นักภาวนาผู้ซื่อตรง หรือ นักภาวนาผู้บิดเบือนความเป็นจริง?

บทความโดย วรวรรณ จุลละโพธิ
บทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ในค่ำคืนโพธิจิต กับ วิจักขณ์ พานิช

“ความก้าวร้าวที่พื้นฐานที่สุดที่เราทำกับตัวเอง คือ การเพิกเฉย ปล่อยปละละเลย และไม่มีความกล้าที่จะพิจารณาและมองเข้าไปในตนเองอย่างซื่อตรงและอ่อนโยน”

เพม่า โชดรัน

แรกเริ่มที่เรามาปฏิบัติภาวนา เพราะมีความทุกข์ในชีวิตที่ท่วมท้น หาทางออกไม่ได้ และการภาวนาก็เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้มีชีวิตต่อไปได้ เราพยายามทุกวิถีทางให้เราสลัดความทุกข์นี้ออกไปจากชีวิต ในช่วงที่ชีวิตเรามีทุกข์ เราค่อยๆ ฝึกฝน เก็บสะสมทีละเล็กละน้อย สร้างแรงบันดาลใจในการภาวนา เพราะเราต้องการจะพ้นทุกข์ หรือมีชีวิตที่ดีขึ้นจากที่เป็นอยู่

พอเราภาวนาไประยะนึง เราเริ่มที่จะ “ทำเป็น” การภาวนาเป็นกิจกรรมผ่อนคลาย ไม่ต่างจากการไปนวด เรารู้ว่าจะภาวนาอย่างไรให้รู้สึกสบายกายสบายใจ เราก็ภาวนาแบบนั้น โดยไม่รู้ตัว เราไม่มอง เราไม่กล้าที่จะมอง เราลืมไปแล้วว่า ความทุกข์คืออะไร เราเคลือบพื้นผิวอันขรุขระของความทุกข์ ปกปิดมันไว้ด้วยพรมอันอ่อนนุ่ม แล้วนั่งทับมันไว้บนเบาะภาวนา ทั้งๆ ที่ก้อนความทุกข์นั้นยังกักเก็บอยู่ในร่างกาย ในจิตใจ และฝังลึกลงไปใน “อาลยา” ใต้เบาะภาวนาของเรา

นานๆ เข้า การภาวนาเพราะต้องการกำจัดทุกข์ ทำให้เรามีท่าทีที่ไม่สะดวกใจที่จะมองสภาวะที่เราเผชิญอยู่ในร่างกาย เพราะการมองทำให้ต้องรื้อพรมนั้นขึ้นมาและปัดกวาดสิ่งที่อยู่ข้างใต้ เราเลยซุกซ่อนมันไว้ต่อด้วยความสวยหรู ภาพพจน์อันดีงามรักธรรมะ ตั้งแต่เมื่อไรกันนะที่เราเริ่มเปลี่ยนการภาวนาเป็นกลไกในการสร้างตัวตนถาวร เข้าสู่โหมดการปกป้องตนเอง แทนที่จะอยู่และรับรู้ประสบการณ์ความทุกข์ตามที่เป็นจริง

ผู้ฝึกภาวนามานานๆ ระยะหนึ่ง จะมีอาการนั่งเพื่อยึดอะไรหลายๆ เอาไว้ มากกว่านั่งเพื่อปล่อย ภาวะการนั่งแบบยึดเอาไว้คือการหายใจทิ้งไปในร่างกาย โดยไม่ทำงานกับกรรมส่วนบุคคล เช่น เรานั่งภาวนา เราหายใจเข้าออก แต่กลับไม่สังเกตใจที่มันหดเข้า หวงพื้นที่ ไม่เปิดรับประสบการณ์ ตัวตนที่ทำงานด้วยการยึดเอาที่มั่นเดิมๆ ไว้เพราะมันอยู่สบาย แล้วหลีกเลี่ยงกลไกโดยธรรมชาติของร่างกายที่จะมีการคลี่คลายออกอย่างเป็นธรรมชาติ เราก็แค่ไม่ยอมดูมัน ในทางตรงข้าม กลับหดเข้าไปอยู่ในตัวตนที่สบายๆ อยู่เป็น เย็นใจ โดยไม่ยอมรับรู้มวลความร้อนอบอวลที่เกิดขึ้นในร่างกาย ไอน้ำที่เดือดปุดๆ บ่อน้ำพุร้อนอันพวยพุ่งที่อยู่ภายใน หรือการแข็งตัวเย็นเยียบของใจ

บางทีความสับสนอลหม่านที่เรายังมีอยู่ในชีวิตหรือจิตใจ ก้อนความทุกข์ที่จุกขึ้นในร่างกายบนเบาะภาวนา ความอดรนทนไม่ได้ ความอยู่ไมได้ ความเปราะบาง ความท่วมท้น ความติดขอบ ความยึดโยง ความต่อสู้ ความไม่ยอม อาจจะเป็นข่าวดีที่ว่า เราไมได้เป็นนักภาวนาแต่ในเปลือกนอก ตรงกันข้ามกับนักภาวนาที่นั่งบนเบาะสวยๆ แต่จริงๆ แล้ว ภาวนาอยู่แค่พื้นผิว นั่งกดทับประสบการณ์ภายในเอาไว้ด้วยทีท่าเฉยชา ใบหน้าสงบนิ่ง ไม่รู้สึกอะไรใดใด เมื่อไม่ได้สัมพันธ์กับความทุกข์ที่เผยขึ้นตรงหน้า แล้วเราจะภาวนาไปเพื่ออะไร?

