ค่ำคืนโพธิจิต : ประตูสุดเฟรนด์ลี่ที่เปิดสู่โลกของการภาวนา

บทสัมภาษณ์ ก้อง – ณัฐ​ ยาวิชัย
สัมภาษณ์โดย TOON วัชรสิทธา

ในตารางกิจกรรมประจำปีของวัชรสิทธา จะมีกิจกรรมอยู่กิจกรรมหนึ่งที่จัดขึ้นบ่อยครั้งที่สุด เฉลี่ยอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เป็นเหมือน “วิชาพื้นฐาน” ในโรงเรียนที่ช่วยปูพื้นฐานก่อนที่จะไปต่อยอดความรู้ในด้านต่างๆ กิจกรรมนั้นคือ “ค่ำคืนโพธิจิต” ฟังจากชื่อ แน่นอนว่าเป็นกิจกรรมที่จะเริ่มต้นช่วงพระอาทิตย์ตกดิน เพราะส่วนใหญ่แล้วกิจกรรมนี้จะจัดขึ้นในวันธรรมดา ซึ่งคนทำงานจะได้สามารถเดินทางมาร่วมกิจกรรมได้

ค่ำคืนโพธิจิต เป็นกิจกรรมที่เรียบง่าย โดยส่วนหลักๆ 90 เปอร์เซ็นต์ของกิจกรรมคือการนั่งภาวนา โดยมีผู้นำภาวนาคือ วิจักขณ์ พานิช ลักษณะของการภาวนาจะเป็นการกลับมาสัมพันธ์กับตัวเอง ร่างกาย ความเปิดกว้าง ความอ่อนโยน ที่มีอยู่แล้วในตัวเรา โดยวิจักขณ์ จะค่อยๆ พาคนในคลาสไปตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้ทีละขั้นตอน

“การฝึกภาวนาขั้นแรก เมื่อเราค่อยๆ ทำงานกับชั้นของอัตตาที่ใช้ต่อสู้ดิ้นรน ค่อยๆ ศิโรราบ ค่อยๆ ปล่อยไปทีละชั้น เราจะได้กลับมาเชื่อมต่อกับสิ่งที่เราเคยหนี ประสบการณ์ที่เราเคยหนีจะมีพื้นที่ในการปรากฏขึ้นมา ทั้งความจริงแท้ในชีวิต สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต สิ่งที่ยังรบกวนใจในปัจจุบัน พื้นที่ตรงนั้นก็จะเป็นพื้นที่ที่อ่อนนุ่มของการยอมรับและเข้าใจตัวเราเอง”

วิจักขณ์ พานิช

อีกประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือของกิจกรรม คือการแบ่งปันประสบการณ์ภาวนาในคลาสร่วมกัน ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับฟังความคิด ความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นฐานในการปฏิบัติต่อไป

ค่ำคืนโพธิจิต จึงมีองค์ประกอบของการเป็น “ประตู” ในการก้าวสู่โลกของการภาวนาที่ยอดเยี่ยม ทั้งการนำภาวนาของวิจักขณ์ ที่จะช่วยปูพื้นฐานความเข้าในการภาวนา รวมถึงการได้พบปะรับฟังผู้คนที่อยู่บนเส้นทางภาวนามาก่อน ทั้งหมดนี้จะค่อยๆ ทำให้เราได้เห็นภาพและสัมผัสกับประสบการณ์ตรงของการภาวนาในแบบที่ต่างออกไปจากความเข้าใจเดิม และบางทีเราอาจจะได้พบความน่าสนุกและรื่นรมย์ในนั้น

ก้อง – ณัฐ​ ยาวิชัย เป็นหนึ่งในคนที่เริ่มต้นวิถีการภาวนาของตัวเองจากกิจกรรมค่ำคืนโพธิจิต ซึ่งหลังจากที่ได้ทดลองเข้าร่วมกิจกรรมครั้งแรกแล้ว เขาก็กลับมาร่วมอีกในครั้งถัดไปไม่เคยขาด นับได้ไม่น้อยกว่า 10 ครั้งจนถึงปัจจุบัน วันนี้เราจึงได้มีโอกาสชวนเขาพูดคุย ถึงเหตุผลเบื้องหลังว่าอะไรที่ทำให้เขาสนใจเริ่มต้นการฝึกภาวนาและอะไรที่ทำให้เขามาร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

