บทความโดย KONG วัชรสิทธา
ในการฝึกปฏิบัติขั้นหินยาน เรากลับมาเริ่มต้นกันที่พื้นฐานอันเป็นหัวใจสำคัญ ว่าด้วยเรื่องของ “วินัย”
“วินัย” คือบาทฐานของการภาวนา
หินยาน มุ่งเน้นไปที่การทำงานกับศักยภาพของการตื่นรู้ที่เรียกว่า “สติ” โดยตั้งต้นจากการปฏิบัติ “สมถะภาวนา” เป็นการทำงานกับ ประสาทสัมผัส หรือ “ผัสสะ” ซึ่งทำหน้าที่รับรู้วัตถุดิบที่เราเข้าไปสัมพันธ์ การฝึกฝนที่กระทำการโดยมีตัวสติกำกับอยู่เสมอในทุก ๆ อิริยาบถ นับเป็นการขัดเกลาความแม่นยำต่อตัวประสบการณ์ที่เกิดขึ้น
เราเรียนรู้ที่อยู่กับภาวะของ unconditional presence หรือ ปัจจุบันขณะอันไร้เงื่อนไข เมื่อเราภาวนา (ไม่ว่าจะนั่งหรือนอน หลับตาหรือลืมตา) เราฝึกที่จะเท่าทันสิ่งที่ประสาทสัมผัส (ตา-หู-จมูก-ลิ้น-กาย) รับเข้ามา รวมทั้งความคิดและอารมณ์ (ใจ) ที่จะมีขึ้น
อย่างไร้เงื่อนไข
ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นความรู้สึกด้านลบหรือด้านบวก
ทุกประสบการณ์การรับรู้ที่เกิดขึ้นขณะภาวนา เราฝึกที่จะมองมันเป็นสภาวะ ๆ นึง
แล้วลองปล่อยให้สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นโดยไม่ขืนต้าน ดำรงตนอย่างมั่นคงอยู่กับวินัย ซึ่งการปฏิบัติในชั้นเรียนจะให้เรากระทำสิ่งต่าง ๆ โดยมีการตื่นรู้กำกับ นอกเหนือจากการภาวนา เราฝึกที่จะเดิน ฝึกที่จะกิน หรืองดใช้เครื่องมือสื่อสาร เพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้อยู่ตรงนั้นกับกิจกรรมเดิม ๆ ในวิถีทางที่ต่างออกไป ฝึกที่จะเคร่งครัดกับตัวเอง ทำงานกับตัวเองในรูปแบบที่ไม่คุ้นชินเมื่อต้องปล่อยจากจุดอ้างอิงต่าง ๆ ที่เคยใช้
ในขั้นสมถะ เราอยู่กับการทำงานของประสาทสัมผัสอย่างตรงไปตรงมา เมื่อตาเราเห็นสิ่งใด “เห็นเฉย ๆ” หรือเมื่อกายมีอาการปวดขา รับรู้ถึงอาการปวด “ปวดเฉย ๆ” ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น เรียนรู้ที่จะเท่าทันครั้งแล้วครั้งเล่าต่อการรับรู้อาการทางกายและสิ่งที่เกิดขึ้นในใจ แม้จะมีอาการหลุดลอยไปบ้าง ไม่ใช่เรื่องใหญ่ กลับมาเท่าทันอีกครั้งและอีกครั้ง กลับมาที่วินัยของการอยู่ที่นี่และตอนนี้ ฝึกที่จะมีสันติกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นต่อผัสสะ โดยไม่ต่อเรื่องเพิ่ม ไม่ปรุงแต่งเพิ่ม
เราหยุดกวนน้ำเล่นให้ขุ่น แล้วปล่อยให้ฝุ่นตะกอนตกลงสู่ที่ทาง น้ำก็กลับมาใสกระจ่างอีกครั้ง
