Love in Translation: ลึกลงไปในการสื่อสารคือการทำงานกับความต้องการภายใน

บทความโดย CHES วัชรสิทธา


Out beyond ideas of wrongdoing and rightdoing,
there is a field. I’ll meet you there.

When the soul lies down

in that grass,
the world is too full to talk about.
Ideas, language, even the phrase ‘each other’
doesn’t make any sense.

– Rumi

เหนือเรื่องราวผิดถูกที่เราสนทนากัน มีบางสิ่งบางอย่างที่ต่างฝ่ายต่างเรียกหา ความสัมพันธ์ดำเนินไปอย่างกระท่อนกระแท่น แม้เราจะมีความรักและหวังดีให้แก่คนใกล้ชิดมากแค่ไหน การสื่อสารโดยขาดการตระหนักรู้ก็เป็นเรื่องยากที่จะให้อีกฝ่ายเข้าใจ หรืออาจถึงขั้นไม่สามารถสื่อสารความรู้สึกรักและหวังดีที่มีให้กันได้เลย

หากเราลองพูดกันถึงเรื่องการสื่อสารในความสัมพันธ์ เรามักจะมาพูดกันถึงการจัดการคำพูด เรียบเรียงประโยคพูด ใช้คำพูดอย่างไรเพื่อรักษาความสัมพันธ์ไว้ อาจจะต้องใช้คำพูดเพราะๆ หวานๆ พูดถึงกัน เสมอ ก็เป็นเรื่องที่ดีถ้าหากจะเลือกใช้คำพูดที่จะไม่ทำร้ายจิตใจกัน แต่บางครั้งคำพูดดีๆ ก็ไม่ได้สร้างความเข้าใจ และสร้างความเจ็บปวดได้เหมือนกัน

Love in translation พาเรามาเข้าใจส่วนลึกที่อยู่ในตัวเรา ส่วนลึกที่อยู่ข้างในแต่ละคน สิ่งที่มีอยู่เสมอไม่ว่าจะออกมาในอิริยาบทไหน ออกมาในการสื่อสารแบบใด เพราะเบื้องหลังการกระทำ การแสดงออกและคำพูดต่างๆ มันเต็มไปด้วยความรู้สึกและความต้องการอยู่เสมอ หรืออาจจะรวมถึงสิ่งที่เราถูกปลูกฝังมาด้วยก็ได้


การสื่อสารที่ไม่ใช่แค่คำพูด

ในคลาสพี่ณัฐนิยาม “การสื่อสาร” คือภาวะที่ไม่ใช่แค่คำพูดหรือข้อความ ในการสื่อสารนั้นเต็มไปด้วยมวลความรู้สึกที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านน้ำเสียง แววตา สีหน้า ท่าทาง การเลือกใช้คำก็อาจมีส่วนในการสื่อสารแต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากทั้งหมดที่ลึกๆ แล้วถูกขับเคลื่อนด้วยความต้องการทั้งสิ้น การเดินทางตลอดทั้ง 3 วันจึงเป็นการเดินทางเข้าไปค้นหาความรู้สึก ลึกลงไปให้เห็นถึง Need และ Value ของเราและคู่สนทนา

ความเข้าใจผิดซ้ำๆ ทำให้เราแยกไม่ออกว่ามีอะไรใกล้เคียงกัน แต่ใช้งานแตกต่างกันบ้าง แท้จริงในแต่ละเหตุการณ์เราสังเกตมัน (Observe) หรือเราตีความมันไปแล้ว (Evaluate) เรามีความรู้สึกถึงเหตุการณ์นั้นอย่างไร (Feeling) หรือเรามีความคิดเกี่ยวกับมันกันแน่ (Thinking) ลึกๆ ในเหตุการณ์นี้ เรามีความต้องการอะไร (Need) หรือเป็นความต้องการที่จะให้มันเป็นแบบที่เราคาดหวังกันแน่ (Strategy) เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นมาเพื่อร้องขอความต้องการ (Request) หรือเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นคำสั่งบังคับสนองความคาดหวัง

The ability to observe without evaluating is the highest form of intelligence

– Jiddu Krishnamurti


เป็นเรื่องยากที่จะแยกสองความหมายนี้ออกจากกัน และเลือกใช้งานมันอย่างเหมาะสม ในการสื่อสารอย่างสันติเราจะลดการตีความลงอย่างไร ในเมื่อแต่ละคนก็ตีความเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ได้หลายรูปแบบ การมองมันตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นให้อยู่ในภาวะที่ประจักษ์สากลจึงเป็นการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา การสังเกตโดยไม่ตีความจึงเป็นเรื่องที่ทั้งยากและง่ายในเวลาเดียวกัน

