First Turning หมุนกงล้อครั้งที่หนึ่ง : อริยสัจสี่

บทความโดย ซกเช็น พลลภ รินโปเช
แปลโดย วิจักขณ์ พานิช


พระพุทธเจ้านำเสนอคำสอนที่ก้าวหน้าเป็นลำดับ เหมาะสมกับความต้องการทางจิตวิญญาณที่แตกต่างกันของผู้ฟัง ซกเช็น พลลภ รินโปเช อธิบายให้เห็นภาพของการหมุนกงล้อธรรมสามครั้งของพุทธะ

ด้วยมหากรุณาและอุปายะอันไม่มีเทียบเทียม ศากยมุนีพุทธะสอนธรรมในหนทางที่จะนำสรรพสัตว์สู่อริยมรรคแห่งการหลุดพ้น ด้วยการค่อยๆ เผยความเข้าใจใน absolute nature of reality ในสถานการณ์เหล่านี้ ท่านสอน relative reality ก่อน เริ่มจากการให้นิยาม ความหมาย และเนื้อหาของสัจธรรมที่ผู้คนสามารถสัมพันธ์ด้วยได้ จากนั้นท่านจึงค่อยๆ สอน ultimate reality อย่างตรงไปตรงมา ด้วยภาษาและชุดคำสอนที่ต่างออกไป

ตลอดช่วง 45 ปีของการสอน พุทธะศากยมุนีหมุนกงล้อพระธรรมสามครั้ง แต่ละครั้งเป็นจุดเริ่มของชุดคำสอนใหม่เพื่อยังประโยชน์แก่สรรพสัตว์ การหมุนกงล้อสามครั้งนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ธรรมจักร” แห่งอริยสัจ (หมุนครั้งที่ 1) ธรรมจักรแห่งความว่าง (หมุนครั้งที่ 2) และ ธรรมจักรแห่งพุทธภาวะ (หมุนครั้งที่ 3)

การหมุนกงล้อพระธรรมครั้งที่ 1 เกิดขึ้นที่ป่าอิสปตนมฤคทายวัน เมืองสารนาถ ไม่นานหลังจากการตรัสรู้ ในตอนนั้น พุทธะแสดงธรรมคำสอน อริยสัจ4 , กรรม , และอนัตตา คำสอนเหล่านี้ได้ก่อร่างพื้นฐานให้แก่ “พาหนะรากฐาน” เส้นทางแห่งการหลุดพ้นของแต่ละบุคคล (The Path of Individual Liberation) หรือพาหนะแห่ง “ผู้ฟัง” หรือ “ผู้ได้ยินคำสอน” หรือ สาวกยาน

การหมุนกงล้อพระธรรมครั้งที่ 2 และ 3 ก่อร่างพื้นฐานให้แก่ “พาหนะใหญ่” หรือ มหายาน การหมุนครั้งที่สองเกิดขึ้นที่เขาคิชกูฎ เมืองราชคฤห์ พุทธะแสดงคำสอน ปรัชญาปารมิตาสูตร หรือพระสูตรแห่งความรู้อันข้ามพ้น ในเฟสนี้ของคำสอน พุทธะเน้นย้ำถึงความว่าง หรือธรรมชาติอันปราศจากการดำรงอยู่ที่ตายตัว ของทั้งตัวตนและปรากฏการณ์ การหมุนกงล้อครั้งที่สาม เกิดขึ้นในหลายที่ เริ่มต้นที่เมืองเวสาลี พุทธะแสดงคำสอน “ตถาคตครรภ์” หรือ พุทธภาวะ โฟกัสไปที่ธรรมชาติอันเรืองรองประภัสสรของความว่าง และเผยให้เห็นถึงศักยภาพแห่งพุทธะที่ดำรงอยู่ตรงนั้นอยู่แล้วเสมอในหัวใจของเรา

First Turning: อริยสัจสี่

ในการแสดงธรรมครั้งแรกต่อปัญจวัคคีย์ พุทธะสอนเรื่องความจริงสี่ประการ อันได้แก่ ความจริงแห่งทุกข์ ความจริงแห่งเหตุแห่งทุกข์ ความจริงแห่งการดับทุกข์ และความจริงแห่งเส้นทางสู่การดับทุกข์ พุทธะนำเสนอคำสอนทั้งสี่นี้เป็นสองเซ็ต เซ็ตแรกคือ เหตุและผลของสังสารวัฏ เซ็ตที่สองคือเหตุและผลแห่งนิพพาน สังสารวัฏหมายถึงสภาวะการดำรงอยู่ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยอวิชชา (ความเข้าใจผิดว่ามีตัวตนที่ตายตัว) อันนำไปสู่ความทุกข์ และนิพพานหมายถึงสภาวะแห่งการหลุดพ้นจากความทุกข์และการดับสิ้นไปของเหตุแห่งทุกข์ ซึ่งก็คือการสิ้นไปของอวิชชาและสังสารวัฏ