อะไรที่ทำให้เลือกสมัครเข้ามาร่วมกิจกรรมค่ำคืนโพธิจิต

ตอนนั้นเราเริ่มมีความสนใจในมิติทางจิตวิญญาณ การปฏิบัติ นั่งสมาธิ แต่เราก็ใหม่มาก แม้แต่คำว่าภาวนายังไม่รู้จักเลย รู้จักแต่คำว่านั่งสมาธิ

ตอนนั้นก็นั่งหาที่ที่เขามีสอนในเน็ตนี่แหละ แล้วได้เจอกับวัชรสิทธาในเฟซบุ๊ก เราก็ไล่อ่านโพสแล้วเกิดความรู้สึกว่าที่นี่ดูเฟรนด์ลี่เข้าถึงง่ายดี เลยสนใจอยากลองมาวัชรสิทธาดูสักครั้ง พอดีตอนนั้นมีกิจกรรมชื่อ “ค่ำคืนโพธิจิต” ซึ่งดูเกี่ยวกับการฝึกนั่งสมาธิด้วย แถมยังดูมีความนุ่มนวล ไม่เคร่งเครียด ก็เลยกดลงชื่อมาเลย

การมาครั้งแรกได้เรียนรู้อะไรกลับไปบ้าง

วันนั้นเขาสอนการภาวนาในแบบที่เรียกว่า Somatic Meditation ซึ่งเป็นการภาวนาแบบฟังร่างกาย อยู่กับร่างกาย ไม่ตัดสินสิ่งที่เกิดขึ้น รู้สึกอะไรก็ปล่อยให้มันเป็นไป ไม่กดข่มความคิดหรืออารมณ์ของเรา

วันนั้นจุดพีคคือ ระหว่างที่นั่งอยู่ มีจังหวะนึงที่พี่ตั้ม – วิจักขณ์ พานิช เริ่มท่องมนต์บางบท ซึ่งมัน Impact เรามาก เราเกิดประสบการณ์บางอย่างที่มันตราตรึง ทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ของการภาวนา และเกิดความสนใจในการมาเรียนรู้อีก ตั้งแต่ครั้งนั้นก็เลยมาค่ำคืนโพธิจิตตลอดทุกครั้ง

ความเป็นไปได้ที่ว่าคืออะไร

มันคือความเป็นไปได้ที่ว่า คนธรรมดาๆ อย่างเราก็สามารถมีประสบการณ์ในการภาวนาได้ ซึ่งมันเปิดมุมมองให้เราเห็นว่า เออ! จริงๆ แล้วเราไม่ต้องไปบวชหรืออยู่กฎเกณฑ์ข้อบังคับที่เคร่งครัดเพื่อที่จะสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ เรายังสามารถที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับโลกในแบบของเรา  เพราะจริงๆ ในชีวิตเราก็ยังมีสิ่งที่ต้องดูแลรับผิดชอบอยู่อีกหลายเรื่อง แต่ก็ยังสามารถสัมพันธ์กับประสบการณ์และประโยชน์ของการภาวนาได้ 

ในอีกมุมนึงคือชีวิตเรามันก็มีหลายเหตุการณ์ที่ค่อนข้างปั่นป่วน เรามีปัญหาหรือปมต่างๆ ในชีวิต ซึ่งช่วงเวลาของการภาวนา มันเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เราได้หยุดพักจากภาวะความวุ่นวายพวกนั้น และเมื่อปฏิบัติไปเรื่อยๆ เราก็พบว่าการภาวนาไม่ใช่กิจกรรมที่จะทำเป็นครั้งคราวแล้วจบไป แต่เราควรพามันเข้ามาในชีวิตให้มากขึ้น นึกถึงมันบ่อยๆ หรืออย่างน้อยก็พยายามนั่งที่บ้านให้ได้ แทนที่จะรอไปนั่งในค่ำคืนโพธิจิตอย่างเดียว

หลังจากที่ได้มาร่วมค่ำคืนโพธิจิต ความเข้าใจกับคำว่าภาวนา เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

