“โลจอง” : โศลกฝึกจิต ที่ไปพ้นความเป็นสุภาษิตสอนใจ

บทความโดย THANYA วัชรสิทธา
สะท้อนประสบการณ์จากชั้นเรียน โลจอง : โศลกโพธิจิต กับ Elizabeth Olmsted


โลจองเป็นคำสอนในพุทธมหายาน เรียกกันว่า “การฝึกฝนจิต” (Mind Training) ในการก้าวเดินบนเส้นทางโพธิสัตว์ คำสอนโลจองเป็นคำสอนที่ถอนรากถอนโคน ไม่ใช่รูปแบบการปฏิบัติมหายานทั่วๆ ไป แต่มีไว้สำหรับผู้ที่มีปณิธานมุ่งมั่นอุทิศชีวิตเพื่อการตรัสรู้ของทุกสรรพชีวิต และการเห็นแก่ผู้อื่นก่อนตัวเองเสมอ

ในศตวรรษที่ 11 ธรรมาจารย์อติศะ ทิปังการะ ศรีจินญาณา ได้แต่งโศลกโลจอง โดยแบ่งเป็นเจ็ดข้อธรรมแห่งการฝึกฝนโพธิจิต โศลกเหล่านี้ไม่ใช่สุภาษิตสอนใจ แต่เป็นคำสอนที่ชี้ให้เห็นธรรมชาติของจิตเดิมแท้ หรือ “enlightened mind” และวิธีการที่จะนำจิตเดิมแท้นั้นมาปฏิบัติในการสัมพันธ์กับโลก

ในชั้นเรียน โลจอง : โศลกโพธิจิต ณ วัชรสิทธา เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พวกเราได้ทำความรู้จักกับโศลกทั้ง 59 บท กับอลิซาเบ็ท ศิษย์ใกล้ชิดของ เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช เธอได้รับคำสอนโลจองจากตรุงปะเมื่อเกือบครึ่งทศวรรษที่แล้ว ในโอกาสนี้ เธอได้มาถ่ายทอดคำสอนการฝึกจิตนี้กับชุมชนวัชรสิทธา เป็นสองวันที่พวกเราได้ใคร่ครวญโศลกโพธิจิตไปด้วยกันเป็นครั้งแรก

คำสอนจากความว่างอันเข้มข้นและท้าทาย

อลิซาเบธเล่าว่า คำสอนโลจองตั้งอยู่ในโลกทัศน์ของมหายาน ทว่าไม่ใช่คำสอนทั่วไปที่ทุกคนจะนำไปปฏิบัติ แม้จะอยู่ในรูปแบบโศลกที่เราอาจคุ้นเคยว่าเป็นเหมือนสุภาษิตสอนใจ ด้วยข้อความประมาณว่า อย่าทำสิ่งนี้ จงทำสิ่งนั้น แต่เป้าหมายที่แท้จริงของโลจอง คือการบ่มเพาะคุณสมบัติแห่งจิตตื่นรู้ที่มีอยู่ภายใน ทั้งในการภาวนาและในทุกกิจกรรมการใช้ชีวิต กล่าวได้ว่า เป็นเหมือนข้อเตือนใจให้ผู้ปฏิบัตินำความตื่นอันสมบูรณ์ไร้เงื่อนไข เข้ามาสัมพันธ์กับชีวิตจริงในทุกๆ บริบทและทุกๆ กิจกรรม

ตอนแรกเริ่ม คำสอนโลจองเป็นคำสอนลับที่ฝึกเฉพาะในกลุ่มผู้ปฏิบัติที่ผ่านการฝึกขั้นต้นมาแล้ว แต่ในภายหลังธรรมาจารย์อติศะเห็นว่า คำสอนนี้มีประโยชน์ต่อผู้คน จึงพัฒนาชุดโศลกอย่างเป็นระบบ 59 โศลก สำหรับให้ผู้ปฏิบัตินำไปใช้ฝึกฝนบ่มเพาะโพธิจิต

