เรียบเรียงโดย ทีมงานวัชรสิทธา
เป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้วที่ชาวโลกต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 จากวันแรกที่เราไม่รู้ว่าจะรับมือกับมันยังไง จนถึงวันที่หลายๆ คนได้รับวัคซีนทำให้รู้สึกมั่นใจและปลอดภัยมากขึ้นในการออกจากบ้าน และกลับไปใช้ชีวิตแบบปกติในวิถีใหม่
แต่ในโลกที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางความคิด ใช่ว่าทุกคนจะยินดีกับการฉีดวัคซีน…
ปฏิกิริยาต่อต้านวัคซีนมีขึ้นตั้งแต่ตอนที่เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) ได้ค้นพบวิธีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคไข้ทรพิษ (หรือฝีดาษ) ด้วยวัคซีนในปี ค.ศ. 1796 ทำให้เหล่าบาทหลวงพากันต่อต้านการกระทำที่ขัดต่อ ‘ประสงค์ของพระเจ้า’
กลุ่มผู้นับถือศาสนาอิสลามแสดงความกังวลต่อส่วนประกอบของวัคซีนที่อาจมีเจลาตินจากหมูผสมอยู่ ทำให้วัคซีนนั้นไม่ ‘ฮาลาล’ การต้องฉีดวัคซีนจึงเหมือนการละเมิดหลักศาสนา ซึ่งทางบริษัทผู้ผลิตวัคซีนอย่าง แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ก็ได้ออกมายืนยันแล้วว่าวัคซีนไม่มีส่วนประกอบจากสัตว์แต่อย่างใด
นอกเหนือจากเรื่องหลักการทางศาสนา ชาวคาทอลิกจากสหรัฐอเมริกาและแคนาดา กับกลุ่มต่อต้านการทำแท้ง ร่วมกันต่อต้านการฉีดวัคซีนด้วยเหตุผลทางจริยธรรม เพราะสงสัยว่าวัคซีนมีส่วนประกอบของเซลล์ทารกจากการทำแท้ง หลังจาก Project Veritas (กลุ่มนักเคลื่อนไหวขวาจัดชาวอเมริกัน) ปล่อยวิดีโอทำให้เกิดความเข้าใจผิดออกไปในวงกว้าง บริษัทไฟเซอร์และไบออนเทค (BioNTech) ได้ตีพิมพ์งานวิจัยตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ. 2020 ว่าในการทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนมีการใช้เซลล์ตัวอ่อน (HEK293T cell line) ที่เพาะเลี้ยงในห้องแลปซึ่งเป็นเซลล์ที่ถูกโคลนมาจากเซลล์ต้นแบบอีกที ดังนั้นในวัคซีนไม่ได้ใช้เซลล์ทารกจากการทำแท้ง
ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคนอีกมากที่รู้สึกไม่มั่นใจในความปลอดภัยของวัคซีน หรือหลายคนก็เลือกฉีดวัคซีนกันตายทั้งที่ในใจแอบกลัวอยู่ เพราะกระบวนการพัฒนาวัคซีนตามปกติจะใช้เวลานานกว่านี้ แถมยังมีการใช้วัคซีน mRNA แทนการใช้วัคซีนเชื้อตายที่เราอาจรู้สึกว่ามันจะไปเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมอะไรในตัวเรารึเปล่า อย่างไรก็ดีเทคโนโลยี mRNA ไม่ได้เกิดขึ้นภายในปี 2 ปีจากการมาของโควิด แต่มีการศึกษาวิจัย (แม้จะไม่ใช่ในวงกว้าง) มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1989 แล้ว
ช่วงเวลาแห่งความไม่มั่นใจ การอยู่ในภาวะตึงเครียดจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและการจ้างงานเป็นเวลานาน ทำให้ผู้คนมีแนวโน้มที่จะเชื่อทฤษฎีสมคบคิดอย่างในย่อหน้าก่อนๆ มากขึ้น และกลุ่มต่อต้านการฉีดวัคซีน (anti-vax, anti-vaxxers) ก็ได้ใช้อิทธิพลจากความกลัว ความลังเล ความไม่ไว้วางใจของคนมาสนับสนุนแนวคิดของพวกเขา อาทิ การชักจูงให้คนฉีดวัคซีนเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ของกลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข หรือเป็นการควบคุมคนในสังคมของกลุ่มผู้มีอำนาจ (มีทฤษฎีสมคบคิดหนึ่งพูดถึงการฝังไมโครชิปติดตามในผู้ได้รับวัคซีน)
หนึ่งในวาทกรรมที่ถูกใช้อย่างมาก คือ อะไรก็ตามที่มาจากธรรมชาติดี ส่วนสิ่งสังเคราะห์ต่างๆ ไม่ดี (anything natural is good and science-driven medicine is bad.) เหมือนที่เราเคยได้ยินข่าวผ่านทางโทรทัศน์ว่า คนรู้สึกไม่มั่นใจที่จะบริโภคผักผลไม้ซึ่งผ่านการตัดต่อพันธุกรรม หรือเนื้อสัตว์ที่ถูกเพาะในห้องทดลอง