เมื่อพิจารณาความจริงทั้งสี่โดยละเอียด เราจะเห็นความจริงข้อแรก (ทุกข์) เป็นผลของความจริงข้อสอง (เหตุแห่งทุกข์) ส่วนความจริงข้อสาม (การดับทุกข์ หรือ นิพพาน) เป็นผลของความจริงข้อสี่ (เส้นทางสู่การดับทุกข์) เราจะมองเห็นว่าความจริงสี่ประการคือการเข้าใจความเป็นจริงอย่างเป็นเหตุเป็นผล สองข้อแรกคือเหตุและผลของสังสารวัฏ สองข้อหลังคือเหตุและผลของนิพพาน หรือ enlightenment

ความจริงแห่งทุกข์

สารที่ชัดเจนของอริยสัจสี่ข้อแรกคือ ทุกการดำรงอยู่และทุกประสบการณ์ในสังสารวัฏล้วนเป็นทุกข์ (ตั้งอยู่ไม่ได้นาน) อย่างไรก็ดี ในฐานะที่เกิดมาเป็นมนุษย์ เรามีทั้งศักยภาพและโอกาสในการทำงานกับความทุกข์ของตน

สเต็ปแรกของการนำเอาความทุกข์เข้ามาสู่เส้นทาง (อริยมรรค) คือการยอมรับความทุกข์ แทนที่จะหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธมัน เมื่อทำได้ เราก็จะมีพื้นอันหนักแน่นสำหรับพัฒนาการยอมรับอย่างลึกซึ้งขึ้นไปอีกว่า ทุกประสบการณ์ไม่ว่าน่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ ล้วนมีธรรมชาติของความทุกข์เหมือนกันทั้งนั้น การปฏิเสธสุขหรือทุกข์ไม่ได้ช่วยบรรเทาหรือปลดปล่อยเราออกจากความทุกข์ ทว่าหากเราไม่เผชิญความทุกข์ เราก็ไม่อาจพบเส้นทางที่จะพาเราหลุดพ้นจากความทุกข์ได้

ทำไมความทุกข์จึงเป็นธรรมชาติพื้นฐานแห่งการดำรงอยู่ของเรา? ก็เพราะสรรพสิ่งที่ดำรงอยู่และที่เราสามารถมีประสบการณ์ด้วยในระดับ relative reality (ความเป็นจริงสัมพัทธ์/ความเป็นจริงทางโลก) ล้วนไม่เที่ยง และเกิดดับ เมื่อความไม่เที่ยงพบได้ในทุกระดับของการมีชีวิตอยู่ ความทุกข์จึงเป็นธรรมชาติพื้นฐานของสรรพชีวิตในสังสารวัฏ

เป็นเรื่องง่ายที่จะเข้าใจความไม่เที่ยงในระดับหยาบๆ ยกตัวอย่างเช่น บ้านที่สร้างใหม่ วันนึงก็จะเริ่มโทรม พัง และถึงจุดนึงก็ไม่มีอยู่อีกต่อไป อย่างไรก็ดี ยังมีความไม่เที่ยงที่เกิดขึ้นในระดับที่ลึกซึ้ง ในพุทธศาสนาพูดถึง ความไม่เที่ยงที่มีอยู่ในความต่อเนื่อง เมื่อเรามองเข้าไปยังประสบการณ์ชีวิตดีๆ จะเห็นชั่วขณะของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ของ “สภาวะธรรม” (elemental reality) เพื่อที่ว่าชั่วขณะถัดไปจะเกิดขึ้น ชั่วขณะปัจจุบันต้องดับลงเสียก่อน เมื่อมองธรรมชาติอันเป็นชั่วขณะของทุกประสบการณ์ เราจะเห็นถึงภาวะอันปราศจากทางเลือกของชีวิต เอาจริงๆ เราเลือกได้ไหมที่จะอยู่ในชั่วขณะนี้ต่ออีกในชั่วขณะถัดไป? คำตอบคือไม่ได้ เราไม่มีทางเลือก นอกเสียจากการปล่อย เราไม่อาจยึดประสบการณ์ใดนานกว่าชั่วขณะสั้นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ของสุขหรือทุกข์

