สัมภาษณ์โดย THANYA วัชรสิทธา
ในคืน “เปิดฟ้า” ความว่างของห้องหรีะถูกเติมเต็มด้วยเสียงดนตรี และพลังชีวิตของผู้ชมมากมายนั่งรายล้อม ตลอดช่วงระยะเวลาการแสดง เราต่างตกอยู่ในภวังค์แห่งเสียงดนตรีตรงหน้า จากการถ่ายทอดของ ฟ้า ศาลศิลป์ และผองเพื่อน แต่ละคนสัมพันธ์กับห้วงเวลานั้นในแบบของตัวเอง และซึมซับประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป บางคนอาจอิ่มเอมกับเสียงร้องเพลงของพี่ฟ้า บางคนอาจตื่นตากับการสร้างสรรค์ที่ศิลปินทำงานร่วมกับพื้นที่ บางคนอาจมารับบรรยากาศและพลังงานดีๆ
อย่างไรก็ตาม ผู้ชมทุกคนที่มาก็น่าจะรับรู้ได้ถึงสารที่ฟ้าสื่อสารออกมาอย่างตั้งใจ ผ่านการแสดงดนตรีในวันนั้น
หลายๆ คนที่มาเป็นแฟนคลับ ฟ้า ศาลศิลป์อยู่แล้ว หรือไม่ก็เคยฟังดนตรีที่ฟ้าเล่นมาก่อน จากการพูดคุย ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เวลาฟ้าร้องเพลง เหมือนกับว่าเพลงที่ออกมาจากตัวเขานั้น มันออกมาจากข้างในที่ลึกมากๆ ออกมาจากจิตวิญญาณ ที่ผู้ฟังรับรู้ได้ด้วยความรู้สึกและหัวใจ เมื่อสบโอกาส เราก็ได้มานั่งทำความรู้จักกับฟ้า ฟังเรื่องราวของศิลปินคนแรกที่มาเปิดการแสดงที่ห้องหรีะ ณ วัชรสิทธา เทเวศร์ แห่งนี้
จุดเริ่มต้นของการทำดนตรี และเส้นทางจิตวิญญาณที่มีดนตรีอยู่ข้างใน
“เราเริ่มทำวงกับเพื่อนตอนม.ปลาย แต่ว่าตอนนั้นมันคือปวช ทำวงแบบ อีโม เมทัล หัวโยก ว้ากเลย เราเป็นนักร้องนำ และก็วงแตกตอนจบ เลยค่อยมาหัดเล่นกีต้าร์โปร่ง เล่นไปเรื่อย ก๊องๆ แก๊งๆ พอเข้ามหา’ลัยก็ลองเปิดหมวก ตอนนั้นดูหนังเรื่อง Once ก็เลยลองเปิดหมวกดูบ้าง แล้วหลังจากนั้นก็เลยใช้ชีวิตด้วยการเปิดหมวก เริ่มจากเปิดหมวกเวลาทำค่าย สักพักไม่มีตังค์เรียนต่อ เลยต้องเปิดหมวกหาเงินเรียนเอง จนถึงเรียนจบเลยได้เริ่มแต่งเพลง”
ฟ้าเริ่มแต่งเพลงจากอะไรหรอ
“อืมม เราเริ่มต้นแต่งจากความอึดอัดมั้ง เพลงแรกๆ ได้ระบายออกบางอย่าง หรือมีความรู้สึกบางอย่างแล้วไม่มีเพลงไหนสามารถตอบแทนเราได้ ก็เลยเขียนเอง มันจะได้มีอะไรให้ฟังที่มันใกล้เคียงกับความรู้สึกเรา”
พอจะเล่าประสบการณ์ภายใน จิตวิญญาณที่พี่ฟ้าได้พบเจอมาได้มั้ย
