บทความโดย คณพล วงศ์วิเศษไพบูลย์
ไฟและควันไฟ เป็นเครื่องมือที่มนุษย์ใช้ในการสัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาช้านาน ในหลายวัฒนธรรมมีการใช้ไฟเพื่อเป็นสื่อกลางเพื่อเชื่อมต่อกับโลกที่พ้นไปจากโลกปรากฏที่เรามองเห็น บ้างก็มีการใช้ควันไฟเพื่อชำระความมัวหมองต่างๆ ให้กลับสู่ธรรมชาติดั้งเดิมคือความบริสุทธิ์
ในพุทธทิเบต มีบทปฏิบัติสำหรับการถวายควันมีหลายรูปแบบ ซึ่งหนึ่งในบทปฏิบัติที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายที่สุดคือ “ริโว ซังเฉอ” ซึ่งบทปฏิบัติที่เป็น “เตอร์มา” หรือ ธรรมสมบัติที่ถูกเก็บซ่อนไว้โดยคุรุรินโปเช และเมื่อถึงกาลอันเหมาะสมก็ได้ถูกเปิดออกและนำมาเผยแพร่แก่ผู้คน ธรรมาจารย์ที่ค้นพบธรรมสมบัตินี้นามว่า ลหาจุน นัมขา จิกเม บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ที่นำพาเอาพุทธธรรมเข้าไปงอกงามในดินแดนสิกขิม
ริโว ซังเฉอ มีความหมายว่า ภูเขาแห่งควันบูชา เป็นรูปแบบของการถวายควันที่กล่าวถึงการ “สั่งสมบุญและปัญญา” ผ่านการมอบเครื่องถวายบูชาอันวิจิตรผ่านควันไฟ ซึ่งตามธรรมเนียมแล้วจะเป็นควันที่เผาจากไม้มงคล สมุนไพร วัตถุขาวสามชนิด (โยเกิร์ต นม เนย) วัตถุรสหวานสามชนิด (น้ำตาล กากน้ำตาล น้ำผึ้ง)
ในการปฏิบัติบูชา ย่อมต้องมีแขกผู้รับเครื่องบูชาจากเรา ซึ่ง ริโว ซังเฉอ มีความพิเศษในแง่มุมนี้ เนื่องจากเป็นการถวายควันปูชาที่ไม่ได้เฉพาะเจาะจงให้แก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์องค์ใดองค์หนึ่ง แต่เป็นการถวายบูชาที่กว้างขวาง ซึ่งรวมเอาทุก beings เข้ามาเป็นแขกผู้รับการบูชาจากเรา ธรรมาจารย์ พักชก รินโปเช กล่าวถึงแขก 4 ประเภท ที่เราจะมอบถวายเครื่องบูชาให้ คือ
1. แขกผู้เป็นที่พึ่ง ได้แก่ พุทธะ ธรรมะ สังฆะ โพธิสัตว์ทั้งหลาย
2. แขกผู้เป็นธรรมบาล หรือ เทพผู้มีอำนาจปกปักคุ้มครอง
3. แขกผู้เป็นเจ้ากรรมนายเวร และ ผู้สร้างอุปสรรค
4. แขกผู้เป็นเป้าหมายแห่งความกรุณา คือ สรรพสัตว์ทุกภพภูมิ
ลำดับขั้นตอนการปฏิบัติ ริโว ซังเฉอ มีความชัดเจนและเรียบง่าย โดยฉบับที่นำมากล่าวถึงในข้อเขียนนี้เป็นฉบับที่เรียบเรียงโดยท่านดุจจอม รินโปเช เพื่อให้มีความกระชับและเหมาะต่อการปฏิบัติประจำวัน
ลำดับแรกก่อนที่จะเริ่มการถวายสิ่งบูชา เราจำเป็นจะต้องชำระสิ่งต่างๆ ให้บริสุทธิ์เสียก่อน ตั้งแต่ตัวของเราจนถึงเครื่องบูชาทั้งหมด ตัวบทปฏิบัติจะเริ่มด้วยบทรับศีลไตรสรณคมน์ ซึ่งตัวแทนของสิ่งที่เรารับเป็นที่พึ่งในการปฏิบัติ ริโว ซังเฉอ คือ คุรุรินโปเช ปาง เปมา เทรอเทรง เซล จากนั้นจึงเป็นการก่อเกิดโพธิจิต ตามด้วยบทแง่มุมทั้งเจ็ดแห่งการบูชา
จากนั้นจะเริ่มเข้าสู่การใช้จินตภาพเข้ามาประกอบการปฏิบัติ ซึ่ง อ.ดอน ได้อธิบายเอาไว้ในกิจกรรมปฏิบัติ ริโว ซังเฉอ ร่วมกัน ณ วัชรสิทธาว่า การใช้จินตภาพเป็นอุบายวิธีในการทำงานกับจิต ซึ่งเป็นจุดเด่นของพุทธศาสนาแบบมหายานและวัชรยาน เนื่องจากพุทธศาสนาทั้งสองรูปแบบนี้มองว่าสิ่งปรากฏต่างๆ ล้วนมาจากจิตของเราทั้งสิ้น การมอบถวายสิ่งบูชาจึงมีจุดเริ่มต้นที่จิตของเรา แม้หากไม่มีเครื่องถวายบูชาที่เป็นสิ่งของ แต่เราก็ยังสามารถใช้จินตภาพเพื่อมอบถวายด้วยศรัทธาได้
