“ผ่อนคลาย” : หัวใจของมหามุทรา

บทความโดย ธัญญา ศรีธัญญา



หัวใจสำคัญของการฝึกมหามุทราคือการ “ผ่อนคลาย” (relaxing) การที่ร่างกายหรือจิตไม่ผ่อนคลายหมายความว่าเราติดอยู่ในวังวนของการไล่ตามสิ่งต่างๆ ติดอยู่ในความคิด ติดอยู่ในมุมมองแบบทวิลักษณ์ 

ในคำสอนมหามุทราอันเป็นคำสอนระดับสูง ผู้ปฏิบัติได้ผ่านขั้นของการฝึกจิต รู้จักกลไกการทำงานของจิต (mind) ผ่านขั้นประสบการณ์ของความว่าง ตระหนักถึงรูปและความว่าง จิตคือความว่าง (no mind) และในขั้นของมหามุทราคือการฝึกธรรมชาติของจิต ซึ่งคือธรรมชาติของการตื่นรู้อยู่แล้ว (mind itself)

การผ่อนคลายในการฝึกมหามุทราไม่ใช่สิ่งที่จะได้มาด้วยการมีแอคชั่น ทำการแสดง หรือลงมือทำอะไร กลับกัน ประสบการณ์ความผ่อนคลายมาอย่างเป็นธรรมชาติเมื่อเราหยุด หยุดกิจกรรมทางจิต ไม่กระทำ ไม่ไล่ล่า ไม่พยายามไขว่คว้าอะไรเพิ่ม ฟังอย่างงี้ การผ่อนคลายจะว่าง่ายก็ง่าย แต่เราจะฝึกยังไง?

ลามะเท็นปะ กยัลเซ็น ให้ตัวอย่างความผ่อนคลาย (mental ease) จากองค์กรรมาปะที่ 9 สี่ข้อที่น่าสนใจ

1.ความรู้สึก “งานเสร็จแล้ว”

จังหวะที่จบงาน นั่นคือความรู้สึกของการผ่อนคลาย คนธิเบตทำสวนทำไร่ เมื่อหมดเวลางาน พวกเขาจะวางอุปกรณ์ เดินออกจากที่ทำงานกลับบ้าน เป็นความรู้สึกงานเสร็จแล้วที่ชัดเจน ลามะแวะแซวว่า ชาวโบลเดอร์คงไม่มีความรู้สึกแบบนี้ เพราะไม่ทำงานการ อยู่ในฮอลิเดย์ตลอดเวลา ส่วนคนนิวยอร์คก็คงไม่รู้สึกเช่นกัน เพราะทำงานตลอดเวลาไม่มีวันจบสิ้น ขนาดหลับก็ยังปั่นงาน  ตายไปอยู่ในบาร์โด ก็อาจจะยังคงปั่นงาน

ลามะเท็นปะชวนให้เราฝึกนิสัยของการเอ็นจอย “งานเสร็จแล้ว“ ในชีวิตสมัยใหม่ที่เป็นอยู่ จังหวะเล็กๆ เช่น กดส่งอีเมล์ วางหูโทรศัพท์ ปิดดีลลูกค้า ขับรถถึงบ้าน หรืออาบน้ำเสร็จ ฝึกตัวเองให้อยู่กับโมเม้นต์เหล่านั้น รับเอาความรู้สึกนั้นเข้ามาในร่างกาย ฝึกนิสัยของการผ่อนคลาย

2. “ความโล่งสบายหลังหายป่วย”


เวลาที่เราปวดหัว แล้วกินยาพารา เมื่อยาออกฤทธิ์อาการปวดหัวหายไป มันโล่งสบายใช่มั้ย? ทุกครั้งที่หายจากอาการเจ็บป่วย จะเกิดความรู้สึกสบาย ตัวเบา นั่นเองคือความรู้สึกผ่อนคลายอีกอันหนึ่งที่องค์กรรมาปะให้ตัวอย่าง

เจ็บปวดใดก็ตาม ไม่คงอยู่ถาวร เปรียบเหมือนก้อนเมฆบนท้องฟ้าลอยเข้ามาและจากไป ไม่ว่าจะเป็นอาการหิวน้ำ ไปจนถึงเจ็บปวดหนักๆ แม้ในช่วงเวลาที่เราอยู่ในความเจ็บปวดดูเหมือนจะยาวนานไม่มีวันจบ แต่ถึงจุดหนึ่ง ทุกความเจ็บป่วยจะหายไป 

3. “ทารกอิ่มแปล้” 


ลองนึกถึงเด็กทารกร้องงอแงหิวนมแม่ พอได้กินจนอิ่มเท่านั้น เด็กน้อยก็มีความสุข ไม่ต้องการอะไรแล้วในโลก พร้อมนอนหลับสบาย ผ่อนคลายอย่างเป็นธรรมชาติ ลามะถามว่า จำได้มั้ยครั้งสุดท้ายที่เรารู้สึก “อิ่ม” คือเมื่อไหร่ เราอยากจะได้เพิ่มตลอดเวลา รองเท้าไม่รู้กี่คู่ บุฟเฟต์ไม่อั้น ข้าวของ เงินทอง เราจะไม่เคยได้รับประสบการณ์ “ท้องอิ่ม” ถ้าหากเราติดอยู่ในนิสัยแบบนี้

และตัวอย่างสุดท้าย 

4. “ตัดเชือกมัดหญ้า” 

คงไม่ต้องอธิบายอะไรมาก ดูได้จากรูปประกอบ



ลามะเท็นปะทิ้งท้ายให้เราลองใคร่ครวญว่า การผ่อนคลายสำคัญในชีวิตยังไง ทำไมเราจึงต้องฝึกที่จะผ่อนคลาย ไม่ว่าสถานการณ์ชีวิตจะอยู่ในเงื่อนไขใด ลองหาคำตอบให้แก่ตัวเองดู




เรียบเรียงจากการบรรยาย The Nature of Appearances โดย Acharya Lama Tenpa Gyaltsen 
สิงหาคม 2024, ชัมบาลาเซ็นเตอร์ โบลเดอร์ โคโลราโด



++++++++++++++++++++++++++++++++

หากท่านได้ประโยชน์จากการอ่านบทความชิ้นนี้ และชื่นชมการสร้างสรรค์เนื้อหาดีๆ บนเว็บไซท์นี้
ท่านสามารถร่วมบริจาคสนับสนุนการดำเนินงานของ vajrasiddha.com ได้ที่
ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกระบือ ชื่อบัญชี “มูลนิธิวัชรปัญญา” เลขที่ 053-3-67904-8

สถาบันวัชรสิทธา ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ทดลองทางการศึกษา บนพื้นฐานของการภาวนา การใคร่ครวญด้วยใจ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างเป็นมนุษย์ระหว่างผู้เรียน