Hrī: dakini space มวลพลังที่ร่ายรำอยู่ในความว่าง

บทความโดย THANYA วัชรสิทธา

ผ่านมาประมาณสามเดือนกับการย้ายบ้านของวัชรสิทธา พื้นที่ชั้นสามตึกหัวมุมถนนย่านเทเวศร์แห่งนี้ก็ได้ต้อนรับทั้งสมาชิกเก่าและใหม่ที่แวะเวียนเข้ามา

ความ “ดิบเถื่อน” (จากที่หลายๆคนรีวิว) ของสถานที่ที่เคยเป็นบาร์เบียร์ ก็ค่อยๆ กลมกล่อมขึ้น ด้วยชีวิตชีวาที่ผู้คนนำมามอบให้

วัชรสิทธาใหม่อันกว้างขวางนี้ มีทั้งห้องกิจกรรมหลักหรือ main shrine ห้องกิจกรรมเล็ก ห้องออฟฟิศผสมร้านหนังสือ และโซนแคนทีนเล็กๆ ริมหน้าต่าง ซึ่งก็ครบถ้วนสำหรับพื้นที่จัดคอร์สเรียนและกิจกรรมทางจิตวิญญาณ แต่กระนั้น ยังเหลือพื้นที่ว่างขนาดใหญ่ที่แทบยังไม่ได้ใช้ทำอะไรเลยตั้งแต่ย้ายมา นั่นคือ ห้องใหญ่สุดใจกลางชั้นสาม ที่ขึ้นบันไดมาก็จะเจอเป็นห้องแรก 

ใครที่เดินเข้ามาวัชรสิทธา ก็จะเจอกับการต้อนรับด้วยความว่างของห้องหรีะนี่เอง 

ด้วยอะไรหลายๆ อย่างของห้องหรีะ อาจทำให้หลายคนเหวอๆ เมื่อแรกสัมผัส ไม่ว่าจะด้วยความโล่ง บรรยากาศอันลี้ลับของห้อง และแทบจะทุกคน มักจะเกิดคำถามว่า ห้องนี้ไว้ทำอะไร? (ไปจนถึงชื่อห้องนี้อ่านออกเสียงว่ายังไง?)

ความเหวอๆ ทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้จะสัมพันธ์ด้วยยังไง นั่นเองคือปฏิกิริยาเดียวกันเวลาเราสัมพันธ์กับความว่าง…

“เราคิดว่า หัวใจของห้องหรีะก็คือความว่าง ซึ่งจะว่าไป ตำแหน่งของห้องนี้ในพื้นที่วัชรสิทธาทั้งหมดนั้นน่าสนใจทีเดียว เวลาเราเข้ามาในพื้นที่ทางจิตวิญญาณ บ่อยครั้งเราขึ้นมาปุ๊บก็เจอกับความอลังการ เจอกับ shrine room ที่ตกแต่งวิจิตรพิสดาร เจอกับพระพุทธรูปใหญ่โต เจอกับอะไรที่มันแสดงถึงอัตลักษณ์อันโดดเด่นของสถานที่…

แต่พอเราขึ้นมาที่วัชรสิทธาเทเวศร์ สิ่งที่เราเจอ.. สิ่งแรก.. ห้องแรกเลย (หัวเราะ) ก็คือความว่าง” 

ด้วยความบังเอิญของพื้นที่ ทำให้สถานที่ทางจิตวิญญาณแห่งนี้มีใจกลางเป็นความว่าง เป็น unknown ซึ่งถ้ามองจากมุมแบบวัชรยานแล้ว มันก็ดูไปกันได้ดีทีเดียวกับการมีอยู่ของความว่างนี้ในฐานะใจกลางของมณฑล

เวลาเราเข้าไปสัมพันธ์กับความว่าง เราจะเกิดความรู้สึกไม่มั่นคง ความไม่รู้ ควบคุมไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ภายในความ unknown นี้ก็เต็มไปด้วยศักยภาพและความเป็นไปได้มากมายที่รอให้เราค้นพบ ในห้องกว้างสีดำยามค่ำคืน ไฟถนนที่สาดส่องเข้ามา ผ่านกระจกหน้าต่างสีขุ่น กระจกสลับสีตรงผนังห้องอีกด้านหนึ่ง และมุมต่างๆ ที่เต็มไปด้วย contrast ภายใน ทำให้เราเห็นความเป็นไปได้แห่งพลังการสร้างสรรค์ในห้องว่างนี้

“เราปล่อยให้มันว่างไว้ก่อน และชวนคนมาดูและสัมผัสพื้นที่ ว่าเขามีจินตนาการอะไรที่อยากทำให้เกิดขึ้นบ้าง เราก็เหมือนกับช่วยเขา เป็นเหมือนหมอตำแยทำคลอด ให้เขาสามารถทำมันออกมา แล้วให้คนมาดู มาร่วมรับรับรูั เหมือนเป็นโอกาสได้มาร่วมในจินตนาการนั้นกับคนที่สร้างสรรค์งาน”