อลิซาเบธชี้ให้เห็นพื้นฐานสำคัญที่ว่า คำสอนนี้อยู่ในขั้นมหายาน ดังนั้นเราจำเป็นต้องเข้าใจโลกทัศน์มหายานเสียก่อน ในขั้นหินยาน เราฝึกละจากสิ่งเหนี่ยวรั้งของสังสารวัฏ หินยานเป็นการฝึกคนเดียว เพื่อหลุดพ้นส่วนตนออกจากอำนาจของสังสารวัฏ ทว่าในขั้นมหายาน เป็นการพลิกกระบวนทัศน์ของคำสอน ด้วยปัญญาอันข้ามพ้นที่ว่า ทุกสิ่งคือความว่าง อันมีที่มาจากพระสูตรสำคัญ “ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร” ที่เราได้นำมาสวดในตอนเริ่มต้นของคลาสเรียนนี้

 รูปคือความว่าง
ความว่างคือรูป
รูปไม่ใช่สิ่งอื่นได้นอกไปจากความว่าง
ความว่างไม่ใช่สิ่งอื่นใดนอกไปจากรูป

ไม่มีทุกข์ ไม่มีสมุทัย ไม่มีนิโรธ ไม่มีมรรค
ไม่มีการบรรลุธรรม และไม่มีการไม่บรรลุธรรม…

ด้วยพื้นของความว่าง เราจึงสามารถแปรเปลี่ยนสิ่งลบๆ ให้กลายเป็นสิ่งดีที่เกื้อหนุนเส้นทางได้ หากไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของสุญญตา การปฏิบัติโลจองก็จะไม่สมเหตุสมผลเลย เช่น การภาวนาทองเล็น หรือ การหายใจเข้าเป็นความทุกข์ และหายใจออกส่งความรักความดีงามออกไป ที่เราทำได้ ก็เพราะโดยเนื้อแท้แล้ว ทุกอย่างมีธรรมชาติเป็นความว่าง ไม่ใช่สิ่งถาวรตายตัว ตัวเราจึงค้นพบ พลังที่จะแปรเปลี่ยนความทุกข์เป็นอิสรภาพ ตามคำสอนโลจองได้นั่นเอง

นอกจากพื้นฐานความว่าง หัวใจสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ โลจองเป็นการปฏิบัติที่ช่วยส่งเสริมผู้ที่อยู่บนเส้นทางโพธิสัตว์ ผู้ที่ตั้งปณิธานในการคำนึงถึงผู้อื่นก่อนตัวเอง พร้อมรับความทุกข์ของผู้อื่นเข้ามาเป็นของตน เวียนว่ายในสังสารวัฏเพื่อช่วยเหลือสรรพชีวิตจนกว่าจะหลุดพ้นหมดสิ้น โศลกโลจองบ่มเพาะจิตที่พร้อมเผชิญหน้ากับทุกผู้คน ทุกสถานการณ์ ทุกยุคทุกสมัย ทุกกาลเวลา ไม่ว่าจะยากจะง่าย จะดีหรือร้าย ซึ่งเอาจริงแล้วไม่ใช่เส้นทางที่ง่ายเลย ผู้ปฏิบัติฝึกที่จะดำรงอยู่ในจิตตื่นรู้ ฝืนตัวเองไม่ให้พลัดตกร่องนิสัยที่เคยชิน และยินดีที่จะทำสิ่งใดที่ทำได้เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น นี่เองที่เป็นความสวนกระแสอย่างถอนรากถอนโคนของโลจอง


First, train in the preliminaries.
ขั้นแรก ฝึกฝนในการปฏิบัติเบื้องต้น

ตรุงปะ รินโปเช กล่าวว่า “ผู้ปฏิบัติจะต้อง tame the mind (ทำให้จิตเชื่อง/สงบ) ก่อนที่จะเริ่ม train the mind (ฝึกจิต)” ในตอนแรกเริ่ม จิตของเราจะเต็มไปด้วยความสับสน ฟุ้งซ่าน เหมือนขี่ม้าโดยไม่มีบังเหียน ม้าไปที่ไหนเราก็ไปที่นั่น ดังนั้นเราจึงต้องฝึกจิตให้สงบเสียก่อน เมื่อมีความผ่อนคลายและเปิดกว้าง จิตจึงสามารถจะรับการฝึกฝนได้”