ตามวิถีหินยาน การภาวนาแบบสมถะ ทำให้เราดำรงอยู่ในความสงบ (calm abiding) และมีสันติกับทุกสิ่งอย่าง (make peace)
เมื่อใช้จุดกำหนดในการหายใจ เช่น ปลายจมูก หรือ ท้องน้อย ดำเนินไปจนเริ่มเกิดเป็นจังหวะที่ต่อเนื่องและละเอียดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ตัว “สติ” จะค่อย ๆ พัฒนาสู่ “สัมปชัญญะ” เป็นการขยายผลจากขั้น “สมถะ” มาสู่ “วิปัสสนา” ที่เริ่มมีความผ่อนคลายมากขึ้น แผ่กว้างมากขึ้น สามารถจะรับรู้สภาพการณ์รอบ ๆ แทนที่จะมุ่งโฟกัสกับจุดกำหนดแต่เพียงอย่างเดียว
จากการรับรู้เป็นส่วน ๆ ก็เริ่มจะแผ่กว้างออกมาสู่สิ่งที่อยู่นอกอาณาเขตของกาย เกิดการรับรู้ที่เปิดกว้างขึ้นโดยธรรมชาติ
ทว่าทุกสิ่งยังถูกรับรู้อยู่บนฐานของวินัย
เช่นนี้แล้ว รากฐานแห่งวินัยจะค่อย ๆ ขัดเกลา “ความแม่นยำ” (precise) ขึ้นมา
แม่นยำต่อความปวด ต่อความเกร็ง แม่นยำในผัสสะทั้งหลาย
แม่นยำต่ออารมณ์ความรู้สึก แม่นยำว่ากำลังฝันกลางวัน ฯลฯ
วงล้อแห่งชีวิต (Wheel of Life)
นอกเหนือจากการปฏิบัติภาวนา อีกสิ่งที่น่าสนใจใคร่ครวญและหนุนเนื่องการปฏิบัติได้เป็นอย่างดี คือการเรียนรู้ในเชิงทฤษฎี (ปริยัติ)
ในชั้นเรียน “หินยานรีทรีท” คำอธิบายเรื่อง “ปฏิจจสมุปบาท” ได้ถูกหยิบยกมาสอนในบริบทของการทำงานกับความทุกข์ หากดูจากภาพวาดแนวประเพณี จะเห็นภาพของวงล้อ ดูเหมือนจะมีสิ่งมีชีวิต สถานที่รวมทั้งกิจกรรมต่าง ๆ ดำเนินอยู่ในนั้น วงล้อหรือกงล้อนี้เอง คือ สิ่งที่เรียกว่า “สังสารวัฏ”
เป็น วัฏฏะ เป็นการหมุนวน เวียนไปเวียนมา ซ้ำไปซ้ำมาไม่มีที่สิ้นสุด
ด้วยมุมมองเช่นนี้ แน่นอนว่าเราต่างดำรงอยู่ในสังสารวัฏ
หากอธิบายความตามพุทธศาสนาแบบทิเบต “จิตตรัสรู้” (enlightened mind) นั้นมีอยู่แต่เดิม เป็นความว่างที่ดำรงอยู่เหมือนท้องฟ้า เป็นพื้นหลังของทุกสรรพสิ่ง แต่แล้ว ในวงล้อชั้นในสุด โลภ-โกรธ-หลง ได้เกิดขึ้น แล้วจึงเกิดสิ่งต่าง ๆ ตามมาขับเคลื่อนการกระทำ นำมาสู่ผล หรือ “กรรม” จากการกระทำที่เรียงร้อยกัน จึงพาไปสู่วัฏจักรที่ใหญ่ขึ้น อย่างการเกิดเป็นชีวิต เป็นภพชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เรายังเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร
