บทความโดย อานัม ทุบเท็น รินโปเช
แปลไทยโดย THANYA วัชรสิทธา [ ธัญญา ศรีธัญญา ]
แปลจากบทความ Chöd: The Practice of Cutting Through by Anam Thubten
https://www.buddhistdoor.net/features/chod-the-practice-of-cutting-through/
กษัตริย์ซงเซ็น กัมโป แห่งธิเบตได้นำพุทธศาสนาเข้ามาเป็นศาสนาหลักของชาติในช่วงการครองราชย์ โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากวัฒนธรรมประเทศเพื่อนบ้านที่แผ่ขยายเข้ามาในธิเบต ท่านได้สั่งให้ เทินมี ซัมโภตา พระอาจารย์ในธิเบต พัฒนาภาษาเขียนธิเบตขึ้น ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นระบบภาษาที่รักษาคัมภีร์พุทธศาสนาโบราณไว้มากมาย และได้รับการถ่ายถอดมาจนถึงทุกวันนี้
พระซัมโภตาแปลคัมภีร์จากสันสกฤตเป็นภาษาเขียนธิเบตระบบใหม่นี้เพียงแค่จำนวนหนึ่ง แต่นั่นก็เป็นผลงานอันสำคัญในการวางรากฐานการแปลคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ มาเป็นภาษาธิเบตในอีกหลายศตวรรษต่อมา หลังจากยุคสมัยของกษัตริย์ซงเซ็น กัมโป ธิเบตใช้เวลาอีกหลายชั่วอายุ กว่าพุทธศาสนาจะหยั่งรากลงในดินแดน ต่อมากษัตริย์ตรีซง เด็ทเซน ได้เชิญเหล่าธรรมาจารย์จากอินเดีย เช่น ท่านศานตะรักษิต มายังธิเบต และสร้างวัดขึ้นเป็นแห่งแรก พระอาจารย์ศานตะรักษิตบวชให้ชาวธิเบต สร้างสังฆะนักบวชขึ้นมาในดินแดนที่มีแต่ความเชื่อพื้นถิ่นดั้งเดิมมาเป็นเวลาช้านาน
พระศานตะรักษิตพบกับแรงต้านจากชาวธิเบตอย่างหนัก พวกเขารู้สึกว่าพุทธศาสนานั้นเป็นของนอกเกินไป หรือไม่ก็ขัดแย้งกับจิตวิญญาณดั้งเดิม พระอาจารย์ไม่สามารถสื่อสารหรือเข้าถึงพวกเขาได้เลย เพื่อที่จะฝ่าฝันแรงต้านนี้ กษัตริย์ตรีซง เด็ทเชน จึงเชิญคุรุปัทมสัมภวะ ผู้ปรีชาญาณในการนำพาผู้คนชาวธิเบตเข้าสู่เส้นทางพุทธศาสนา และด้วยความบากบั่นของคุรุปัทมสัมภวะ ชาวธิเบตจึงเริ่มโอบรับพุทธศาสนาเข้ามา และหลายคนก็เกิดการรู้แจ้งจากการฝึกปฏิบัติธรรมะ ชาวธิเบตจึงมองว่าอินเดียคือบิดาทางจิตวิญญาณ และได้เชิญคุรุจากอินเดียมาในฐานะต้นกำเนิดธรรมะที่แท้จริง พวกเขายึดถือในคำสอนและคัมภีร์ที่แปลจากภาษาสันสกฤตอยู่เป็นระยะเวลานาน ในท้ายที่สุด ชาวธิเบตเริ่มรู้สึกมั่นคงในความเข้าใจและการฝึกฝนทางพุทธศาสนาของตน และพวกเขาก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นไปจากขั้นของการวางรากฐานนี้
ชาวธิเบตไม่ได้เพียงนำพุทธศาสนามาจากอินเดียเท่านั้น พวกเขาเพิ่มความรุ่มรวยและกลิ่นอายเฉพาะตัวเข้าไปด้วย เฉอด เป็นตัวอย่างที่ดีในการชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการดังกล่าว เฉอด เป็นการฝึกปฏิบัติที่ทรงพลัง ค่อนข้างจะแตกต่างกับการฝึกปฏิบัติทางพุทธศาสนาอื่นๆ การฝึกปฏิบัตินี้มีต้นกำเนิดมาจากอินเดีย ต่อมา ธรรมาจารย์หญิงในศตวรรษที่ 12 ที่ชื่อ มาฉิก ลับดรอน ได้พัฒนาการฝึกเฉอดอย่างเป็นระบบขึ้นมา ซึ่งภายหลังได้รวมเข้ามาอยู่ในขนบธิเบตทั้งหมด ธรรมาจารย์มาฉิกเป็นผู้หญิงเพียงคนเดียวที่เป็นที่รู้จักในฐานะมารดาผู้วางรากฐานอันสมบูรณ์ของการฝึกนี้ กล่าวกันว่า คำสอนเฉอดของเธอเดินทางย้อนกลับไปหาอินเดีย ดินแดนต้นกำเนิดของพุทธศาสนา และกลายเป็นประวัติศาสตร์ของจุดเปลี่ยนฉากทัศน์พุทธศาสนาธิเบต ที่ในก่อนหน้านั้นอินเดียไม่ยอมรับธรรมาจารย์ชาวธิเบต เพราะถูกมองเป็นเพียงระดับศิษย์เท่านั้น