โศลกโลจองอันแรกกล่าวว่า “First, train in the preliminaries.” “ขั้นแรก ฝึกฝนในการปฏิบัติเบื้องต้น” ผู้ปฏิบัติต้องเริ่มต้นด้วยการฝึกฝนขั้นพื้นฐานอยู่เสมอ อลิซาเบ็ธกล่าวว่า เมื่อเราพูดถึงขั้นคำสอน ที่แยกเป็นลำดับขั้นของแต่ละยาน ไม่ได้หมายความว่ามันคือเลเวลที่แยกขาดจากกัน ในฐานะผู้ปฏิบัติ เราจำเป็นต้องมีสามยานนี้ไปด้วยกันเสมอ คำสอนหินยานหยุดไม่ให้เราตามพลังของสังสารวัฏ คำสอนมหายานชี้ให้เราแปรเปลี่ยนสิ่งด้านลบเป็นด้านบวก คำสอนวัชรยานข้ามพ้นความเป็นทวิลักษณ์ ทั้งสามนี้ดำเนินอยู่พร้อมกัน บนพื้นฐานของการฝึกปฏิบัติเบื้องต้นที่มั่นคง

ฝึกฝนโพธิจิตสมบูรณ์

โศลกโลจองแบ่งออกเป็นสองกลุ่มหลัก ได้แก่ โศลกที่เป็นคำสอน “pointing out” หรือเป็นคำสอนที่ชี้ไปยังความจริงสูงสุด (ultimate truth) มีด้วยกันห้าโศลก และที่เหลือเป็น โศลกคำสอนในระดับสัมพัทธ์ (relative truth) ที่จะช่วยให้นำคำสอนในความจริงสูงสุดไปเชื่อมโยงกับการปฏิบัติในทุกแง่มุมของชีวิต

อลิซาเบธพาชั้นเรียนดูห้าโศลกแรกอย่างละเอียด เธอเน้นย้ำว่า ห้าโศลกแรกนี้ ถือเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มพูนประสบการณ์และความสัมพันธ์ต่อ “ธรรมชาติของจิต” ซึ่งก็คือความเข้าใจในธรรมชาติของความว่าง อันเป็นหัวใจของโลจอง

Regard all dharma as dreams
เคารพธรรมะทั้งปวงดั่งความฝัน

ด้วยพื้นฐานความว่างของมหายาน ทุกสิ่งปรากฏล้วนแสดงออกซึ่งความว่าง โศลกนี้สอนให้ผู้ปฏิบัติเห็นทุกสิ่ง เคารพทุกสภาวะธรรมดั่งความฝัน ในความฝันนั้นเป็นความจริง ขณะเดียวกันก็ไม่ได้เป็นความจริงไปพร้อมๆ กัน เมื่อผ่านไปก็สภาวะที่ปรากฏก็สลายกลับคืนสู่ความว่าง

Examine the nature of unborn awareness
พิจารณาธรรมชาติของความตระหนักรู้อันไม่เกิด

มีคำสอนมากมายจากคุรุชี้ให้เราเห็นว่า เรามีธรรมชาติของความตระหนักรู้อันบริสุทธิ์เป็นพื้นฐานของชีวิต เปรียบเหมือนแสงสว่างของดวงอาทิตย์ เราไม่เห็นแสง แต่แสงทำให้เราเห็นสิ่งต่างๆ และแสงก็อยู่ตรงนี้เสมอโดยไม่กระทำใดๆ ในธรรมชาติของการตระหนักรูอันไม่เกิด เป็นพื้นที่อันไม่มีเงื่อนไข ไม่ต้องพยายามทำสิ่งอะไรเพื่อที่จะให้มันเกิดขึ้นมา สิ่งที่เราต้องทำคือหมั่นเฝ้ามองเข้าไปยังธรรมชาติภายในตนอันนี้

