดสินว่าสภาพนกไร้เหย้าที่มิอาจหวนคืนรังนั้น คือผู้พ่ายแพ้

จริงอยู่ มีสายตาหลายคู่เฝ้ามองและตั้งคำถามถึงวิธีการเรียกร้องอิสรภาพของ “คนทิเบตรุ่นใหม่” ที่คล้ายจะหันหลังให้กับการเรียกร้องแบบอหิงสาที่องค์ทะไล ลามะ และชาวทิเบตทั้งมวลซึ่งเติบโตมาก่อนยุคมิลเลนเนียม ยึดถือไว้เป็นหลักการสำคัญในการต่อสู้

กระนั้นก็ตาม สงครามอันโหดร้ายที่ผลักไสให้ชนชาวทิเบตพลัดถิ่น กระจัดกระจายไปทั่วโลก ในอีกแง่มุมหนึ่ง จากสายตาของผู้ยึดมั่นในศาสนธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นคือหลักไมล์สำคัญอันหนุนส่งให้พุทธศาสนากำเนิดใหม่อีกครั้ง แผ่ขยายขจรขจายไปกว้างไกลยิ่งกว่าขอบเขตแห่งเทือกทิวหิมาลัย

วัชรยาน…พุทธศาสนาแบบทิเบต หยั่งรากและเติบใหญ่ไปพร้อมกับความโหดร้ายที่พวกเขาได้พบประสบ ราวกับว่า แม้ถูกกระทำให้เจ็บช้ำ รวดร้าวและแหลกราญมากเพียงใด พื้นที่ความอ่อนโยน เมตตา กรุณา รากฐานแห่งวัชรยาน สัจจะแห่งพระพุทธองค์ยิ่งแพร่หลาย ได้รับการส่งทอดอย่างแข็งแกร่ง

ปรากฏการณ์เช่นนี้ คงไม่เกิดขึ้น หากชาวทิเบตผู้พบเผชิญและบาดเจ็บจากสงครามทั้งกาย-ใจ หอบหิ้ว แบกหามเอาความโกรธแค้น อาฆาต พยาบาทตามติดจิตวิญญาณของพวกเขาไปในทุกหนแห่งที่ย่างก้าว หรือพำนักพักพิง

หาไม่ พวกเขาคงไม่สามารถหยัดยืน ยึดมั่นในสันติวิถี ต่อมหาอำนาจผู้ละโมบเกเร มาเป็นเวลายาวนานนับค่อนศตวรรษ

เดือนมีนาคม ปี 2552 เดินทางมาถึง บรรจบครบรอบ 50 ปี แห่งการรำลึก “วันลุกขึ้นสู้” ของ ชาวทิเบต

เราเป็นคนหนึ่ง ที่ร่วมรับฟังบางทัศนะจากเวทีเสวนา ปลดปล่อยทิเบต 50 ปี หลังจากที่ถูกจองจำ ณ ห้องประชุมเอนกประสงค์ ชั้น 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) กิจกรรมสำคัญเนื่องในวาระครบรอบ 50 ปี จีนยึดครองธิเบต ซึ่งจัดโดย สถาบันสันติประชาธรรม, ป๋วย เสวนาคาร, ศูนย์ไทย-ธิเบต, มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป, เครือข่ายพุทธิกา และ สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา

หลายประเด็นว่าด้วยความชอบธรรม สิทธิมนุษยชน เศรษฐกิจ การเมือง การพัฒนา ถูกหยิบยกมาแลกเปลี่ยนผ่านการตั้งคำถามและมุมมองที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

หากการนำเสนอเนื้อความเสวนาในพื้นที่อันจำกัดนี้ เราขอมุ่งเน้น หยิบยกมาเฉพาะ ประเด็นอันว่าด้วยสิ่งซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของชาวทิเบตที่ช่วยให้พวกเขายังหยัดยืน และเปี่ยมด้วยความหวัง

คือรากฐานแห่งจิตวิญญาณบริสุทธิ์ คือศรัทธาอันแกร่งกล้า คือการตระหนักหยั่งลึกลงในตนเอง เฝ้ามองและสัมผัสความทุกข์ด้วยความเข้าใจ แม้ในท่ามกลางสมรภูมิ 

รอยแผล…รอยธรรม

“เมื่อเอ่ยถึงการที่จีนเข้าไปรุกรานทิเบต ส่วนที่ดีที่สุดที่ส่งผลดีต่อชาวโลกก็คือ การที่พุทธศาสนาได้แผ่กระจาย เจริญงอกงามไปทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง นี่คือสิ่งที่ท่าน ‘เชอเกียม ตรุงปะ’ ธรรมาจารย์ของผม เน้นย้ำอยู่เสมอ เพื่อให้เห็นถึงคุณค่าของการที่พุทธศาสนาได้กระจายออกสู่โลกอันกว้างใหญ่”

วิจักขณ์ พานิช ผู้สนใจศึกษาพุทธศาสนาอย่างจริงจัง และปวารณาตนเป็นศิษย์ของ เชอเกียม ตรุงปะ ธรรมาจารย์คนสำคัญในนิกายกาจูของพุทธศาสนาสายวัชรยานในทิเบต เน้นย้ำหนักแน่น จากมุมมองของผู้ศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรม

