บทความโดย ARIYA
สะท้อนประสบการณ์จากการร่วมเสวนา “หยั่งรากวัชรยาน” 21 พฤษภาคม 2566 ณ วัชรสิทธา
พุทธธิเบตด้วยแนวภาษาแบบเชอเกียม ตรุงปะ เป็นรู้จักในเมืองไทยเริ่มจากสมัยอาจารย์ ส. ศิวรักษ์ แล้วสินะ และมีคนกลุ่มเล็กๆ มาช่วยกันแปลหนังสือตั้งแต่ตรงนั้นมาใช่มั้ยนะ พลังงานแห่งสายธรรมและพลังงานแห่งธรรมะวัชรยานของเชอเกียม ตรุงปะ ได้แทรกซึมอยู่ตามชั้นหนังสือมาเนิ่นนานเพื่อผู้แสวงหา
จวบจนเริ่มมีอินเตอร์เน็ต google สามารถ search หา keyword “ภาวนา”, “ชัมบาลา”, ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีwebboard ที่มีคนนำมาลงให้อ่านฟรี ส่วนตัวมาเจอธรรมะแนวเชอเกียม ตรุงปะ ก็จากโลก online แล้วค่อยสืบหาสำนักพิมพ์ แหล่งวางจำหน่าย และครูบาอาจารย์ผู้ศึกษาและนำภาวนาแนวทางนี้มา จนมาเจอ คุณวิจักขณ์ (ครูตั้ม) และกลุ่มผู้ฝึกปฏิบัติในยุคปัจจุบัน
ก่อนการมีอินเตอร์เน็ต ตามร้านหนังสือแฟรนไชน์กระแสหลัก ก็มีแต่หนังสือ how to ที่ถูกโปรโมทให้เป็น best seller มากกว่าหนังสือแนวนี้ และก่อนจะมี facebook การแสวงหาหนังสืออ่านต้องไปถึงที่ (ซึ่งก็มีไม่กี่ร้าน เช่น ดวงกมล, ดอกหญ้า, ฯลฯ) คนแบบเราอ่านแล้วไม่รู้สึกตอบโจทย์การดำรงอยู่ ซึ่งมีทุกข์ซึมแทรกอยู่ทุกอณูรูขุมขน ต้องเผชิญทุกข์จากการก่อกรรมไว้เองเอาซะเลย หนังสือที่เห็นง่ายที่วางๆ ตามจุดหน้าร้าน ก็มีแต่ให้มุ่งไปสู่สำเร็จแต่แห้งแล้ง ไร้ใจ ไม่เชื่อมต่อจิตวิญญาณและรับรองการได้รับการยอมรับจากข้างนอกตลอด ขั้นตอนการไปสู่ความสำเร็จตามทฤษฎีต่างๆ ไม่มีคำว่า “ภาวนา” ไม่มีคำว่า “ไมตรี” ไม่มีคำว่า “ความดีพื้นฐาน” ไม่มีคำว่า “พุทธภาวะ” ไม่มีคำว่า “ฝึกตน” ฯล
ในปัจจุบัน การที่มีฆราวาสเช่น คุณวิจักขณ์ (ครูตั้ม) กับ อ.กฤษดาวรรณ เท่าที่รู้จัก ผู้มีปณิธานที่จะนำคำสอนวัชรยานมาสอนคนไทย และมีศรัทธาแห่งการฝึกตนด้วยตนเอง นอกจากนี้ทั้งสองท่านยังมีศักยภาพในการแปลคำสอนหรือบทความของครูบาอาจารย์ (ภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย. ภาษาธิเบตเป็นภาษาไทย) อย่างไม่เคยเห็นทั้งสองรู้สึกเบื่อที่จะถอดคำสอนให้ได้รสธรรมะให้ผู้มาศึกษาได้ถ่องแท้ในธรรมนั้นๆ
ประทับใจที่เวลามาเสวนาร่วมกัน ทั้งสองท่านต่างกล่าวด้วยตนเองว่า “ไม่รู้เลยว่าจะไปยังไงต่อ..” ในแต่ละคราวที่จัดกิจกรรมภาวนาหรือเสวนาหนังสือออกใหม่หรือจัดงานระดมทุนสร้างสิ่งปลูกสร้าง ช่างรู้สึกติดดิน สดชื่น มีใจรักในธรรมะ มีพลังงานการฝึกตนด้วยตนเอง และมีพลังงานครูบาอาจารย์หล่อเลี้ยง แต่แล้วเหตุและปัจจัยก็นำพา จนกลายออกมาเป็นมูลนิธิวัชรปัญญา