ในริโว ซังเฉอ เราจะจินตภาพถึง เปมา เทรอเทรง เซล (ปางหนึ่งของคุรุรินโปเช) ในฐานะองค์ประธานของการปฏิบัติ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการดำรงอยู่ในพุทธภาวะซึ่งมีคุณสมบัติต่างๆ อันบริสุทธิ์ และด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ เราจะทำการเสกชำระเครื่องบูชาทั้งหลายให้เป็นเครื่องบูชาอันบริสุทธิ์ด้วยมนตร์ พร้อมกับจินตภาพถึงพลังของพรจากเหล่าพุทธะที่ส่งมาถึงเครื่องบูชาของเรา
“จากความว่าง ปรากฏเป็นส่วนผสมทั้งหลายของเครื่องบูชาควัน แล้วแปรเปลี่ยนเป็นอมฤตแห่งปัญญา ปราศจากความไม่บริสุทธิ์ทั้งปวง จากสิ่งนี้เองก็ปรากฏมวลเมฆแห่งความยินดีทางอายตนะทั้งหลาย แผ่ไปจนเต็มอากาศทั้งหมด”
“วัตถุแห่งสมยะทั้งหลาย วัตถุแห่งความปรารถนาทางโลกทั้งหลาย ได้แปรเปลี่ยนเป็นอมฤตแห่งปัญญาด้วยการเสกของอักขระทั้งสาม (โอม อา ฮูง)”

ณ จุดนี้สิ่งบูชาทั้งหลายที่เราได้เตรียมไว้ก็ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งของธรรมดาทั่วไป แต่ได้กลายเป็นเครื่องบูชาที่ล้ำค่าในฐานะอมฤตแห่งปัญญา
หลังจากนี้ก็จะเข้าสู่ส่วนของการปฏิบัติที่เป็นการสาธยายบทถวายบูชา โดยเริ่มจากการมอบถวายแด่แขกกลุ่มต่างๆ นับตั้งแต่ พุทธะ คุรุ ยิตัม ฑากินี และธรรมบาล ขยายไปจนถึงมณฑลของเหล่าพุทธะทั้งสิบทิศ เทพยดาท้องถิ่น สรรพสัตว์ในหกภพภูมิ เจ้ากรรมนายเวรของเรา รวมไปถึงเหล่าผู้ที่หมายเอาชีวิตและตัดรอนพลังชีวิตของเรา
พักชก รินโปเช ได้ชี้แนะการวางใจยามที่เราปฏิบัติ ริโว ซังเฉอ ไว้ว่า “be inclusive!” หรือ รวมทุกอย่างเข้ามา เมื่อนึกถึงแขกกลุ่มที่สอง เราไม่เพียงแต่มอบเครื่องบูชาให้แก่ธรรมบาลในพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังมอบให้แก่เทพในความเชื่ออื่นๆ ด้วย ไม่เว้นว่าเป็น พระเจ้าแบบคริสต์ อิสลาม หรือ เทวดาท้องถิ่น “ในการทำริโว ซังเฉอ ไม่มีสิ่งใดที่ถูกกันออก ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งในฐานะแขกที่เข้ามารับเครื่องบูชาจากเรา นั่นรวมไปถึงสิ่งใดก็ตามที่มุ่งร้ายหรือต้องการทำร้ายเราด้วย มันจึงเป็นการปฏิบัติที่ทำให้เราเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนอยู่ร่วมกัน”
ดังเช่นที่ พักชก รินโปเช ได้กล่าวไว้ หนึ่งในคุณสมบัติที่ธรรมาจารย์หลายท่านกล่าวถึงการปฏิบัติ ริโว ซังเฉอ คือการปัดเป่าอุปสรรคต่างๆ ทั้งในระดับชีวิตประจำวันและการปฏิบัติภาวนา ซึ่งคุณสมบัตินี้สะท้อนอยู่ในการเชื้อเชิญเหล่าแขกที่อาจไม่ได้หวังดีกับตัวเรา แขกที่เราเป็นหนี้กรรม แล้วมอบเครื่องบูชาเดียวกันกับที่เรามอบให้พุทธะและเทพทั้งหลายแก่พวกเขาด้วยหัวใจเดียวกัน