เราเริ่มจะมองเห็นตำแหน่งแห่งที่ของเรา ที่มา-ที่ไป ทั้งสิ่งที่เราเป็น คิด-พูด-ทำ ว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุ-ปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เรายังถูกขับเคลื่อนโดยวงล้อนี้ ชี้ให้เราตระหนักถึงความเป็นตัวตน ที่ถูกประกอบสร้างเข้าด้วยกันโดยปัจจัยมากมาย เป็นกระบวนการการตระหนักรู้ในตนเอง (self-realization) เพื่อทำงานกับตัวตนอย่างตรงไปตรงมา ให้เกิดการเท่าทันกลไกต่าง ๆ ที่ตัวตนกำลังใช้งาน ทั้งในแง่ของกิริยาและปฏิกิริยาที่ดูเหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุด
หากการฝึกฝนขัดเขลาด้วยการภาวนา ทำให้เราเห็น กลไก หรือ “แพทเทิร์น” ซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่เราใช้ ซึ่งในหลาย ๆ ครั้งเราก็ปล่อยให้กลไกเหล่านั้นทำงานเรื่อยมาโดยไม่แม้แต่มีโอกาสได้ยั้งคิด เราตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยอาการเดิม ๆ จนเกิดเป็นชุดของกระบวนการอันต่อเนื่องที่เราใช้ทำงานกับสิ่งเร้าต่าง ๆ
อย่างเช่น เวลามีใครมาทำให้เราโกรธ เราก็อยากตอบโต้ อยากเถียงให้ถึงที่สุด หรืออาจจะอยากไปเตะประตูสักที ฯ เราอาจนิยามไปว่าเราเป็นคน “แรง ๆ” เป็นคนขี้โมโห เป็นคนไม่ยอมคน เราอาจปล่อยให้แพทเทิร์นเช่นนี้เกิดขึ้นมากครั้งเข้า จนกระทั่งเรานิยามว่าสิ่งเหล่านั้นคือ “ตัวเรา” ไปแล้ว แต่เราเคยคิดไหมว่ามีบางสิ่งที่ขับเคลื่อนเราอยู่ สิ่งที่เราปล่อยให้ดำเนินไปเป็นกลไกที่แสนต่อเนื่องโดยไม่มีการถูกขัดจังหวะ เราไม่เคยมีช่องว่างให้มันเลยแม้แต่น้อย
วงล้อแห่งชีวิตนี้จึงหมุนเรื่อยไป และหมุนไปอย่างไหลลื่นเหลือเกิน
ช่องว่างของ ปฏิจจสมุปบาท
ใน กงล้อแห่งชีวิตนี้ มีช่องว่างอยู่
การภาวนา เราฝึกฝนที่จะ “มอง” แล้วอาจพบ “วาบ” นึงของประสบการณ์
แล้วเริ่มจะเห็นว่ามีความเป็นไปได้อื่น ๆ อีกมากมาย
ฝึกที่จะ “รู้” สิ่งที่ประสาทสัมผัสรับเข้ามา
มองให้ทัน รู้ทัน แม่นยำต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น
รู้ ก่อนที่ “ผัสสะ” จะพัฒนาไปสู่ขั้นของ “ตัณหา”
อย่างการที่เรากินข้าวทีละคำ เรารับรู้อาหารในปาก เราเคี้ยว เรากลืน เราวางช้อน ทิ้งช่วงสักพักก่อนจะตักคำต่อไป ในแต่ละกิจกรรม เราฝึกที่จะรับรู้เพียงสิ่งที่เกิดขึ้นต่อประสาทสัมผัสไปทีละอย่าง ทีละอย่าง
หากเรารับรสอาหาร รับรสเฉย ๆ “รู้เฉย ๆ” โดยไม่ต่อสายเรื่องเพิ่ม เช่น กับข้าวอร่อย-ไม่อร่อย เผ็ด-เค็ม-หวาน-มัน รู้ แล้วหากเป็นไปได้ เราหยุดไว้ที่ขั้นของผัสสะ ฝึกที่จะเชื่องช้าให้มากขึ้น ลองช้าลงสักหน่อย เปิดโอกาสให้สิ่งที่ผ่านผัสสะได้เผยตัวอย่างเต็มที่