ช่วงแรกๆ เราก็อยากมีประสบการณ์ในแบบที่เราเคยมีอีก แต่พอหลังๆ เราก็เริ่มวางมันลงได้ ซึ่งก็อาจจะมาจากหนังสือที่อ่านด้วย หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า “ทะลวงวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ” ของ เชอเกียม ตรุงปะ ที่ทำให้เรารู้ทันว่าความอยากทางจิตวิญญาณแบบนี้ของเรามันเป็นเรื่องวัตถุนิยม

เส้นทางของเรามันจึงเริ่มจากความตื่นตาตื่นใจในประสบการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการภาวนา จนมาถึงการตระหนักว่ามันไม่ใช่หนทางของการหนีปัญหาหรือหนีจากชีวิตประจำวัน เพราะสุดท้ายแม้แต่ตอนนั่งภาวนา เราก็ต้องสัมพันธ์กับเหตุปัจจัย หรือ กรรมของเราอยู่ดี

เมื่อฝึกไปเรื่อยๆ คำว่าการภาวนาสำหรับเรามันเลยเป็นเหมือนการเปิดพื้นที่ว่าง (Space) เพื่อที่จะเผชิญและสัมพันธ์กับทุกอย่างอย่างสามัญที่สุด แล้วประสบการณ์ที่เรามีในช่วงขณะภาวนา ก็อาจจะทำให้เรานำไปใช้กับชีวิตในช่วงเวลาอื่นๆ และเปิดให้เราได้มองเห็นโลกใบเดิมในอีกรูปแบบหนึ่ง

การภาวนาทำงานกับตัวก้องอย่างไร

เราอาจจะไม่ได้คิดว่าการภาวนามันเป็นเรื่องของการตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงตัวตนหรืออะไร แต่เหมือนมันมีความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่เกิดโดยธรรมชาติจากการที่เราได้ฝึกฝนภาวนา เช่น ราสามารถปล่อยวางเรื่องความคาดหวัง ค่านิยม หรือสิ่งที่สังคมบอกให้เราต้องเป็นลงได้เยอะมาก เรากล้าเป็นตัวเอง และฝึกที่จะยอมรับตัวเองในแบบที่เป็น ซึ่งสิ่งนี้มันยังอยู่ในกระบวนการทำงานนะ เป็นโจทย์ของเราที่ทำงานกับมันมาตลอด

นอกจากนี้เราเคยแชร์กันกับเพื่อนแล้วก็พี่ตั้มว่า การภาวนาเหมือนทำให้เรามีความเซนส์ซิทีฟกับชีวิตมากขึ้น สัมผัสรายละเอียดต่างๆ ในชีวิตมากขึ้น

ทำไมการภาวนาทำให้ก้องเซนส์ซิทีฟกับชีวิตมากขึ้น

เหมือนเวลาที่เราภาวนา เราได้พบกับพื้นที่ว่างที่โอบอุ้มเรา ไร้การตัดสิน ซึ่งมันเปิดให้สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในตัวเราผุดขึ้นมา เช่น ความคิดไม่ดีของเรา ตัวตนบางอย่างที่เราอาจจะไม่ชอบ รวมถึงด้านดีๆ ในตัวเราด้วย เวลาที่ภาวนาสิ่งพวกนี้มันจะลอยขึ้นมาให้เราเห็น บางอย่างเราก็ตกใจว่าตัวเรามีความคิดแบบนี้ด้วยเหรอ หรือ บางทีเป็นเหตุการณ์ที่เราเคยทำในอดีตแล้วรู้สึกไม่ชอบมัน เหมือนเป็นบททดสอบที่สอนให้เรายอมรับทุกด้านของตัวเอง ซึ่งมันก็ทำไม่ได้ในทันทีหรอกนะ แต่เราก็ต้องทำงานกับมัน เพราะอย่างน้อยในขณะที่เราภาวนา เราก็อยู่ในพื้นที่ที่โอบอุ้มเรา มันเป็นการฝึกที่จะเป็นพื้นที่แบบนั้นให้กับตัวเอง

