บทความโดย อานนท์ ศากยะ
” จากการสำรวจ ปัจจุบันมีภิกษุณีในประเทศไทย 265 รูป กระจายไปถึง 40 จังหวัด เป็นสังฆะใหญ่แล้ว 9 แห่งใน 7 จังหวัด”
เนื้อหาบางช่วงบางตอนจากการบอกเล่าของท่านภิกษุณีธัมมนันทา หรืออดีตรองศาสตราจารย์ ดร. ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ คงสะท้อนให้เห็นว่า แม้กฏหมายไทยจะยังไม่รับรองภิกษุณีในฐานะนักบวช หรือคณะภิกษุสงฆ์จะมีความคิดเห็นอย่างไรก็ตาม แต่ในปัจจุบันจำนวนของภิกษุณีซึ่งกระจายไปทั่วประเทศ มีมากเกินกว่าที่จะควบคุมหรือคำที่ท่านใช้ว่า “กำจัด” ได้อีกแล้ว
แม้การบวชภิกษุณีจะยากกว่าภิกษุ เพราะต้องใช้เวลานานนับปีเตรียมตัวในฐานะสามเณรี ตามด้วยการเป็นสิกขมานา กว่าจะได้รับการอุปสมบทก็ต้องมีความพร้อมอย่างแท้จริง กระนั้นจำนวนภิกษุณีก็มีแต่จะเพิ่มขึ้น
งานเสวนาซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่ม “Interfaith Chula” ในวันที่ 17 มิถุนายน 2565 ณ ธรรมสถาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คราคร่ำไปด้วยนิสิตผู้สนใจใฝ่รู้ เกินกว่าครึ่งเป็นผู้หญิง ผู้เขียนแทรกตัวเข้าไปในห้องบรรยายเล็กๆ ในฐานะผู้สนับสนุนภิกษุณี และหมายจะฟังว่า พุทธศาสนากับแนวคิดสตรีนิยม (Feminism) จะไปด้วยกันได้มากน้อยแค่ไหน
ทว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ในวันนั้นกลับเป็นการบอกเล่าถึงความเป็นมาเป็นไปของภิกษุณีไทยเสียเป็นส่วนมาก แต่อย่างน้อยๆ ก็ทำให้ผู้เขียนเข้าใจเส้นทางของสังฆะภิกษุณี และช่วยเคลียร์ประเด็นต่างๆ เป็นต้นว่า ภิกษุณีไทยเป็นเถรวาทจริงหรือไม่ ปัญหาด้านกฏหมายและการปฏิบัติจากคณะสงฆ์ เป็นต้น ซึ่งคงได้มีโอกาสบอกเล่าประเด็นเหล่านี้ต่อ
กระนั้น ด้วยความที่ผู้ฟังส่วนใหญ่ยังเป็นนิสิต เมื่อหลายคนเห็นว่าท่านผู้บรรยายปรารถนาจะให้เป็นการพูดคุยมากกว่า น้องๆ หลายคนจึงถามชี้ตรงไปยังประเด็นสำคัญ อาทิเช่น หากเราคิดว่า พุทธศาสนาไปกันได้กับแนวคิดสตรีนิยม เพราะเหตุใด พระพุทธะจึงต้องกำหนดครุธรรมแปดประการให้ภิกษุณีปฏิบัติ เป็นต้นว่า ภิกษุณีแม้พรรษามากเพียงใด ก็พึงไหว้ภิกษุที่แม้บวชเพียงวันเดียว หรือต้องรับการอบรมสั่งสอนจากภิกษุ ฯลฯ
คำตอบรวบยอดต่อคำถามเหล่านี้ ภิกษุณีธัมมนันทากล่าวว่า
ก็เพราะภิกษุณีสงฆ์เกิดทีหลังภิกษุสงฆ์ห้าปี จึงนับว่าเป็นน้องสาว ดังนั้นพระพุทธะจึงได้ตั้งกฏกติกาพื่อให้ภิกษุดูแลปกครองภิกษุณี และเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยภายในสังฆะโดยรวม
ท่านยังเสริมว่า
ความเท่าเทียมของพุทธศาสนานั้นคือความเท่าเทียมในทางธรรม คือทุกคนมีศักยภาพที่จะบรรลุธรรมได้ ดังนั้นจึงยอมให้มีนักบวชหญิง ซึ่งเป็นไปได้ยากในสังคมสมัยนั้น
นิสิตหลายคนฟังแล้วก็คงหงุดหงิด ด้วยเหตุว่าสภาพการณ์ของสังคมในปัจจุบัน แม้ระบบปิตาธิปไตยจะยังคงครอบงำอยู่ แต่ผู้หญิงก็ตระหนักในสิทธิของตนมากขึ้น สังคมมีความเปิดกว้างมากขึ้น ความเท่าเทียมจึงไม่ควรเป็นแค่เรื่องศักยภาพภายในที่เป็นนามธรรม แต่ควรถูกนำมาปฏิบัติในทุกๆ มิติด้วย ธรรมเนียมเดิมของอินเดียเมื่อสองพันกว่าปีที่แล้วควรจะปรับปรุงได้แล้วหรือไม่ ในเมื่อมันไม่ใช่ข้อกำหนดคอขาดบาดตาย และไม่ได้กระทบต่อการอยู่ร่วมกัน
สิ่งที่นำมาสู่ความปั่นปวนกระอักกระอ่วนใจในวันนั้นมากที่สุด คือเมื่อถูกถามถึงการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมของผู้หญิงในปัจจุบัน ท่านผู้บรรยายกล่าวว่า