หากเราไม่หยุดไว้ที่ขั้นของผัสสะ วงล้อปฏิจจสมุปบาท ก็คงจะหมุนไปอีก จากการที่เราเพียงรับรู้รสเฉย ๆ การต่อเรื่องและการตัดสินก็อาจตามมา อาหารอาจจะเผ็ดไป หวานไป ข้าวเย็นไป ฯ เราอาจคิดถึงอาหารมื้อโปรดที่เคยกิน อาจเฝ้าฝันถึงร้านที่เราปักหมุดไว้ อาจคิดว่าทำไมไม่สั่งร้านอื่นมา ฯ สายเรื่องสามารถดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ และเรื่อย ๆ เราเริ่มดิ้นรน กระวนกระวาย ใฝ่หาสิ่งอื่นมากกว่าการอยู่ตรงนี้ โดยไม่สามารถอยู่กับการรับรู้อย่างตรงไปตรงมา
“รู้เฉย ๆ”
แต่รู้อย่างเต็มที่ รู้รสของหมูกรอบ (ที่อาจจะไม่กรอบ) รสของปลา รสของผักบุ้ง รสข้าว ทั้งสัมผัสของช้อน ฯ เราตักเข้าปาก ลิ้นรับรู้รส เคี้ยว ๆ ๆ ให้ละเอียดอย่างช้า ๆ ค่อย ๆ กลืน จากนั้นวางช้อน ก่อนจะไปสู่คำใหม่ ซึ่งไม่ได้ต่อเนื่องกับคำก่อนอีกต่อไป ทุกอย่างเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง เราจัดแจงกับข้าวในช้อนให้พอดีคำ-ตักเข้าปาก-เคี้ยว-กลืน-วางช้อน เรื่อยไปจนจบมื้อ เมื่อกิจกรรมดำเนินไปเช่นนี้ อากัปกิริยาของความเคยชินที่ถูกผนึกรวมกันไว้ก็จะค่อย ๆ แตกตัวออกจากกัน เราจะเริ่มเห็น “ช่องว่าง” (gap) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อกิจกรรมไม่ได้เป็นไปโดยแพทเทิร์นซ้ำเดิม
โดยอาศัยช่องว่างนี้เอง การ break pattern จึงสามารถจะเกิดขึ้น
เพราะแท้จริงแล้ว เราสามารถเลือกได้เสมอว่าจะสัมพันธ์กับสิ่งตรงหน้าเช่นไร
ด้วยการฝึกฝนเช่นนี้ จากการกิน สามารถขยายไปสู่ส่วนอื่น ๆ ได้อีกมากมายในชีวิต ในกิจวัตรต่าง ๆ ของเรา อย่างเช่น การเดิน การกิน การนอน การแปรงฟัน ล้างจาน พับผ้า รดน้ำต้นไม้ ฯลฯ ที่ล้วนแต่มีแพทเทิร์นอยู่ในตัวเอง
เมื่อฝึกที่จะมีความแม่นนำต่อขณะปัจจุบันแล้ว ทุกสิ่งอย่างก็ย่อมสดใหม่เสมอ ปัจจุบันขณะดำรงอยู่ตรงนี้เสมอ เมื่อไปพ้นจากการกลไกการกระทำไปอย่างไม่รู้ตัว จึงเป็นอิสระจากกลเกมแบบเดิม ๆ ที่คอยฉุดรั้ง
ความเป็นไปได้ต่าง ๆ จึงสามารถเกิดขึ้น
มีความเป็นไปได้อีกมากมายที่รอให้เราเข้าไปสัมพันธ์
ความเป็นไปได้ในที่นี้เอง คือ Magic
เพื่อจะสามารถกลับไปสัมพันธ์กับ “แวบ” หรือ “วาบ” ของ enlightenment ที่อยู่ตรงนั้นเสมอ
แล้วเปิดโอกาสให้ความแม่นยำได้ทำงาน
เกิดทั้งมาที ใช้ชีวิตให้ “คุ้มค่า”
อีกสิ่งในชั้นเรียนที่มีคุณค่าน่าประทับใจจนจะไม่กล่าวถึงคงนับว่าเสียดายคือ “ข้อเตือนใจสี่ประการ” อันประกอบด้วย
1) ความล้ำค่าแห่งการเกิดเป็นมนุษย์