• นอกเหนือไปจากการสัมพันธ์กับตัวเอง มีมิติที่สัมพันธ์กับสิ่งรอบตัวบ้างไหม

เรารู้สึกว่าใจกว้างขึ้น สมัยก่อนถ้ามีอะไรเข้ามากระทบเรา เราจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบในทันที แต่พอได้ฝึกกับการมีพื้นที่ มันทำให้เห็นว่าเราไม่ต้องโต้ตอบในแบบเดิมๆ ก็ได้ เราสามารถเปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการสัมพันธ์กับคนอื่น เรานึกถึงคำเชยๆ อย่าง “ใจเขาใจเรา” บ่อยมากขึ้น

การฝึกเรื่องพื้นที่ในมุมที่สัมพันธ์กับเรื่องรอบตัวเป็นการเปิดตัวเองออกอย่างไร้เงื่อนไข ซึ่งก็เป็นความท้าทายเหมือนกันนะ จากที่แต่ก่อนเราอาจจะเคยนิยามตัวเองว่าเป็นคนสันโดษ ใช้ชีวิตคนเดียว อยู่ด้วยตัวเองจนเคยชิน แต่พอได้เริ่มเปิดแล้ว สิ่งอื่นๆ มันก็เข้ามาหาเองโดยธรรมชาติ เรารู้สึกได้ว่ามีเพื่อนมากขึ้น คนที่ขาดการติดต่อกันไปก็ติดต่อกลับมา ซึ่งมันเป็นเรื่องมหัศจรรย์สำหรับเรา

ถ้าต้องแนะนำคนที่ไม่เคยมาวัชรสิทธามาก่อนเลย อยากแนะนำอะไร

เราเคยบอกกับพี่ตั้มว่า ค่ำคืนโพธิจิตเป็นจุดเริ่มต้นให้เราได้เริ่มเข้ามาเส้นทางการฝึกฝนตัวเอง ถ้าไม่มีกิจกรรมนี้เราก็คงไม่ได้เข้ามาตรงนี้ ซึ่งเราคิดว่ามันเป็นประตูที่ดีมากในการเข้ามารู้จักกับวัชรสิทธาและโลกของการภาวนา เหตุผลหนึ่งคือมันมีค่าใช้จ่ายไม่สูง 200 บาท ได้เข้ามานั่งภาวนาโดยมีคนนำภาวนา มีคำสอนแทรกในแต่ละ Session ระหว่างนั่ง ซึ่งเราว่ามันง่ายกับการที่คนที่ยังไม่เคยมา จะได้ลองมาดูสถานที่ ผู้คน และกิจกรรมที่เกิดขึ้นในวัชรสิทธา

ถ้าต้องแนะนำกิจกรรมของวัชรสิทธาสักหนึ่งอันให้คนที่มีความสนใจการภาวนาหรือกำลังจะเข้ามาเรียนรู้วิถีทางจิตวิญญาณ เราก็อยากจะแนะนำ ค่ำคืนโพธิจิต ให้กับเขา เพราะว่าจากประสบการณ์ของเรา เราเจอเส้นทางนี้จากกิจกรรมนี้ ที่ผ่านมาเราก็ชวนเพื่อนมาค่ำคืนโพธิจิตอยู่บ่อยๆ ซึ่งเขาก็เริ่มเข้าใจการภาวนากับกิจกรรมนี้ จากนั้นก็สนใจมาร่วมกับเราตลอด

เราเลยคิดว่า “ค่ำคืนโพธิจิตเป็นประตูที่ดีในการพาใครก็ตามเข้าสู่โลกของการภาวนา” ทั้งยังไม่ได้มีพิธีรีตอง เงื่อนไข หรือเครื่องแบบอะไรในการเข้าร่วม ตัวสถานที่ก็ตั้งอยู่ในเมือง เลิกงานก็มาได้ แค่มีเวลา 2-3 ชั่วโมงก็สามารถมาลองได้แล้ว แล้วแต่ละครั้งเนื้อหาในค่ำคืนโพธิจิตจะค่อนข้างแตกต่างกัน ใครที่เคยมาแล้วก็สามารถมาได้อีกโดยที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอด เพราะบางครั้งที่พี่ตั้มเพิ่งไปเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ มา เขาก็จะเอามาสอนในกิจกรรมนี้แหละ ซึ่งสำหรับเรามันเป็นสิ่งที่ Exclusive จริงๆ