“ส่วนถ้าพูดถึงเส้นทางจิตวิญญาณ ก็ เลี้ยวซ้าย.. ตรงไป.. เลี้ยงขวา (หัวเราะ) หยอกนะ …ตอนที่มาสนใจตอนนั้น รู้สึกว่าคนที่เราชอบ หรือคนที่เก่งๆ ตอนนั้นอิน สตีฟ จ็อบ ชอบเซน ชอบมูซาชินักดาบไร้พ่าย มันมีเรื่องนี้ควบคู่มาด้วย การที่เขาไร้พ่ายเพราะเขาฝึกจิตมา แล้วก็มีนักร้องที่เราชอบ คือ Damien Rice รู้สึกว่าเขาคิดมาเยอะ อย่างแอปเปิลก็คิดมาเยอะ มินิมอล เราก็สนใจเรื่องพวกนี้ควบคู่ไปกับดนตรี”
“เราเคยอ่านหนังสือของอาจารย์ประมวลเล่ม “เดินสู่อิสรภาพ” แล้วเราก็ลองเดินเองบ้าง เดินจากนครสวรรค์ไปเชียงใหม่ ตอนนั้นมันเป็นประสบการณ์ที่ตัวเรา pure ที่สุดในชีวิต ถ้าไม่มีอะไรข้างใน คงไม่พร้อมไปทำตรงนั้น มันคือแบบพร้อมตายแล้ว เพราะเราไม่รู้จะเจออะไรข้างหน้า แต่ก็ยินดี ไม่ว่าจะเกิดไรขึ้น มันก็ทำได้แค่ตอนนั้น เราก็รู้สึกอยากมีภาวะนั้นอยู่ในชีวิตตลอดเวลาเหมือนกัน”
ภาวะที่จะตายเมื่อไหร่ก็ได้?
“มันเป็นหนึ่งเดียวกับประสบการณ์มากกว่า หมายความว่า มันอยู่กับปัจจุบันแท้ๆ เลย ไอ้ความที่จะตายเมื่อไหร่ก็ได้เนี่ย เพราะการกลัวตาย ก็คือการกังวลกับอนาคต ว่าก้าวต่อไปแม่งจะเกิดไรขึ้น อีกสิบนาที อีกหนึ่งชั่วโมงจะเกิดไรขึ้น แต่สุดท้ายมันก็อยู่ตรงนี้ นั่นแหละคือประสบการณ์ของเรา”
แล้วเริ่มมารู้จักกับวัชรสิทธาได้ยังไง
“โห จำไม่ได้เลย… น่าจะเมื่อประมาณสามปีก่อน เราได้ไปเล่นดนตรีอยู่ที่โรงแรม Once Again ก็ได้เจอพี่ชนินทร์ เหมือนรุ่นพี่ไปขายของ บอกพี่เขาว่ามาฟังฟ้าร้องเพลงสิ และเราก็อยากไป sacred mountain เลยเล่นให้เขาฟังในงาน พี่ชนินทร์ก็ โอเค ฟ้าไปเล่นที่ sacred mountain แต่เราไม่มีอะไรให้นะ เราก็ได้ไป หลังจากนั้นก็รู็ว่าวัชรสิทธาเป็นคนสร้างงานนั้น ก็เลยได้รู้จักเผินๆ และก็ได้รู้ว่าเขาทำไรกัน พวกกิจกรรมต่างๆ จริงๆ ที่เก่ามันอยู่ใกล้บ้านเรามาก เดินแค่สิบนาที แต่เราไม่รู้มาก่อน หลังจากจบงานเขาก็ชวนเรามาเล่น แต่มันคือช่วงโควิดรอบแรก เลยหายไปเลย สองปี”
คอนเสิร์ตนี้เรียกได้ว่างานคอนเสิร์ตแรกหลังโควิดเลย
“เรียกว่าคอนเสิร์ตแรกเลยก็ได้ เพราะที่่ผ่านมาเราไม่ได้เป็นคนออกแบบอะไร เราแค่ไปเล่นตามเขาเชิญ ที่ผ่านมาก็ไม่ได้ไปเล่นบ่อย พอช่วงโควิดเลยไม่ได้ไปเลย เพลงก็ไม่ได้ปล่อย ครั้งสุดท้ายก็สองปีที่แล้ว”