Self- liberation even the antidote
ปลดปล่อยตัวเองกระทั่งยาแก้

โศลกนี้เป็นคำสอนที่ว่าด้วยการไม่ยึดมั่นอยู่ในสิ่งใด สมมติเรามีอาการเจ็บป่วย เรารักษาอาการด้วยยาแก้ เราย้ายตัวเองจากความเจ็บปวด ไปใช้ชีวิตอยู่บนยาแก้ ซึ่งคำสอนนี้กำลังบอกให้เราละทิ้งกระทั่งจากสิ่งที่เป็นเหมือนของที่ช่วยเหลือเรา เพราะมันคือการที่เราทำให้มีสิ่งหนึ่งมั่งคงตายตัวขึ้นมา

Rest in the nature of alaya, the essence
พักในธรรมชาติแห่งอาลัย ในฐานะเนื้อแท้

อาลัย หรืออาลัยวิญญาณ คือความตระหนักรู้อันเป็นพื้นให้แก่ทุกสภาวะจิต ในธรรมชาติของอาลัยนั้นเป็นอิสระจากสิ่งปรุงแต่ง ในขณะเดียวกันก็อุดมไปด้วยความเป็นไปได้ที่จะก่อกำเนิดไปเป็นสิ่งต่างๆ หากเราสัมพันธ์กับพื้นความตระหนักรู้นี้ด้วยความตื่น เราก็สามารถที่จะสร้างการกระทำ หรือสิ่งต่างๆ ด้วยธรรมชาติของความตื่นรู้ แต่ในทางกลับกัน ด้วยจิตที่ถูกปกคลุมก็สามารถสร้างสังสารวัฏจากพื้นอาลัยนี้เช่นกัน

In postmeditation, be a child of illusion
ในภาวะหลังภาวนา จงเป็นเหมือนเด็กน้อยในโลกมายา

เมื่อทุกสิ่งล้วนเป็นความว่าง ในช่วงขณะของการไม่ภาวนา ผู้ปฏิบัติจึงสามารถดำรงอยู่ในสถานการณ์และปรากฏการณ์ดั่งเด็กน้อย สัมพันธ์กับทุกสิ่งด้วยความใสซื่อ สดใหม่ ความว่างไม่ได้หมายความว่าสิ่งต่างๆ ล้วนว่างเปล่าไร้ความหมาย แต่หมายถึงเป็นอิสรภาพอันไร้เงื่อนไข เป็นความไพศาลที่เต็มไปด้วยความเป็นไปได้อันไม่สิ้นสุด


นำชีวิตเข้าไปสู่การปฏิบัติ

อลิซาเบธเล่าว่า ในตอนที่ตรุงปะสอนเธอ รินโปเชบอกว่าให้ฝึกโลจองราวกับว่าตัวเธอน่ะ เป็นพระโพธิสัตว์แล้ว ในตอนแรกมันอาจจะได้บ้างไม่ได้บ้าง เหมือนการฝึกเล่นเครื่องดนตรี ช่วงเริ่มฝึก เสียงที่ออกมาฟังไม่ได้เลยด้วยซ้ำ แต่จงหมั่นฝึกฝนตามแนวทางโดยไม่ต้องสนใจถึงผลลัพธ์ เมื่อถึงจุดหนึ่งมันจะกลายเป็นดนตรีที่ไพเราะเอง แม้เราถือการปฏิบัติในไว้ในใจ แต่บางทีก็ต้องเจอสถานการณ์ยากๆ หรือเจอคนที่อยากจะซัด ก็ขอให้จงฝึกต่อไป

คำสอนโลจองแบ่งออกได้เป็นเจ็ดประเด็น การฝึกขั้นต้น, การฝึกหลักหรือบ่มเพาะโพธิจิต, แปรเปลี่ยนสภาวะเลวร้ายไปสู่เส้นทางแห่งความตื่นรู้, แสดงให้เห็นการนำคำสอนไปฝึกฝนตลอดชีวิต, การประเมินจิตที่ได้รับการฝึก, วินัยแห่งการฝึกจิต, แนวทางของการฝึกจิต ซึ่งในแต่ละอันก็จะมีโศลกคำสอนในประเด็นนั้นๆ