“หรีะ” Hrī : dakini space

ความลี้ลับอีกอันหนึ่งคือชื่อของห้อง “หรีะ” การสะกดที่ไม่คุ้นตาในภาษาไทย ความหมายของคำห้อยท้าย ทั้งหมดนี้มีที่มาที่น่าสนใจมาก จากเรื่องราวที่พี่ตั้ม วิจักขณ์ พานิช เล่าให้เราฟัง 

ก่อนจะไปต่อ ลองอ่านชื่อห้อง หรีะ — ให้ออกเสียง หะ-รี (หิ) แบบเร็วๆ [ อ.ตุล บอกว่า สระ ะ ตัวสุดท้ายคือเสียงลม (หิ) ]  

ที่มาของชื่อนี้ เริ่มต้นจากการที่พี่ตั้มเข้าไปสัมพันธ์กับพื้นที่ว่างในห้อง

“..ระหว่างที่ถูพื้นช่วงเตรียมงานเปิดบ้าน ก็เริ่มใคร่ครวญถึงไอเดียต่างๆ เรารู้สึกกับสถานที่ กับพื้นที่ตรงนี้ ว่าจริงๆ การที่เป็นห้องว่างแบบนี้ มันเป็นคุณลักษณะที่ดี มันเปิดต่อ possibility ใหม่ๆ เป็น unknown เป็นสิ่งที่เรายังคาดเดาไม่ได้”

อีกทั้งช่วงนั้นยังเป็นช่วงที่วัชรสิทธาได้สัมผัสกับพลังความเป็นหญิงจากกิจกรรมที่จัดขึ้นสามสี่กิจกรรมต่อๆ กัน และจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นรอบๆ ทำให้พี่ตั้มนึกถึงคำหนึ่งในพุทธศาสนาทิเบต นั่นคือคำว่า dakini หรือที่เรียกกันในภาษาไทยว่า ฑากิณี ซึ่งหมายถึงพลังการตื่นรู้ของความเป็นหญิง 

พลังงานฑากิณี represent การตื่นรู้แบบหญิง ซึ่งเป็นความพิเศษอย่างหนึ่งของพุทธศาสนาแบบทิเบตที่ไม่มีในพุทธสายอื่น สมมติอย่างในศาสนาพุทธบ้านเรา จะค่อนข้างผูกยึดอยู่กับแนวคิดเพศชายอย่างเหนี่ยวแน่น การจะบวชเพื่อตรัสรู้ได้ก็ต้องเป็นผู้ชาย (ผู้หญิงที่บวชเป็นภิกษุณีก็มีบ้างแต่ยากมากคูณสิบ และก็ต้องอยู่ใต้กรอบคิดความเป็นชายอยู่ดี) ต้องใช้คุณสมบัติความเป็นชายเพื่อไปสู่การหลุดพ้น ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมตัวเอง ตัดเรื่องอารมณ์ความรู้สึก ต้องมั่นคง แน่นอน ชัดเจน ในขณะที่พลังงานฑากิณี คือการตื่นรู้ที่ฉับพลัน โกลาหล ไร้หลัก ควบคุมไม่ได้ เป็นเหมือนพลังที่กระโจนโลดเต้นในพื้นที่เวิ้งว้าง ไพศาล เหมือนการประสานของสีสันและพลังงานให้ออกมาแสดงตน เลื่อนไหล ร่ายรำ อย่างเป็นอิสระ

เมื่อผสมความว่างของห้อง ความเปิดกว้างต่อการสร้างสรรค์ศิลปะ พลังงานของความเป็นหญิงที่วัชรสิทธากำลังทำงานด้วย พอนึกถึงคำว่า dakini ก็ดูจะเข้ากันได้ลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ แต่ความน่าสนใจยังไม่จบเพียงเท่านี้ 

“พอคิดถึงคำว่า dakini ตอนแรกก็คิดถึงตัว ฑ นางมณโฑ แทนท ทหาร ซึ่งพอมันเป็น ฑ นางมณโฑ มันก็น่าสนใจ เพราะ ตัว ฑ นางมณโฑในภาษาไทย ก็เป็นผู้หญิง เป็นนาง ถ้าเป็น ท ทหารมันก็เป็นผู้ชายถูกมั้ย ซึ่งก็คิดเล่นๆ ว่า ถ้าเราใช้คำว่า ฑากิณี บ่อยๆ จนเวลา ฑ นางมณโฑ กลายเป็น ฑ ฑากิณี ที่ทำให้ระลึกนึกถึงพลังความเป็นหญิง ก็น่าจะดี (ยิ้ม)”

