บทความโดย THANYA วัชรสิทธา
“การหลุดพ้นแบบเวทานตะไม่ใช่ Becoming แต่คือ Self Realization”
– อ.ตุล คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
หลังจากเข้าร่วมกิจกรรม เวทานตะ: ค้นพบสัจธรรมในตน การได้เรียนเนื้อหาปรัชญาอินเดียและแนวคิดเวทานตะอย่างเข้มข้นมาตลอดระยะเวลา 2 วัน ในฐานะผู้เรียนก็เหมือนจะเข้าใจอะไรบางอย่าง และเมื่อ อ.ตุลกล่าวประโยคข้างต้น ทันใดนั้นก็เกิดโมเมนต์แห่งการสว่างวาบ ได้ยินเสียงระฆังกังวานเป็นซาวนด์เอฟเฟกต์ กำลังนั่งง่วงๆอยู่ก็ตาสว่างตื่นขึ้นมาในวินาทีนั้น
จากการได้เข้าร่วมแทบทุกกิจกรรมของวัชรสิทธาในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ก็เริ่มสังเกตได้ว่า ความจริงแล้วทุกคอร์ส ก็กำลังพูดเรื่องเดียวกันในวิธีที่ต่างกัน ยิ่งเรียนก็ยิ่งมายืนยันข้อสังเกตนี้ แถมเนื้อหาแต่ละคอร์สที่เรียงต่อกัน ยังเชื่อมโยงกันลงตัวอย่างน่าตกใจ พอไปถามพี่ตั้ม วิจักขณ์ พานิช ว่าตั้งใจใช่ไหมคะ พี่ตั้มตอบกลับมาด้วยการหัวเราะและส่ายหัว (แต่เราก็ยังมีข้อสงสัยนี้เสมอเพราะความลงตัวนี้เกินกว่าจะใช้คำว่าบังเอิญไปมาก)
ยิ่งเมื่อเรียนเวทานตะ ก็ยิ่งทำให้ภาพกระจ่างชัดขึ้นไปอีก
ปรัชญาอินเดีย
อ.ตุลเกริ่นไว้ตั้งแต่เปิดชั้นเรียน ว่านี่เป็นห้องเรียนเวทานตะแรกที่เปิดสอน ดังนั้นผู้เข้าเรียนทุกคนถือว่าเป็นนักเรียนทดลองรุ่นแรก และไม่รู้เหมือนกันว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ถือว่าทุกคนร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน จากนั้นก็พาเราตะลุยปรัชญาอินเดีย ซึ่งเต็มไปด้วยเนื้อหาความรู้ แนวคิดและรายละเอียดมากมาย รุ่มรวยสมกับเป็นอินเดีย
ลักษณะเด่นของปรัชญาอินเดียคือเป็นปรัชญาชีวิต เน้นการครุ่นคิดถึงชีวิต ความหมาย ความจริงแท้ การหลุดพ้นจากสังสารวัฏ และนำเสนอแนวทางปฏิบัติในชีวิต ทำให้ปรัชญาอินเดียเกี่ยวพันกับศาสนาเหนียวแน่น เป็นปรัชญาที่อยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน และด้วยเหตุนี้ แนวคิดปรัชญาอินเดียจึงเป็นในรูปแบบสำนัก (Philosophical School) ที่มีคัมภีร์ คำสอน คอนเซ็ปต์ และแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ สำนักโยคะมีคำสอนเกี่ยวกับความจริงของโลกมีสองสิ่งคือ ไม่นับถือเทพเจ้า และเน้นการปฏิบัติโยคะเพื่อหลุดพ้น สำนักพุทธมีคำสอนเรื่องการหลุดพ้น และมีแนวทางการปฏิบัติแบบสละโลกอย่างที่เราคุ้นเคย โดยมีคัมภีร์คือพระไตรปิฎก
อ.ตุลเล่าให้ฟังเป็นเกร็ดว่า คนอินเดียชอบถกเถียงกันมาก ทั้งในวงเล็กๆตามร้านน้ำชา ไปจนถึงยกสำนักมาดีเบตกัน นั่นก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ปรัชญาอยู่ในวิถีชีวิตผู้คนอยู่เหนียวแน่นมาจนถึงปัจจุบันก็เป็นได้
เวทานตะ
เนื้อหาปรัชญาที่เราเรียนกันเป็นหลักในคอร์สนี้ คือปรัชญาจากสำนักเวทานตะ ตามชื่อคอร์สนั่นเอง