2) ความไม่เที่ยง
3) กรรม
4) ความบกพร่องแห่งสังสารวัฏ
หนึ่งในสี่ประการนี้ คงเป็นข้อแรกที่กระทบใจที่สุด
การได้เกิดเป็นมนุษย์นับเป็นสิ่งล้ำค่า การใคร่ครวญถึงความจริงข้อนี้ทำให้เรามีความเคารพต่อชีวิต เกิดความรักในตัวเอง ทำให้เห็นว่าในความเป็นมนุษย์ เรามีร่างกาย มีความนึกคิด เป็นความพอเหมาะพอดีของเหตุ-ปัจจัยอันแสนบังเอิญ ที่ทำให้เราได้พบเจอคำสอน ได้เรียนรู้การปฏิบัติ เป็นความเหมาะเจาะลงตัวยิ่งแล้ว หากว่ากันตามทรรศนะแบบพุทธทิเบตแล้ว การได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นเป็นโอกาสที่หาได้ยากที่สุดเหมือนมองหาดาวสักดวงบนฟากฟ้าเวลากลางวัน
ยิ่งไปกว่านั้น “มนุษยภูมิ” ยังเป็นภพภูมิที่เอื้อต่อการปฏิบัติทางจิตวิญญาณที่สุด ไม่สุขล้นหรือทุกข์เกินทนเหมือนอีกห้าภพภูมิ เกื้อกูลอย่างยิ่งต่อการบ่มเพาะภูมิธรรม เพื่อตระหนักถึงศักยภาพในการหลุดพ้นจากกงล้อที่หมุนวนไม่รู้จบจนดูเหมือนเป็นความจริงแท้นี้
เมื่อเราเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งมีชีวิตนึงแล้ว ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพบกับ “ความไม่เที่ยง” ซึ่งเป็นข้อเตือนใจประการที่สอง
“ความตาย” คำนี้สั่นสะเทือนเราเสมอเมื่อนึกถึง โดยส่วนตัวเองแล้ว คิดถึงคำนี้ทีไรก็รู้สึก “โหวง ๆ” แปลก ๆ จนหลายครั้งก็ทำเป็นไม่สนใจ แสร้งลืม ๆ ไปเสีย ที่สัมผัสได้ชัดที่สุดคงเป็นการจากไปของคนใกล้-ไกล ที่วนเวียนมาตามวาระดังคำทักทาย โดยไม่ได้มีโอกาสไตร่ตรองถึงสัจจะข้อนี้เท่าไรนัก เราอาจบอกว่า “ยังไม่ใช่เวลา ยังไม่ใช่คิวของเรา” แล้วเราก็แค่กลับไปใช้ชีวิตกันต่อไป
แน่นอนว่าการตระหนักถึงความตายทำให้เราอยากใช้ชีวิตให้ “คุ้มค่า” สมกับที่ได้เกิดมา เราอาจไล่คว้าจับความสุขใส่ตนให้มากที่สุด ให้คุ้มที่สุดก่อนจะจากโลกนี้ไป เมื่อผนวกกับกลไกอันรวดเร็วของโลกและสังคม ก็ยิ่งขับเคลื่อนเราไปในหนทางเช่นว่า หลายช่วงตอนของชีวิตที่เราฟังก์ชันไปตามแพทเทิร์นทางสังคม ค่านิยม ระบบเศรษฐกิจ หลายทีก็โดยข้อคิดเห็นของผู้อื่น และใด ๆ อีกมาก
ด้วยปรารถนาจะเก็บเกี่ยวความสุขให้มากที่สุด สวนทางกับเวลาอันมีจำกัดในชีวิต จึงมีความรีบเร่งอยู่ในนั้น เร่งเร้า รีบร้อน เพื่อจะรุดไป รุดไปข้างหน้า เวลาไม่คอยท่า เร่งเข้าไปอีกจะได้ใช้เวลาที่มีอยู่ให้ “คุ้มค่า” ที่สุด
หลายครั้งเหลือเกินที่เมื่อมองย้อนมาแล้วก็รู้สึกว่า เราเร่งร้อนเกินไปหรือเปล่า?
