Hinayana : “หินยาน” หมุดหมายแรกบนเส้นทางฝึกตน ตั้งต้นที่ทุกขสัจ

บทความโดย อุทัยวรรณ ทองเย็น

ที่มาภาพ : Lucky Thangka

“ความทุกข์ไม่มีวันหมดไป และเราจะไม่มีวันมีความสุข…”  

– เชอเกียม ตรุงปะ –

ค่ำคืนหนึ่งในชุมนุมสังฆะปฏิบัติของสังฆะวัชรปัญญา​ วิจักขณ์ พานิช หรือ ครูตั้ม ได้ยก quote ของท่านเชอเกียม ตรุงปะ ขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของการพูดคุยคำสอน โดยในคืนนั้นครูตั้มได้เน้นย้ำให้เราทุกคนอ่านประโยคนี้ด้วยใจที่ยินดี​

“Please Read with​ ​Joy”

​ทัศนะนี้แม้ว่าจะฟังแล้วอึ้ง สับสน ว้าวุ่นใจ ว่าเราจะหลีกหนีความทุกข์ในชีวิตไปไม่ได้ มันช่างมืดมนเสียจริง อย่างไรก็ตาม นี่ก็ไม่ได้เป็นแค่ข่าวร้ายเพียงอย่างเดียว ทว่ายังมีข่าวดีคือเราถูกเชื้อเชิญ​ให้มองเห็นความเป็นจริงของชีวิตด้วยความเบิกบาน ฟังดูช่างย้อนแย้งและน่าประหลาดยิ่งนัก!

มุมมองเช่นนี้ถูกถ่ายทอดมาจากคำสอนในสายธรรมของวัชราจารย์ เชอเกียม ตรุงปะ ผู้ได้รับการกล่าวขานถึงคำสอนของท่านว่าเป็น Crazy Wisdom หรือ ปรีชาญาณบ้า คำสอนธรรมะที่ตรุงปะนำไปเผยแพร่ให้แก่โลกตะวันตกมีแง่มุมที่หวือหวา ยอกย้อน ทว่าแหลมคมและตรงไปตรงมา ตีแผ่ต้นตอความทุกข์ความสับสนในชีวิตที่มาจากอัตตาตัวตน เป็นธรรมะที่แสดงให้เห็นจากชีวิตมนุษย์ที่เต็มไปด้วยทุกข์ สุข กิเลส ตัณหา และเราสามารถใช้ทุกแง่มุมในชีวิตเราเป็นวัตถุดิบในการฝึกฝนภาวนา

หลายท่านอาจคิดว่าคำสอนในสายธรรมของท่านเชอเกียม ตรุงปะ เป็นคำสอนวัชรยานเท่านั้น แต่ในความจริงแล้วสิ่งที่ตรุงปะสอนลูกศิษย์นั้นประกอบไปด้วย 3 ยาน ได้แก่ หินยาน มหายาน และวัชรยาน

คำสอนหินยาน หรือ ยานเล็ก นั้นถูกเรียกว่าเป็นเส้นทางการหลุดพ้นของแต่ละบุคคล เป็นเส้นทางที่ตรงและแคบ แต่มีความสำคัญต่อการเดินบนเส้นทางจิตวิญญาณของเราอย่างยิ่ง เพราะเราทุกคนล้วนมีร่างกาย มีจิตใจ มีนิสัยและเรื่องราวภายในที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของเรา ดังนั้น จึงจำเป็นที่ต้องฝึกฝนที่ตัวเองก่อนที่จะขยายออกไปสู่เส้นทางที่กว้างขึ้นคือ มหายานและวัชรยาน หินยานจึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งต่อผู้ฝึกปฏิบัติเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงของเส้นทาง เป็นการเริ่มต้นที่การทำงานกับตัวเองอย่างลงลึก ฝึกฝนวินัยให้การปฏิบัตินั้นมั่นคงไม่เหลาะแหละ และมีความแจ่มชัดกับวิถีของการเป็นผู้ฝึกปฏิบัติ

