ศิรดา ชิตวัฒนานนท์ ถอดความ/เรียบเรียง
อ่าน ตอนที่ 1 >> https://vajrasiddha.com/drawingunconscious1/
ในวันแรกผู้เข้าร่วมได้ลองทั้งการวาดรูปแบบไม่มีแบบแผน และการใช้สัญลักษณ์ภายในงาน วันที่ 2 ครูถิงพาเราไปทำงานกับอารมณ์คงค้าง สัญลักษณ์ และการตีความอย่างเข้มข้น
เริ่มจากการถ่ายทอดภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานลงบนกระดาษ ส่งแต่ความรู้สึกคงค้างที่ตัดเนื้อหาออกไปยังมือที่จับดินสอ หลังเวลาวาดอันแสนสั้นสิ้นสุดลง พวกเราจับกลุ่มเล็กๆ กันอีกครั้ง รอฟังว่าเพื่อนเห็นอะไรในงานเรา ที่แม้แต่ตัวเราก็มองไม่เห็น และค้นหาว่าเพื่อนซ่อนแง่มุมใดไว้ในงานบ้าง การส่องสะท้อนกันและกันทำให้แต่ละคนพบมุมที่คาดไม่ถึงในตัวเอง
“ทำไมเราต้องมาแชร์กัน เพราะเราจะได้เห็นว่าการตีความมันกว้างใหญ่ไพศาลมาก แล้วก็โลกของเขาก็เชื่อมโยงกับของเราแม้ว่ามันจะต่างกันโดยสิ้นเชิง
การตีความของเราไม่ได้หมายความว่าต้องถูกหรือผิด มันเป็นเพียงการถอดรหัส แม้ว่าเราจะถอดรหัสงานคนอื่น แต่คนที่เราสื่อสารด้วยก็คือจิตไร้สำนึกของเรา ไม่ใช่ของเพื่อน Analytical Psychology ของคาร์ล ยุงมันไม่ใช่การพิพากษาผู้อื่น มันคือการสื่อสารกับตัวเอง กระบวนการทั้งหมดทำไปเพื่อที่จะให้เรามีช่องทางสื่อสารที่หลากหลายมากขึ้น อาจจะไม่ใช่แค่ผ่านงานเรา แต่ผ่านงานเพื่อนด้วย
สิ่งที่เราตีความว่าเขาน่าจะเป็นอย่างนั้น แต่จริงๆ แล้วเขาอาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้น ย้อนมองอีกมุมหนึ่ง ถ้าหากเรามีท่าทีในการมองตัวเองแบบใด เราจะมีท่าทีในการมองคนอื่นแบบนั้นเหมือนกัน อันนี้มันธรรมชาติมาก คือเราสะท้อน (mirror) กันไป สะท้อนกันมา การปฏิสัมพันธ์ของเรากับคนอื่นมันคือการส่งภาพสะท้อน ถ้าเราไม่เห็นคุณลักษณะ (Quality) นั้นในตัวเองก่อน เราก็จะไม่เห็นมันในตัวคนอื่น อันนี้คือสิ่งที่ยุงบอกว่า ทำไมความหลากหลายในตัวเองถึงสำคัญ เพราะทำให้เราเห็นความเป็นไปได้อื่นๆ อีกเยอะแยะมากมายที่อยู่ในตัวคนอื่น”
“คนที่จะเห็นความเป็นมนุษย์ของคนอื่นได้ ก็คือคนที่เห็นความเป็นมนุษย์ของตัวเอง”
กิจกรรมถัดไปเป็น Inner Child ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการ Inner Work หลังใช้เวลาเงียบๆ กับตัวเองเพื่อปฏิสัมพันธ์กับเด็ก หรือลูกไฟ หรือสถานที่ที่เราไปพบ ได้ถามชื่อ ถามความรู้สึกของเขา โอบอุ้มทุกสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความรัก ทุกคนเดินมารวมกันเป็นวงใหญ่ พร้อมกระดาษที่มีภาพจาก Inner Child ปรากฏอยู่ หรืออาจไม่มีภาพใดปรากฏอยู่เลย
ผู้เข้าร่วมบางคนอาจไม่พบใครเลย บางคนอาจเห็นเพียงสถานที่แห่งหนึ่ง แต่สำหรับบางคน คนที่พบอาจมาพร้อมความรู้สึกอันท่วมท้น ครูถิงบอกว่าความเป็นเด็กก็เป็นหนึ่งใน Archetype ว่าแต่ทำไมเราถึงต้องมาค้นหาความเป็นเด็กในตัวด้วย จริงๆ แล้วกิจกรรมนี้มีไปเพื่ออะไรกัน?
