บทความโดย THANYA วัชรสิทธา
ทุกวันนี้ การเข้าพบจิตแพทย์ เข้าไปคุยกับนักจิตบำบัดกลายเป็นเรื่องทั่วไป เป็นปกติที่ใครๆ ก็สามารถดูแลสุขภาพจิตตัวเองได้โดยไม่ต้องเจอกับสายตาตัดสินว่า “บ้า” แบบเมื่อก่อน และยังมีทางเลือกมากมายที่เราจะสามารถเดินเข้าไปรับการเยียวยา มีหมอ มีคลินิกจิตบำบัด มีแนวทางการบำบัดหลากหลาย มีเทคนิคมากมายให้ได้ลงมือทำ
อย่างไรก็ตาม การเข้ากระบวนการบำบัด มักจะมีความลี้ลับอะไรบางอย่าง (ซึ่งคิดไปเอง) ที่ทำให้เราต้องเดาทางว่า นักจิตกำลังทำอะไรกับเรากันนะ เขากำลังพาเราไปไหน เราต้องไปพบเจอกับอะไรกัน
ในคอร์สเรียน Awakening Self-Therapy ที่จัดขึ้นที่วัชรสิทธาเมื่อ 13-14 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้กระบวนการทำงานเหล่านี้ เป็นความเข้าใจที่จะทำให้เราสามารถ first aid จิตใจตัวเองได้ก่อนจะถึงระดับการเข้าพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา พี่เอก สมภพ แจ่มจันทร์ นักจิตวิทยาด้านการปรึกษา ผู้ก่อตั้งโนอิ้งมายด์ (Knowing Mind) ศูนย์บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและส่งเสริมสุขภาวะ และยังเป็นวิทยากรประจำของวัชรสิทธา มาให้ความรู้ในด้านของจิตวิทยา หลักการและคำเรียกต่างๆ ให้เราเกิดความเข้าใจในส่วนของวิธีการ และได้ลองฝึก meditation กับ พี่ตั้ม วิจักขณ์ พานิช ผู้ก่อตั้งวัชรสิทธา ครูสอนภาวนาที่เราคุ้นเคยกันดี
เพื่อที่ปฐมพยาบาลจิตใจของตัวเอง พี่เอกและพี่ตั้มออกแบบชั้นเรียนให้เราได้รู้หลักการทำงานกระบวนการบำบัดของนักจิตวิทยา ฝึกการมี Awareness ของเรา และกลับมาอยู่กับร่างกายอย่างเป็นมิตร บนพื้นฐานที่ว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการเยียวยาตัวเอง อยู่แล้ว โดยเวิร์คช็อปสองวันนี้เป็นการผสมผสานทั้งศาสตร์จิตวิทยาตะวันตกและจิตบำบัดแนวพุทธเข้าด้วยกัน
จิตบำบัด Step by Step
แล้วในชั้นเรียนนี้ นักจิตวิทยาก็มาเฉลยความลี้ลับของกระบวนการทำงานบำบัดให้เราฟัง ราวกับเปิด behind the scene ให้ดูกันเลยทีเดียว
แท้จริงแล้ว 5 STEPS ของกระบวนการบำบัดนั้นเรียบง่าย และเป็นอะไรที่ช่างดู common sense มาก
STEP 1 : Safe Space พื้นที่ปลอดภัย แรกสุด ต้องเริ่มจากการสร้างพื้นที่ปลอดภัย เปิดกว้าง ปราศจากการตัดสิน ให้เราวางใจที่จะอยู่และนำปัญหาออกมา STEP 2 : Exploring หยิบยกสิ่งต่างๆขึ้นมา ปมปัญหา โจทย์ เรื่องราว ประสบการณ์ เพื่อนำไปสู่ STEP 3 : วิเคราะห์ ทำความเข้าใจประเด็นเหล่านั้น เปิดมุมมองใหม่ในการมองปัญหาก้อนเดิม ให้เห็นถึงความเชื่อมโยง และทางเลือกที่เรามี จากความเข้าใจตรงนั้น ก็ STEP 4 : Take action ลงมือ จัดการ ไม่ว่าจะด้วยการเปลี่ยนมุมมอง ฝึกปฏิบัติ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อให้ตัวเราค่อยๆคลายออกจากปัญหาที่กำลังทำงานด้วย และจบท้ายด้วย STEP 5 : Reflection ทบทวน สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นออกมา