โดยมีกลุ่มสังฆะวัชรปัญญา กลุ่มคนธรรมดาผู้ดุ่มเดินภาวนาบนทางแห่งตนกันไป แต่ก่อนจะมาเป็นมูลนิธิ ก็เป็นผู้ฝึกตนคนไร้บ้านกันมาก่อน แวะขอใช้ที่โน่นจัดกลุ่มภาวนาที ที่นั่นจัดกลุ่มภาวนาที ไปเรื่อย แต่พลังงานแห่งการฝึกปฏิบัติก็ยังมีอยู่ โดยการที่ครูตั้มมองว่าการได้ผูกมิตรกับสายปฎิบัติต่างสาย เฉกเช่น มูลนิธิ/สังฆะพันดารานั้นเป็นอะไรที่ธรรมชาติมาก จึงผูกสัมพันธ์กันเสมอมาช้านาน ไม่ว่าใครจะก่อตั้งเป็นมูลนิธิได้ก่อนหลัง ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญ เพราะมันไม่มีขอบแห่งการบ่งบอกการงอกงามของแต่ละสายธรรมที่จะมาหยั่งรากในเมืองไทย และไม่ต้องคำนึงถึงวงปี หรือมีจำนวนผู้ผ่านการฝึกปฏิบัติเป็นหลักฐานความสำเร็จ ไม่มีเลย มีเพียงปัจจุบันขณะ มีบทความคำสอนแปลออกมาต่างๆ นานา และเส้นทางอันปราศจากจุดหมายที่ทอดยาวให้ดุ่มเดินไปในความไม่รู้
ทว่าศรัทธาแห่งใจได้คัดกรองแล้วว่าถึงเวลาเหมาะสม ถึงเวลาต้องการให้เกิดเป็นสถานที่ ถึงเวลาต้องส่งทอดคำสอนเกี่ยวกับขั้นตอนนี้ขั้นตอนนั้นไปสู่ศิษย์ เท่าที่มองๆ ตาม facebook ก็เห็นแต่รอยยิ้มของครูตั้มและอาจารย์กฤษดาวรรณเวลาประชาสัมพันธ์กิจกรรมการงานการฝึกปฏิบัติ แม้ในทางรูปธรรมไม่ว่าจะเป็นตอนยังไม่ได้สร้างสถานที่อะไร หรืออยู่ระหว่างสร้างไม่เสร็จซักที หรือกลุ่มคนไม่กี่คนที่สนใจมาฝึกกัน และด้วยการไม่ได้คาดหวังอะไรจากการลงแรงลงหัวใจให้แต่ละการงาน แต่ละกิจกรรม แต่ละประสบการณ์ แต่ละความศรัทธา จึงหลั่งไหลมาอย่างไม่มีใครบังคับ มาเยี่ยมชม มาสนับสนุนหลายรูปแบบ อย่างไม่เคยขาดและบริสุทธิ์ใจ
หนนี้เสวนา เริ่มด้วยการดูหนัง When The Iron Bird Flies ที่จะดูอีกกี่ทีก็รู้สึกรื้น สุกๆ ดิบๆ ไปตามสภาพแวดล้อมของแต่ละที่ ทว่าน่าสนใจใคร่รู้ ทุกผู้คนที่ถูกเลือกให้มาเป็นผู้ถ่ายทอดสายธรรม หรือแม้แต่ฝึกตนส่วนตัวเพื่อเรียนรู้ ไม่ได้มี charisma โดยธรรมชาติที่สามารถจะไปถ่ายทอดให้ใคร ก็ยังอยู่บนหนทางการภาวนาด้วยเคารพ เปี่ยมปัญญา มีความสุข และศรัทธา ออกมาเป็น style minimal ของแต่ละคนไป เป็นบรรยากาศให้ผู้ชมภาพยนตร์ได้สะท้อนมองพลังชีวิตแห่งการฝึกปฏิบัติส่วนตน ดวงตา ด้วยความติดดินแห่งแนวทางการถ่ายทอด ที่ผู้ฝึกปฏิบัติทำไปมากน้อยตามแต่แต่ละคน สายธรรมจากทิเบตแต่ละสายจึงเติบโตและสนับสนุนกันและกันเสมอ ไม่มีภาคบังคับกฎเหล็กหนักหนาให้ผู้ฝึกรู้สึกเป็นหน้าที่ แต่มาจากแรงบันดาลใจ มีความท่วมท้น มีความรู้สึกยังเป็นประโยชน์เพื่อหลายภูมิประเทศบนโลกใบนี้ อย่างไม่ใช่กระแสหลักมาแต่ไหนแต่ไร