ผู้หญิงไม่ควรจะเรียกร้องความเท่าเทียมด้วยซ้ำ นั่นไม่ควรเป็นแนวคิดสตรีนิยม ก็เพราะการเรียกร้องความเท่าเทียมเป็นการลดทอนความคุณค่าของผู้หญิง ซึ่งสูงส่งกว่าอยู่แล้ว จะมาลดเพื่อให้เท่าเทียมกันทำไม
ท่านผู้บรรยายคงลืมไปว่า แนวคิดเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในทางเพศนี้ มิใช่รากฐานของแนวคิดสตรีนิยมเอาซะเลย เพราะแนวคิดสตรีนิยมมิได้มุ่งจะให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศสภาพหรือเพศวิถี หรือตีกลับระบบปิตาธิปไตยมายกย่องสตรีมากกว่าบุรุษ แต่คือการมุ่งไปสู่การยอมรับความหลากหลายและปลดปล่อยพันธะที่กดทับเพศสภาวะและเพศวิธีในมิติต่างๆ
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อถูกถามถึงการเคลื่อนไหวเพื่อให้ภิกษุณีได้รับการยอมรับทางกฏหมาย และถูกยอมรับโดยคณะสงฆ์ อย่างเป็นทางการ ท่านผู้บรรยายออกตัวชัดเจนว่า ไม่ใช่ประเด็นที่ท่านสนใจที่จะผลักดันอีกต่อไป ท่านมุ่งที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคณะภิกษุสงฆ์ ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี ช่วยการสังคมสงเคราะห์ และมุ่งให้ความรู้ทางพระวินัยและการปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ภิกษุณีมากกว่า
อีกทั้งท่านยังมองว่า การไม่ได้อยู่ภายใต้คณะสงฆ์หรือถูกระบุสถานภาพทางกฏหมายเป็นอิสรภาพด้วยซ้ำ
คำตอบของท่านมีท่วงทำนองราวกับว่า เราควรทำความดีมากๆ เอาไว้เพื่อให้คนยอมรับ มากกว่าไปเรียกร้องอะไรข้างนอก
แม้จะเห็นว่าเป็นคำตอบที่เข้าใจได้ในฐานะที่ผู้ตอบเป็นนักบวช และทำให้นึกถึงพระภิกษุอีกหลายรูปที่เห็นว่า พระไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง พระควรมีระยะกับการเมืองและปล่อยให้ทางบ้านเมืองจัดการกันเอง
แต่ไม่ว่าภิกษุหรือภิกษุณีที่คิดว่าตนเองมีอิสระเสรี ผู้เขียนคิดว่า นั่นเป็นเพียงอิสระเสรีภายใต้กรงหลวมๆ ต้องไม่ลืมว่าท่านมีอิสระและบ้านเมืองจะไม่มายุ่ง ตราบเท่าที่เขายังไม่ระแวงก็แค่นั้น หากเขาระแวง ก็มีกฏหมายบ้าๆ บอๆ ที่รัฐพร้อมจะนำมาใช้ เช่น กฏห้ามแต่งกายเลียนแบบสงฆ์ ซึ่งเป็นกฏหมายเล็กๆ แต่จะทำให้ท่านหมดจากสถานภาพนักบวชทันที หรือกฏหมายอะไรต่อมิอะไร ดังที่เคยเกิดกับหลายสำนักมาแล้ว
ความอิสระเสรีดังกล่าวอาจยังคงมีตราบเท่าที่ท่านไม่ตั้งคำถามกับรัฐที่ฉ้อฉล รัฐที่ละเมิดศีลธรรมทุกประการของพุทธศาสนา จะยังมีอยู่ตราบเท่าที่ไม่ออกไปเดินกับผู้คนบนท้องถนน ไม่แตะต้องประเด็นอ่อนไหว
การเรียกร้องสิทธิทางกฏหมายหรือการยอมรับนั้น ในแง่หนึ่งก็เป็นคุณต่ออนุชนรุ่นหลังและต่อสังคมโดยรวม อย่างน้อยที่สุด แม้ไม่จำเป็นต้องเข้าสู่ระบบการปกครองแบบคณะสงฆ์ แต่หากมีการยินยอมให้บวชภิกษุณีอย่างถูกต้องในเมืองไทย เพียงแค่นั้นก็จะเปิดพื้นที่เพื่อผู้หญิงที่อาจไม่พร้อมไปบวชถึงลังกาหรืออาจไม่มีเงินทองสำหรับการเตรียมบวชอีกมาก
ต้องกล่าวในท้ายที่สุดนี้ว่า แม้ผู้เขียนอาจไม่พอใจต่อคำตอบของท่านธัมมนันทาในวันนั้นอยู่บ้าง แต่ยังคงเคารพท่านในฐานะผู้กรุยทางสู่การบวชภิกษุณีในสังคมไทยเสมอ และจะยังคงสนับสนุนภิกษุต่อไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่
ติดตามกิจกรรมของกลุ่ม Interfaith Chula ได้ทางเพจ fb: Interfaith Chula