พี่เอกเล่าว่า ทุกๆ เซสชั่นการบำบัดจะใช้ขั้นตอนทั้งห้านี้เสมอ โดยแต่ละอันล้วนมีความสำคัญ และทำงานสอดคล้องกันไป
ย้อนอดีต vs อยู่กับปัจจุบัน
ความน่าสนใจของชั้นเรียนที่สะดุดตาตั้งแต่คำบรรยายคอร์ส คือส่วนที่เขียนว่า ใช้แนวทางจิตบำบัดแนวพุทธ ซึ่งไม่ค่อยคุ้นหน้าตา เกิดคำถามว่าสิ่งนี้จะนำมาใช้ได้อย่างไรนะ เเพราะที่ผ่านมาก็คุ้นเคยกับแนวคิดตะวันตก และใช้ภาษาแบบจิตวิทยาอธิบายแนวคิดต่างๆ แนวทางแบบพุทธจะเข้ามามีบทบาทอย่างไรในการบำบัดตัวเองที่เราจะได้เรียน
“เวลาเรามองจิตวิทยาแบบตะวันตก และมองจิตวิทยาแบบพุทธเนี่ย มันมีสิ่งที่ขัดแย้งกัน และมันก็มีสิ่งที่ไปด้วยกันได้ และเราไม่พยายามทำให้สองอันนี้มันเหมือนกัน” – วิจักขณ์ พานิช
จิตบำบัด (psychotherapy) แบบตะวันตก มักใช้วิธีการให้ผู้เข้ารับการบำบัด เดินทางย้อนไปในอดีตเพื่อดูว่าปมปัญหาต่างๆที่มี มันอยู่ตรงระหว่างทางชีวิตของเรา จากมุมมองที่เรียกว่า Developmental view ที่มองว่า จิตของมนุษย์พัฒนามาเรื่อยๆ จากการเติบโต สะสมเหตุการณ์และประสบการณ์ทั้งหมดที่ผ่านมา จนเกิดเป็นรูปแบบหรือ Pattern ในการจะไปสัมพันธ์กับสิ่งอื่น ปัญหาที่ติดตัวเราอยู่ในทุกวันนี้ มีที่มา และเมื่อเราไปสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ด้วยแพทเทิร์นเดิม จึงเกิดปัญหาขึ้นซ้ำๆ อย่างที่คนมากมายกำลังเผชิญอยู่ ดังนั้นทางแก้ก็คือย้อนกลับไปจุดตั้งต้น revisit ที่ในอดีต และคลายปมตรงนั้นออก
ในอีกทางหนึ่ง จิตบำบัดแนวพุทธ (Buddhist psychotherapy) มีมุมมองแบบ Fruitional view แปลได้ว่า มุมมองของการรับผล ไม่ต้องไปสนใจสาเหตุที่มาของปัญหา ความทุกข์ยากทั้งหลายที่เกิดขึ้นตรงหน้า ณ ตอนนี้ คือสิ่งที่จะต้องรับมือกับมัน อยู่กับปัจจุบันของผล (หรือในที่นี่อาจจะเป็นปมปัญหา) แม้ว่ามันจะมีสาเหตุมาจากอดีต และจะส่งผลไปในอนาคต แต่หน้าที่ของเราคือตัวเรา ณ ตอนนี้ต้องดีลกับมันเลย
ถ้าใช้คำให้คุ้นหู ก็คือวิธีรับกรรม คู่กับวิธีย้อนไปแก้ปมในอดีต ซึ่งในชั้นเรียนนี้ ก็ทำงานกับทั้งสองวิธีสลับกันไปมา
“Self” ตัวปัญหาที่ต้องบำบัด?
คำว่า Self-Therapy ความหมายคือการบำบัดตัวเอง ดังนั้นปัญหาตั้งต้นที่เราจะเข้าไปทำงานด้วย ก็อยู่ที่ตัวตนของเราเองหรือ Self นี่แหละ!