การเสวนาโดยครูบาอาจารย์จากทั้งสองมูลนิธิ เปี่ยมด้วยพลังงานของผู้เรียนรู้ด้วยชีวิต ด้วยใจรัก ด้วยความเคารพและเปี่ยมศรัทธา ที่ต่างกัน อีกทั้งมีแรงบันดาลใจที่อยากจะสอนใครก็ได้ในเมืองไทย การแชร์ประสบการณ์จึงเปี่ยมพลัง ไม่มีหมดไปจากอินทรีย์ฐานกายเลยไม่ว่าจะผ่านความเหนื่อยยาก เผชิญกับความไม่สะดวกสบาย หรือแม้ถูกหลอก หรือมีคนไม่เข้าใจ หากธรรมะนั้นดีแล้วในเบื้องต้น ดีแล้วในท่ามกลาง และดีแล้วในบั้นปลาย การได้มาฟังครูบาอาจารย์ทั้งสองก็ถือว่า การได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นเป็นพรที่ไม่มีประมาณ ที่ได้มาฟัง ได้มารับรู้ เป็นประจักษ์พยานต่อพลังแห่งสติปัญญา เติมเต็มชีวิตให้ไปเผชิญกับความไม่เป็นธรรม การหลอกล่อยอกย้อนของอัตตา โดยไม่นำแรงกายไปร่วมกรรมแบบนั้นหรือก่อกรรมเพิ่มทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น
ส่วนการถ่ายทอดซักถามประสบการณ์ผู้ฝึกปฏิบัติของสังฆะทั้งสองก็เป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติและธรรมดา ไม่ซับซ้อน เปี่ยมด้วยใจ เคารพและศรัทธาในเส้นทางของศิษย์ผู้ฝึกตนและอุทิศตนบนหนทางที่ครูบาอาจารย์เห็นว่าควรแล้วเหมาะสมต่อศิษย์แล้ว การฝึกปฏิบัติที่ชีวิตทุกคนไม่ได้ถูกบังคับหรือถูกทำให้กลัวเพื่อการบรรลุธรรม แต่ฝึกตามแนวคำสอนวัชรยานอันบริสุทธิ์และได้เข้าถึงแก่นธรรมด้วยตนเอง บรรยากาศในห้องจึงสัมผัสได้ถึงความเป็นตัวของตัวเองและความอ่อนน้อมระลึกรู้คุณของผู้ปฏิบัติ ประทับใจที่เมืองไทยมีคนกลุ่มน้อย แต่ไปต่อ และไปต่อกับเส้นทางฝึกตนของตนเองในแต่ละสายธารธรรม
แม้จะเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่ก็ไม่รู้สึกย่อหย่อนจากหนทางแห่งตนกันเลย รวมถึงผู้มาฟังที่จะยังไม่ได้อยู่ในเส้นทางของสายไหนหรือมีอยู่เองแล้วก็ไม่รู้ ก็มาร่วมยินดีการได้มาฟังศรัทธาแห่งสายธารธรรมจากสองกลุ่มเล็กๆ ซึ่งมี โยงใยอันมองไม่เห็นกัน แต่ปรารถนาดีต่อกันในด้านการฝึกตนบนเส้นทางของเค้าเองในสายธรรมที่เลือกเอง ท่ามกลางโลกแห่งการกระหน่ำโฆษณา กระตุ้นให้เกิดเปลี่ยนแปลงโน่นนี่ หรือสรรเสริญการใช้หัว ให้เชื่อความคิดเกินไป หรือกังวลมากทำให้ตัวเองเส้นเลือดสมองแตกกันไปเลยก็มี
ขอให้การฝึกปฏิบัติโดยมีฐานกายอันตื่นรู้ ดำเนินต่อไป โดยไม่มัวให้ความสนใจต่อการเปลี่ยนแปลงหรือการยอมรับจากภายนอก ขอให้เส้นทางเติบโตงอกงามคลี่บานจากข้างในต่อไปและต่อไป โดยดำเนินตามแนวทางที่สายธรรมได้สืบทอดมาและปรับนิดปรับหน่อยให้เหมาะกับบริบทสังคมไทยตอนนี้ ทั้งโดยครูตั้มและโดยอาจารย์กฤษดาวรรณ
ขอให้ครูบาอาจารย์แห่งสายธรรมอำนวยอวยพร