บทความโดย คณพล วงศ์วิเศษไพบูลย์
จิตคือเนื้อนา
ที่ทุกเมล็ดพันธุ์ถูกหว่านลง
เนื้อนา-จิตนี้ เรียกได้อีกว่า
“เมล็ดพันธุ์ทั้งมวล” *ในคำสอนการหมุนกงล้อธรรมครั้งที่ 3 มีการอธิบายถึงวิญญาณ (ตัวรู้) ที่ละเอียดลงลึกกว่าการหมุนกงล้อธรรมครั้งก่อนหน้า เป็นอภิธรรมที่พัฒนาขึ้นโดยสำนักโยคาจารซึ่งกล่าวถึงทั้ง จิตที่เป็นตัวตน (มนัสวิญญาณ) และ พื้นเดิมแท้ของจิต (อาลัยวิญญาณ)
อาลัยวิญญาณมีลักษณะพิเศษ เพราะเป็นตัวรู้ซึ่งเป็นพื้นเดิมแท้ของจิต เป็น “พื้นที่” ที่ยังไม่ใช่พื้นที่ของใคร แต่เป็นพื้นที่ร่วมอันปราศจากการแบ่งแยก พื้นที่นี้ทำหน้าที่เก็บเมล็ดพันธุ์แห่งสัตวะทั้งหมด รวมถึงเป็นพื้นที่รองรับปรากฏการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในประสบการณ์ของเรา
มีคำที่ใช้เรียกอาลัยวิญญาณหลากหลาย เช่น alaya, primordial ground, ภาวะก่อนกำเนิด, ตัวรู้ภัณฑาคาร หรือ ภาษาทางจิตวิทยาอย่าง collective unconscious ไม่นับว่ามีอุปมาอีกมากมาย เช่น การกล่าวถึงในฐานะสนามหรือเนื้อนาที่เต็มไปด้วยเมล็ดพันธุ์กรรมทุกรูปแบบ บ้างก็กล่าวว่าเป็นมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ที่เป็นพื้นให้กับการก่อตัวของคลื่นและปรากฏการณ์ทั้งหลาย ฯลฯ
คำสอนเรื่อง อาลัยวิญญาณ มีความสำคัญต่อการเข้าใจธรรมชาติอันแท้จริงของความไม่มีตัวตน เพราะในคำสอนก่อนหน้า แม้จะมีการกล่าวถึง “ตัวตน” ในฐานะความเข้าใจผิดหรืออวิชชา ทว่าก็ยังไม่ได้มีการพูดถึงสิ่งที่พ้นไปจากตัวตนอย่างชัดเจนนัก ในการหมุนกงล้อธรรมครั้งที่สอง เราอาจได้รู้จักกับ “ความว่าง” แต่ความว่างจากคำสอนชุดนั้นก็อาจมีความคลุมเครือและทำให้เราเข้าใจผิดได้ว่าว่าง=ขาดสูญ ธรรมะในการหมุนครั้งที่สามจึงเข้ามาอธิบายเพิ่มเติมถึงพื้นที่ที่พ้นไปจากตัวตนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ผ่านการทำความรู้จักวิญญาณลำดับที่ 8 นี้
การได้รู้จักกับอาลัยวิญญาณ เข้ามาพลิกเปลี่ยนมุมมองด้านการภาวนาอย่างน่าสนใจ มันช่วยให้เราเกิดจินตนาการเกี่ยวกับการหลุดพ้นจากตัวตนที่แจ่มชัดขึ้น ราวกับว่าหนทางแห่งการแสวงหาที่เคยเป็นนามธรรมอันไกลตัว แท้จริงแล้วคือธรรมชาติเดิมแท้ของตัวเราเอง อาลัยวิญญาณพาการหลุดพ้นกลับเข้ามาเป็นเรื่องของจิตที่อยู่ภายใน เป็นบ้านอันแท้จริงที่เราไม่ต้องค้นหาจากที่ใดอื่น ซึ่งด้วยจินตภาพนี้การหลุดพ้นก็กลายมาเป็นสิ่งที่เราสามารถสัมพันธ์ด้วยได้ทุกขณะจิต
การสัมพันธ์กับอาลัยวิญญาณหมายความอย่างไร?