คำว่าเวทานตะเป็นคำเรียกอีกคำของคัมภีร์อุปนิษัท จากคำว่า เวท และ อันตะ แปลว่าส่วนสุดท้ายของพระเวทที่เป็นคัมภีร์สำคัญที่สุดของฮินดู กล่าวว่าเป็นคำที่มาจากพระเจ้า ดังนั้นจึงเป็นความจริงแท้ ในส่วนอุปนิษัทเป็นส่วนที่มีเนื้อหาเป็นปรัชญามากที่สุด ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อสำนักปรัชญาเวทานตะที่เราได้เรียนกัน
สำนักเวทานตะเป็นหนึ่งในหกสำนักปรัชญาฮินดูที่มีความซับซ้อนมากที่สุด เรียนงงมากที่สุด และยังแบ่งย่อยออกไปอีกตามเจ้าสำนักแต่ละคน
ส่วนที่ อ.ตุลนำมาสอนพวกเราเป็นพิเศษ คือสำนักเวทานตะของศังกราจารย์ ผู้ที่ถือว่าเป็นนักบวชที่ปราดเปรื่องมากที่สุด เขียนงานไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นอรรถาธิบาย (Commentary) งานนิพนธ์บทร้อยกรอง และงานบทสวดสรรเสริญ หลายๆคนที่สนใจปรัชญาอินเดีย ก็น่าจะรู้จักนักปรัชญาคนนี้ดี
ความซับซ้อนของปรัชญาเวทานตะเริ่มต้นที่ว่า ความจริงสูงสุดมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น คือพรหมัน จากหลักการพื้นฐานอันสำคัญหนึ่งเดียวของสำนัก
พฺรหฺม สตฺยํ ชคนฺมิถฺยา ชีโว พฺรหฺไม ว นาประ
พรหมันคือสิ่งจริงแท้ โลกเป็นมายา ชีวะไม่ได้แยกจากพรหมัน
ความยากเกิดขึ้นตรงนี้เอง เมื่อความจริงสูงสุดมีเพียงพรหมัน ดังนั้นอื่นๆก็ต้องไม่จริงเลย ตัวเราก็ไม่จริง โลกนี้ก็ไม่จริง ซึ่งมันขัดกับสามัญสำนึกทั้งหมดทั้งมวล! สิ่งที่ศังกราจารย์ทำก็คืออธิบายเรื่องนี้ให้แก่ผู้อื่นเข้าใจถึงภาวะ “ความจริงหนึ่งเดียว” ของหลักปรัชญานี้
อ.ตุล พามาตั้งต้นกันที่พรหมัน “ความจริงแท้หนึ่งเดียวที่ว่านี้คืออะไร?”
แล้วความยากขั้นแรกก็เกิดขึ้น จากการที่เราไม่สามารถใช้ภาษาที่มีอยู่อธิบายคุณลักษณะของพรหมันได้ เนื่องจากภาษา ไวยากรณ์ และตรรกะที่เราใช้นั้นเป็นแบบทวิลักษณ์ บนฐานคิดแบบทวินิยม (Dualism) ในขณะที่พรหมันเป็นความจริงที่เป็นหนึ่งเดียว หรือเอกนิยม (Monism) ซึ่งก้าวข้ามจากคุณสมบัติที่เป็นคู่ไปเป็นหนึ่งเดียว ดังนั้นเราต้องเข้าใจแบบก้าวข้ามกรอบของทวิลักษณ์ เช่น เราสามารถเข้าใจ คุณลุงกำลังนั่งอยู่ คุณลุงไม่ได้ยืน แต่ตรรกะที่จะเข้าใจพรหมันความแตกต่างระหว่างยืนกับนั่งไม่มีอยู่แล้ว นั่นคือคุณลุงจะสามารถทั้งยืนและนั่งในขณะเดียวกัน
“สิ่งนั้น (พรหมัน) เคลื่อนไหว และไม่เคลื่อนไหว สิ่งนั้นอยู่ในที่ห่างไกล และอยู่ที่ใกล้ที่สุด สิ่งนั้นอยู่ในทุกสิ่งที่มีอยู่และอยู่ภายนอกทุกสิ่งที่มีอยู่เช่นกัน”
– อีศะ อุปนิษัท บทที่ 5
มาถึงตรงนี้ใครเริ่มงง คุณมีเพื่อนเป็นนักเรียนเวทานตะรุ่นแรกทั้งรุ่นค่ะ
แม้แต่ศังกราจารย์ก็กล่าวไว้ว่าเราไม่อาจอธิบายธรรมชาติของพรหมันได้ตรงๆ สิ่งที่ทำได้คืออธิบายว่า “ไม่ใช่อะไร” แบบที่เรียกว่า นิรคุณพรหมัน เพราะว่าคุณสมบัติต่างๆเกิดจากการแยกแยะในระดับโลกแห่งการรับรู้ เช่นคุณสมบัติสว่าง แยกออกมาจากความมืด แต่ในโลกระดับพรหมันที่ทุกอย่างเป็นความจริงแท้หนึ่งเดียว การแยกแยะทั้งหลายไม่มีอีกแล้ว ดังนั้นพรหมันจึงปราศจากคุณสมบัติ
แล้วโลกที่เราอยู่นี่ล่ะ?