เป็นเรื่องยากมากที่จะเข้าใจและยอมรับความจริงแห่งทุกข์อย่างแท้จริง มันต้องอาศัยการค่อยๆ เข้าใจผ่านกระบวนการสามทบของ การฟัง การใคร่ครวญด้วยใจ และการภาวนา อย่างได้ก็ดี เมื่อเข้าใจความไม่เที่ยงอันลึกซึ้งของชีวิต เราก็จะเข้าใกล้มากต่อความเข้าใจความว่าง อันเป็นธรรมชาติสูงสุดของสรรพสิ่ง

ความจริงแห่งเหตุแห่งทุกข์

ครั้นตระหนักได้ในความจริงแห่งทุกข์ คำถามต่อไปคือ “แล้วอะไรคือสาเหตุของความทุกข์นี้ล่ะ?”

ในอริยสัจข้อสอง พุทธะกล่าวว่า ความทุกข์ของเราเกิดขึ้นจากความเชื่อที่ผิด (อวิชชา) ว่ามีตัวตนที่ตายตัว แน่นอน ถาวร การยึดมั่นนี้เองเป็นพื้นฐานให้แก่ความขุ่นมัวในจิตใจและอารมณ์ลบๆ ทั้งหลายเกิดขึ้น

ยาพิษทั้งสาม หรือ “กิเลส” เป็นแรงขับเคลื่อนสภาวะธรรมไปตามอำนาจของอวิชชา อาจกล่าวว่ากิเลส คือ “impulse” ของ(อวิชชาว่ามี)ตัวตนนั่นเอง ด้วยอำนาจของยาพิษทั้งสาม นำไปสู่พัฒนาการของอารมณ์ลบๆ ทั้งหลาย ความมัวหมอง สับสน และหลากหลายแง่มุมของความทุกข์ เนื่องด้วยยาพิษเหล่านี้เป็นผลมาจากการยึดมั่นในตัวตน เหตุแห่งทุกข์ทัั้งมวลก็คือการยึดมั่นว่ามีตัวตน นั่นเอง

เมื่อใคร่ครวญประสบการณ์ความทุกข์อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น เราจะเห็นว่าความทุกข์นั้นยังเชื่อมโยงกับการกระทำของเราอีกด้วย ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำกับความทุกข์ พุทธศาสนาเรียกการกระทำว่า “กรรม”ซึ่งเป็นคำกลางๆ ใช้สื่อสารถึงความสัมพันธ์ที่เป็นธรรมชาติของเหตุและผล ในระดับสภาวะธรรมที่ลึกซึ้ง กรรม เกี่ยวข้องกับการกระทำภายในจิตใจ ไม่ว่าจะเป็น มูฟเมนท์ของความคิด เจตจำนง และแรงบันดาลใจ การกระทำทางจิตนี้นำไปสู่การกระทำทางกาย ทางวาจา และส่งผลต่อๆ ไปยังผู้อื่นและโลกภายนอก กระนั้นในความเข้าใจที่ลึกซึ้ง กรรมทั้งปวงล้วนเกิดขึ้นในจิตใจ แทนที่จะเป็นแค่ในระดับกายภาพอย่างที่มักเข้าใจ

เราต่างล้วนเกี่ยวข้องกับการสั่งสมกรรม ในพุทธศาสนา การสั่งสมนี้แบ่งออกได้เป็นสามประเภท ได้แก่ กรรมที่เป็นลบ (อกุศลกรรม) กรรมที่เป็นบวก (กุศลกรรม) และกรรมที่เป็นกลางๆ จากมุมมองเช่นนี้ ไม่ว่าความคิดใดที่เราหมกมุ่นหรือใช้สร้างความบันเทิง ล้วนทิ้งร่องรอยกรรมไว้ในจิตของเรา รอยประทับลบๆ ที่ถูกทิ้งไว้โดยการกระทำที่ทำร้ายตนเองและผู้อื่น ซึ่งโดยมากเกิดขึ้นจาก ความเกลียดชัง ความอิจฉาริษยา ความก้าวร้าวรุนแรง และความโลภ ชั่วขณะที่ความคิดเกี่ยวพันอยู่กับความก้าวร้าว มันมีพลังอำนาจมาก และจะหว่านเมล็ดพันธุ์ลบๆ เอาไว้ในจิต ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความก้าวร้าวอีกครั้ง เป็นความจริงที่แน่นอนเหมือนการหว่านเมล็ดพริกที่จะนำไปสู่การเกิดและมีอยู่ของต้นพริกในอนาคต