ในปี ค.ศ. 2011 เริ่มมีการใช้คำว่า “conspirituality” (คอนสปิริชัวอัลลิตี้) จากการผสมคำว่า conspiracy theory (ทฤษฎีสมคบคิด) กับ New Age Spirituality (ความเชื่อทางจิตวิญญาณทางเลือก) แสดงถึงปรากฏการณ์การมองโลกในวิถีใหม่ (alternative worldviews) ที่บูมขึ้นในสื่อโซเชียล และผลพวงจากความรู้สึกผิดหวังต่อระบบสังคมและการเมือง เราจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันไม่ว่าใครก็สามารถตั้งตนเป็นกูรูทางจิตวิญญาณได้ถ้ามีคนเชื่อมากพอ
เมื่อผู้คนต้องการที่พี่งทางใจ คนสมัยนี้ไม่ได้หันหน้าเข้าหาศูนย์รวมแห่งศรัทธาอย่างพระเจ้าอีกต่อไป แต่ทุกคนเหมือนอยู่ในตลาดนัดทางจิตวิญญาณ (spiritual marketplace) ที่ต่างคนต่างเลือกจับจ่ายสิ่งที่ ‘ตัวเอง’ คิดว่าดี คิดว่าใช่ ซึ่งนั่นไม่ใช่กระบวนการหาความจริงตามหลักวิทยาศาสตร์ จึงมีแนวโน้มที่จะเลือกไปจับเอาข่าวปลอมมาตีเป็นข่าวจริงด้วย
กระแสการดูแลสุขภาวะในโลกสมัยใหม่ที่เชิญชวนให้คนมองโลกในแง่บวก ส่งผลให้หลายต่อหลายคนหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความจริง ซึ่งในทางจิตวิญญาณอาจเรียกว่า spiritual bypassing โดยเฉพาะในกลุ่มคนชั้นกลางระดับบนที่ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากการระบาดของโควิด อาจถึงขั้นคิดไปว่ามาตรการป้องกันโรคทั้งหลาย เช่น การกักตัว การสวมหน้ากากอนามัย เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ซึ่งเราก็เห็นมันเกิดขึ้นจริงๆ ในดินแดนที่ชูเรื่องเสรีภาพอย่างอเมริกา
บุคลากรด้านสาธารณสุขจึงแสดงความกังวลว่า นี่อาจทำให้ความพยายามในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่สูญเปล่า เหมือนที่โรคหัดกลับมาระบาดอีกครั้งในปี ค.ศ. 2019 ที่วอชิงตัน และนิวยอร์ก เพราะเสรีภาพนั้นพ่วงมาด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม การที่คนส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนจะช่วยป้องกันการระบาดของโรคไปยังผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่แพ้วัคซีน
การเลือกที่จะฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีน นอกจากจะสัมพันธ์กับความน่าเชื่อถือของการจัดการวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพของรัฐบาลประเทศนั้นๆ แล้ว ก็ไม่อาจแยกขาดได้จากความเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นทางศาสนา จิตวิญญาณ หรือข้อมูลที่แต่ละคนเลือกเสพ ซึ่งหากการฉีดวัคซีนกลายเป็น “กฏหมาย” หรือ “ข้อบังคับ” ที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม ก็ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีคนจำนวนหนึ่งมองว่า วัคซีนได้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของพวกเขา กระนั้นหากมีผู้ที่เลือกไม่ฉีดวัคซีนและไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัดเป็นจำนวนมาก ผลกระทบทางสังคมที่ทุกคนจะได้รับจากวิกฤตโควิด-19 ก็คงยืดยาวไปไม่จบไม่สิ้น
ไม่ว่าตอนนี้เราจะเป็นผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ผู้ที่ได้รับครบ 2 เข็ม ผู้ที่ยังไม่กล้าฉีดวัคซีน หรือผู้ที่เลือกจะไม่ฉีด พวกเราทุกคนก็ยังคงต้องดูแลตัวเองต่อไป จนกว่าไวรัสจะกลายพันธุ์จนอ่อนแอไปเอง หรือมีวิธีการใหม่ๆ ในการควบคุมโควิดที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิม แน่นอนว่าการดูแลตัวเองดังกล่าว ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเรา แต่เพื่อคนรอบข้าง และเป็นส่วนหนึ่งของสำนึกทางสังคมด้วย
อ้างอิง
https://www.teenvogue.com/story/conspirituality-consequences-for-the-vaccine-effort
https://www.abc.net.au/religion/conspirituality-populism-in-the-spiritual-supermarket/13496210
https://www.abc.net.au/religion/covid-conspiracies-and-conspirituality/12760976