ที่มาของการออกแบบการแสดง ตั้งแต่วันที่เข้าไปในสถานที่
“อืมม ไม่รู้อะไรเลยนะ แต่จริงๆ วันเปิดบ้านวัชรสิทธา เขาจะให้เล่นห้อง shrine ที่เป็นห้องกิจกรรมหลัก เราก็เดินของเราไป วอร์มเสียงไปเรื่อยๆ และก็รู้สึกว่าห้องนี้เสียงมันก้องดี เลยย้ายมาเล่นห้องนี้ แล้วพอได้เล่น คือเราไม่ได้จับกีตาร์ ไม่ได้ร้องเพลงเลย แบบศูนย์ พอเล่น พอมีคนฟัง ก็รู้สึกว่า มันดี ได้ฟีดแบคดีๆ กลับมา เราเลยเออ ถ้าได้กลับมาเล่นอีกก็ดี เพราะว่า space มันช่วยเรา”
“หลังจากนั้นก็ได้คุยกับพี่ตั้ม ว่าเขาอยากทำให้ตรงนี้มันเกี่ยวกับดนตรี ศิลปะ การเต้น อะไรต่างๆ ความเป็น movement พลังงานผู้หญิง หลังจากนั้นเราก็เข้ามาคุย เดี๋ยวผมอยากลองจัดงานที่นี่ดู ซึ่งอยู่ๆ ก็ได้เป็นคนแรก ก็ เอ่า ชิบหายละ ไม่คิดว่าจะเร็วขนาดนี้ เราก็ไม่ได้เตรียมตัวเลย มีเวลาแค่สามสัปดาห์ แต่เราก็รู้สึกอยากช่วย ให้เขาได้เปิดพื้นที่แล้ว ตอนแรกก็อาจจะยังไม่ค่อยเห็นภาพ แต่ก็ต้องลองมาทำ”
“จริงๆ แล้วเส้นเรื่องของคอนเสิร์ต แต่ละครั้งมันก็มาเอง แต่ละครั้งที่มาซ้อมก็ค่อยๆ งอกมาเรื่อย มีในใจแค่อยากเล่นตรงทางเข้า ตรงบันได แต่เพื่อนบอกมันอาจจะไม่เวิร์ค เพราะคนดูไม่มีที่ยืน เราแค่คิดว่าเสียงตรงบันไดมันก้องเพราะดี แต่พอมาดูภาพรวมแล้วมันทำยาก ก็เลยเขยิบตำแหน่งมา ส่วนที่เหลือก็เกิดขึ้นระหว่างซ้อม รู้สึกอยากใช้พื้นที่ให้คุ้มเท่านั้นเอง มุมนี่ก็น่าเล่น มุมนั้นก็น่าเล่น ก็เลยค่อยๆ หาเรื่องเข้าไปเกี่ยวในเซ็ท ในแต่ละเพลง”
“พอเห็นชื่อห้อง และเรื่องที่พี่ตั้มเล่า เลยไหนๆ ก็ชื่อห้องนี้ ได้เล่นตรงนี้ ก็น่าจะเกี่ยวโยงกับเพลงที่เราเล่น พวกเซ็ทที่เราตั้งไว้ อันที่หนึ่งก็ไม่มีอะไร ล้อมวง เริ่มจากเป็นวงตรงกลาง เราชอบการที่คนได้อยู่เป็นวงด้วยกัน เหมือนที่ขนุนเล่าว่าความเป็นชายจะเป็นเส้น แต่ความเป็นหญิงมันคือการนั่งล้อม ความเท่ากัน ไม่มีใครอยู่หน้าอยู่หลังเป็นวงกลมด้วยกัน เลยก้อปมา (หัวเราะ) เซ็ทแรกก็เริ่มจากนั่งกับพื้น แล้วค่อยๆ เขยิบขึ้น”