ในหนังสือเรื่อง The Path of Individual Liberation ซึ่งเป็นหนึ่งในชุดหนังสือรวบรวมคำสอนของตรุงปะที่บรรยายระหว่างการสัมมนาธรรมะสอนลูกศิษย์เป็นระยะเวลา 13 ปี โดยมีเนื้อหาคำสอนของการฝึกปฏิบัติในมุมมองแบบหินยาน เราต้องตั้งต้นที่การทำงานกับตัวเอง เข้าใจเรื่องความทุกข์ สังสารวัฏ ในทัศนะของหินยานมีคำสอนที่เรียกว่าเป็นทุกขสัจ ความจริงอันประเสริฐ ความจริงของชีวิตที่ประกอบด้วยความทุกข์ ทัศนะดังกล่าว เช่น …

• Life is Painful. ชีวิตคือความทุกข์ มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่มุมมองของชีวิตแบบนี้ไม่ได้ทำให้เราสิ้นหวังหรือหลีกเลี่ยง แต่ให้เปิดใจยอมรับว่าทุกชีวิตคือการทำงานกับความทุกข์ สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ ระหว่างที่เราใช้ชีวิตไปจนกว่าจะถึงวันสุดท้าย เราจะทำอะไรกับชีวิตของเรา

• Life is Like a Stew. ชีวิตเหมือนหม้อสตูว์ คืออาหารที่ใส่ส่วนผสมหลายอย่างรวมกัน ซึ่งบางอย่างอาจจะอร่อยหรือไม่อร่อย ส่วนผสมในหม้อสตูว์คือสังสารวัฏ คำว่าสังสารวัฏในภาษาทิเบตคือ khorwa แปลว่า spinning around in our life ทัศนะนี้บอกว่าสังสารวัฏไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเลวร้ายเท่านั้น บางทีก็แค่ทำให้เราปวดเศียรเวียนเกล้า เพราะสังสารวัฏปั่นให้เราต้องวิ่งวนตามไปแบบไร้สติควบคุมตัวเองไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยการฝึกฝนให้เกิดความเข้าใจในธรรมะ เราจะเริ่มมองเห็นหนทางออกจากสังสารวัฏหรือออกจากทุกข์ได้

หนังสือ The Path of Individual Liberation

ทัศนะของหินยาน

ก่อนที่เราจะออกเดินทาง เราคงต้องเริ่มต้นที่การศึกษารายละเอียดของแผนที่ที่เราจะไปก่อน เช่นกันกับเส้นทางทางจิตวิญญาณ เราก็ต้องเริ่มที่ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นที่ถูกต้องเพื่อเป็นหลักยึดของการฝึกตนที่ถูกต้อง ในประเด็นนี้ตรุงปะได้อธิบายว่าบนเส้นทางฝึกฝนแบบหินยาน เราต้องเริ่มต้นด้วยการศึกษาทำความเข้าใจในหลักธรรม 4 ข้อ ที่เป็นความจริงแท้อันประเสริฐ เป็นทัศนะหรือมุมมองที่มีต่อโลกของปรากฏการณ์ที่แสดงให้เราเห็น อันได้แก่ ความไม่เที่ยง (Impermanent) ความทุกข์ (Suffering) อนัตตา (Egolessness) และสันติ (Peace) สำหรับความไม่เที่ยงและความทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่เราสามารถมองเห็นและเข้าใจได้ผ่าน การเวียนว่ายในสังสารวัฏ แต่อนัตตาและสันติเป็นเรื่องของการที่เราจะมองเห็นถึงความเป็นไปได้และศักยภาพของเราที่จะขึ้นอยู่เหนือสังสารวัฏ

• ความไม่เที่ยง (Impermanent) : เป็นเรื่องที่เราทุกคนรู้ดีว่าทุกสิ่งต้องมีวันสลายสูญสิ้นไปแต่ด้วยความหวังและความกลัวทำให้เราปรารถนาให้ทุกสิ่งคงอยู่เช่นเดิมตลอดไปหากเราเข้าใจในเรื่องความไม่เที่ยงได้ดีพอจะทำให้เราตระหนักได้ว่าในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดที่เราจะยึดถือไว้ได้ดังนั้นจึงไม่มีสิ่งใดให้เราต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้มันคงอยู่เช่นเดิมทุกสิ่งล้วนแปรเปลี่ยน เมื่อขึ้นแล้วก็ลงเป็นธรรมดา