ท้าทายอัตตาและร่องแห่งความเคยชิน

ในชั้นเรียน เราได้เลือกโศลกจำนวนหนึ่งมาพิจารณาด้วยกัน เมื่อได้มาใช้เวลาใคร่ครวญแต่ละอัน ก็พบกับความลุ่มลึกและความหนักแน่นของคำสอนในการฝึกจิตให้ดำรงอยู่ใน enlightenment ตั้งแต่ในระดับมุมมอง ความคิด จนถึงท่าทีพฤติกรรม อลิซาเบธกล่าวว่า ในชีวิตที่เราเข้าไปสัมพันธ์กับผู้คนและสถานการณ์ต่างๆ สิ่งภายนอกที่เข้ามากระทบตัวเรา จะกระตุ้นให้กิเลสภายในเราทำงานขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการผลักไส การดึงเข้า หรือการไม่รับรู้ คำสอนโลจองที่สั้น หนักแน่น และชัดเจน จะเตรียมจิตของเราให้พร้อมเผชิญกับสิ่งเหล่านั้นให้ทันกับการขึ้นมาของกิเลส หรือการตอบโต้เดิมๆ ตามความเคยชิน

เมื่อลองนำโศลกเข้ามาในประสบการณ์ คำสอนแต่ละอันก็เข้ามาเปิดให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่เราสามารถนำเข้ามาในท่าทีของเรา หรือกระทั่งให้ความมั่งคงในการที่จะอยู่บนเส้นทางการฝึกตน ดำรงอยู่ในธรรมชาติแห่งความตื่นรู้



คำสอนแห่งการบ่มเพาะโพธิจิต

คำสอนโลจองบางอันจะเป็นคำกล่าวที่ชัดเจน ดูเหมือนเป็นคำสั่งสอน เช่น

Drive all blames into one
รับคำกล่าวโทษทั้งหมดมาไว้เอง

หรือที่กล่าวห้ามต่างๆ เช่น

Don’t ponder other
ไม่ตริตรองคนอื่น

Don’t act with a twist
ไม่กระทำด้วยวาระแอบแฝง

Don’t be so predictable
อย่าคาดเดาได้จนเกินไป

คำสอนนี้ไม่ใช่สุภาษิตที่เป็นข้อกำกับทางศีลธรรมที่เราจะต้องปฏิบัติตามและลงโทษตัวเองเมื่อทำไม่ได้

โลจองไม่ใช่คำสอนที่มากดทับให้ตัวเราเล็กลง แต่เป็นคำสอนที่ให้เราฝึกบ่มเพาะโพธิจิตให้เบ่งบาน

อลิซาเบธกล่าวว่า มันสำคัญมากว่าเราต้องมีความเข้าใจตั้งแต่ต้นว่า คำสอนโลจองตั้งอยู่บนคำสอนเรื่องความว่างของมหายาน ผู้ปฏิบัติจะไม่ได้ identify ตัวเองกับความสับสนหรืออัตตา แต่ identify ตัวเองกับความว่าง เนื้อแท้ของเราคือความตื่นรู้ ธรรมชาติของหัวใจเรา คือโพธิจิต ดังนั้นเราไม่ได้พยายามจะใช้คำสอนมาแก้ไขตัวเอง เพื่อให้เป็นคนอื่นที่ดีขึ้น แต่เพื่อฝึกฝนที่จะเป็นเนื้อแท้อันไม่มีสิ่งใดทำลายได้ เชื่อมั่นในหัวใจของโพธิสัตว์ ซึ่งก็คือความตื่นรู้และความรัก

คุรุมากมายบอกเราว่า “ทุกชีวิตล้วนต้องการมีความสุขและเป็นที่รัก” หากเราสามารถมองเห็นความปรารถนานี้ในเบื้องหลังของทุกการกระทำได้ เริ่มต้นจากตัวเราเอง คนใกล้ชิด คนที่ทำร้ายเรา ความเข้าใจนี้จะบ่มเพาะให้เรามีความเห็นอกเห็นใจ มีไมตรีต่อตัวเราเอง และขยายไปยังทุกๆ คนโดยไม่มียกเว้นได้