“เซ็ทที่สองก็เอาชื่อ space มาเป็นโจทย์ ก็เลือกเพลงที่เกี่ยวกับความเป็นหญิง หรือว่าเพลงที่เพื่อนๆ ผู้หญิงเขียนให้ เอามาอยู่ในเซ็ทนี้ทั้งหมด และก็ได้เจอออมมี่วันนั้น ก็เลยได้เหยื่อ มีความเป็นหญิงจริงๆ ในเซ็ทนั้น (หัวเราะ)”
เซ็ทนี้ใส่กระโปรงด้วย
“ช่าย ไม่รู้ อยู่ๆ ก็คิดได้วันเกือบท้ายๆ เอ้ มันต้องมีอะไรอีกที่เป็นหญิง ที่แสดงออกผ่านภาพได้ นั่นแหละ พวกเราเลยได้ใส่กระโปรง ครั้งแรกเลยนะที่ได้ลองใส่ และรู้สึกว่า ได้โอกาสสักที เพราะถ้าไม่ใช่ครั้งนี้ก็ไม่รู้จะเริ่มครั้งไหน ละคิดว่าหลังจากนี้คงได้ใส่บ่อยๆ (ยิ้ม) ความพริ้วไหวของกระโปรงก็ทำให้เรารู้สึกความเป็นหญิงขึ้นมาเหมือนกันนะ วันรุ่งขึ้นเราก็ใส่ไปทำงานนะ (หัวเราะ) ที่ทำงานก็บอกว่าเหมาะกับฟ้าดี แต่คนในซอยไม่เข้าใจ”
“เซ็ทที่สองก็อยากได้ไฟสีแดง แต่มันไม่ค่อยแดงเท่าไหร่ อยากได้สีแดงเพราะ.. ไม่รู้สิ ก็เป็นความร้อนแรง ความเป็นหญิง ความธาตุไฟ การเคลื่อนไหว การเต้น สีแดงก็ดูเด่นชัดสุด”
“เซ็ทนี้ก็ยืนแล้ว ละอยากไปเล่นมุมนั้น เลยพยายามหาโจทย์ให้มัน และอะไรที่เกี่ยวโยงกับเรามากที่สุด ก็คือเราเริ่มเล่นดนตรีจากการเปิดหมวก และเต๋าก็เริ่มเล่นมาด้วยกันตอนเปิดหมวก ได้รู้จักพี่อั้ม เราก็รู้สึกขอบคุณมันทั้งสองคน เพราะสิ่งนี้มันทำให้เราได้เล่นดนตรีต่อ ได้ทำสิ่งที่ชอบ และมีรายได้ มีชีวิตต่อได้ เลยให้เกียรติเขาเป็นเซ็ทสุดท้าย ก็ยืนเล่นกัน และมีกลอง มีกีตาร์เสียบเครื่องไฟฟ้าให้ดูมีมิติมากขึ้น และเล่นเพลงที่เราชอบไปเล่นตอนเปิดหมวกจริงๆ เพลง creep กับเพลง don’t look back ทั้งสองเพลงเป็นเพลงที่มีความหมายกับทั้งเต๋าและพี่อั้ม แต่วันนั้นไม่มีโอกาสได้พูด อยากให้เซ็ทสุดท้ายมันสนุกที่สุด ใหญ่ที่สุด รุนแรงที่สุด ก็ออกมาได้เท่านั้น หลายๆอย่าง การทำงานแค่สามคนมันได้เท่านั้น”
“เซ็ทสามก็คือ ให้เกียรติสิ่งที่พาเรามา มีวางกระเป๋ากีตาร์ไว้ อยากจำลองให้มันเหมือนจริง ที่เปิดหมวกตอนนั้น”
“และสุดท้ายก็เดินกลับมาตรงที่เดิม ตรงกลาง อันนี้ก็นอกแผนที่สุด ซ้อมครั้งสุดท้ายก็คิดได้ว่าเราควรกลับมาตรงกลาง มาอยู่ใกล้ๆเขาอีกครั้ง ก็ดีนะ เห็นภาพที่ได้กลับมาที่เดิมอีกครั้ง ก็จบได้สมบูรณ์ที่สุด”
ในตอนท้าย มีให้คนดูจุดเทียน บรรยากาศในห้องสว่างไสว ดูดีมาก ได้คิดมาไว้ก่อนมั้ย?
