เพราะฉันมีอยู่ ฉันจึงออกหาความหมาย
บทความ โดย KHANOON
“When you discover your life purpose and your life mission, no longer you are doubting whether you’d put your feet here or there; you found your place in earth and that determination is opening all the doors – every door.”
– Victoria Subirana
เมื่อเกิดมา ไม่มีใครรู้คำตอบได้โดยทันทีว่าเราเกิดมาทำไม ทำไมเราต้องพยายามดิ้นรนมีชีวิตรอด ในเมื่ออีกเดี๋ยวก็ตายแล้ว เราพยายามหาความหมายให้แก่การดำรงอยู่บนโลกมากเสียจนเราหลงทางกว่าเดิม แถมบางทียังติดหล่มหาทางไปต่อไม่ได้ด้วย
จริงๆ ในสังคมพุทธบ้านเราพอจะให้คำตอบไว้อยู่บ้างว่า ชีวิตเราถูกกำหนดขึ้นจากบุญบาปที่สั่งสมมาในแต่ละภพชาติ ทำให้การเกิดถูกลดทอนเป็นเพียงการชดใช้กรรม หรือการสะสมแต้มบุญเผื่อใช้ชาติหน้า มากกว่าจะเป็นการเกิดมา เพื่อเป้าประสงค์ที่ใหญ่กว่านั้น
แต่มันเป็นแค่อย่างที่เรารับรู้มารึเปล่า? เกิดอะไรขึ้นบ้างหลังตาย? หรือตอนรอมาเกิดใหม่? ท่ามกลางปริศนาเหล่านี้คือคำเฉลยของทุกเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามา ไม่มีเรื่องใดบังเอิญ ทั้งสาเหตุที่เราได้เกิดมาในครอบครัวนี้ ในสังคมนี้ ต้องเจอผู้คนแบบนี้ เจ็บปวดกับปมนี้ ทุกอย่างร้อยเรียงไปสู่การค้นพบ ‘พันธกิจชีวิต’ จนอาจบอกได้ว่า เรานี่แหละเป็นผู้ออกแบบชีวิตตัวเองมาทั้งหมด
คนที่จะมาช่วยเราคลี่แผ่ความลี้ลับนี้ให้กระจ่างชัดมากขึ้น คือ วิคตอเรีย สุบีรานะ (Victoria Subirana) คุณครูชาวสเปนผู้มีเรื่องราวชีวิตโลดโผน ไม่ว่าจะเป็นภารกิจในการสร้างโรงเรียนเพื่อเด็กยากไร้ที่เนปาล หรือการจับพลัดจับผลูได้เป็นศิษย์ของท่านเช็นเพ็น ดาวา (Shenphen Dawa) ลูกชายของท่านดุดจอม รินโปเช (Dudjom Rinpoche) คุรุผู้ยิ่งใหญ่ในสายทิเบตที่สำคัญอีกคนบนโลก
องค์ความรู้ที่วิคตอเรียได้รับการถ่ายทอดมาจากอาจารย์ และหนังสือ ‘The Tibetan Book of the Dead (คัมภีร์มรณศาสตร์แห่งธิเบต)’ เมื่อถูกย่อยและเล่าโดยฆราวาส ก็ยิ่งทำให้คำสอนนี้เข้าถึงง่าย แถมพวกเรายังรู้สึกจริงๆ ว่านี่เป็นเรื่องสำคัญของเราทุกคน ที่จะได้รู้ว่าเรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร
Six Intermediate State – หกสภาวะการเปลี่ยนผ่าน (บาร์โด 6)
แม้จะบอกว่า ‘เรา’ เป็นคนกำหนด แต่มันก็ไม่ใช่ ‘ตัวเรา’ ที่กำลังนั่งอ่านบทความนี้ วิคตอเรียบอกว่าตามปกติเราใช้การรับรู้เพียงแค่ 5% ซึ่งเป็นระดับจิตสำนึก (conscious) เท่านั้น แต่ยังมีอีก 95% หรือส่วนของจิตกึ่งสำนึกและจิตไร้สำนึก (subconscious-unconscious) ที่ระบบการศึกษาของโลกไม่ได้ส่งเสริมให้เราเข้าไปสำรวจมันมากพอ เราจึงติดอยู่กับข้อจำกัดของจิตสามัญ (ordinary mind) ไม่สามารถขยายการรับรู้ไปพ้นตรรกะและเหตุผลสู่สภาวะจิตสูงสุด (supreme mind) ได้