“ตัวตนของมนุษย์ การก่อรูปของตัวตน ความคิดเกี่ยวกับตัวฉัน นั้นช่างเปราะบางมาก เป็นการก่อรูปก่อร่างที่ช่างเปราะบางเหลือเกิน อย่างที่เรารู้กันดีอยู่ ในการรักษาภาพลักษณ์ทางจิตใจเอาไว้ เราจำเป็นต้องปกปิดข้อมูลมหาศาลที่เรามีอยู่ ข้อมูลจำนวนมากที่เราเห็น เรารู้สึก เราได้ยิน และสัมผัสสิ่งเหล่านั้นในร่างกายของเรา ดังนั้น จริงๆ แล้ว เส้นทางแห่งความเป็นทั้งหมดของเราดำรงอยู่ในร่างกาย และการคลี่ออกของปัญญาญาณในร่างกายของเรา.” — เรจจี้ เรย์

ชีวิตเรายังต้องสัมพันธ์กับความทุกข์ เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงทุกข์ได้ ไม่ว่าจะอย่างไร ความทุกข์นั้นจะไม่จากเราไป แต่จะยังคงอยู่กับเรา ความทุกข์นั้นจะดำรงอยู่ในร่างกาย ในจิตใจ เป็นกระบวนการโดยธรรมชาติที่ไม่ได้มีตัวตนที่ถาวร อาจจะเปลี่ยนรูปร่าง กลิ่น สี ไปเรื่อยๆ รอให้เราพิจารณา อยู่กับความทุกข์จนกว่าเค้าจะไปจากเราเองโดยธรรมชาติ

สุดท้ายแล้ว เราคงต้องเลือกว่า เราจะเป็นนักภาวนาผู้สัมพันธ์กับความจริงตรงหน้าที่คลี่ออกมาในทุกขณะ หรือเป็นนักภาวนาผู้หลีกหนีความจริงไปเรื่อยๆ — spiritual bypasser ผู้หลีกเลี่ยงความเจ็บปวด หลีกเลี่ยงที่จะมองความทุกข์ ไม่ยอมนั่งอยู่ท่ามกลางพายุหมุนหรือเปลวไฟคุกรุ่นของอารมณ์ตัวเอง เราไม่อนุญาตให้ตัวเองได้อยู่กับประสบการณ์อันเข้มข้นนั้น หรือไม่รู้จะอยู่ยังไง ถ้ายอมพัง ก็กลัวว่ามันอาจจะไม่จบในทีเดียว กลัวข่าวร้ายที่ว่า เราอาจไม่ได้ตายครั้งเดียว แต่อย่างน้อยกระบวนการก็เปิดพื้นที่ให้ความทุกข์ได้คลี่ออกมา เรายอมรับการมีอยู่ของความทุกข์ ไม่เช่นนั้น ไม่ช้าก็เร็ว ความทุกข์ก็จะสำแดงฤทธิ์เดชออกมาให้เห็นอยู่ดี ยิ่งเรากดทับ ก้อนมันก็จะยิ่งใหญ่ขึ้น ใหญ่ขึ้น กลายเป็นพายุเฮอริเคน พุ่งเข้าใส่เป้าหมายเมื่อมีโอกาส และเมื่อเราไม่รู้ตัว

+++++++++++++++++++++++++

หากท่านชอบบทความที่ตีพิมพ์บนเว็บไซต์ vajrasiddha.com และต้องการสนับสนุนการทำงานของพวกเรา สามารถช่วยกันแชร์ คอมเมนท์ ติชม ได้ในทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย วัชรสิทธาดอทคอม ดำเนินงานเพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาอย่างไม่แสวงหาผลกำไร ผู้ที่ได้รับประโยชน์ และมีจิตศรัทธา สามารถสนับสนุนการดำเนินงานของเว็บไซต์ได้ที่ — ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกระบือ ประเภทออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “มูลนิธิวัชรปัญญา” เลขที่ 053-3-67904-8

สถาบันวัชรสิทธา ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ทดลองทางการศึกษา บนพื้นฐานของการภาวนา การใคร่ครวญด้วยใจ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างเป็นมนุษย์ระหว่างผู้เรียน