“ไอเดียนี้มาคิดสุดท้ายเลย มีพี่ผู้หญิงคนสุดท้ายที่มาร้อง เขาก็ชอบทักมาว่า เมื่อไหร่ฟ้าจะเล่นดนตรี เลยชวนเขามาร้องด้วยเลย ให้เกียรติเขาที่ทักมาบ่อยขนาดนี้ (ขำ) ละเขาก็เป็นคนชอบจัดงาน พอมาดูตำแหน่งไฟ ไอเดียพวกนี้ก็มา ที่ลองจุดเทียน แต่วันนั้นก็ไม่พร้อมเรื่องไฟแช็คที่เอามาจุดนะ”
คนดูสนุกมากเลยนะ สิ่งที่เกิดขึ้นคือแต่ละคนได้ต่อเทียนกัน รับไฟจากอีกคนมา และส่งต่อให้คนอื่น คนข้างๆที่เราไม่รู้จัก
“จริงดิ เรามองไม่เห็นเลยนะตอนนั้น ดีจัง พอพูดงี้เรารู้สึกชอบเลย เป็นการส่งไฟให้กัน เชี่ย บังเอิญ กูนี่เก่งเนอะ (ยืด) โอเค อันนี้คิดมา ผมเองครับ (หัวเราะ) …พอได้ฟังละรู้สึกโชว์สมบูรณ์ละ กลับบ้านได้ละ”
“เปิดฟ้า” ที่มาของชื่อนี้
“ชื่อของงานก็มีประเด็น ตอนนั้นพี่ตั้มทักมาถามเราว่างานนี้น่าสนใจยังไง ให้เราช่วยเขียนมาสั้นๆ มาหน่อยได้มั้ย เราก็เขียนไปและแนบเรฟงานเก่าที่เคยไปร่วมกับรุ่นพี่ที่จัด และเกิดการเข้าใจผิดบางอย่างทำให้เอาข้อความของเขามาให้ทั้งหมด ก็เป็นดราม่านิดหน่อย งานเขาคือดับไฟฟังเพลง ใช้ชื่อว่า close your eyes open your mind แต่เราก็ไม่ได้ดูเท่าไหร่ ละช่วงนั้นไปฟังเพลง นั่งสมาธิ เลยได้คำมาว่า close your eyes open your heart ละส่งให้พี่ตั้ม กลายเป็นเหมือนกับงานที่แล้วหมด ด้วยความบังเอิญ พี่ตั้มก็บิดเป็น open your sky เลยได้ชื่องาน ‘เปิดฟ้า’ มา”
“มันมีความหมายกับเราหลายๆ แง่ เพราะว่าตอนที่เรามาครั้งแรก เรารู้สึกว่าการเปิดกว้างโดยไม่มีที่สิ้นสุดก็คือการเปิดฟ้า หรืออีกอันที่พี่ตั้มเขียนคือเปิดขอบฟ้า มันกว้างจริงๆ เราก็อยากใช้งานนี้เป็นเหมือนจุดเริ่มต้น เป็นสัญลักษณ์อะไรบางอย่าง ว่าเราเปิดแล้ว ก็ได้เปิดจริงๆ แหละ วันงานก็คือ โอ้โห นี่กูก็ผิดพลาด นั่นกูก็ผิดพลาด ก็แบบ ฟีดแบคที่ได้ต่างๆ เขาก็บอกมันโอเค เราทำดีอยู่แล้ว ก็ได้เรียนรู้กับประสบการณ์วันนั้น ได้เปิดฟ้าในหลายๆ มิติเลย”
งานแสดงที่ได้เล่นเพลงของตัวเองเลย