ผู้ให้ที่ร่ำรวยที่สุด

เมื่อพิจารณามาทั้งหมดแล้ว คำถามคือ แล้วทำไมเราจะต้องเดินบนเส้นทางที่ยากลำบาก ไม่สมเหตุสมผลในหลักการอะไรเลย แถมยังสวนทางกับวิถีของโลกและสังคมแบบนี้ด้วย?? ทำไมต้องขัดเกลาตัวเองอย่างหนักเพื่อผู้อื่น ทั้งๆ ที่การเพิกเฉย ไม่รับรู้ ไม่ยุ่งกับใคร มันสบายและง่ายกว่า???

คำตอบคือ “เพราะเราร่ำรวย” เราจึงสามารถเป็นผู้ให้ได้อย่างไม่สิ้นสุด

ในโลกที่ประกอบไปด้วยเหตุปัจจัยมากมายอันไม่มีทางจะควบคุมได้ ความสุข ความทุกข์ จะเข้ามาในชีวิตอย่างไม่อาจหลีกหนีหลบเลี่ยง หนทางเดียวที่จะเป็นอิสระได้คือการมีอิสรภาพจากภายใน ที่จะทำให้เราดำรงอยู่ในทุกสภาวะ ทุกสถานการณ์แห่งความเป็นจริงได้ อิสรภาพอันไร้เงื่อนไขภายใน จะทำให้เราสามารถอยู่ในโลกแห่งเงื่อนไขของเหตุปัจจัยได้อย่างเป็นอิสระ เราจะเป็นอะไรก็ได้ และไม่เป็นอะไรเลย เราจะมีสิทธิเลือกจะกระทำสิ่งต่างๆ โดยปราศจากอำนาจของอัตตาตัวตน เราคือธรรมชาติของความตื่นรู้

ทุกคนที่อยู่ ณ ตรงนี้ คือผู้ที่ร่ำรวยด้วยพรอันประเสริฐของการเกิดเป็นมนุษย์ เต็มไปด้วยโอกาส และได้มาพบเจอเส้นทางสู่อิสรภาพ “All dharma agrees at one point “ธรรมะทั้งปวงเห็นพ้องกัน ณ จุดเดียว” นั่นคือการเป็นอิสระจากเงื่อนไขการปรุงแต่งทางจิตทั้งปวง การที่เราได้พบเจอธรรมะ เจอคำสอนแห่งเส้นทางสู่การตื่นรู้ เป็นสิ่งที่ไม่อาจประเมินค่าได้

“โปรดรับรู้ไว้ว่า พวกเราที่นั่งอยู่ในห้องนี้ เป็นผู้คนที่ร่ำรวยมาก อย่าได้คิดว่าเรายากจนเลยแม้แต่น้อย การมีเงินทองมากมายไม่ให้ความร่ำรวยที่แท้จริงดังเช่นการได้พบธรรมะ ได้เห็นคุณค่าของการเกิดมาในชีวิตนี้ เราทุกคนในที่นี้มีทุกอย่างเหลือล้น มีธรรมะ มีโอกาสได้รับคำสอน มีอิสระในการฝึกฝน เราช่างร่ำรวย เรามีมากมายที่จะดำรงอยู่ตรงนี้เพื่อผู้อื่น” – เอลิซาเบธ โอมสเตท


+++++++++++++++++++++++++

หากท่านชอบบทความที่ตีพิมพ์บนเว็บไซต์ vajrasiddha.com และต้องการสนับสนุนการทำงานของพวกเรา สามารถช่วยกันแชร์ คอมเมนท์ ติชม ได้ในทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย วัชรสิทธาดอทคอม ดำเนินงานเพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาอย่างไม่แสวงหาผลกำไร ผู้ที่ได้รับประโยชน์ และมีจิตศรัทธา สามารถสนับสนุนการดำเนินงานของเว็บไซต์ได้ที่ — ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกระบือ ประเภทออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “มูลนิธิวัชรปัญญา” เลขที่ 053-3-67904-8