บทความโดย วรวีณ
บทสะท้อนจาก Joao Rodrigues Sensei’s Avalokita talk #26
Thousand Arms, Thousand Eyes : Avalokiteshvara in Everyday Life
อวโลกิตะได้ต้อนรับโจอาวเซนเซ ธรรมาจารย์สายเซนชาวโปรตุเกส ซึ่งเป็นพระเซนในสายธรรมของธรรมาจารย์เซนชาวญี่ปุ่น Taizan Maezumi Roshi หนึ่งในผู้นำพุทธศาสนานิกายเซนไปเผยแพร่สู่ตะวันตก โจอาวยกปริศนาธรรมจากบทสนทนาระหว่างธรรมาจารย์เซนสองท่านได้แก่ Yunyan Tansheng และ Daowu Yuanzhi ในศตวรรษที่ 8 โดยปริศนาธรรมนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการภาวนาในสายปฏิบัติเซน และโจอาวสัมพันธ์กับปริศนาธรรมนี้ในฐานะบทสะท้อนมุมมองต่อความกรุณาในวิถีเซน
Yunyan: “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรใช้พันมือและพันตาอย่างไร”
Daowu : “มันก็เหมือนคนที่เอามือไปคว้าหมอนข้างหลังศีรษะในตอนกลางดึก”
Yunyan: “เข้าใจแล้ว”
Daowu : “ท่านเข้าใจว่าอย่างไร”
Yunyan: “ตลอดทั่วร่างกายคือมือและตาเหล่านั้น”
Daowu : “นั่นเป็นคำกล่าวที่ดีมาก แต่มันเป็นเพียง 8 ส่วน 10 ของคำตอบ”
Yunyan: “เช่นนั้นท่านจะกล่าวว่าอย่างไร พี่ชาย”
Daowu : “ทั่วทั้งร่างกายเป็นมือและตาเหล่านั้น”
พระอวโลกิเตศวร ได้ชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์แห่งความกรุณา ผู้มีปณิธานตั้งมั่นที่จะเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏเพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นจากความทุกข์ ภาพพระอวโลกิเตศวรที่มี 11 เศียร พันตา พันมือ เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการรับรู้ รับฟัง พร้อมฉุดช่วยสรรพสัตว์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด โจอาวมองคำถามว่าพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรใช้พันมือและพันตาอย่างไรนี้ เป็นการสะท้อนว่าพวกเราจะปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อก่อประโยชน์ให้แก่ตัวเราและผู้อื่น
ธรรมชาติของปริศนาธรรมไม่ได้ให้คำตอบโดยตรง จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการข้ามพ้นความคิด หรือการวิเคราะห์ด้วยเหตุผล การสัมพันธ์กับปริศนาธรรมจึงเปิดกว้างและเป็นประสบการณ์ส่วนตัวของผู้ปฏิบัติแต่ละคนเอง มุมมองของโจอาวต่อปริศนาธรรมนี้สะท้อนถึงความกรุณาที่เป็นคุณสมบัติในตัวเราอย่างเป็นเนื้อเป็นตัว การแสดงออกของความกรุณาก็เหมือนกับการเอามือไปคว้าหมอนข้างหลังศีรษะในตอนกลางดึก มันเกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติและเป็นธรรมชาติ เมื่อเรากำลังหลับสะลึมสะลืออยู่แล้วหมอนหล่นไป เราก็เอื้อมมือไปคว้าหมอน โดยไม่ได้ใช้ความพยายามหรือความตั้งใจมุ่งมั่นพิเศษอันใด เราแสดงออกในลักษณะของความกรุณาเพราะเราคือความกรุณา โดยเราไม่ได้เอะใจคิดด้วยซ้ำว่านี่คือการแสดงออกของความกรุณา เราใช้ชีวิตของเราไปอย่างเป็นธรรมชาติและความกรุณานี้ก็อยู่ในทุกความคิดทุกการกระทำของเรา
และคำกล่าวที่ว่า มันเป็นเพียง 8 ส่วน 10 ของคำตอบ เมื่อฟังดูผิวเผินอาจให้ความรู้สึกว่ามันยังไม่ดีพอ ยังไม่ถูกต้องพอ ทว่าโจอาวได้เสนอมุมมองที่น่าสนใจว่า ลักษณะ 8 ส่วน 10 นี้ได้เปิดพื้นที่ให้ความเป็นไปได้อื่นๆ ให้การกล่าวตอบในรูปแบบอื่นๆ ดังเช่นที่ Yunyan กล่าวว่า “ตลอดทั่วร่างกายคือมือและตาเหล่านั้น” และ Daowu กล่าวว่า “ทั่วทั้งร่างกายเป็นมือและตาเหล่านั้น” การเปิดพื้นที่นี้เป็นช่องว่างให้เราได้สัมพันธ์กับผู้อื่น และในขณะเดียวกัน 8 ส่วน 10 ของคำตอบนี้ก็เป็นคำตอบทั้งหมดที่สามารถจะกล่าวได้แล้ว เพราะในความเป็นจริงนั้นมีบางสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายผ่านคำพูดได้ทั้งหมด และบางอย่างที่ไม่อาจจะกล่าวได้อย่างเต็มปากว่าเราเข้าใจทั้งหมดแล้ว นี่ไม่ใช่ความล้มเหลวหรือข้อจำกัด หากแต่เป็นการเป็นไปของสรรพสิ่งต่างๆอย่างที่มันเป็น
โจอาวเน้นย้ำว่าแม้ว่าความกรุณาเป็นคุณสมบัติที่มีอยู่ในตัวเราอยู่แล้ว แต่การแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาตินี้จะเกิดขึ้นได้อย่างแนบสนิทจริงๆผ่านการฝึกฝนปฏิบัติภาวนา การปฏิบัติภาวนาหรือ zazen (sitting meditation) เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราเปิดกว้างและเชื่อมโยงกับผู้คนและสิ่งต่างๆรอบตัวมากขึ้น เมื่อสิ่งขวางกั้นระหว่างตัวเรากับผู้อื่นเบาบางลง ความกรุณาจะเผยออกอย่างเป็นธรรมชาติในทุกขณะของชีวิต โดยไม่ได้ถือเป็นสิ่งพิเศษหรือสิ่งที่แยกขาดจากตัวเรา การภาวนาช่วยให้เราละทิ้งความต้องการที่จะบรรลุบางอย่าง เช่น ฉันอยากให้เขาดีขึ้น หรือฉันอยากแก้ปัญหาให้เขา และเป็นการเปิดพื้นที่ให้เราได้ตอบสนองต่อผู้คนหรือเหตุการณ์จากมุมมองที่พ้นไปจากกรอบการตัดสินของเรา เฉกเช่นเดียวกับการเผยออกของโพธิจิตที่ผลิบานจากภายใน โจอาวยังกล่าวว่าขอให้พวกเราเชื่อมั่นใน Basic goodness หรือความดีงามพื้นฐานในตัวเรา เชื่อมั่นในหัวใจและในปัญญาญาณ ความเป็นธรรมชาตินี้จะเกิดขึ้นเองจากการหมั่นฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง การปฏิบัติภาวนาจึงไม่มีที่สิ้นสุด และเราผู้ปฏิบัติก็กลายเป็นการปฏิบัตินั้น เรากลายเป็นการแสดงออกของคำสอนผ่านการตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ การใช้ชีวิตของเราเป็นพันมือและพันตาเหล่านั้น