อย่าลืมว่า โลกก็ต้องไม่จริงเพราะแม้แต่สสารก็ไม่ใช่ความจริงในปรัชญาเวทานตะ!
คำตอบอยู่ในวรรคสองของหลักการพื้นฐาน คอนเซปต์ที่ศังกราจารย์ใช้คือ มายา
“โลกเป็นมายา”
อีกด้านของนิรคุณพรหมันที่ปราศจากคุณสมบัติใดๆ พรหมันยังมีพลังอำนาจในการฉายภาพต่างๆออกมาให้ปรากฏเป็นคุณสมบัติต่างๆที่แตกต่างกันหรือเรียกว่า สคุณพรหมัน ซึ่งก็คือพระเจ้าที่เต็มไปด้วยคุณสมบัติ ปรากฏขึ้นจากการฉายของพรหมัน และพระเจ้าท่านนี้ก็สร้างสรรค์ให้เกิดโลกที่อยู่ในระดับมายา ระดับสมมติ แต่ถามว่าสร้างโลกเกิดขึ้นจริงหรือไม่ คำตอบคือไม่ มันเป็นแค่การปรากฏ (Appearance) เท่านั้น เป็นมายาภาพฉายที่เหมือนจริงๆมาก
ความพูดยากอีกอย่างที่ศังการจารย์ที่กล่าวไว้ คือ สภาวะของ “มายา” (นึกถึงว่าโลกคือมายาไปด้วย) จะบอกว่ามันไม่จริง ก็พูดได้ไม่เต็มปากเพราะการฉายภาพมายาก็เกิดขึ้นจริงๆจากด้านหนึ่งพรหมัน แต่ในขณะเดียวกับ มายามันก็เป็นสิ่งไม่จริงของมันเองอยู่แล้ว นึกภาพเวลาเราฉายหนังด้วยโปรเจคเตอร์ เครื่องก็ฉายอยู่จริงๆ หนังที่ฉายก็ปรากฏออกมาจริงๆ แต่หนังก็เป็นแค่ภาพฉาย ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง!
และโลกมายานี่เองก็เป็นที่ที่เราอยู่ เรามีประสบการณ์กับสิ่งต่างๆในระดับผัสสะ รับรู้ถึงคุณสมบัติต่างๆที่แตกต่างกัน ความมืด ความสว่าง รสชาติ ความสุข ความทุกข์ ซึ่งก็เป็นจริงในระดับสมมติที่เราอยู่นี้ แต่ถ้าจะเอาตามหลักความจริงหนึ่งเดียวคือพรหมัน สิ่งเหล่านี้เป็นแค่มายาเท่านั้น
นั่นหมายความว่า ตัวเราเองที่อยู่ในโลกมายาก็ไม่จริงเช่นกัน
เพราะการอยู่ในโลกแห่งประสบการณ์ทำให้เราแยกแยะสิ่งต่างๆตามการรับรู้ พูดอีกทางหนึ่งคือ มายาลวงให้เราเกิดการรับรู้ผิดๆ และรับรู้ไปว่า ตัวเราแยกออกจากพรหมัน แต่แท้จริงแล้ว ตัวเราไม่ได้แยกออกจากพรหมัน ตามวรรคสุดท้ายของหลักการพื้นฐาน …
ชีวะไม่ได้แยกจากพรหมัน
อ.ตุล อุปมาว่า นึกถึงขวดเปล่าๆอันหนึ่ง เราจะคิดไปว่า อากาศในขวดกับอากาศนอกขวดเป็นคนละอันกัน แต่จริงๆแล้วมันคืออากาศเดียวกัน แค่มีกรอบของขวดมาแบ่งแยกเอาไว้ เหมือนกันกับชีวิตและพรหมัน เราคิดไปว่าเราคือขวด อากาศในขวดคือตัวตนของฉัน ที่พยายามจะเป็นขวดนู้นนี้ ขวดไวน์ ขวดแก้ว ขวดพลาสติก ปรัชญาอินเดียอธิบายแนวคิดเรื่องตัวตนไว้เช่นกัน ว่าเราถูกห่อหุ้มไว้ด้วยสิ่งต่างๆตั้ง 5 ชั้น!