ในการฝึกปฏิบัติแบบหินยาน ซึ่งให้ความสำคัญกับการกระทำอย่างมีสติ ฝึกการช้าลงสักนิด ให้มีพื้นที่สักหน่อย ช้าลงอย่างให้ความใส่ใจและพินิจพิจารณาสิ่งที่สัมพันธ์เช่นที่เป็นจริง ๆ จึงเริ่มเกิดมุมมองที่เปลี่ยนไปว่า
สิ่งต่าง ๆ ไม่ได้เร่งร้อนขนาดนั้น
เราเองต่างหากที่เร่งร้อน
เราเร่งร้อนเกินไป รีบเร่งเกินไป ทำปัจจุบันอันล้ำค่าตกเรี่ยราดเรื่อยไปตามรายทาง
ตกอยู่ในกลไกอันรวดเร็วที่ขับเคลื่อนไปอย่างอัต(ตา)โนมัติ
ขาดความแม่นยำในสิ่งที่กำลังเกิดมีขึ้น สัมพันธ์กับปัจจุบันอันสดใหม่ด้วยท่าทีแบบเก่า
เราค่อย ๆ ตระหนักขึ้นมาว่า การฝึกที่จะกระทำอย่างมีวินัย อย่างค่อยเป็นค่อยไป ไปทีละอย่าง ทีละเรื่อง เพื่อจะรับรู้อย่างเต็มเปี่ยม รู้สึกอย่างเต็มเปี่ยม แท้จริงแล้วทำให้เราใช้ชีวิตอยู่ในชั่วขณะนั้นจริง ๆ และสามารถมีชีวิตอย่างเต็มเปี่ยม
สามารถจะใช้เวลาอันมีค่าในการได้เกิดเป็นมนุษย์
และเวลาที่ยังพอเหลือในชีวิตนี้
อย่าง “คุ้มค่า” มากยิ่งขึ้น
แด่ยานน้อยสุดหิน 🛸
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวิถีปฏิบัติขั้นหินยานจะเป็นรากฐานที่สำคัญก่อนจะนำไปสู่ยานอื่น ๆ ต่อไป
ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าหากเราฝึกปฏิบัติจนเจนจบในขั้นหินยานแล้ว จะสามารถวางวิถีปฏิบัติในขั้นนี้ได้โดยสิ้นเชิง หากเป็นการทำงานร่วมกันไปอย่างสอดประสานและหนุนเนื่องการปฏิบัติในขั้นอื่น ๆ ทั้งในการภาวนาและในสถานการณ์ชีวิตที่เราสัมพันธ์
เป็นทางหลุดพ้นด่านแรก ที่จะพาเราสู่ขั้นมหายาน (และวัชรยาน) ซึ่งว่าด้วยพื้นที่ว่างอันไพศาลและการสัมพันธ์กับโลกและผู้อื่นต่อไป แต่หากไร้ซึ่งความแม่นยำแห่งวินัยแล้ว คงเป็นการยากยิ่งที่จะเดินไปสู่เส้นทางที่เปิดกว้างและซับซ้อนขึ้น กลับกัน มีแนวโน้มมากเหลือเกินที่เราจะทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ พัวพัน ยุ่งเหยิงมากขึ้น เพราะแม้แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในกาย-ใจ เรายังไม่มีความแม่นยำพอจะจับได้ไล่ทัน
หินยานสอนสิ่งที่เป็นพื้นฐาน แต่ว่าไปแล้วก็เป็นฐานที่สำคัญที่สุด เป็นหินก้อนแรกสำหรับการตั้งต้นอย่างมั่นคง ปักหลัก ชี้ชัดเข้าไปให้เห็นว่า
ที่มาของความทุกข์ทั้งหลาย อาจสืบสายมาจากการที่เราไม่เคยมีความแม่นยำอยู่ในปัจจุบัน