“กระบวนการ Inner Child เป็นกระบวนการที่เราจะเอาไว้ประคอง เพราะพลังงานเด็กคือพลังงานที่เราคุ้นเคยที่สุด ทุกคนต้องเคยเป็นเด็ก และพลังงานของความเป็นเด็กก็เป็นพลังงานที่อ่อนโยนที่สุดในร่างกาย ใน Psyche ของเราแล้ว
แต่สิ่งที่เราเจอไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กเสมอไป แต่มันเป็นเพียงอุบายที่ทำให้เราไปเจอกับภาวะที่เป็นเงาของเรา ภาวะที่ถูกกดทับไว้ หรือภาวะที่เรายังรู้สึกไม่ปลอดภัยพอที่จะให้ออกมา
กระบวนการทั้งหมดของยุง ไม่ใช่การบอกว่าทันทีที่เราระบุพลังงานนี้ได้แล้ว มันจะหายไป พลังงานคือพลังงาน มันมีการอุบัติขึ้นและหายไป ถ้าหากโชคดี มันก็หายไปทันทีที่เราระบุมัน แต่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป พลังงานบางอย่างใช้เวลานานมากกว่ามันจะค่อยๆ สลาย แต่อย่างน้อยที่สุดการรับรู้เขา หมายความว่าเรายังปฏิสัมพันธ์กับมัน กับคุณลักษณะของมัน เพื่อที่ว่าเมื่อมันอยู่ตรงนี้ เราจะอยู่กับมันเป็น และไม่จำเป็นต้องขับไล่ หรือไม่ต้อนรับเขา
ถิง ชู
การได้คุยกับตัวเราเองในวัยเด็กเป็นเหมือนการย้อนเวลา Time Travel เกิดขึ้นในจิตของเราเอง การกระทำของเราไม่ใช่แค่มีผลต่อเราในปัจจุบันนี้ แต่มีผลกับตัวเราในอดีต และอนาคตด้วย มันคือการคลี่คลายกับอะไรบางอย่างในตัวเราเอง การที่เราได้คุยกับเขา คือเราได้ข้ามเวลาไปหาเขา ทำให้เขาเห็นถึงความเป็นไปได้ในอนาคต ภาวะหรือพลังงานของเขาก็จะเปลี่ยน”
ช่วงบ่ายเรายังทำ Inner Work กันอย่างเข้มข้น พูดถึงการนอนกลางวัน แน่นอนว่าต้องเป็นการทำ Dreamwork ที่ทุกคนจะสื่อสารกับสัญลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งจะเป็น Veristic Drawing มากกว่า Dreamwork วันนี้แตกต่างจากเมื่อวานเล็กน้อยตรงที่ก่อนนอนเราเตรียมกระดาษและสีไว้ข้างตัว เพื่อที่ตื่นขึ้นมาจะได้ลงมือวาดได้ทันที
ครูถิงบอกว่าข้อมูลที่เรารับเข้ามาจะประมวลผลได้ดีผ่านร่างกาย ไม่ใช่แค่การตีความจากสมองของเรา ช่วงครึ่งหลับครึ่งตื่น หรือช่วงงัวเงียเป็นช่วงเวลาที่ดีมาก
หลายๆ คนอาจเคยค้นหาเรื่องการตีความความฝันในอินเทอร์เน็ต แต่อย่างที่ครูถิงบอกไว้ตอนต้นว่า ‘ความหมายส่วนตัวไม่ใช่ความหมายสากลเสมอไป และความหมายสากลก็ไม่ใช่ความหมายส่วนตัวได้ด้วย’ ทุกคนจึงควรมีพจนานุกรมของตัวเอง อย่าใช้บรรทัดฐานของคนอื่นมาตัดสิน 100%
ครูถิงอธิบายการตีความลักษณะของสิ่งที่เราเจอใน Inner Work ทั้ง Dreamwork, Active Imagination และ Inner Child ไว้