ในกิจกรรมเราต่างคนต่างใช้วัตถุดิบที่แต่ละคนพกพามาในการเรียนรู้ที่จะเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของตัวเอง ถอดมันออกมาจากความคิดและความคาดหวังที่มีต่อเหตุการณ์เดียวกัน พอได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันก็จะเห็นได้เลยว่าความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาในเหตุการณ์มันสะท้อนความต้องการอะไรในจิตใจ เริ่มต้นจากการลงไปหาความรู้สึกนั้นของตัวเอง ค้นลงไปให้เจอความต้องการลึกๆ ของเราและใช้มันสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา

ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะถูกตอบโต้แบบใด สิ่งที่ไม่อาจต้านทานได้ยังคงเป็นความรู้สึกที่มี มันยังคงอยู่ร่วมกับความต้องการลึกๆ ในจิตใจ จนหลายครั้งถ้าเราไม่ได้เข้าไปทำงานกับมัน มันก็จะสร้างความเจ็บปวดภายใน แล้วค่อยๆ แสดงออกมาในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ทั้งหมดก็เพื่อแสดงความต้องการที่เราไม่เคยทำงานกับมันเลย


ความต้องการคือสิ่งสวยงาม

การกระทำ คำพูด แม้สร้างขึ้นมาจากความรู้สึกแย่ แต่เราสามารถตระหนักรู้และรับมันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเราได้ เราใช้ความรู้สึกเหล่านั้นค้นหาความต้องการที่แท้จริงข้างใน บางครั้งความอิจฉาริษยา อาจจะมีขึ้นมาเพื่อต้องการการเติมเต็มบางอย่าง ความรู้สึกโกรธแค้น ก็อาจจะมีขึ้นมาเพื่อให้เรากลับมาใส่ใจบางสิ่งที่มีคุณค่ากับเรา การมองเห็นและใส่ใจความต้องการไม่ว่ามันจะถูกตอบสนองความต้องการนั้นหรือไม่ มันก็ทำให้เราได้เห็นความเป็นเด็กน้อยในตัวเราที่ต้องการสื่อสารความรู้สึกนี้ให้โลกทั้งใบได้รับรู้

การลงไปเชื่อมต่อกับความต้องการดิบเดิมนี้ มันคือ Beautiful need คือการตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ที่อยู่ในตัวเราทุกคน การตระหนักรู้ถึงความต้องการตนเองทำให้เราเห็นความเป็นสากลว่าเราก็ไม่ต่างจากคนอื่น ยังต้องการความรัก ความอบอุ่น เอาใจใส่ และการยอมรับ บางคนก็สื่อสารความต้องการนั้นออกมาได้โดยตรง แต่กับบางคนอาจจะไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ยังต้องเข้าใจความรู้สึก เข้าใจความต้องการลึกๆ ของตัวเองก่อน

เราจะได้เรียนรู้ที่จะฟังความรู้สึกและความต้องการของอีกฝ่าย ขณะเดียวกันเราก็ต้องทำงานกับตัวเองเพื่อเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของตัวเอง ความสัมพันธ์ที่เราต้องมี ต้องพบเจอ ต้องสื่อสาร ความสัมพันธ์เหล่านี้ล้วนเป็นพื้นที่ฝึกฝนการทำงานกับตัวเองไปพร้อมๆ กับการเข้าใจอีกฝ่าย เพราะ NVC คือการสื่อสารความต้องการไม่ได้เป็นเพียงการสื่อสารมวลความรู้สึก แต่คือการสื่อสารให้เห็นถึงความต้องการที่แท้จริงภายใต้การกระทำและคำพูด


Role Switch: การสลับบทบาท

สิ่งที่น่าสนใจในการที่จะสัมพันธ์กับผู้อื่น เข้าใจให้ลึกลงไปถึงความต้องการของทั้งสองฝ่าย เราจะต้องฝึกฝนการมองความสัมพันธ์ในมุมมองบุคคลที่สาม (Third person) จินตนาการถอยออกมาจากมุมมองตนเองก่อน (มุมมองบุคคลที่หนึ่ง) เพื่อสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นและสร้างผลกระทบกับทั้งสองฝ่าย รับรู้ความรู้สึก และความต้องการที่ซ่อนอยู่ของทั้งคู่ในมุมมองคนนอก

