บทความ โดย KHANOON วัชรสิทธา
ช่วง 10 ปีก่อนหน้า โรคซึมเศร้าไม่ได้เป็นที่รู้จักในหมู่คนทั่วไปนัก เราสิ้นหวัง หลงทาง แปลกแยก ไม่รู้ว่าทำไมตนเองไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างคนอื่น ข่าวการเสียชีวิตของนักร้องไทย นักแสดงที่มีชื่อเสียงระดับโลก ศิลปินเกาหลีทำให้ความไม่รู้ประกอบเป็นรูปร่างชัดเจน…
ใช่แล้วล่ะ คุณเป็นโรคซึมเศร้า
คนที่เป็นโรคนี้บ้างก็มีการงานที่ดี บ้างก็เป็นที่รักของคนรอบข้าง บ้างก็ไม่ได้มาจากครอบครัวฐานะย่ำแย่ แต่เราไม่รู้เลยว่าภายใต้ใบหน้าสดใสร่าเริง ภายใต้ฉากหน้า ที่สังคมให้คุณค่า ซุกซ่อนปัญหาอะไรไว้บ้าง
อำนาจกดทับ
ตอนเป็นเด็ก เราเคยได้ยินข่าวทำนองว่า ‘ความเจริญจะทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้น’ เราสามารถเดินทางข้ามประเทศได้ในราคาที่จับต้องได้กว่าเดิม เราสามารถติดต่อกันได้ง่ายๆ เพียงแค่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต ผู้คนอายุยืนขึ้น มีวิธีมากมายต่อสู้กับโรคภัยต่างๆ สงครามและความตายไกลตัวออกไป
เมื่อโตขึ้น การพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งแทนที่จะให้ชีวิตที่ดี กลับบีบคั้นให้เราวิ่งบนสายพานไปเรื่อยๆ คุณต้องเร็วกว่านี้หากไม่อยากตกขบวน คุณหาวิธีโพสต์คอนเทนต์ให้ผู้คนมองเห็น คุณต้องมีทักษะติดตัวหลายอย่างเพื่อให้ได้งานมา เราใช้ชีวิตเพื่อรับใช้ค่านิยมของสังคมเสมือนตัวเองไม่ใช่เจ้าของชีวิต เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่เราจะรู้สึกไร้อำนาจในการกำหนด ตัดสินใจทางเดินของตน และตกสู่ความสิ้นหวัง
ตัวตนของเราเล็กลงจนเหมือนจะหายไป ถึงตัวตนเล็กจ้อยจะหายไปก็ไม่ได้ทำให้โครงสร้างสังคมสั่นคลอน นั่นหมายความว่ามันมีอะไรที่ใหญ่กว่าตัวเรา และส่งผลกระทบต่อชีวิตทั้งหมดภายใต้โครงสร้างนั้น เพราะความซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล ในทุกครั้งที่มีคนดังฆ่าตัวตาย มันจึงสร้างแรงกระเพื่อมกลับไปที่สังคมให้ตื่นตัว ตั้งคำถามว่าเรากำลังอยู่ในระบบที่ผลักผู้คนไปสู่จุดจบรึเปล่า
บรรยากาศการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยคงทำให้หลายคนรู้สึกสิ้นหวังกับประเทศจนอยากจะหนีออกไปซะ ประกาศนโยบายรัฐไม่ได้สนับสนุนความเป็นอยู่ของประชาชน แต่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจ เศรษฐกิจแบบผูกขาดไม่อนุญาตให้คนตัวเล็กๆ ลืมตาอ้าปาก ระบบการศึกษาที่ขยันด้อยค่าผู้เรียน หวังผลิตแรงงานให้ออกมาในพิมพ์เดียวกัน หลายคนต้องละทิ้งความฝันเพื่อปากท้อง หรือไม่มีสวัสดิการอะไรรองรับเขาในจุดพลิกผันของชีวิต ตัวอย่างเหล่านี้คือความเป็นปกติของสังคมจนเราไม่รู้ตัวว่ามันคือ ‘ความไม่ปกติ’