ถึงจะน่าเศร้าที่เราไม่ได้รับการถ่ายทอดความฉลาดมาจากจิตสูงสุดของตัวเองเท่าไหร่นัก เราก็ยังพอมีหนทางให้รู้สึกถึงประพริมประพรายแห่งสภาวะนั้นได้บ้าง อย่างเช่นการนั่งภาวนา อันถือเป็น 1 ใน 6 สภาวะการเปลี่ยนผ่านทั้งหมดที่การรับรู้ของเราจะกลับสู่ศักยภาพแท้จริง ตัวเราในสภาวะนี้นี่เองที่เป็นผู้ลิขิตความเป็นไปเพื่อมาสนับสนุนการทำพันธกิจชีวิต
สภาวะการเปลี่ยนผ่านอันดับแรก คือ สภาวะการเปลี่ยนผ่านของชีวิตธรรมชาติ (Intermediate State of Natural Life) เริ่มตั้งแต่แรกเกิดจนถึงก่อนตาย ในห้วงขณะที่ความตายคืบคลานเข้ามา จิตของเราจะเชื่อมโยงกับพลังงานสูงสุด (supreme energy) เหมือนเสาสัญญาณที่เปิดรับคลื่นความถี่ได้มากกว่าเดิม
อันดับต่อไปคือ สภาวะการเปลี่ยนผ่านของการนอนหลับ (Intermediate State of Sleep) เป็นช่วงเวลาที่จิตเป็นอิสระ จากประสาทสัมผัสทางกาย ที่เราฝันว่าบินได้ หายตัวได้ ทะลุกำแพงได้ ทั้งหมดนั่นก็คือศักยภาพแท้จริงของจิตเมื่อปราศจากกายเนื้อ เรียกได้ว่าเราทุกคนมีประสบการณ์ในการเชื่อมต่อกับจิตสูงสุดทุกครั้งที่หลับ บางคนจึงได้รับลางบอกเหตุ หรือมีศาสตร์แห่งการถอดรหัสความฝันขึ้น
ลำดับที่ 3 เราได้เกริ่นถึงก่อนหน้านิดหน่อยแล้ว นั่นคือ สภาวะการเปลี่ยนผ่านของความปิติจากการปฏิบัติภาวนา (Intermediate State of the Ecstasy of Contemplative Mediation) เมื่อผู้ปฏิบัติอยู่กับเนื้อกับตัว (embodied) การทำงานภายในของจิต จะทำให้สภาวะนั้นปรากฏขึ้นในโลกความเป็นจริง อย่างที่เราเห็นว่าโยคีบางรูปก็มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์
Secret behind Death – ความลับหลังตาย
ลำดับที่ 4 คือ สภาวะสุดท้ายที่เกิดก่อนที่เราจะตาย เพราะมันคือ สภาวะการเปลี่ยนผ่านก่อนหน้าความตาย (Intermediate State that Precedes Death) หรือระหว่างเกิดการแตกสลายของธาตุ หากเราเชื่อมต่อกับจิตสูงสุดได้ก็เป็นการการันตีว่าจะได้ไปในที่ที่ดี
แต่เพราะมันเป็นช่วงที่เหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตผุดขึ้นมา การเชื่อมต่อจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ในระดับตัวเราเองมันได้สร้างความลังเลสงสัย เมื่อขยายความสัมพันธ์ไปสู่ระดับครอบครัวและสังคม เราจะเห็นผลของการกระทำที่เราไปทำไว้กับคนนู้นคนนี้ ความรู้สึกทั้งหลายประดังประเดเข้ามา และเข้าไปขัดขวางกระบวนการการตาย แม้การตายอย่างทุกข์ทรมานจะน่ากลัว (แน่สิ) แต่มันก็เป็นโอกาสในการชำระล้างพลังงานลบที่เราสะสมไว้ หากท้ายที่สุดยังหลุดจากการเชื่อมต่อ ขอเรียนเชิญท่านเข้าสู่สภาวะที่ 5
