บทความโดย วิจักขณ์ พานิช
ในช่วงสงครามเวียดนามในทศวรรษ 1960 ติช นัท ฮันห์ ธรรมาจารย์ชาวเวียดนาม ได้เสนอแนวคิด “Engaged Buddhism” ซึ่งเป็นแนวทางที่นำหลักคำสอนและการปฏิบัติในพุทธศาสนา เรื่องสติสัมปชัญญะ (mindfulness-awarenss) และความกรุณา (compassion) มาเชื่อมโยงกับปัญหาทางสิ่งแวดล้อม สังคม และการเมือง
ในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับความรุนแรงจากสงคราม คำคำนี้จึงกลายเป็นที่สนใจทั้งในหมู่ชาวพุทธและชาวโลก ติช นัท ฮันห์ และชุมชนพุทธของท่านได้พยายามประสานการภาวนากับการสร้างการตระหนักรู้ทางสังคม เพื่อเป้าหมายการบรรเทาทุกข์และสนับสนุนสันติภาพ
นอกจากติช นัท ฮันห์ แล้ว สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักวิชาการพุทธศาสนาและนักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวไทย ยังถือเป็นบุคคลสำคัญในการเผยแพร่แนวคิด “Engaged Buddhism” ให้กว้างขวางออกไปยิ่งขึ้น โดยสุลักษณ์แปลคำนี้เป็นภาษาไทยว่า “พุทธศาสนาเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม” แม้คำแปลนี้จะช่วยให้คนไทยจำนวนไม่น้อย มองเห็นทางเลือกใหม่ๆ ของการนำคำสอนและการปฏิบัติพุทธศาสนาไปเชื่อมโยงกับมิติทางสังคม แต่ในมุมมองของผู้เขียน ยังไม่สะท้อนความหมายลึกซึ้งตามที่ติช นัท ฮันห์ต้องการได้ครบถ้วน
อะไรที่ engaged ใน Engaged Buddhism?
เมื่อพินิจความหมายในเชิงประสบการณ์ของคำว่า engaged ใน Engaged Buddhism คำคำนี้ต้องการสื่อสารถึง มิติของความสัมพันธ์ เข้าไปมีส่วนร่วม เชื่อมโยง พัวพันกับเหตุปัจจัย ชีวิต หรืออาจเรียกโดยรวมว่า “สรรพสิ่ง”
ตรงกันข้ามกับทิศทางของการปล่อยวาง หลุดพ้น สละ ละ ที่มักเป็นความหมายหลักที่เส้นทางขั้นต้นของพุทธศาสนาต้องการสื่อถึง เมื่อต้นเหตุของความทุกข์มาจากการยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ขั้นต้นของเส้นทางจึงเป็นการผละออกจากมุมมองที่ผิดทั้งหลายที่เชื่อมโยงอยู่กับการมีตัวตนที่ตายตัวเป็นศูนย์กลาง
ทว่าคำสอนในพุทธศาสนาไม่ได้จบลงแต่ตรงนั้น เมื่อปล่อยจากตัวตนแล้วยังไงต่อ? เมื่อตัวตนไม่ใช่เรา แล้วอะไรคือธรรมชาติของความเป็นเราที่แท้จริง? มหายานสื่อสารถึงธรรมชาติความจริงสูงสุดแห่งความว่าง และความว่างนั้นเองคือต้นกำเนิดของโพธิจิต หรือจิตพุทธะ
พลังการตื่นรู้แห่งโพธิจิตนี่เอง ที่เมื่อปรากฏขึ้นในใจแล้ว จะเป็นพลังอันไม่มีประมาณ ในการเข้าไปเผชิญ สัมพันธ์ “engage” กับความทุกข์และปัญหา ความเปิดกว้างของหัวใจ เชื่อมโยงสัมพันธ์กับความเอื้ออิงอาศัยกันของเหตุปัจจัยไม่มีที่สิ้นสุด (Dependent Origination; ปฏิจจสมุปบาท, อิทัปปัจจยตา) และการโยงใยกับสรรพชีวิตอย่างลึกซึ้ง ในฐานะ “นานาชีวิต” “Interbeing” ที่ไม่อาจอยู่เดี่ยวๆ หรือแยกขาดจากกันได้ ความทุกข์ “ของเขา” ปลุกความเห็นอกเห็นใจ ความกรุณา และการตื่นรู้อยู่กับปัญหา “ของเรา” วิสัยทัศน์อันเปิดกว้างเช่นนี้เอง ที่ทำให้คำสอนสุญญตาหรือโพธิจิตในมหายาน พาพุทธศาสนาไปต่อสู่การสัมพันธ์กับประสบการณ์หรือคุณค่าที่เป็นสากล
ข้อเสนอคำแปลใหม่ที่เป็นไปได้สำหรับ “Engaged Buddhism”
- พุทธร่วมทุกข์ (หรือ พุทธศาสนาร่วมทุกข์ / ชาวพุทธร่วมทุกข์)
- พุทธเผชิญทุกข์ (หรือ พุทธศาสนาเผชิญทุกข์ / ชาวพุทธเผชิญทุกข์)
- พุทธเผชิญปัญหา (หรือ พุทธศาสนาเผชิญปัญหา / ชาวพุทธเผชิญปัญหา)
- พุทธไม่หลุดลอย (หรือ พุทธศาสนาไม่โธเลี่ยน / ชาวพุทธไม่โธเลี่ยน)
- พุทธโพธิจิต (หรือพุทธศาสนาโพธิจิต / ชาวพุทธโพธิจิต)
ในมุมมองของผู้เขียน ผู้เขียนชอบคำว่า “พุทธศาสนาเผชิญทุกข์” ที่สุดทัังในแง่ความหมาย และความใกล้เคียงกับคำว่า Engaged Buddhism ในภาษาอังกฤษ
คำว่า “เผชิญทุกข์” ในที่นี้สะท้อนถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเผชิญกับความทุกข์ร่วมทางสังคมและการภาวนาเพื่อการตื่นรู้ในตัวเองไปพร้อมๆ กัน ทว่าอีกคำแปลที่ผู้เขียนก็ชอบมากไม่แพ้กัน ก็คือ “พุทธศาสนาโพธิจิต” ที่แม้จะไม่ตรงตามคำภาษาอังกฤษเสียทีเดียว แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าศักยภาพของการสัมพันธ์กับเหตุปัจจัยแห่งทุกข์อย่างตื่นรู้ เปิดกว้าง และกรุณา มาจากจิตตรัสรู้ อันเป็นธรรมชาติโดยเนื้อแท้ของเรา เมื่อหลุดพ้นจากข้อจำกัดของอัตตา
แล้วสำหรับท่านผู้อ่านล่ะ ชอบคำแปลใหม่อันไหนของ Engaged Buddhism…