ถ้าเราไม่ตระหนักถึงโครงสร้าง คำพูดแนว ‘อ่อนแอก็แพ้ไป’ จะถูกใช้กีดกันคนออกจากสังคมที่ล้มเหลวแห่งนี้ต่อไป และคนพูดก็ไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจากคนตัวเล็กๆ ซึ่งต่างถูกกดทับจากระบบ เพียงแต่รู้จักเอาตัวรอดโดยหลอมรวมเป็นหนึ่งกับมัน
ตัดขาดจากอำนาจ
ในสภาวะที่โครงสร้างใหญ่ไม่สามารถพึ่งพิงได้ แถมยากจะเปลี่ยนแปลง กระทั่งหน่วยย่อยอย่างครอบครัว มิตรสหาย และผู้ใหญ่ที่เคารพก็อาจไม่เข้าใจ แล้วเริ่มผลักปัญหาเชิงโครงสร้างให้เป็นภาระของปัจเจก ถ้อยคำแนะนำ และให้กำลังใจอย่าง ‘อย่าคิดมากสิ’ ‘ทำตัวให้เข้มแข็งเข้าไว้’ ‘เดี๋ยวมันก็ผ่านไป’ ล้วนทำให้ผู้เป็นโรคซึมเศร้ายิ่งรู้สึกโดดเดี่ยว
เมื่อไม่มีหน่วยใดเกื้อหนุนเขาให้ออกจากความทุกข์ได้ มิหนำซ้ำยังรุมกระหน่ำซ้ำเติมอยู่อย่างนั้นเพราะพวกเราล้วนเป็นผลผลิตจากระบบกล่อมเกลาทางสังคม หนทางเดียวที่ช่วยเหลือตัวเองจึงเป็นการแยกขาด ‘ตัวเอง’ จาก ‘ระบบ’ ซึ่งสร้างทุกข์ใหญ่หลวงให้กับเขา
วิธีที่ดูเหมือน ‘ทางออก’ จริงๆ แล้วกลับพาเจ้าตัวไปสู่ความสิ้นหวังลึกกว่าเดิม อาการของโรคซึมเศร้านอกจากหมดแรง เบื่อหน่ายชีวิต เศร้าเสมอ ในระดับร่างกายคุณจะเริ่มอ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง จดจ่ออะไรได้ยากกว่าเดิม หลงลืมได้ง่าย นึกอะไรหลายอย่างไม่ค่อยออก คุณไม่สามารถเชื่อมคำให้เป็นประโยค คุณไม่สามารถเชื่อมโยงคำที่เห็นกับคลังคำศัพท์ในความทรงจำ ทั้งที่รู้ว่าทั้งหมดไม่ได้หายไปไหน
ในทางเดียวกัน เราไม่สามารถเชื่อมโยงตนเองกับคุณค่าของสังคม รวมถึงอำนาจในมือที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ทั้งเพศ เชื้อชาติ สมาชิกครอบครัว ฐานะทางบ้าน และอำนาจซึ่งได้มาเมื่อโตขึ้น หน้าที่การงาน ทักษะอาชีพ ชื่อเสียง เงินทอง การศึกษา การเข้าถึงการรักษา สังคมแวดล้อม ที่อยู่อาศัย เครือข่ายความสัมพันธ์ เราอาจมีพรั่งพร้อมทุกอย่าง แต่เราก็ยังฆ่าตัวตาย เราไม่ได้ลำบากยากจน กระนั้นทางออกในท้ายที่สุดกลับยังเป็นความตาย
เชื่อมต่อกับอำนาจภายใน
สังคมเชื่อมโยงกับการฆ่าตัวตายในฐานะ ‘สิ่งที่ไม่ควรทำ’ ‘บาปหนัก’ ไม่ก็คำรำพึงว่า ‘ไม่น่าเลย’ สำหรับคนที่ยังเชื่อมโยงกับทุกๆ สิ่งที่ตนมี และสามารถหยิบมันมาใช้งานได้ ไม่ว่ายังไงก็จะมองว่าการมีชีวิตอยู่ย่อมดีกว่า เพราะมันคือเรื่องถูกต้องตามครรลอง ไม่ใช่ด้วยมุมมอง ‘เดี๋ยวทุกอย่างก็จะผ่านไปด้วยดี’
สำหรับหลายคน ความตายถูกใช้หนทางปลดปล่อยตัวเองจากความสิ้นหวัง อาจจะฟังดูแปลกที่จะบอกว่าความคิด ‘อยากตาย’ จริงๆ แล้วก็คือ ‘ความหวัง’
เราหวังว่าความเจ็บปวดนี้จะสิ้นสุดลง เราหวังว่าจะได้มีชีวิตที่ไม่เจ็บปวดขนาดนี้อีกต่อไป ในความไร้ที่ทางบนโลกใบนี้ ในที่สุดเราก็มีสิทธิกำหนดที่ไปของตัวเอง แต่เพราะมันเป็นความคิด เป็นการกระทำที่สังคมไม่ยอมรับ ดังนั้นมนุษย์ซึมเศร้าจึงถูกทำให้ตัดขาดจากความหวังซึ่งอาจเป็นแสงสว่างหนึ่งเดียวในเวลาดังกล่าว ส่งผลให้กว่าจะไปถึงการตัดสินใจจบชีวิตทุกข์แสนสาหัสไม่ต่างกับการทนมีชีวิตอยู่