“บุคคลที่เราเจอในฝันไม่ใช่บุคคลที่เราเจอในชีวิตจริง เขาไม่ได้เข้าฝัน หรือแยกร่างมาเชื่อมต่อกับเราในมิตินั้น การที่เราฝันเห็นพ่อ เห็นแม่ เห็นเพื่อน คือการที่เราฝันเห็นคุณลักษณะบางอย่างที่เรามีในตัวเราเอง แต่เนื่องจากเราไม่รู้จะเอา Archetype ไหนมาแทนคุณลักษณะนั้น Psyche ของเราจึงเอาบุคคลในชีวิตจริงเข้ามาแทนโดยอัตโนมัติ เราต้องตีความสิ่งที่เราเห็นในฝันว่าสัญลักษณ์นั้นสำหรับเราแล้วหมายถึงอะไร สัญลักษณ์สำหรับยุงไม่ใช่ความจริง (Truth) หรือข้อเท็จจริง (Fact) สัญลักษณ์ไม่ใช่พลังงาน แต่เป็นค่าแทนพลังงานเอาไว้ให้เราสื่อสารกับจิตใต้สำนึก หน้าที่ของเราคือการถอดรหัสมัน คนที่ตีความความฝันของเราเองได้ดีที่สุดก็คือตัวเอง คนที่อ่านไพ่ทาโรต์ก็เป็นตัวอย่างของการสื่อกับจิตใต้สำนึกของตัวเอง”
หลังละเลงความฝันในภาวะสะลึมสะลือ ครูถิงให้พวกเราทดลองจัดแสดงผลงานเป็นการเตรียมตัวสู่การจัดแสดงผลงาน Masterpiece ในตอนท้าย ผู้เข้าร่วมแต่ละคนเดินชมผลงานของเพื่อนๆ ก่อนจะผลัดกันเอ่ยคำชื่นชมต่อรูปโปรด
ชิ้นงานสุดท้าย คือ ผลงาน Masterpiece ที่จะถูกจัดแสดงบนพื้นที่ชั้น 5 ที่ต้องรับหน้าที่เป็นหอศิลป์ชั่วคราว ครูถิงฝากไว้
“อย่าคิดว่าเราจะต้องเอาใจใคร ผลงานที่ดีที่สุดคือผลงานที่จริงใจที่สุด แล้วดีที่สุดในที่นี้ไม่ใช่ดีที่สุดเพื่อใคร ดีที่สุดเพื่อตัวเราเอง”
ก่อนจะเปิดเพลง Clair de Lune ของ Debussy ศิลปินผู้ประพันธ์เพลงบนพื้นฐานของ Automatic ไม่มีโครงสร้างที่ชัดเจน แต่เน้นการไหลออกมา คลอไปกับเสียงขีดเขียน และระบายของทุกคน
“หลายๆ พลังงานที่เราทำงานไป พอมันอยู่ภายใน มันง่ายมากที่มันจะผ่านมา แล้วมันก็ผ่านไป เพราะฉะนั้นการเขียนไดอารี การวาด การพูด หรือ express มันออกมา มันจึงเป็นการยืนยันเพื่อให้เห็นว่าพลังงานนี้ ความรู้สึกนี้มีตัวตนอยู่จริง แล้วเราจะอยู่กับมันยังไง
การแสดงงานของศิลปินหลายๆ คน สำหรับเรามันคือ การยืนยันภาวะ จุดยืน อุดมการณ์ และอะไรหลายๆ อย่าง การที่เราได้พูด ได้แชร์อะไรออกมา อย่าได้คิดแค่ว่ามันเป็นแสดงตัวของอัตตา อัตลักษณ์ ตัวตน มันคือการยืนยันพื้นที่ให้คนอื่นๆ ด้วย
ที่เขาบอกว่า คำพูดศักดิ์สิทธิ์ ตัวหนังสือศักดิ์สิทธิ์ มันศักดิ์สิทธิ์เพราะมันมีการยืนยัน รวมถึงกิจกรรมที่เราได้ชื่นชมผลงานเพื่อนๆ และเพื่อนๆ ก็ชื่นชมผลงานเรา การมีอารมณ์ร่วมมันคือการยืนยัน”
ทุกคนใช้เวลาในช่วงท้ายของกิจกรรมเดินชมผลงานอยู่ในหอศิลป์ที่อบอุ่น และเป็นกันเอง แสดงความชื่นชมให้ศิลปินเจ้าของผลงานได้รู้ และให้ศิลปินได้พูดถึงงานของตนเอง เราเชื่อมโยงกันได้ผ่านภาพวาด เราเชื่อมโยงกับตัวเองด้วยชิ้นงานที่ถูกวาดขึ้นด้วยความจริงใจ และปราศจากความกลัว พวกเราต่างรู้สึกปลอดภัยที่จะเป็นตัวเองในพื้นที่แห่งนี้ ต้องขอขอบคุณครูถิงที่นำพวกเราออกเดินทางไปในจิตไร้สำนึกอย่างอ่อนโยน