“Self” ตัวตนของเรามีคำเรียและคำอธิบายหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ego แบบตะวันตก หรือ อัตตา แบบพุทธ ซึ่งตัวปัญหาไม่ใช่ตัวตนเราอย่างเดียว แต่คือเมื่อตัวตนเราไปสัมพันธ์กับสิ่งอื่น ตรงนี้เอง พี่เอกใช้คำว่า contact boundary เมื่อเราเอา “ตัวเรา” ไปชนขอบกับอะไรด้วยกรอบนิยาม แพร์ทเทิร์นเดิมๆของตัวเรา (อย่างที่อธิบายในมุมมองพัฒนาการ) ไม่ว่าจะเป็น ใช้วิธีโมโห ใช้วิธีหนี ใช้วิธีทำร้าย หรือใช้วิธียอมไปหมด ปัญหาก็เกิดขึ้น
แต่จริงๆแล้ว แพทเทิร์นเหล่านั้นมันเป็นของในอดีต เด็กหญิงธัญญาวัยอนุบาลกลัวปู ไม่กล้าวิ่งข้ามหาดลงทะเล ถ้าธัญญาในทุกวันนี้ยังใช้ความรู้สึกและวิธีการแบบนั้นอยู่ ชีวิตนี้คงไม่ได้สัมผัสกับน้ำเค็มไปแล้ว และก็ต้องมาบำบัดอาการกลัวปูของเด็กน้อยตอนนั้นที่ยังตกค้าง
วิธีการแบบเดิมๆที่เรายังใช้อยู่นี้เองที่สร้างความลำบากให้เรา มากน้อยแตกต่างกันออกไป ยิ่งเราผูกมัดกับกรอบ กับกลยุทธ์เดิมๆ ที่มันใช้ไม่ได้แล้วแน่นเท่าไหร่ ตัวเราที่โดนมัดก็ยิ่งอึดอัดทรมานมากขึ้นไปเท่านั้น จริงๆบริบทรอบตัวเราเปลี่ยนไปแล้ว แต่เรายังติดอยู่กับแนวทางเดิมเหล่านั้น
นี่ทำให้เห็นว่า ตัว Self จริงๆของเราไม่ใช่ตัวปัญหาเลย แต่เป็นกลยุทธ์ เป็นแพทเทิร์น เป็นกรอบที่กั้นเส้นเขตตัวตนของเราต่างหาก ที่ไปชน ไปมีเรื่องกับชาวบ้านจนชีวิตต้องมานั่งบำบัดกันแบบนี้
“ทุกๆ คนในห้องนี้ ถ้าจะพูดก็คือเรามี self นั่งอยู่ในห้องนี้ และ self ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงในแง่ที่ว่า โอ้.. ฉันเป็นยังไงนะ แต่มันคือตัวเราที่ดำรงอยู่ ณ ตอนนี้ วินาทีนี้ ซึ่งบางทีมันไม่ต้องมีคำอธิบายอะไรเลย มันก็เป็นเรา” – สมภพ แจ่มจันทร์
ตั้งหลักที่ปัจจุบันขณะ
ถ้าปัญหามันอยู่ตรงสิ่งที่พันยุ่งเหยิงรอบตัว ง่ายกว่าการแกะออก ก็คือการกลับมาอยู่กับตัวเองโดยเมินพวกยุ่งๆนั้นไปก่อน
วิธีการก็คือ ตั้งสติและอยู่กับตัวเราในปัจจุบันขณะ
มันคือการมี Awareness ตรงนี่เองที่เป็นการนำแนวคิดแบบจิตบำบัดแบบพุทธมาทำงาน
การที่เราสามารถตื่นรู้ ระลึกได้ถึงภาวะที่เราอยู่ ณ ตอนนี้ของตัวเอง เป็นการช่วยให้เราออกจากห้วงปัญหาทางใจที่กำลังเผชิญอยู่ได้เบื้องต้นที่สุด กลับมาที่เนื้อตัว ที่ลมหายใจ ที่การรับรู้
ในชั้นเรียน เราได้ฝึกการมี Awareness หลายแบบ พี่เอกให้ลองทำแบบฝึกหัดที่ให้เราสังเกตว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับเราอยู่บ้างตอนนี้ “ฉันรับรู้..” “ฉันรู้สึก..” และ “ฉันคิด..” ซึ่งพอได้ลองทำ ลองฝึกมี Awareness ด้วยวิธีการนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ค้นพบว่า ตัวเราตอนนี้ มันไม่ได้เป็นอะไรนะ