แล้วเราจะหลุดออกไปได้ยังไง?
เป้าหมายการหลุดพ้นของสำนักเวทานตะ คือการที่เราตระหนักได้ว่าเราอยู่ในความจริงเพียงระดับมายา และตระหนักได้ได้ว่า ตัวเราที่ไม่ได้แยกขาดจากพรหมันคือความจริงสูงสุด ดังนั้นเราจึงไม่ได้กลายไปเป็นอะไร เพียงต้องตระหนักรู้ถึงเนื้อเเท้ให้ได้ โดยต้องมีทั้งระดับสติปัญญา และระดับประสบการณ์
แน่นอนว่าเมื่อมาเรียนที่วัชรสิทธา ก็จะต้องมีช่วงของการพาไปมีประสบการณ์ด้วย ในครั้งนี้ อ.ตุลพาเหล่านักเรียนได้ลอง ‘เข้าถึง’ เองผ่านการภาวนา ไม่แน่อาจจะมีสักเสี้ยววินาทีที่เข้าถึงภาวะความจริงสูงสุดก็ได้!
ในชั้นเรียนนี้เราได้ลองภาวนาด้วยเทคนิคแบบเวทานตะ อ.ตุลพาเรานั่งและนำภาวนาด้วยการเปล่งเสียง
“โอม”
เมื่อเนื้อตัว ลมหายใจ และการเปล่งเสียงสอดคล้องเข้ากันอยู่กับปัจจุบันขณะ เกิดเป็นประสบการณ์ที่ตัวตนของเราละลายไปกับคลื่นเสียง ไหลไปตามกระแสธาร “โอม” ของคนอื่นๆในห้อง เป็นภาวะไร้ขอบ หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว..
เพี๊ยะ!
เสียงตบมือของ อ.ตุล ดึงให้เหล่านักเรียนทั้งหลายลืมตาขึ้นมา จ้องอากาศเวิ้งว้างด้านหน้าอย่างฉับพลัน
จังหวะนั้นเป็นอะไรที่แปลกใหม่มาก จินตนาการว่า เรากำลังล่องลอยเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในอากาศที่ว่างเปล่า เปิดกว้างไร้ขอบเขต แล้วทันใดก็ถูกเรียกให้ตื่น ไม่ใช่ตื่นตกลงมาเหยียบพื้นดิน แต่ตื่นอยู่ในความเวิ้งว้างนั้น! เป็นสภาวะสั้นๆที่ไม่อาจอธิบายว่ากำลังอยู่ที่ไหน แต่เรารับรู้ถึงการมีอยู่ของเราไปพร้อมๆกับความเวิ้งว้างที่ไม่ได้แยกขาดจากเรา ซึ่งตอนฝึกเสร็จก็นั่งงง ต้องใช้เวลาไปสักพักกว่าจะกลับมาประมวลผลให้พูดจารู้เรื่องได้
ผู้ร่วมกิจกรรมในชั้นเรียนแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันอย่างสนุกสนาน แน่นอนว่าไม่มีแบบที่ถูกต้องตายตัว แต่ละคนได้อยู่กับประสบการณ์ของตัวเองที่เกิดขึ้น ไว้วางใจและมีสมาธิอยู่กับปัจจุบันขณะ ความน่าสนใจที่ปรากฏคือ หลายๆท่านมีภาวะหลอมรวมเมื่อได้ภาวนาเสียงโอมร่วมกัน ซึ่งสร้างความผ่อนคลาย ความอ่อนโยน ความปีติบางอย่างที่ยากจะอธิบายออกมา
ทุกอย่างล้วนเป็นเรื่องเดียวกัน
พอเรียนมาถึงตรงนี้ก็เหมือนได้ข้อต่อสุดท้ายมาเชื่อมทุกอย่างเข้าด้วยกันเป็นหนึ่ง นี่มันคือสิ่งที่ทุกชั้นเรียนของวัชรสิทธามีร่วมกัน
- ในคอร์สชัมบาลา เราได้เรียนเรื่องการเป็นตัวเองที่จริงแท้ เพื่อเป็นอิสระจากกรอบนิยามใดๆ ด้วยการกลับไปหาความดีงามพื้นฐาน เราได้มีประสบการณ์ภาวนาหลอมรวมเป็นความว่าง สลายขอบตัวตนออกไป