ประเด็นสำคัญหนึ่งที่ควรกล่าวถึงคือ พลังอำนาจของบทสวดเฉอด ซึ่งโยคีหลายคนนำไปปฏิบัติ กรรมะ รังจุง ดอร์เจ ได้รวบรวมตัวบทเฉอด ซึ่งได้กลายมาเป็น บทสาธนา หรือบทบฏิบัติทางจิตวิญญาณ รู้จักในชื่อว่า มาลัยรัตนะแห่งเฉอด (Jewel Garland of Chod) ซึ่งมีส่วนสำคัญมากในการรักษาสายธรรมเฉอดไว้จากการถูกเจือจางและลดทอนโดยผู้คนที่ไม่ได้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง ท่านตระหนักถึงความล้ำลึกของเฉอดและวิธีการบางอย่างที่สามารถเข้าใจผิดได้ง่ายๆ เมื่อคำสอนเฉอดเผยแพร่ออกไป ซึ่งข้อนี้ก็ยังคงต้องตระหนักอยู่เสมอ ซา ปาตรุล รินโปเช แสดงออกถึงความห่วงใยในประเด็นนี้อย่างมาก ท่านเขียนบทกวีเสียดสีกล่าวเยาะเย้ยการนำเฉอดไปใช้ในทางที่ผิด นอกจากนี้ยังมีบทสาธนาเฉอดที่เป็นที่รู้จัก เช่น เสียงหัวเราะของฑากินีของจิกเม ลิงปะ (Dakini’s Laughter by Jigme Lingpa) ธรรมชาติของการหลุดพ้นแห่งความโลภ ของ โด เคียนเซ (Do Khyentse’s Natural Liberation of Grasping) และ โทรมาสาธนา ของ ดุจจอม ลิงปะ (Dudjom Lingpa’s Troma Sadhana)
เฉอดจัดว่าเป็นส่วนผสมของปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตรและวิถีตันตระ เห็นได้จากการเน้นย้ำถึงหลักธรรมของความว่างและการใช้เทคนิคที่มีโดยทั่วไปในวัชรยาน เจอดพัฒนาจากจุดเริ่มต้นด้วยการกลืนเข้ากับวิถีดั้งเดิมต่างๆ บทสวดเฉอดหลายบทในสายนญิงมามีรากฐานมาจากคำสอนซกเชน แม้แต่คำศัพท์ที่ใช้ก็ต่างจากเจอดในสายปฏิบัติอื่นๆ หลายบทมองว่าเป็น เตอร์มา หรือบทเขียนที่เผยขึ้นมากจากปัญญาในภพภูมิอื่นที่ไปพ้นจากสติปัญญามนุษย์
เจอดใช้นิมิตและการสร้างจินตภาพมากมายในการปลุกเร้าปีศาจในตัวเรา หรือกิเลส (ยาพิษภายใน) การยึดติด ความกลัว ความเกลียดชัง ความหยิ่งผยอง ความอิจฉา ความไม่รู้ และอื่นๆ เมื่อสิ่งเหล่านี้ถูกนำขึ้นมาอยู่ในแสงสว่างแห่งความตระหนักรู้ของเรา เรามีวิธีการที่จะตัดทะลวงมันไปอย่างเฉียบขาด จากการที่ยึดว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นตัวเรา ผู้ปฏิบัติจะสร้างจินตภาพว่าตัวเองเป็นองค์พระ เชื้อเชิญกิเลสเข้ามาในรูปของภูติผีปีศาจ มอบอาหารเครื่องถวายให้แก่พวกมัน จากนั้นก็สลายมันด้วยความรู้สึกของการหลุดพ้นภายใน ที่ไม่รู้สึกถึงโซ่ตรวนของพลังงานเหล่านี้อีก การฝึกนี้ทรงพลังมากหากทำอย่างถูกวิธี
ส่วนสำคัญของเฉอด คือการเดินทางตามลำพังตามเส้นทางและหยุดในสถานที่ต่างๆ เพื่อที่จะฝึกปฏิบัติ บนเส้นทางนี้ เราสามารถนำกิเลสขึ้นมาบนพื้นผิว มอง เผชิญหน้ากับมันด้วยความเมตตาและกล้าหาญ แล้วปล่อยวางการยึดติดกับมันเสีย นี่คือวิธีค้นพบความหลุดพ้นภายในที่ทรงพลัง ที่มีการยืนยันรับรองมากมายนับไม่ถ้วนในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มีเรื่องเล่ามากมายของเหล่าโยคีที่ผ่านการแปรเปลี่ยนภายในบนเส้นทางสู่การหลุดพ้น
ปัจจุบันนี้ เฉอดเป็นที่นิยมมากขึ้นนอกธิเบต โดยเฉพาะในโลกตะวันตก ที่ผู้คนเหนื่อยหน่ายกับโลกวัตถุนิยมและศาสนากระแสหลัก ง่ายที่ผู้คนจะสวดเฉอดในแง่ของธรรมะแห่งจิตอันเป็นอิสระ พวกเขายังสามารถมีภาพสวยงามว่าตัวเองกำลังเดินบนเส้นทางขึ้นภูเขา เป็นอิสระจากความกังวลทางโลกใดๆ และอยู่ในกระบวนการอันทรงพลังของการตื่นรู้ภายใน