“แด่ปีศาจผู้มุ่งร้าย ผู้ก่อความป่วยไข้และอุปสรรคอันเป็นโทษต่างๆ
สัญญาณร้ายในความฝันและนิมิตร้ายทุกประเภท
วิญญาณฝ่ายร้ายทั้งแปด ผู้เป็นเจ้าแห่งมายาการทั้งหลาย
อีกทั้งเหล่าผู้ที่ข้าฯ เป็นหนี้กรรมแห่งอาหาร สถานที่ และทรัพย์สมบัติ
แด่อำนาจทั้งหลายที่นำมาซึ่งอุปสรรคและความคลั่งบ้า แด่เงามืดแห่งบุรุษและสตรีผู้มรณา
แด่ภูติ ผี ผู้กินซากศพ ปีศาจสตรี ทั้งปวง”
การรวมเอา beings ทุกกลุ่มเข้ามาอยู่ในขอบข่ายของความปรารถนาดีของเรา ทั้งเทพต่างศาสนา ต่างความเชื่อ ไปจนถึงศัตรูผู้ปองร้าย ปีศาจ เจ้ากรรมนายเวร รวมถึงความผิดพลาดทั้งหลายในอดีตของเราเข้ามา แล้วมอบเครื่องบูชาที่ดีที่สุดให้แก่พวกเขาทั้งหมดอย่างเท่าเทียม เป็นความงดงามและความพิเศษของการปฏิบัติ ริโว ซังเฉอ ที่พาให้เราเปิดหัวใจออก ขยายขอบของความตระหนักรู้ เพื่อสัมพันธ์กับทุกสิ่งด้วยโพธิจิต
จากนั้นจึงเข้าสู่ช่วงของบทสรุปผลของการถวายบูชา จุดนี้ก็เป็นส่วนที่สำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าเป้าหมายของการบูชา ไม่ได้เป็นการตอบสนองทางวัตถุหรือการปรนเปรอด้วยมุมมองแบบมีเงื่อนไข ทว่าเป็นการมอบความรักที่ไร้เงื่อนไขให้กับทุกสิ่ง เป็นความปรารถนาดีที่ต้องการให้ทุกหมู่เหล่าบรรลุถึงพุทธภาวะภายใน ผ่านควันบูชาอันเป็นพรแห่งพุทธะ
“สังสารวัฏปลดเปลื้องสู่นิพพาน เนื้อแท้แห่งอมฤตอันไร้มลทินนี้
ข้าฯ อุทิศแก่ผู้ซึ่ง – นับตั้งแต่แรกแห่งกาลเวลา จนกระทั่งปัจจุบัน
ได้เคยเป็นแขกของข้าฯ ในโลกสังสาร
ขอจงลุถึงคุณสมบัติอันประเสริฐแห่งภูมิ มรรค และผล
และจงขจัดอุปสรรคทั้งปวง แห่งทรรศนะ ภาวนา และการกระทำ
… ขอสรรพสัตว์จงลุถึงพุทธภาวะในข่ายดอกบัวแห่งแดนอกนิษฐะ”
ตลอดการปฏิบัติถวายควันบูชานี้ เราจะเห็นได้ว่าตัวบทปฏิบัติมีใจความอยู่ที่การเปิดใจออกและการมอบถวายสิ่งดีงามให้แก่ทุกสิ่ง ทั้งสิ่งที่เป็นที่พึ่ง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ สรรพสัตว์ และสิ่งที่สร้างอุปสรรคต่างๆ ให้กับเรา เราไม่ได้เริ่มปฏิบัติด้วยการกีดกันสิ่งใดออกหรือพยายามที่จะกำจัดสิ่งใดออกไป แต่ด้วยทิศทางของความเปิดกว้าง ความกรุณาอันไร้เงื่อนไข และความรักที่ปราศจากเขตแดน เราย่อมสัมผัสได้ถึงความเป็นมิตรที่เริ่มจากตัวเราเอง และนั่นก็อาจนำไปสู่การปัดเป่าอุปสรรคนานาในชีวิต
บทปฏิบัติในลำดับสุดท้ายของ ริโว ซังเฉอ คือการอุทิศกุศลจากทานที่เราได้กระทำ ซึ่งเราจะอุทิศให้แก่สรรพสัตว์ทุกชีวิตที่ยังว่ายเวียนในสังสารวัฏ เพื่อให้พวกเขาทั้งหมดได้หลุดพ้นจากอวิชชา สู่ความรู้แจ้ง
“ด้วยกำลังแห่งทานอันไพศาลนี้
ขอเราจงลุถึงพุทธภาวะโดยธรรมชาติ เพื่อประโยชน์ของสรรพสัตว์!
…
ด้วยกุศลนี้ ขอสรรพสัตว์
บรรลุผลสมบูรณ์ในการสั่งสมบุญและปัญญา
และจากบุญและปัญญานี้
ขอพวกเขาจงลุถึงกายทั้งสอง!
ไม่ด่างพร้อยในความอุตสาหะและความพยายาม
…
ขอข้าฯ จงเติมเต็มความหวังของสรรพสัตว์
และขอทั้งหมดจงเป็นสิริมงคลเพื่อการบรรลุความปรารถนาของพวกเขาเทอญ!”