- ในคอร์ส Awakening Self-Therapy เราได้เรียนจิตบำบัดแนวพุทธ ที่ว่าจริงๆแล้วเราไม่ได้ต้องบำบัดอะไร เพราะพุทธศานากล่าวไว้ว่าเนื้อแท้เป็นสิ่งดีงามอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องทำคือตระหนักรู้และกลับไปสู่ตรงนั้น
แม้ในแต่ละคอร์สจะพูดด้วยภาษาที่ต่างกัน วิธีการและเป้าหมายต่างกัน แต่ในหัวที่ตอนนั้นมีตรรกะแบบเอกนิยม ก็พลอยทำให้ทุกสิ่งเป็นสิ่งเดียวกัน เกิดโมเมนต์ตาสว่างขึ้นมา
ศาสนา ปรัชญา แนวทางปฏิบัติทั้งหลายที่ได้เรียนรู้ที่นี่ไม่ได้พาให้ออกเดินทางไปไหนไกลเลย แต่พาให้เรากลับมาที่แก่นแท้ จะด้วยคำอธิบายไหนก็ตาม เป็นความจริงสูงสุด เป็นความว่าง เป็นความดีงาม เป็น Bliss ฝึกการตระหนักรู้เพื่อเข้าถึงสภาวะที่มีอยู่แล้วในตัว ทำให้มันเป็นประสบการณ์ ผ่านการภาวนาวิธีการต่างๆ ที่สอนกันมากมายให้เราได้เลือกช้อปปิ้งเอามาปฏิบัติ เมื่อยิ่งเรียนก็ยิ่งโยงเข้ากันได้เรื่อยๆ เหมือนการเดินบันไดวน ก้าวไปตามขั้นแต่ละขั้นคนละอันกัน แต่วนทับซ้อนบนเส้นทางเดียวกันเพื่อลงลึก ลึก ลึกลงไป เรียนความซับซ้อนของแนวคิดต่างๆ ผสมกับเข้าไปมีประสบการณ์ตรง และทั้งหมดก็ประกอบกันเป็นความ “หนึ่งเดียว” บางอย่างที่เป็นไปเองโดยธรรมชาติ ความรู้สึกตรงนี้เองที่ทำให้ไม่ว่าเข้าคอร์สไหนก็ยังรู้สึกตื่นตัว มีชีวิตชีวาทุกครั้ง
ในตอนท้าย นักเรียนทั้งหลายที่เกิดความเข้าใจก็เริ่มจะเชื่อมโยงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเวทานตะกับแนวคิดอื่นๆ ยิ่งมาส่งเสริมความเป็น ‘ความจริงสูงสุด’ ของศาสนาต่างๆ บรรยากาศการแลกเปลี่ยนกันในห้องเรียนก็พาให้คิดต่อกันสนุกสนาน ซึ่งข้อเปรียบเทียบที่น่าสนใจที่คนในชั้นเรียนยกมา คือแนวคิดเรื่อง ‘ความว่าง‘ ของพุทธมหายาน ว่าสุดท้ายแล้วทุกสิ่งก็คือความว่าง การหลุดพ้นก็คือหลุดจากสังสารวัฏไปสู่ความว่าง
“รูปคือความว่าง ความว่างคือรูป รูปไม่ใช่สิ่งอื่นใดนอกไปจากความว่าง ความว่างไม่ใช่สิ่งอื่นใดนอกไปจากรูป ขันธ์ทั้งห้าคือความว่าง ธรรมทั้งปวงคือความว่าง ในความว่างไม่มีรูป ไม่มีเวทนา…. ไม่มีตา ไม่มีหู ไม่มีจมูก… ไม่มีกาย ไม่มีจิต… ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น… ไม่มีทุกข์ ไม่มีสมุทัย.. ไม่มีมรรค ไม่มีปัญญา ไม่มีการบรรลุธรรม และไม่มีการไม่บรรลุธรรม ……..ด้วยปราศจากเครื่องกั้นขวางของจิต พวกเขาจึงไม่มีความกลัว พวกเขาก้าวข้ามความผิดพลาดและเข้าสู่พระนิพพานโดยสมบูรณ์”
– ปรัชญาปารมิตาสูตร
ในขณะที่เวทานตะบอกให้ไปเป็นความจริงสูงสุดที่มีเพียงหนึ่งเดียว และการหลุดพ้นคือตระหนักให้ได้ถึงสภาวะนั้น ฟังแล้วก็ดูจะใกล้เคียงกันมากราวกับแค่พลิกเหรียญ
อ.ตุลฟังก็ตอบยิ้มๆ