“ในแง่หนึ่งที่ผมมองเห็นจากการที่จีนเข้ารุกรานทิเบต นั้น คือครูบาอาจารย์ทิเบต ที่กระจัดกระจายไปทั่วโลก ยังคงพยายามสื่อสาร ‘ข้อความแห่งสัจจะของพระพุทธองค์’ คนเหล่านี้ หัวใจแตกสลายครับ ไม่ใช่ว่าเขามีความสุข เขามีความทุกข์ เขารู้สึกขมขื่น ครูบาอาจารย์หลายคนที่เป็นที่รักของชาวทิเบต ถูกฆ่า ลูกศิษย์หลายคนถูกทหารของรัฐบาลจีนบังคับให้เอาปืนยิงอาจารย์ของตัวเอง แต่ศิษย์เหล่านั้น เลือกที่จะยิงตัวเองตาย”

 คือความเป็นจริงอันโหดร้าย แต่ไม่ว่าอย่างไร

“สิ่งหนึ่งที่ธรรมาจารย์ชาวทิเบตสื่อสารกับลูกศิษย์ทุกคนอยู่ตลอด ไม่ว่ากับผู้คนในรุ่นลูกหรือรุ่นหลาน นั่นคือ ‘จงรักษาศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ไว้เสมอ’ ไม่ว่าคุณจะเผชิญกับอะไร ไม่ว่าความทุกข์ของคุณจะหนาหนักแค่ไหน ขอให้คุณรักษาธรรมชาติอันบริสุทธิ์ในจิตใจของคุณเอาไว้ เพื่อที่โลกของเราจะได้กลับคืนสู่ ‘ความจริง’ ที่แท้จริงของมนุษย์”

ความจริงแท้นั้น ปรากฏอยู่ในแววตาของชาวทิเบตที่แม้ผ่านการถูกเข่นฆ่า ผ่านโศกนาฏกรรม ผ่านเหตุการณ์ที่มีคนแปลกหน้ามาปล้นบ้านเกิดเมืองนอนของตน ไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่ไป…

“แต่สิ่งหนึ่งที่ผมสัมผัสได้จากชาวทิเบตทุกคนที่ผมเคยพบ ก็คือ พวกเขาล้วนเป็นผู้ปฏิบัติธรรม เขารักธรรมะ เขารักธรรมชาติอันบริสุทธิ์ในจิตใจของเขายิ่งกว่าสิ่งอื่นใด”

แล้วอย่างไร? จึงเรียกว่า ความบริสุทธิ์แห่งจิตใจ วิจักขณ์เพิ่มเติม รวมความไปถึงสิ่งสำคัญสูงสุดของชีวิต

สิ่งหนึ่งที่เราต้องถามตัวเองเสมอก็คือ “สิ่งใด คือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของเรา?” สิ่งนั้น คือ ‘ธรรมะ’ ธรรมะคืออะไร? ธรรมะที่ลึกซึ้งที่สุด ไม่ใช่วัฒนธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ว่าคุณหน้าตาเป็นอย่างไร เกิดมาในชนชั้นไหน เกิดมาในสถานการณ์ชีวิตแบบใด แต่ธรรมะที่สูงที่สุดก็คือ ‘ความเปลี่ยนแปลง’

 “ธรรมะที่สูงที่สุดคือ ภาวะที่ทุกคนสามารถตระหนักว่า ในชีวิตของเราไม่มีอะไรเป็น ‘หลัก’ ให้เกาะเกี่ยว คือการที่ทุกคนตระหนักได้ว่า ไม่มีอะไรในชีวิตที่ทำให้เราแน่ใจว่าจะอยู่กับเราตลอดไป

“สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เราได้เห็นว่า ชนชาติทิเบตคือชนชาติที่มีความเจริญด้านจิตวิญญาณสูงที่สุด เห็นได้จากเหตุการณ์ที่จีนเข้ามารุกรานทิเบต ซึ่งสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมแล้ว นั่นไม่ต่างจากการที่จีนเข้ามาปลดปล่อยทิเบตให้กลับคืนสู่ภาวะของการเป็นหนึ่งเดียวกับ ‘ธรรมะ’ อีกครั้งหนึ่ง”

 การเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมะ ซึ่งค้นพบได้จากการเผชิญหน้ากับทุกข์อันใหญ่หลวง

“ในชีวิตจริงของเรา บางสิ่งที่เราไม่ชอบ บางสิ่งที่เราไม่ต้องการ บางสิ่งที่เราตีตราว่าเป็นความทุกข์ เป็นความอยุติธรรม เป็นความไม่เท่าเทียม เป็นความก้าวร้าว เป็นความรุนแรง มันได้มาปลุกให้เราตื่น มันได้มาปลุกให้เราตระหนักว่า ‘ชีวิต’ ไม่มีความแน่นอนอะไรเลย”