สภาวะการเปลี่ยนผ่านของ The Absolute (Intermediate State of the Absolute) กินระยะเวลาทั้งสิ้น 10 วัน เมล็ดพันธุ์ด้านบวกที่เคยสั่งสมไว้ก็จะถูกใช้ในการปกป้องเราจากภาพหลอน ยิ่งยึดติดกับชีวิตก่อนหน้ามากเท่าไหร่ ปีศาจที่เมล็ดพันธุ์ลบๆ ดึงดูดมาก็มากขึ้นเท่านั้น ใครที่ยังเชื่อมต่อกับจิตสูงสุดไม่ได้ยังมีโอกาสแก้ตัวในขั้นนี้ พิธีสวดอภิธรรมศพ การอุทิศบุญกุศลให้ผู้ล่วงลับมีเพื่อช่วย นำทางวิญญาณนี่เอง และไม่ใช่แค่คนเป็นที่ช่วยได้ วิญญาณฝ่ายดีอื่นๆ ก็มีส่วนช่วยหนุนส่งไปสู่การหลุดพ้น หรือเข้าสู่สภาวะการเปลี่ยนผ่านที่ 6 เร็วขึ้น
ถ้าเป็นพวกก้ำกึ่ง เลือกไม่ได้ว่าบวกหรือลบ เราจะหาทางไปต่อไม่ได้ไปจนครบ 10 วัน ซึ่งกว่าจะเข้าสู่สภาวะที่ 6 ก็อาจไม่เหลือเมล็ดพันธุ์ด้านบวกไว้ช่วยหนุนนำไปเกิดในภพภูมิดีๆ แล้ว สำหรับบางคนที่พลังงานด้านลบหนาแน่นเกินไป ก็จะมีวิญญาณจากเบื้องต่ำมาดึงดูดสู่ขุมนรก
หากคุณคือผู้เหลือรอด ยินดีด้วย! คุณกำลังจะได้ไปเกิดแล้ว!
Designing your Next Life – ออกแบบชีวิต
ลำดับสุดท้าย สภาวะการเปลี่ยนผ่านของการเกิดใหม่และการกลายเป็น (Intermediate State of Emerging and Becoming) ดวงจิตของเราปรารถนาที่จะเข้าไปอยู่ในมดลูกเพื่อกลับไปเกิดในโลกที่คุ้นเคย แต่ใช่ว่าเราจะทำได้ทันทีที่ปรารถนา จนกว่าภารกิจในการสร้างตัวตนใหม่ ตั้งแต่ระดับตนเอง ครอบครัว และสังคมจะเสร็จสิ้น
เนื่องจากว่าเราใช้พลังงานด้านบวกไปมากโข และแทบไม่มีอะไรปกป้องแล้ว มันจึงเป็นเวลาที่เราถูกขับเคลื่อนด้วย ‘ความกลัว และความปรารถนา’ แถมสภาพแวดล้อมก็ไม่เอื้อให้เราสงบจิตสงบใจ แล้วนั่งออกแบบชีวิตใหม่ชิลๆ เสียด้วย บางดวงจิตจึงเข้าไปอยู่มดลูกปีศาจหรือเดรัจฉาน แทนที่จะเป็นครรภ์มนุษย์
ดวงจิตที่ยังต้องกลับมาเกิด จะมีดวงจิตอื่นๆ อีกมากมายมาช่วยออกแบบพันธกิจชีวิตตลอด 39 วันที่เหลือ (หรือมากกว่านั้นถ้าเราหลุดจาก The Absolute ได้เร็ว กระบวนการหลังตายแล้วใช้เวลาทั้งหมด 49 วัน) เราไม่ได้แค่ออกแบบว่าจะมาเกิดเป็นคนชาติอะไร มีรูปร่างหน้าตา มีพรสวรรค์ หรือนิสัยแบบไหน ครอบครัวเราจะอบอุ่นไหม สถานะการเงินที่บ้านดีรึเปล่า จะไปเกิดที่ประเทศประชาธิปไตยหรือเผด็จการ แต่เรายังต้องรอเวลาให้เหล่าคนที่เราเคยมีความสัมพันธ์ด้วยกลับมาเกิดพร้อมๆ กัน เพื่อตอบแทน หรือไม่ก็ชดใช้
Karma is Actually Seeds – กรรมคือเมล็ดพันธุ์
การพูดในทำนองนี้ดูเหมือนจะไปเข้าอีหรอบเดิมของการ ‘เกิดมาใช้เวร เกิดมาใช้กรรม’ จนเรารู้สึกต่อต้าน แต่หลังฟังวิคตอเรียอธิบาย คำว่า ‘กรรม’ ในที่นี้มีนัยถึงคำว่า ‘เมล็ดพันธุ์’ ที่พูดถึงในช่วงสภาวะเปลี่ยนผ่านที่ 5 และ 6 มากกว่า
กรรมแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกก็คือ Conscious Karma เป็นกรรมที่เราทำในชีวิตประจำวัน และเราสามารถรับรู้ความเชื่อมโยงระหว่างเหตุและผลของการกระทำได้ ซึ่งเป็นแค่ 5% ของกรรมทั้งหมดเท่านั้น