จริงๆ แล้วอาลัยวิญญาณไม่เคยแยกขาดจากทุกประสบการณ์ในชีวิตของเรา ทุกอย่างที่ดูเหมือนอุบัติขึ้นและดับลงล้วนอยู่ในพื้นที่ของอาลัยวิญญาณอันไม่แปรเปลี่ยนทั้งสิ้น แต่ในชีวิตทั่วไปเราไม่อาจสัมผัสถึงอาลัยวิญญาณได้ ก็เพราะเรามองไม่เห็นถึงความไม่ต่อเนื่องของประสบการณ์ เราถมพื้นที่รอยต่อของการเกิด-ดับด้วยความลุกรนของความคิด เราแทรกแซง และ “edit” ประสบการณ์ต่างๆ ด้วยความเคยชินแห่งการยึดมั่นว่ามีตัวตน หากจะสัมพันธ์กับอาลัยวิญญาณ เราต้องละเอียดกับประสบการณ์ชีวิตยิ่งขึ้น ละเอียดเพื่อตระหนักรู้และเท่าทันกลไกของตัวตน เพื่อปล่อยให้ทุกสิ่งเกิดขึ้นและดับลงตามธรรมชาติ หนทางการภาวนา คือการลองถลำไปยังพื้นที่ที่พ้นไปจากการเกิดและดับ เป็นพื้นที่ที่พ้นไปจากคำอธิบาย ทว่าดำรงอยู่ตรงนั้นเสมอ
การปฏิบัติภาวนาที่ตั้งอยู่บนความเข้าใจเรื่องอาลัยวิญญาณ เป็นท่าทีของการ “พัก” หรือ resting ซึ่งอันที่จริงก็เป็นเรื่องเดียวกับการ “รู้เฉยๆ” หรือ “ปล่อยวาง” แต่ด้วยความเข้าใจที่มากขึ้นว่าเราปล่อยจากอะไร-เพื่ออะไร จะทำให้การภาวนาของเราเริ่มมีมิติของความวางใจ เพราะทุกสถานการณ์ในชีวิตคือสิ่งปรากฏที่ไม่แยกขาดจากอาลัยวิญญาณ ในการภาวนารูปแบบนี้เราอาจเริ่มจากการสำรวจถึง “tension” หรือความไม่ผ่อนคลายภายในร่างกายของเรา ไล่ไปจนถึงความรู้สึก ความคิด การรับรู้ จนสุดท้ายเราอาจปล่อยทุกเทคนิคการภาวนา เป็นการพักอย่างสมบูรณ์จากทุกความพยายามทั้งหมด และชั่วขณะนั้นเราอาจสัมผัสได้ถึงมหาสมุทรอันไพศาลที่สรรพสิ่งล้วนเอื้ออิงอาศัยกันอย่างไม่แยกขาด เป็นบ้านแห่งความเป็นทั้งหมดที่ไม่มีสิ่งใดถูกกันออกแม้แต่อย่างเดียว
อีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจเมื่อได้เรียนรู้เรื่องอาลัยวิญญาณก็คือ เราจะมองเห็นโอกาสที่จะภาวนาในทุกขณะจิต เพราะทุกความตระหนักรู้ในประสบการณ์ ล้วนมีช่องว่างที่เราจะได้ผ่อนพักจากการตอบโต้ตามร่องนิสัยเดิม เพียงเราหยุดและผ่อนพักสู่อาลัยวิญญาณ ประตูสู่พื้นที่อันเปิดกว้างที่ไม่มีทั้งตัวฉันและสิ่งอื่นก็เปิดออก เป็นโลกอันศักดิ์สิทธิ์ที่สรรพสิ่งล้วนเป็น อย่างที่เป็น
เมื่อข้ามพ้นอวิชชา ความรู้แจ้งก็อยู่ตรงนั้น
เมื่ออาลัยวิญญาณไม่ถูกปกคลุมด้วยความมัวหมอง
จึงกลายเป็นปัญญาญาณกระจกเงาที่ยิ่งใหญ่
สะท้อนจักรวาลทุกทิศทางอย่างที่เป็น ชื่อของมันคือ pure awareness *
*โคว้ทจากหนังสือ Transformation at the Base: Fifty Verses on the Nature of Consciousness โดย ติช นัท ฮันห์