• ความทุกข์ (Suffering) : หลังจากที่เราพยายามทำสิ่งที่ไม่เที่ยงให้เป็นสิ่งที่คงทนถาวรตามความคาดหวัง เมื่อนั้นสิ่งที่ตามมาคือความเจ็บปวดและความทุกข์จากความผิดหวัง แท้จริงแล้วความทุกข์ไม่ได้เกิดขึ้นมาเองแต่ความทุกข์เป็นผลมาจากการดิ้นรนของตัวเรา จากความคิดยึดติดกับความสุขในอดีต ดังนั้นในโลกของสังสารวัฏ มันไม่มีอะไรเลยที่จะเป็นความสุขใจอย่างแท้จริง

ภาพโดย Pixabay จาก Pexels

• อนัตตา (Egolessness) : ความไม่มีตัวตนเป็นสิ่งที่เราเชื่อได้ยากยิ่ง เพราะเรามีอัตตาเป็นแกนกลางในการดำรงอยู่ เราดิ้นรนเพื่อปกป้องอัตตาของเราอยู่ตลอดเวลาทั้งโดยรู้ตัวและส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว ดังนั้นแล้วความเข้าใจเรื่องอนัตตาจึงยากที่จะเข้าใจผ่านการสอน แต่ด้วยกระบวนการของการภาวนาที่ทำให้การคิดของเรากระจ่างและเรียบง่าย ช่วยให้เราเข้าถึงความเป็นปกติธรรมดาของชีวิตอย่างแจ่มชัด มีความตระหนักรู้ถึงการไม่มีตัวตนให้ยึดถือ เราก็เห็นได้เองว่าไม่มีใครที่ต้องรู้สึกเจ็บปวดและทุกข์

• สันติ (Peace) : เป็นสภาวะที่ปลดปล่อยหรือคลี่คลายออกจากการยึดติดในสิ่งต่างๆ การปล่อยวางซึ่งจะทำให้ความทุกข์และความเจ็บปวดหายไป สภาวะที่สงบสันติจะเข้ามาแทนที่ อาจกล่าวได้ว่าเป็นสภาวะของนิพพานที่แปรเปลี่ยนมาจากสังสารวัฏ หลังจากที่เราเกิดความตระหนักรู้ว่าทุกสิ่งที่เราเคยยึดถือนั้นสลายหายไป เราหยุดการดิ้นรน อยู่กับความว่าง ความสงบสันติภายใน เป็นความเบิกบานที่แท้จริง

ทัศนะของหินยานทั้ง 4 เรื่องนี้เป็นความจริงแท้ (Reality) ที่เราใช้เป็นหมุดหมายของเส้นทางฝึกฝนการภาวนาเพื่อเกิดปัญญาที่จะตระหนักรู้ในความจริงแท้นี้ ความเข้าใจเรื่องความไม่เที่ยงและความทุกข์นั้น ตรุงปะกล่าวว่าสามารถเข้าใจได้จากการถูกชี้แนะสั่งสอนจากคุรุ แต่เรื่องอนัตตาและสันติ เป็นความเข้าใจที่ต้องคิดรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะเกิดจากกระบวนการภาวนาที่ทำให้เกิดปัญญาในการมองโลกอย่างแยบคาย มองลึกเข้าไปถึงแก่นแกนของสรรพสิ่ง เมื่อเราเข้าใจมุมมองนี้อย่างลึกซึ้ง เราจะเข้าใจถึงปัญหาและความเป็นไปได้ในชีวิต เห็นว่าความไม่เที่ยงคือเรื่องธรรมดาแต่เมื่อเราขัดขืนจึงเกิดความทุกข์ เมื่อมองเห็นอนัตตาทำให้เข้าใจว่าไม่มีใครที่ทุกข์ เมื่อนั้นเราจะละวางความไม่พอใจหรือหาคนผิด สุดท้ายสิ่งที่เหลืออยู่คือความสงบ ความว่าง การเข้าถึงสภาวะว่างสงบนี้ไม่ใช่การมีจิตใจที่สงบ แต่เพราะทุกสิ่งสลายไป จึงกลายเป็นสภาวะสงบสันติตามธรรมชาติที่มีอยู่เดิม เป็นความดีงามพื้นฐาน พุทธภาวะ หรือ ธรรมชาติของจิตที่เปิดกว้าง สงบ สันติ อยู่ตรงนั้นเสมอ

