

จุดเริ่มต้นของวัชรสิทธามาจากวิสัยทัศน์ของผู้ก่อตั้ง, วิจักขณ์ พานิช ที่มีความสนใจเรื่องศาสนา จิตวิญญาณ การศึกษา เขาไปซึมชับการเคลื่อนไหวของพุทธธรรมในโลกตะวันตก ที่มหาวิทยาลัยนาโรปะและศูนย์ภาวนาชัมบาลา ในเมืองโบลเดอร์ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อตั้งโดยธรรมาจารย์วัชรยานที่ชื่อ เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช วิจักขณ์ได้รับแรงบันดาลใจจากรูปแบบการสื่อสารพุทธศาสนาและจิตวิญญาณในโลกตะวันตก ที่มีความเรียบง่าย เปิดกว้าง และเท่าเทียมกันระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน จึงคิดฝันว่า เมื่อกลับมาไทยก็อยากเปิดศูนย์หรือสถาบันการเรียนรู้ ที่มีบรรยากาศเช่นนั้นบ้าง
หลังจากที่เริ่มสื่อสารพุทธธรรมในสังคมไทยได้เกือบสิบปี จึงเริ่มมีผู้คนที่เริ่มเห็นความตั้งใจ กระทั่งวันหนึ่งมีผู้เสนอพื้นที่ว่างบนอาคารแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ให้สำหรับไว้จัดกิจกรรม ไอเดียของการก่อตั้งศูนย์หรือสถาบันการเรียนรู้จึงแจ่มชัดขึ้นมาในใจอีกครั้ง
สถาบันวัชรสิทธา (Vajrasiddha Institute of Comtemplative Learning) ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ทดลองทางการศึกษา บนพื้นฐานของการภาวนา การใคร่ครวญด้วยใจ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างเป็นมนุษย์ระหว่างผู้เรียนผ่านรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลาย
เราส่งเสริมการแสวงหาคุณค่าทางศาสนธรรมแบบโลกวิสัย (secular spirituality) บนพื้นฐานของสำนึกเชิงวิพากษ์วิจารณ์ การตั้งคำถาม เปิดกว้างเรียนรู้ และสามารถเสวนาแลกเปลี่ยนกับสาขาวิชาความรู้อื่นๆ ได้อย่างเท่าเทียม



วัชรสิทธาเดิมคือพื้นที่บริเวณชั้น 5 และบางส่วนของชั้น 4 บนอาคารพงศ์วราภา (เรือนธรรม) ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จาก คุณขวัญ เพียงหทัย ให้ใช้งานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตลอดช่วงเวลา 5 ปีแรกของการดำเนินงาน วัชรสิทธาได้จัดกิจกรรมหลากหลายเพื่อสื่อสารพุทธธรรมบนฐานของความเปิดกว้างและความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการภาวนา กิจกรรมศิลปะ ศิลปะการเคลื่อนไหว งานเสวนา รีทรีท หรือแม้แต่คอนเสิร์ต โดยสถาบันได้รับการจดจัดตั้งเป็นมูลนิธิวัชรปัญญาในปี 2562
ปัจจุบันวัชรสิทธาย้ายมาอยู่ริมถนนศรีอยุธยา ใกล้กับสี่เสาเทเวศร์ บนพื้นที่ชั้น 3 ของอาคารหัวมุมแยกถนนศรีอยุธยาตัดกับถนนนครราชสีมา พื้นที่ทั้งชั้นแบ่งออกห้องต่างๆ ได้แก่
- Main Shrine ซึ่งใช้จัดกิจกรรมทั้งหมดของวัชรสิทธา
- ห้องตาราขาวสำหรับให้วิทยากรพักผ่อน หรือให้บริการ Spiritual Counseling
- ห้องสำนักงานพ่วงร้านหนังสือ
- Hri: Dakini Space เป็นห้องโล่งว่างเพื่อจัดงานดนตรี และจัดแสดงงานศิลปะ
- Student Lounge อยู่บริเวณหน้าห้องน้ำ เป็นโซนพักผ่อนหย่อนใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรม
แกลเลอรี