เมื่อเราตกอยู่ภายใต้อิทธิพลการหมุนวนของจิตอย่างไม่หยุดหย่อน (สังสารวัฏ) เราก็กำลังหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความสับสนและความบีบคั้นไว้ในกระแสจิต โดยพื้นฐานแล้ว ธรรมชาติของจิตนั้นบริสุทธิ์และปราศจากความสับสนใดๆ การเอาตัวเองเข้าไปสัมพันธ์กับอกุศลกรรมที่ทิ้งรอยประทับลบๆ ไว้ในจิต ก็เหมือนกับการใส่รองเท้าเปื้อนโคลนเน่า เดินเข้าไปในห้องที่สวยสะอาด ไม่ว่าจะเดินไปตรงไหนของห้อง เราก็ทิ้งรอยเท้าไว้บนพื้น จิตของเราคือพื้นที่สะอาดหมดจด อกุศลกรรมที่เราสร้างไว้เหมือนการเดินอย่างไร้สติด้วยรองเท้าเปื้อนโคลน รอยประทับของกรรมลบๆ ถูกทิ้งไว้ในกระแสจิตของเรา ไม่ต่างจากรอยเท้าในพื้นที่สะอาด เราเองที่เป็นผู้ปั่นวงล้อสังสารวัฏและเพิ่มความสับสนและความทุกข์ให้กับตัวเอง

ความจริงแห่งความดับทุกข์

อริยสัจข้อสาม คือความดับทุกข์ แม้พุทธะจะสอนว่าความทุกข์นั้นแผ่ซ่านทั่วไปทั้งหมดของประสบการณ์ในสังสารวัฏ แต่ก็สอนด้วยว่า ความทุกข์เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราว ไม่ต่อเนื่อง และเราสามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ เมื่อเราค้นพบเหตุแห่งทุกข์ แล้วลงมือดับทุกข์ที่ต้นเหตุ การยึดมั่นในตัวตนและอารมณ์กวนใจทั้งหลายก็จะหยุดลงทันที

“ความดับ” ในที่นี้คือ นิพพาน ที่ซึ่งความหลงผิดและความปั่นป่วนทางใจทั้งหลายถูกเอาชนะ เป็นสภาวะที่จิตใจได้รับการปลดปล่อยอย่างไร้เงื่อนไข (อรหันตสภาวะ) นิพพานถือเป็นขั้นสูงสุดแห่งการรู้แจ้ง บนเส้นทางการหลุดพ้นของแต่ละบุคคล (the path of individual liberation)


ความจริงแห่งเส้นทาง

อริยสัจข้อสี่ คือเส้นทางที่นำไปสู่ความดับทุกข์ เมื่อพุทธะแสดงให้เห็นถึงเหตุและผลแห่งนิพพาน ท่านยังแสดงให้เราเห็นด้วยว่าการจะไปสู่ความทุกข์หรือการหลุดพ้นนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างสุ่มๆ แต่เราทุกคนสามารถเลือกได้ หากสร้างเหตุที่นำไปสู่ความทุกข์ เราก็สามารถสร้างเหตุที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์หรือการหลุดพ้นได้อย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นเราจึงสามารถพาตัวเองไปสู่เส้นทางของการกระทำที่จะส่งผลในสิ่งที่เราปรารถนา เมื่อเลือกแล้วที่เข้าสู่เส้นทางแห่งความดับทุกข์ เราปฏิบัติตามคำสอนและแนวทางต่างๆ ที่พุทธะได้แสดงไว้ อันจะนำเราไปสู่การรู้แจ้งในปัญญาญาณและสันติภาพที่ดำรงอยู่แล้วภายใน

เส้นทางที่พุทธะแสดงไว้ เรียกว่า เส้นทางอันประเสริฐแปดประการ ซึ่งเป็นเส้นทางที่ประกอบด้วยการฝึกตนสามด้าน ได้แก่ ศีล (ความเป็นปกติพื้นฐานของจิต) สมาธิ (การภาวนา) และ ปัญญา (ความรู้แจ้งในอริยสัจสี่)

แขนงทั้งแปดของเส้นทางประกอบด้วย Right View (ทิฐิ, วิชชา), Right Mindfulness (สติ), Right Concentration (สมาธิ) Right Speech (วาจา), Right Thinking/Intention (ความคิด) Right Action (การกระทำ), Right Livelihood (เลี้ยงชีพ), Right Effort (เพียร)