“ประสบการณ์จากความทุกข์ มันทำให้เราตื่น มันทำให้เราเห็นคุณค่าว่าจิตใจที่บริสุทธิ์ จิตใจที่เปิดกว้าง จิตใจที่ละเอียดอ่อน และอ่อนโยนเท่านั้น ที่จะทำให้เราสามารถเผชิญกับความทุกข์ที่เราประสบได้”

ตั้งรับและตื่นรู้

วิจักขณ์ เชื่อว่า ประเด็นส่วนใหญ่ซึ่งมักถูกหยิบยกมาพูดถึงในกรณีที่จีนเข้ารุกรานทิเบต มักเป็นเรื่องของ ความยุติธรรม เป็นประเด็นทางสังคม การเมือง อย่างไรก็ดี เขายืนยันว่าขอเปิดพื้นที่ให้กับ ‘ความอ่อนโยน’ ‘การอ่อนน้อม’ และ ‘การยอมรับ’

“ไม่มีใครในห้องนี้ที่จะสามารถเอาชนะกฎแห่งกรรม สิ่งที่เราต้องเผชิญในชีวิตของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน”

นั่นเป็นมุมมองฐานะปัจเจก แต่ในอีกมุมหนึ่ง เมื่อเราเกิดมาในบ้านเมืองเดียวกัน วัฒนธรรมเดียวกัน เช่น เกิดเป็นคนไทย เราย่อมมีกรรมที่ต้องเผชิญร่วมกัน เป็นชะตากรรมของบ้านเมือง คนธิเบตก็เช่นเดียวกัน เขาเกิดมาในช่วงเวลาเดียวกัน สังคมเดียวกัน ก็มีกรรมที่ต้องเผชิญร่วมกัน แต่ขณะเดียวกัน ในนามของ ‘ปัจเจก’ เราต่างก็มีกรรมเป็นของตัวเอง ไม่มีใครสักคนจะหนีกฎแห่งกรรมได้

หนทางที่จะนำพาให้รับมือกับกงล้อแห่งกรรมได้นั้น วิจักขณ์ขยายความว่า ‘กรรม’ ไม่ใช่ ‘ศัตรู’ แต่ ‘ศัตรู’ ของเราทุกคน อยู่ในตัวของเราเอง ดังเรื่องเล่าที่ว่ากันว่า มีธนูอยู่ดอกหนึ่ง ยิงเข้ามาในตาเรา เสียบอยู่ในตาเรา การที่เราจะมัวไปเสียเวลาค้นหาว่าลูกธนูดอกนั้นถูกยิงมาจากไหน พุ่งมาจากไหน คนยิงเป็นใคร เราจะต้องเอามันเข้าคุกให้ได้ หากเป็นเช่นนั้น เราอาจตายก่อนที่จะหาคนๆ นั้นเจอ

“แต่ถ้าหากเราใช้ตาอีกข้างหนึ่งที่เปิดอยู่ เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เรียนรู้จากตัวเองว่า เรามีลูกธนูเสียบอยู่ในตาอีกข้าง แล้วเปิดตาแห่งปัญญา เพื่อดึงเอาลูกธนูดอกนั้นออกมา …ชีวิตของเราจะรอด

“เราจะสามารถเป็นต้นทางของปัญญา เป็นต้นทางของธรรมชาติแห่งการตื่น เป็นแรงบันดาลใจให้กับการแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยแรงบันดาลใจของเราเอง โดยที่ไม่ได้ขับเคลื่อนจากความโกรธ หรือขับเคลื่อนจากความรุนแรงอันเป็นห่วงโซ่ที่จะหมุนต่อไปเรื่อยๆ

“สิ่งสำคัญที่ครูบาอาจารย์ชาวทิเบตของผม สื่อสารกับผมเสมอ คือ ‘คุณต้องเอาชนะตัวเอง’ ทำอย่างไร เราจึงจะสามารถเอาชนะใจตนเอง แล้วกลับมาสู่ความดีพื้นฐานภายในได้”

นอกเหนือไปจากการเฝ้ามองความทุกข์เพื่อตระหนักในความเป็นจริงของชีวิต ศรัทธาอันแรงกล้านับเป็นอีกหยาดน้ำที่ราดรดหล่อเลี้ยงดวงใจให้ชุ่มชื่น ดังถ้อยความที่ หลวงแม่…ภิกษุณีธัมมนันทา เอ่ยแก่เรา

การที่ชาวทิเบตเขามีชีวิตอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ เพราะเขามีฐานของการปฏิบัติธรรม และมีศรัทธาในองค์ทะไล ลามะ ซึ่งเป็นศรัทธาที่เขายึดมั่นมาก ดังเรื่องราวของเจ้าหญิงองค์หนึ่งที่เคยถูกทางการจีนจับตัวไป ถูกจองจำอยู่นานถึง 21 ปี แต่ทำไมองค์หญิงผู้นั้นยังรอดมาได้ นั่นก็เพราะ องค์หญิงตั้งมั่นอยู่ใน “ศรัทธา” อย่างมั่นคง ว่าเธอจะตายไม่ได้ หากไม่ได้กราบองค์ทะไลลามะ และนั่น ทำให้เธอมีชีวิตรอด

“ศรัทธา” คือปาฏิหาริย์…