“ตื่นรู้ในความสัมพันธ์” : ประยุกต์ใช้อริยสัจสี่ในความสัมพันธ์ใกล้ชิด

บทความโดย เอเลียน ยูเซฟ
เรียบเรียงโดย ทีมงานวัชรสิทธา

จาก นิตยสาร Elephant ๋Journal

การศึกษาพุทธศาสนามาหลายปีทำให้ฉันได้เรียนรู้ว่า การกราบไหว้บูชาหรือศรัทธาแบบไร้สตินั้น ไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้ามุ่งเน้นเลย สิ่งที่พระพุทธเจ้ามุ่งเน้นคือการปลดปล่อยสรรพสัตว์จากความทุกข์ ดังที่พระพุทธเจ้ามอบคำสอนอริยสัจ 4 ไว้ให้แก่เรา

ข้อหนึ่ง : เข้าใจว่าชีวิตคือความทุกข์ — ทุกสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลงเสมอ

ข้อสอง : ตระหนักถึงเหตุแห่งทุกข์ — ความยึดมั่น ความปรารถนา แฟนตาซี ความอยาก

ข้อสาม : รู้ว่าความทุกข์สามารถดับได้

ข้อสี่ : ดำเนินตามหนทางที่นำไปสู่การดับทุกข์

การประยุกต์ใช้คำสอนนี้จะช่วยให้เรามีชีวิตที่ปราศจากความทุกข์
และหนึ่งในปัญหาที่มักจะทำให้เราทุกข์ใจก็คือ “ความสัมพันธ์”

ทุกความสัมพันธ์ย่อมมีทั้งช่วงดีและช่วงร้ายเป็นธรรมชาติของชีวิต แต่เมื่อปัญหายังคาราคาซังและคงดำเนินต่อไป เรามักเริ่มตั้งคำถามว่า “ความสัมพันธ์นี้จะไปต่อได้หรือไม่”

การศึกษาหลักพุทธศาสนาทำให้ฉันตระหนักว่า ความสัมพันธ์จะยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อเราค้นพบสิ่งที่ทำให้มันดำรงอยู่ได้ หากเรามองหาหนทางที่จะทำงานกับความสัมพันธ์อย่างตื่นรู้ อริยสัจสี่อาจเป็นคำตอบที่เรากำลังมองหา

ข้อหนึ่ง : เข้าใจว่าธรรมชาติของความสัมพันธ์ล้วนเป็นทุกข์

เมื่อเราตกหลุมรักใครสักคน เรามักคิดว่าความสุขที่รู้สึกในช่วงเริ่มต้นจะคงอยู่ตลอดไป และเมื่อเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้น เรามักผิดหวังและพยายามยึดติดกับช่วงเวลาที่ดี

ทุกความสัมพันธ์มีทั้งช่วงเวลาที่มีความสุขและช่วงเวลาที่มีปัญหา ดังนั้นหากเราต้องการแก้ไขปัญหาในความสัมพันธ์ เราจำเป็นต้องเข้าใจว่า การเกิดขึ้นของปัญหาและความทุกข์ในความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

แทนที่จะยึดติดกับความสุข เราควรเปิดใจกับความทุกข์ และพร้อมรับมือเมื่อมันเกิดขึ้น

ข้อสอง : ตระหนักถึงเหตุแห่งทุกข์ในความสัมพันธ์

พุทธศาสนาสอนว่า ความทุกข์เกิดจากความยึดมั่นและความอยาก ในความสัมพันธ์ก็เช่นกัน เมื่อความยึดมั่นในตัวตนเกิดขึ้น ความปรารถนาก็เกิดขึ้นตามมา แทนที่จะยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะ เรากลับกลัวที่จะสูญเสียความสัมพันธ์หรือกลัวการจากไปของคนรัก ความยึดมั่นนั้นเองที่เป็นตัวทำลายความรักที่แท้จริง การต้องการใครสักคนอย่างยึดติด อยู่ในแฟนตาซีกับภาพที่เราต้องการ แตกต่างจากการอยู่ตรงนั้นกับคนรัก รู้สึก และรับรู้เขาอย่างที่เป็นจริงๆ

เมื่อเราตั้งใจเลือกอยู่กับใครสักคน เราจะโอบกอดการมีอยู่ของเขา แต่ก็ไม่หวั่นไหวหากเขาจะเปลี่ยนแปลงหรือจากไป

ข้อสาม : รู้ว่าความทุกข์ในความสัมพันธ์สามารถดับได้

เมื่อเราเข้าใจว่าอะไรเป็นเหตุแห่งทุกข์ เราจะสามารถเริ่มหาทางแก้ไขได้ จุดเริ่มต้นคือการยอมรับคู่รักของเรา และเรียนรู้ที่จะรักจากแต่ละขณะ

แทนที่จะสร้างความคาดหวังว่าคู่รัก หรือความสัมพันธ์ควรจะเป็นอย่างไร เราต้องยอมรับความจริงที่เป็นอยู่ เพิ่มเติมจากนั้นคือการฝึกฝนการสื่อสารอย่างซื่อตรง การรู้สึกความทุกข์ของอีกฝ่าย การเห็นอกเห็นใจ และการให้พื้นที่กับทั้งตัวเราและคนรัก

พุทธศาสนายังสอนว่า การบ่มเพาะความเมตตากรุณาเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาความสัมพันธ์ หากปราศจากการให้อภัยและกรุณาทั้งต่อตนเองและคนรัก ความสัมพันธ์ย่อมไม่อาจเติบโตได้

ข้อสี่ : ลงมือปฏิบัติในความสัมพันธ์อย่างตื่นรู้มีสติ

เช่นเดียวกับสิ่งอื่นๆ ในชีวิต ความสัมพันธ์ต้องการการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง เราจำเป็นต้องฝึกฝนการยอมรับช่วงเวลาที่ยากลำบาก และฝึกวิธีรับมือกับมันอย่างมีสติ

การเข้าใจเพียงทฤษฎีนั้นไม่เพียงพอ เราต้องลงมือปฏิบัติจริง

หากเราต้องการมีความสัมพันธ์ที่มีสติและสุขภาพดี เราก็ต้องดูแลชีวิตของเราให้มีสติและสุขภาพดี
หากเราต้องการรักคู่รักของเรามากขึ้น เราต้องเริ่มจากการรักตัวเองก่อน
หากเราต้องการให้กับคนรักมากขึ้น เราก็ต้องให้กับตัวเองมากขึ้น

เมื่อเรามีสติรู้ตัวต่อการกระทำและคำพูดของเรา
เราก็จะสามารถเปิดประตูบานใหม่ในความสัมพันธ์ได้อย่างแท้จริง


+++++++++++++++++++++++++

หากท่านชอบบทความที่ตีพิมพ์บนเว็บไซต์ vajrasiddha.com และต้องการสนับสนุนการทำงานของพวกเรา สามารถช่วยกันแชร์ คอมเมนท์ ติชม ได้ในทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย วัชรสิทธาดอทคอม ดำเนินงานเพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาอย่างไม่แสวงหาผลกำไร ผู้ที่ได้รับประโยชน์ และมีจิตศรัทธา สามารถสนับสนุนการดำเนินงานของเว็บไซต์ได้ที่ — ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกระบือ ประเภทออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “มูลนิธิวัชรปัญญา” เลขที่ 053-3-67904-8

สถาบันวัชรสิทธา ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ทดลองทางการศึกษา บนพื้นฐานของการภาวนา การใคร่ครวญด้วยใจ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างเป็นมนุษย์ระหว่างผู้เรียน