การปล่อยวางและความไม่มีตัวตน

เมื่อเราก้าวเดินบนเส้นทางสู่การหลุดพ้น สำคัญที่เราจะต้องพัฒนาความเข้าใจที่จริงแท้ต่อการสละละวาง (renunciation) ด้วยความปรารถนาที่จะปลดปล่อยตัวเองออกจากสังสารวัฏโดยสิ้นเชิง การปล่อยวางที่แท้จริงเป็นผลจากความเข้าใจในความจริงแห่งทุกข์และความท่วมท้นของมัน ไม่ว่าคุณจะเกิดที่ไหน ไม่ว่าสถานการณ์ที่คุณเจอจะเป็นอย่างไร โดยพื้นฐานแล้ว สังสารวัฏคือประสบการณ์ของความทุกข์ ในพระสูตรเปรียบได้กับ “รังของงูพิษ” “หุบเขาลาวา” ศานติเทวะเปรียบว่า “งานเลี้ยงที่จัดโดยเพชรฌาต”

แน่นอนว่า สิ่งที่เราพยายามหลุดพ้นหรือออกมาจากมัน ไม่ใช่สถานที่จริงๆ แต่คือสภาวะจิตแบบสังสารวัฏทั้งหลาย กระนั้นความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเป็นอิสระจากความทุกข์ คือพื้นฐานของการแสวงหาหนทางสู่การหลุดพ้นจากสังสารวัฏ

แม้จะมีการปฏิบัติทางจิตวิญญาณมากมายที่สามารถนำเราไปสู่การหลุดพ้น พุทธะกล่าวว่าสาเหตุหลักอันจะนำไปสู่การบรรลุธรรมก็คือการรู้แจ้งในความไม่มีตัวตน

ในการหมุนกงล้อพระธรรมครั้งที่ 1 พุทธะเริ่มสอนมุมมองแห่งความว่าง ตอนที่ท่านสอนอริยสัจสี่ ท่านกล่าวว่า “ความทุกข์นั้นไม่เที่ยง ความไม่เที่ยงนั้นว่าง ความว่างนั้นไม่มีตัวตน” หรืออาจเรียบเรียงใหม่ได้ว่า “ความไม่เที่ยงนั้นเป็นทุกข์ ความทุกข์นั้นว่าง และความว่างนั้นไม่มีตัวตน ด้วยหนทางนี้ พุทธะแสดงธรรมแห่งความว่างได้เข้าใจง่ายมากๆ ในขณะที่เป็นเรื่องยากที่จะมีประสบการณ์กับความว่างอย่างตรงไปตรงมา พุทธะตระหนักว่า จะง่ายกว่าหากเริ่มต้นด้วยการสัมพันธ์กับประสบการณ์ของความทุกข์ของตนเอง

ครั้นเราเห็นความจริงแห่งความทุกข์แล้ว ก็ไม่ยากเกินไปที่จะเห็นธรรมชาติอันไม่เที่ยงและเป็นชั่วขณะไม่ต่อเนื่องของความทุกข์ อันจะนำไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้นของธรรมชาติอันไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง ซึ่งเป็นพื้นฐานของการรู้แจ้งในความว่าง

หนทางที่พุทธะแสดงธรรมขั้นสูงสุดในการหมุนกงล้อครั้งที่หนึ่ง ผ่านความเข้าใจในสภาวะธรรมแยกย่อยแห่งสรรพสิ่งอย่างค่อยเป็นค่อยไป พุทธะแค่บอกว่า “ตัวตน” หรือ “ฉัน” นั้นไม่เที่ยงแท้และไม่มีอยู่จริง อัตตานั้นว่างเปล่าและปราศจากการดำรงอยู่อย่างตายตัว ดังนั้นในการแสดงธรรมแห่งความว่างครั้งแรก พุทธะสอนถึงธรรมชาติแห่งความไม่มีตัวตน (อนัตตา) สภาวะธรรมอันปราศจากตัวตนส่วนบุคคล และหนทางแห่งการปล่อยวางจากการยึดมั่นตัวตนที่ไม่มีอยู่จริงนั้น เพื่อเข้าสู่สภาวะธรรมสูงสุดแห่งความว่าง



++++++++++++++++++++++++++++++++

หากท่านได้ประโยชน์จากการอ่านบทความชิ้นนี้ และชื่นชมการสร้างสรรค์เนื้อหาดีๆ บนเว็บไซท์นี้
ท่านสามารถร่วมบริจาคสนับสนุนการดำเนินงานของ vajrasiddha.com ได้ที่
ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกระบือ ชื่อบัญชี “มูลนิธิวัชรปัญญา” เลขที่ 053-3-67904-8