ที่มาภาพ: S Migaj จาก Pexels

ทุกขสัจ – ความจริงที่ว่าชีวิตเรามีทุกข์

ในเมื่อความสนใจในการฝึกปฏิบัติภาวนาในช่วงเริ่มต้น

ส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อหาทางออกจากทุกข์

แล้วทำไมเราต้องมาเริ่มต้นที่หมุดหมายของการทำความเข้าใจกับทุกขสัจ?

คำถามนี้อาจกลายเป็นอุปสรรคของเส้นทางสำหรับใครบางคน เราเพียงต้องการแสวงหาความหลุดพ้นจากทุกข์ในชีวิต เราต้องการความสงบผ่อนคลาย ทว่าเมื่อเราต้องเริ่มทำงานกับตัวตน ทำงานกับความจริงของชีวิตซึ่งเปิดแผลในใจให้กว้างและลึกยิ่งขึ้น มันช่างเจ็บปวดทรมานอย่างที่ ตรุงปะ เปรียบไว้ว่า “เหมือนถูกหมอผ่าตัดโดยไม่วางยาชา”   

แล้วเราจะยังยินดีที่จะเดินต่อบนเส้นทางการภาวนานี้ต่อไปหรือไม่?

นี่เป็นบททดสอบเบื้องต้นสำหรับเราทุกคน!

ทุกขสัจอาจถูกมองว่าช่างเป็นการมองโลกในแง่ร้าย มืดมน ทำให้เราหม่นหมอง จมอยู่กับความย่ำแย่ของชีวิต แต่ด้วยวินัยของการฝึกแบบหินยานที่ยังคงให้เรากลับมาที่ความเรียบง่ายของการฝึกภาวนา ไม่ว่าเรากำลังอยู่ในสภาวะเช่นไร เราแค่กลับมาฝึกอยู่กับร่างกาย ลมหายใจ ซึ่งเป็นฐานที่เป็นปัจจุบันขณะและไม่ตามความคิดไปสู่อดีตหรืออนาคต ประสบการณ์การฝึกเช่นนี้วันแล้ววันเล่า ชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่า เมื่อเราเปิดใจมองเข้าไปที่ธรรมชาติของจิตอยู่เนืองๆ ก็อาจจะมีชั่วแวบของความเข้าใจหรือความตระหนักรู้ในความเป็นจริงที่จะสลายความคิดยึดติดและสามารถเปิดมุมมองต่อโลกให้ละเอียดและทั่วถึง

ที่มาภาพ: อวโลกิตะ

ในโลกของปรากฏการณ์ที่เราดำรงอยู่ เรารับรู้ถึงชีวิตของเราที่ยังดิ้นรนไปกับสถานการณ์ต่างๆ มีความทุกข์สุขปรากฏขึ้นสลับกันไป แต่เมื่อเราเข้าสู่เส้นทางจิตวิญญาณที่บ่มเพาะความเข้าใจต่อโลกอย่างแยบคาย สถานการณ์ต่างๆที่เคยเป็นอุปสรรคสร้างทุกข์ก็กลับกลายเป็นสิ่งเตือนใจให้เห็นหลักธรรมความจริงแท้ตามธรรมชาติ เราจะผ่อนคลาย เปิดกว้างและโอบรับชีวิตอย่างเต็มที่ รู้สึกอิสระและไม่จำเป็นต้องดิ้นรนเพื่อหนีอีกต่อไป…