อีก 95% ที่เหลือ คือส่วนของ Subconscious Karma และ Unconscious Karma แม้ 2 ส่วนนี้จะอยู่พ้นจากการรับรู้ของเรา มันกลับมีอิทธิพลต่อความคิด อารมณ์ความรู้สึก การรับรู้ประสบการณ์ต่างๆ อุปนิสัย ความกลัว ความปรารถนาซึ่งบางครั้งก็ดูไร้เหตุผล เป็นต้นกำเนิดแรงขับเคลื่อนของการกระทำทั้งบวกและลบ ไม่ต่างจากความรู้ในสายจิตวิทยา
ขณะที่ Unconscious Karma เป็นส่วนที่เดินทางข้ามภพชาติไปกับจิต Subconscious Karma คือกรรมที่ถูกบ่มเพาะขึ้นจากการเลี้ยงดู นับแต่การปฏิสนธิในครรภ์จนถึงวัย 7 ขวบ มันจึงเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับพ่อแม่ และครอบครัวในการปลูกเมล็ดพันธุ์ด้านบวกเข้าไปในจิตเด็ก หากเราเติบโตมาในครอบครัวที่อบอุ่น ปลอดภัย เราก็มีแนวโน้มที่จะมองโลกอย่างมีความหวัง มีศักยภาพในการพัฒนาตนเองมากกว่า ในทางกลับกันเด็กซึ่งถูกทอดทิ้งมักจะวนเวียนอยู่กับความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ หรือติดอยู่กับความรู้สึกด้อยค่าไปจนวัยผู้ใหญ่ หากตายแล้วยังปล่อยวางไม่ได้ ก็อาจส่งต่อไปถึงสภาวะการเปลี่ยนผ่าน และชาติถัดๆ ไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ชีวิตนี้ไม่มีสิ้นหวัง! ทุกอย่างมีทางออก! ถ้าเราตระหนักหรือเห็นความเชื่อมโยงว่าการกระทำมีที่มาจากอิทธิพลใด เราก็มีโอกาสแปรเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ลบๆ ให้กลายเป็นบวกได้ เช่น เคยรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง ก่อนจะพบว่าแม้จะไม่มั่นใจก็ยังสามารถทุ่มเททำงานให้ออกมาดีได้ เคยอิจฉาที่เพื่อนร่วมชั้นมีฐานะ แต่เปลี่ยนเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในประเทศ เมื่อทัศนคติของเราเปลี่ยน สภาพแวดล้อม สิ่งที่เราจะดึงดูดเข้ามาในวงโคจรย่อมเปลี่ยนตามไปด้วย เข้าทำนอง ‘เป็นคนแบบไหน ก็คบคนแบบเดียวกัน’ นั่นแหละ
The Umbrella of Life Mission – ร่มใหญ่แห่งพันธกิจชีวิต
วิคตอเรียย้ำเสมอว่า การ ‘รู้สึกมีความสุข’ ไม่ได้นำไปสู่ ‘ความสุขที่แท้จริง’ เสมอไป
ในการออกแบบชีวิต เราอาจกำหนดให้ตัวเองมีภูมิหลังที่ไม่ดี หรือต้องประสบกับเหตุการณ์แย่ๆ ทางหนึ่งก็เพราะเราต้องไปชดใช้บางสิ่งให้กับคนอื่น อีกทางเรากลับจำต้องทุกข์มากขนาดนั้น เพื่อเรียนรู้อะไรบางอย่างไปสนับสนุนการทำพันธกิจชีวิต
ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้นขอให้โอบรับมันไว้ ภาคภูมิใจกับพรสวรรค์ที่มี และใช้มันเพื่อช่วยเหลือคนอื่น เรียนรู้แก้ไขจากความผิดพลาด ยอมรับสมาชิกครอบครัวอย่างที่เขาเป็น โดยไม่จำเป็นต้องรักหมดใจก็ได้ รากเหง้าบรรพบุรุษ องค์ประกอบทุกอย่างไม่ว่าเล็กน้อยแค่ไหน ล้วนเป็นเข็มทิศนำทางไปสู่การใคร่ครวญหาพันธกิจที่จิตกำหนดไว้
ด้วยการทำงานกับตัวเองและครอบครัวแล้วเท่านั้น เราถึงจะพร้อมในการเปลี่ยนแปลงสังคม บางคนรู้สึกว่าการได้ดูแลครอบครัว การเป็นแม่ที่ดีคือจุดมุ่งหมายของชีวิต แม้ว่าจะเป็นความตั้งใจที่น่าชื่นชม แต่ก็เป็นเพียง ‘หน้าที่’ ที่เราในฐานะลูก หรือแม่ควรทำอยู่แล้ว