พอได้ไอเดียเรื่อง ฑ นางมณโท พี่ตั้มก็คิดว่าจะใช้อันนี้เป็นโลโก้ห้องเลยดีมั้ย พอได้ลองไปค้นๆ สัญลักษณ์ต่างๆ ที่อาจจะนำมาใช้เป็นโลโก้ได้ ก็ไปเจอกับคำว่า seed syllable “hrih” ซึ่งเป็นพยางค์ต้น หรืออักขระอันศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในการท่องมนตร์ คล้ายๆ อักขระ โอม อา หูม ที่เราคุ้นเคย

ความพิเศษของอักขระ “หรีะ” คือสัญลักษณ์สันสกฤตดั้งเดิมมีลักษณะคล้ายๆ กับตัว ฑ นางมณโฑ ด้วย! โลโก้ของห้องหรีะตอนนี้ ก็คือตัวอักขระพยางค์ต้นนั้นนั่นเอง เมื่อเขียนเป็นชื่อภาษาไทยถอดมาจากรูปเขียนภาษาสันสกฤต จึงได้ออกมาเป็น “หรีะ” แบบที่เราเห็น

นี่ก็เป็นที่มาของชื่อห้องหรีะ หรือชื่อเต็มๆ ว่า Hrī : dakini space , หรีะ : มณฑลฑากิณี”

พื้นที่ว่าง ชื่อ และพลังงานของห้องหรีะ สอดคล้องลงตัวด้วยความบังเอิญเกินไป จนไม่น่าเชื่อว่าเป็นความบังเอิญ …หรือนี่จะเป็นการเผยแสดงของ dakini โดยมีพี่ตั้มคนถูพื้นเป็นผู้รับพลังและถ่ายทอดออกมา!


พื้นที่ว่างที่พร้อมรับการร่ายรำของความสร้างสรรค์

“คำว่า dakini ในภาษาอังกฤษจะแปลความหมายออกมาว่า sky dancer ผู้ร่ายรำในท้องฟ้า หรือการร่ายรำในความว่างนั่นเอง ในความว่างมีพื้นที่ให้กับการร่ายรำของพลังงาน และจริงๆ แล้วเป็นที่ก่อกำเนิดพลังชีวิตเหล่านั้นด้วย พลังชีวิตที่เราไม่อาจควบคุมได้ ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ใหม่ๆ self- liberate ตัวมันเองในความว่าง ถ้าเราไม่ไปจำกัดมัน หรือพยายามทำให้มันเชื่อง

พลังงานเหล่านี้สามารถที่จะทำงานร่วมกันกับความว่าง เกิดเป็นรูป เกิดเป็นสีสัน เกิดการร่ายรำ เกิดเป็นการแสดงตนในรูปแบบต่างๆ …และนี่แหละคือชีวิต เรามองว่า ชีวิตแบบนี้คือศิลปะโดยตัวมันเอง และนี่คือความตั้งใจของห้องหรีะ” 

ห้องว่างกลางวัชรสิทธาเป็นท้องฟ้าว่าง ที่มีพลังงาน dakini ร่ายรำ เชื้อเชิญให้ใครก็ตามที่เข้ามาสัมพันธ์และร่วมสร้างสรรค์ “ชีวิต” ไปกับจิตวิญญาณของห้อง ได้มองเห็นเส้นขอบฟ้าของชีวิตที่กว้างขึ้น ไม่ว่าจะในงานแสดงดนตรี งานแสดงศิลปะ movement exhibition งานร่ายบทกวี ฯลฯ

ทว่ายังมีความบังเอิญสุดท้าย (ที่ก็เลิกคิดแล้วว่ามันเป็นความบังเอิญ) เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา มีการแสดงดนตรี ซึ่งถือเป็นการจัดงานครัังแรกของห้องหรีะ งานเปิดห้องนี้ มีชื่อว่า “เปิดฟ้า” แสดงโดย ฟ้า ศาลศิลป์

ชื่อ “เปิดฟ้า” ก็มาจากไอเดียง่ายๆ ว่านี่เป็นการแสดงดนตรีที่ฟ้าออกแบบด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก และห้องหรีะก็เปิดใช้เป็นครั้งแรกด้วยเช่นกัน แต่ที่ดูจะโคตรบังเอิญก็คือ ชื่องานยังสามารถเชื่อมโยงถึง sky dancer ในความหมายของพื้นที่ว่างที่ฑากิณีกำลังร่ายรำได้ด้วย!

การเดินทางของ Hrī : dakini space เพิ่งเริ่มต้น พวกเราที่อยู่ที่นี่ก็เฝ้าคอยว่าความว่างนี้จะให้กำเนิดอะไรต่อไปอีกในภายภาคหน้า วัชรสิทธาเองก็กำลังเดินทางไปในความเวิ้งว้างของ unknown นี้เช่นเดียวกัน 

แต่นั่นไม่ใช่ธรรมชาติที่แท้ของชีวิต และเส้นทางจิตวิญญาณของเราทุกคนหรอกหรือ…