เช่นเดียวกันกับกิจกรรมสลับบทบาทกันที่เปิดโอกาสให้ลองพลิกบทบาทการสื่อสารเพื่อให้เข้าใจกระบวนการทำงานของอีกฝ่ายมากขึ้น ซึ่งก็แตกต่างกันเมื่อทุกคนมีสถานภาพทางสังคมต่างกัน มีอำนาจบทบาทความรับผิดชอบมากน้อยต่างกัน ทั้งหมดหลอมรวมทุกคนให้มีความต้องการและการให้คุณค่าแตกต่างกันไป

ในกิจกรรมเรายังได้ได้สวมบทบาทเป็นสัตว์ทั้ง 4 ชนิดที่มีการแสดงออกแตกต่างกัน ได้แก่

หมาป่าหูออก         คนที่ตำหนิผู้อื่น
หมาป่าหูเข้า          คนที่ตำหนิตัวเอง
ยีราฟหูเข้า             คนที่เข้าใจความรู้สึกและความต้องการของตัวเอง
ยีราฟหูออก           คนที่ทำความเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของอีกฝ่าย

ทั้งหมดเป็นความเป็นไปได้ที่เกิดขึ้นจากการสื่อสาร บางครั้งเราเลือกใช้หมาป่าในสื่อสารการประชดประชัน จิกกัด หรือเข้าไปด่าทอเพื่อแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรง อาจทำให้อีกฝ่ายเข้าใจถึงความต้องการได้ในบางครั้ง แต่โดยปกติแล้วหมาป่ามักสร้างความเจ็บปวดให้กับอีกฝ่าย ไม่ก็สร้างให้กับตัวเอง กลับกันกับยีราฟที่มักเข้าอกเข้าใจความรู้สึกและความต้องการอยู่เสมอไม่ว่าเข้าใจตัวเองหรือเข้าใจอีกฝ่าย

ระหว่างกิจกรรมเราได้เล่นเป็นทั้ง 4 ชนิด แต่ละชนิดยากง่ายสลับกันไป ไม่ใช่อะไรจะดีกว่าอะไร ทุกการแสดงออกมีความต้องการแฝงอยู่ในตัวของมัน NVC พูดถึงเรื่องนี้เสมอ ทุกๆ คนสามารถแปลงร่างเป็นหมาป่าหรือยีราฟได้ตามสถานการณ์ในแบบที่ตัวเองเจอ


จริงแท้กับความต้องการ

สุดท้ายแม้ว่าความต้องการเหล่านั้นจะไม่ถูกตอบสนอง เราก็เรียนรู้ที่จะไว้อาลัยให้กับวิธีการที่ไม่สามารถพาเราไปให้ถึงความต้องการนั้นได้ ความต้องการเหล่านั้น เราไม่ได้ปล่อยมันให้หายไป การอาลัยอาวรถึงมันทำให้เราตระหนักได้อยู่เสมอว่ามันมีคุณค่ากับเราขนาดไหน

“ความรู้สึกเจ็บปวด หรือความรู้สึกอะไร มันช่วยตอกย้ำให้เห็นถึงสิ่งที่เขาต้องการได้”

ถึงแม้ Love in translation จะสามารถนำไปใช้งานเป็นเครื่องมือพัฒนาความสัมพันธ์คนใกล้ชิด สร้างความเข้าอกเข้าใจกัน มองคำพูดและการกระทำให้ลึกลงไปจนพบความต้องการของพวกเขา แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการมาเข้าร่วม Love in translation คือการแปลความรักที่เรามีต่อสิ่งใด ให้เป็นความต้องการที่เราจะตอบตนเองได้ แปลรักให้เป็นคุณค่าความหมายที่ผูกสัมพันธ์เราและสิ่งอื่นไว้ เป็นความต้องการในชีวิต และเจตจำนงในการเดินทางเพื่อที่จะเข้าใจจิตวิญญาณของตัวเองอย่างแท้จริง




____________________________________________________

สะท้อนประสบการณ์จากการเข้าร่วมอบรม
“แปลรักเป็นความ: เรียนรู้พื้นฐานการสื่อสารอย่างสันติในความสัมพันธ์ใกล้ชิด”