“เราเล่นเพลงของตัวเองหมดยกเว้น สองเพลงนั้น กับ Falling slowly ในเซ็ทสอง ปกติเราเล่นเพลงที่แต่งน้อย นอกจากงานจ้าง กระแสของดนตรีมันก็มีกราฟ พอเพลงปล่อยปุ้ป ได้ออกไปเล่น เพลงเราก็จะกราฟพุ่งขึ้น พอตอนนั้นโควิดมา มันก็หายไปจากกระแสง่ายๆ เลย พอมันไม่ได้ถูกนำเสนอต่อ เลยไม่ค่อยได้เล่นเพลงตัวเอง แต่มันก็มีกลุ่มคนที่รอฟัง เราเลยได้มีโอกาสเล่นเต็มๆ ในวันนั้น”
“ความรู้สึกตอนร้องเพลง มันเป็นการทำความเข้าใจกับสิ่งที่เราสื่อสารแล้วก็ค่อยๆ เล่ามันอย่างที่มันเป็น ถ้าเข้าใจก็จะเล่าได้ดี อย่างท่อน “ฉันยืนอยู่ตรงนี้…” ของเพลงมนุษย์ มันก็เป็นท่อนไคลแมกซ์ของเพลง ที่ตกตะกอนบางอย่าง แล้วก็ระบายออกมา และเวลาเล่น ถ้าใครสังเกต จะเห็นว่าเราหลับตาบ่อย เราอยากให้ได้เสียงที่ดีที่สุดออกมาในแต่ละท่อน และโฟกัสกับมัน ถ้าเราไปสนเรื่องอื่น เราก็จะหลุดโฟกัสไป เลยหลับตาและใช้โสตประสาททางหูอย่างเต็มที่ แต่วันนั้นก็พยายามจะ eye contact แต่รู้สึกว่า กูหลับตาแหละดีแล้ว แรกๆ ก็พยายาม แต่กูเป็นกูนี่แหละ ส่งสารผ่านเพลงพอ (หัวเราะ)”
มองย้อนกลับไป รู้สึกยังไงกับคอนเสิร์ตที่ผ่านมาบ้าง
“..รู้สึกขอบคุณนะ ที่ทำให้รู้อะไรมากมาย แต่ความรู้สึกแรกๆ หลังจบก็ ไอเ_ี้ย กูทำอะไรลงไป มันก็มีอยากให้งานมันเหมือนกับภาพที่เราคิดไว้ที่สุด ซึ่งมันทำไรไม่ได้แล้ว แต่มันทำให้เราได้เรียนรู้ เราผิดหวังที่เราทำมันออกมาไม่ได้ ก็อย่าโทษตัวเองเยอะ หลุดโฟกัสไปเยอะ ก็ได้เห็น และรู้สึกขอบคุณที่มันสะท้อนอะไรหลายๆ อย่างออกมามาก ไม่ใช่แค่ในแง่ของโชว์วันนั้น แต่ว่าเป็นแง่ของการทำงานภายในภายนอก ก็เห็นว่าจะทำยังไงต่อได้ในโชว์ต่อไป ซึ่งต้องรอกันอีกนานนะ”
“รู้สึกขอบคุณ ขอบคุณเพื่อนๆ และหลายๆ คนที่ทำให้มันเกิดขึ้น ไม่ว่าใครก็ตาม”
(นอกรอบ)
ทำโชว์กับห้องหรีะเป็นไงมั่ง
ห้องนี้เหมือนมีพลังให้เราตลอด บางวันต้องมาซ้อมแต่ว่าโคตรเหนื่อย ไม่มีแรง ไม่ได้นอนมา แต่ว่าพอมาร้องในห้อง ก็รู้สึกมีแรงซับให้เรา ห้องนี้น่าจะรักเรา พอมาห้องนี้แล้วไม่ค่อยกังวลเลย บางวันเราคิดว่าไม่มีเสียงแน่ๆ แต่ห้องนี้มันก็มีพลังที่ช่วยปล่อยเสียงเราออกมา ห้องมันโอบอุ้ม รู้สึกว่ามีอะไรอยากทำที่ห้องนี้ได้อีกหลายแบบเลย