พันธกิจชีวิตไม่ใช่หน้าที่ ไม่ใช่อาชีพเพราะความหมายจำกัดเกินไป และไม่ใช่แค่การทำเพื่อตัวเองกับครอบครัว มันคือการทำเพื่อบางสิ่งบางอย่างที่ใหญ่กว่านั้น เพื่อสังคม เพื่อส่วนรวม เพื่อมนุษยชาติ ส่วนพันธกิจของเราใหญ่แค่ไหน จะมีคนได้รับประโยชน์มากเท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับความมุ่งมาดวาดหวังของเรา เนื่องจากมันเป็นสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเรามาก อาจจะมากๆๆ ด้วยซ้ำ การค้นหาพันธกิจให้ได้ในชีวิตนี้เลยจึงทั้งดูแทบเป็นไปไม่ได้ และน่าตื่นเต้นที่จะค้นหาไปพร้อมๆ กัน
“Before you discover your life mission, you have to be pushing and you get tired. When you discover that whatever happening in the past is the composition of your life mission, whatever comes to your presence, you ask ‘Is this leading me to my life mission?’; It’s very clear and very simple. No more worries. When you discover your life mission, what happen is amazing. They will come to you and say ‘Open the mouth. Take it!’. And you just have to be there receiving.”
– Victoria Subirana
ตราบใดที่เชื่อมต่อกับจิตสูงสุดอยู่ ถึงเราจะยังไม่สามารถพูดออกมาได้อย่างชัดเจนว่า ‘พันธกิจชีวิต’ คืออะไร ทุกอย่างก็คล้ายถูกจัดสรรไว้เพื่อเราแล้ว ว่าต่อไปจะได้พบใคร ต้องทำอะไรต่อ ยิ่งเจตจำนง คำพูด และการกระทำตั้งอยู่ในแกนเดียวกัน จนเราพูดออกมาได้ชัดเจนแจ่มแจ้งว่าต้องทำอะไร ยังไงเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย สิ่งที่ต้องเข้ามาช่วยเหลือ ทดสอบ นำทาง ก็จะเข้ามาด้วยตัวของมันเอง
…ที่สำคัญคือ เราต้องไม่ปฏิเสธมัน
เราทุกคนต่างอยู่บนเส้นทางที่ทอดยาวโดยไม่รู้ว่าเส้นชัยอยู่ตรงไหน แต่ก็ยังมุ่งมั่นก้าวเดินไปทีละไมล์สโตน ใช้ศักยภาพทั้งหมดเพื่อรับใช้แต่ละจุดมุ่งหมายซึ่งเชื่อมสู่ร่มใหญ่ของพันธกิจชีวิต แน่นอนว่าเมื่อเราค้นพบมันแล้ว เราจะไม่มีทางหันหนีได้อีกเลย นอกจากจะเดินไปให้สุดทาง!
(แม้ว่ามันจะเป็นเส้นทางสุดทรหดที่เดินไม่จบในชาติเดียวก็เถอะ)
ไม่ว่าหนทางไหนที่เราเลือกจะเป็นการมุ่งมั่นไล่ตามจุดหมาย ใช้ชีวิตอย่างปกติสุขตามเดิม หรือไม่เชื่อทั้งหมดนี่เลยก็ตาม การที่ได้กลับมาย้อนดูสิ่งละอันพันละน้อยอันประกอบขึ้นเป็นตัวเราก็มีค่า มีความหมายมากๆ แล้ว เพราะมันอาจช่วยให้เราคลายจากเรื่องติดค้าง หัวใจขยายใหญ่ขึ้นจากการโอบรับทุกประสบการณ์ และมีแรงบันดาลใจที่ใช้ชีวิตนี้ต่อไป
สุดท้ายคำตอบที่เราตามหาอาจเป็นความรู้สึกขอบคุณที่ได้เกิดมา
ขอบคุณที่ได้เกิดเป็นคนที่ฉันเป็นเช่นทุกวันนี้