การขอให้คนที่อยากตายมีชีวิตอยู่นั้นหนักหนาเกินไป ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถอนุญาตให้เขาตายได้อย่างที่หวัง ผู้ดูแล และคนรอบข้างผู้เจ็บป่วยทางใจจึงอยู่ในสถานการณ์อิหลักอิเหลื่อ เราคิดว่าหน้าที่สำคัญคือการพาเขาออกจากความทุกข์ แม้รู้ดีว่าไม่มีใครสามารถจับจูงมือใครเดินไปได้ตลอดกาล
สิ่งที่เราพอจะช่วยได้ในฐานะคนใกล้ชิดอาจเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เขาเชื่อมโยงกับ ‘ความหวัง’ ซึ่งมาในรูปลักษณ์น่ากลัวตามความเข้าใจทั่วไป และชี้ให้เขาเห็นว่าเนื้อแท้ของความอยากตายคือการมีความหวังอย่างถึงที่สุดต่อชีวิต
ในภาวะขาดการเชื่อมต่อจากความซึมเศร้า คนที่ ‘เป็นอื่น’ ในสังคมยิ่งรู้สึกว่าไม่มีอะไรช่วยเขาได้อีกแล้ว อีกทั้งการศึกษาไทยยังไม่ช่วยให้มนุษย์เข้าถึงคุณค่าภายในตนเอง นอกจากการเรียนได้เกรดสูงๆ ความประพฤติดีเด่น เรากลายเป็นคนติดความสมบูรณ์แบบ ยึดติดอยู่กับคุณค่าภายนอกซึ่งไม่ได้ชุบชูจิตวิญญาณข้างในอย่างแท้จริง การพลิกเปลี่ยนมุมมองอันเต็มไปด้วยความสิ้นหวังไปสู่การเห็นความหวังถึงไม่ง่ายเลยสำหรับคนซึมเศร้า
เมื่ออำนาจภายนอก (เช่น เงิน กัลยาณมิตร) ไม่สามารถช่วยเราได้ และเราก็หาทางออกให้ตัวเองไม่เจอ การกลับมารับรู้ว่าเรามี ‘อำนาจภายใน’ หรือความหวังนี้อยู่ เพียงพอให้เราดำรงลมหายใจต่อไป
แม้ชีวิตจะยาก แต่คุณยังมีชีวิตอยู่ล่ะ
“เธอเก่งมากๆ เลยนะที่อยู่มาได้ถึงตอนนี้”
การมีความหวังไม่ได้ทำให้โครงสร้างบิดเบี้ยวได้รับการแก้ไข ถึงอย่างนั้นการบอกให้คนที่เพิ่งมีเรี่ยวแรงใช้ชีวิตไปจัดการกับปัญหาเพื่อจบวงจรความทุกข์ก็ดูสิ้นคิดไปหน่อย อำนาจภายในเพียงแค่ทำให้เรา ‘อยู่’ กับความบัดซบต่างๆ นานาได้มากขึ้น พูดเหมือนจะง่าย เอาเข้าจริงการอยู่เฉยๆ กับความทุกข์น่ะโคตรยากเลย!
แค่กับทุกข์เล็กน้อย เรายังเหม็นขี้หน้ามัน ไม่ต้องพูดถึงคนมีความทุกข์เข้มข้นอยู่ในทุกลมหายใจ การตระหนักถึงความหวังในสภาวะเปราะบางของการเลือกว่าจะ ‘อยู่’ หรือ ‘ตาย’ บ่อยเข้ากลายเป็นการบ่มเพาะความเข้มแข็งทางใจโดยไม่รู้ตัว ด้วยพลังของการ ‘อยู่’ ทำให้ความมืดมิดข้างหน้าเปิดออกเป็นทาง คุณสามารถเลือกได้ว่าจะเดินไปทางไหน
สำหรับบางคน ประสบการณ์แห่งทุกข์มหันต์สร้างแรงบันดาลใจในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์จากการถูกกดทับ บางคนเลือกต่อสู้กับโครงสร้างอำนาจที่ไม่ตอบโจทย์ชีวิตปัจจุบัน บางคนขอแค่ยังมีชีวิตอยู่ คนรอบข้างก็ดีใจจะแย่แล้ว แม้แต่คนที่ตัดสินใจเดินทางไปยังโลกหน้า พวกเขายังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
ไม่ว่าทางใดที่เธอเลือกเพื่ออยู่ในสังคมเฮงซวยนี้
ฉันหวังว่าเธอจะไม่ต้องเจ็บปวดเกินไปจนทนไม่ไหว
ขอบคุณนะที่ยังคงมีความหวังเสมอมา