ถ้าความคิดมันยุ่ง รบกวนและทำร้ายเรา ถ้าความรู้สึกมันถ่วงเรา ก็ลองมาที่การรับรู้ เออ ตอนนี้ร่างกายเราปกติและยังเป็นทีมเดียวกับเราอยู่นะ เรา ณ ปัจจุบันนี้ยังอยู่ได้ ถ้าร่ายกายกำลังแย่ ไม่รับรู้อะไรแล้ว ก็มา Aware กับความรู้สึกหรือความคิด ให้เรามีสติตั้งหลักได้เบื้องต้น
การนั่งภาวนา อยู่กับลมหายใจก็เป็นอีกวิธีที่ทำได้ไม่ยาก เปลี่ยนจุดโฟกัสจากอะไรก็ตามที่เผชิญให้ปวดหัวอยู่ มาโฟกัสที่ลมหายใจ มีความคิดเข้ามาก็รับรู้มัน มีความเมื่อยขบเข้ามาก็รับรู้มัน กลับมาหาร่างกายในความรู้สึกว่านี่เป็นบ้านที่อยู่อาศัยของเรา
การมี Awareness นี่เอง ทำให้เกิด gap หรือช่องว่างในความต่อเนื่องของตัวเราที่ใช้แพทเทิร์นเหล่านั้น ทำให้เรารู้ตัวว่า เมื่อกี้ฉันใช้วิธีการนี้ในเพื่อสัมพันธ์กับเหตุการณ์ตรงหน้า ซึ่งถ้าเราฝึกที่จะตื่นรู้ มีสติจับทันว่าเรากำลังจะใช้แพทเทิร์นนั้นแล้วนะ! ครั้งต่อๆไป กลยุทธ์ของเราก็จะค่อยๆเปลี่ยนแปลงไป และด้วย awareness นี้เองก็จะทำให้เรามองสิ่งต่างๆที่ผ่านมา ปมปัญหา ความขัดแย้ง เหตุการณ์ในอดีตด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป มองเห็นอย่างที่มันเป็น ไม่ตัดสิน ให้ป้ายนิยามดี ไม่ดี ซึ่งก็จะช่วยให้เรามีท่าที่เปลี่ยนไปกับปัญหาอันเดิมนั้น
และระหว่างช่องว่างของความคิด การตัดสิน เราก็เจอ self ที่เป็นเราโดยไม่โดนอะไรมาบดบังไว้ และตรงนั้นมันปลอดภัย ไว้ใจได้
กลับมาร่างกายอันเป็นที่อยู่ของเรา
“สิ่งที่เราพยายามจะเรียนรู้กันที่นี่ก็คือว่า Body หรือร่างกายมันเป็นฐานที่ไร้เงื่อนไขให้กับความรู้สึก ให้กับความทรงจำ การรับรู้ ให้กับความคิด และให้กับตัวรู้ ทั้งหมดเลย พูดง่ายๆก็คือ ร่างกายในมุมมองที่เราสนใจ มันเป็นบาทฐานให้กับ Wisdom เป็นบาทฐานให้กับการเยียวยา เป็นบาทฐานให้กับการรู้ตัว ให้กับสุขภาวะที่ดีของทุกๆ คน” – วิจักขณ์ พานิช
ภาคปฏิบัติของคอร์ส Self-Therapy ส่วนใหญ่เป็นการภาวนา ในแบบ Somatic Meditation หรือภาวนาอยู่บนฐานของร่างกาย ให้กลับมาสู่เนื้อตัว เราได้ฝึกมีสมาธิอยู่กับร่างกายอย่างละเอียด รับรู้ร่างกายทั้งหมด และค่อยๆสร้างสายสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนความรู้สึก ความอบอุ่น ในภาวะที่ตื่นรู้กับร่างกาย ก่อให้เกิดความรู้สึกที่เป็นมิตร เป็นความรักและไว้วางใจที่มีต่อร่างกายของเรา และแม้บางครั้งที่จะเกิดอาการที่เรายุกยิก รู้สึกเมื่อยตามแขนขา หรือกระทั่งรู้สึกอึดอัด อยากจะหนีออกมา เราก็ตอบสนองอย่างมีสติและรับรู้อาการที่เกิดขึ้นนั้นอย่างเป็นมิตร ไม่ตัดสินว่ามันดีหรือแย่ แค่รู้และอยู่กับมันอย่างที่เป็น
เมื่อเราสามารถที่จะอยู่กับร่างกายตัวเองได้ และเริ่มต้นที่จะเปิดรับ เราก็จะค้นพบว่า ในเนื้อตัวเรามีของ “อะไรบางอย่าง” อยู่มากมาย และมี Wisdom ที่เราเริ่มรับรู้ นำไปสู่การค้นพบตัวเองในระดับที่ลึกซึ้งกว่าเดิม
ในการอยู่กับฐานกาย พี่ตั้มได้พาเราฝึกจับ “felt sense” เป็นวิธีการที่จะรับรู้ “อะไรบางอย่าง” จากร่างกาย โดยสังเกตจากตอนเวลาที่เรามีอารมณ์ หรืออินไปกับเรื่องอะไร ร่างกายก็จะไปกับเราด้วยเช่นกัน นึกถึงเวลาที่กำลังเล่าเรื่องอะไรสักเรื่อง แล้วในเนื้อตัวเราเกิดความรู้สึกบางอย่างที่อธิบายเป็นคำพูดไม่ออก เราจะได้แต่พูดว่า “มันแบบ.. มันแบบว่า..” และจิ้มๆ ไปตามตัว
felt sense เป็นสิ่งที่ก่อตัวขึ้นในร่างกาย ไม่อาจบอกได้ว่ามันคืออะไรจะไปในทิศทางไหน แต่สามารถระบุตำแหน่งได้ว่าอยู่ตรงไหนของร่างกาย เมื่อเราอยู่กับเนื้อตัวให้ละเอียดขึ้น จับ felt sense ก็พบว่าสิ่งนี้เป็นความซื่อตรงที่ร่างกายถ่ายทอดออกมา เป็นความจริงเเท้ที่แสดงออกมาให้เราได้รับรู้ และพาให้เราค้นพบ wisdom อีกรูปแบบที่จะนำพาให้เราเข้าใจตัวเอง และจริงใจกับตัวเองมากขึ้น
ในขณะที่ความคิดมีระบบเก็บความทรงจำเป็นเรื่องราว ร่างกายที่เผชิญประสบการณ์ชีวิตทั้งหมดของเราก็เก็บสิ่งต่างๆไว้เช่นกัน เมื่อเราอยู่กับร่างกายในปัจจุบันขณะ ตื่นรู้อยู่กับ Presence ของตัวเรา สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับตัวเอง ที่นั้นเอง ปัญหา หรืออะไรต่างๆในร่างกายก็จะค่อยๆลอยขึ้นมาเหนือผิวน้ำ ให้เราได้รับรู้ถึงการมีอยู่เหล่านั้น และจากพื้นที่ ณ ปัจจุบันนี้ ก็ค่อยย้อนกลับไปทำงานกับอดีตต้นตอ ควบคู่กันไป
ทั้งหมดนี้ จากความรู้ความเข้าใจ ให้เราสามารถแยกแยะ มีมุมมองกว้างขึ้น การฝึกที่จะตื่นรู้ และอยู่กับการมี awareness นี้ รวมถึงการภาวนากลับมาอยู่กับร่างกาย ก็ทำให้มีวิธีในการดูแลจิตใจเบื้องต้น ในจังหวะที่อยู่กลางพายุหมุนที่ทำให้เราปั่นป่วน สิ่งทั้งหลายที่ได้เรียนรู้ก็จะทำให้เราสามารถพาตัวเองมาที่ตาพายุ สู่ความว่างตรงกลางที่นิ่ง ปลอดภัย และไว้วางใจได้ ซึ่งก็คือตัว Self ของเราเอง
สิ่งสำคัญคือการมี awareness ตระหนักถึง presense ตัวเราที่อยู่ ณ ขณะนี้ ตรงนี้ปลอดภัย
จริงๆแล้วเราอาจจะไม่ได้ต้องบำบัดตัวเองให้กลายเป็นอะไรที่ดีขึ้น แต่เป็นการกลับมาอยู่กับตัวตนที่แท้ของเราอย่างเป็นมิตร ตื่นรู้ และไว้วางใจ ก็เป็นได้….