บทความโดย จูดี้ ลีฟ
แปลโดย ทีมงานวัชรสิทธา
เมื่อมีพื้นฐานการฝึกตนที่ดีแล้ว ถึงจุดนึง ถือเป็นเรื่องดีที่จะสบตากับความกลัว เราจะเดินบนหนทางเผชิญความกลัวได้อย่างไร? ความกลัวไม่ใช่เรื่องหยุมหยิมที่ควรมองข้าม หลายครั้งที่มันจำกัดชีวิตเรา คุมขังเรา และยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกดขี่เราด้วย ก็เพราะความกลัวนี่แหละ ที่ผลักดันให้เราทำหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นโทษ ทั้งทำร้ายตัวเองและทำร้ายคนอื่น โดยเฉพาะคนที่หิวอำนาจและบ้าอำนาจ ซึ่งพอพิจารณาดีๆ แล้ว ต่างก็เป็นรูปแบบของการกระทำบนพื้นฐานของความกลัวทั้งสิ้น
ความกลัวเป็นอะไรที่ร้อยเล่ห์มากๆ บางครั้งมันก็อำพรางตัวอยู่ในภาพลักษณ์ของความดี แต่ลึกๆ แล้ว เราก็แค่กลัวที่จะยอมรับความไม่ดี การทำดีของเรามาจากความดีจริงๆ หรือมาจากความกลัวลึกๆ กันแน่? ความกลัวยังหยุดเราจากการพูดหรือแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา บ่อยครั้งที่ความกลัวเป็นเหตุให้ผู้คนเดินออกจากเส้นทางธรรม เมื่อสิ่งต่างๆ เริ่มจะลงลึกไปพ้นการพัฒนาตัวเอง เราก็เริ่มเจอกับความกลัวและบอกกับตัวเองว่า “เส้นทางนี้ไม่ใช่สำหรับฉัน”
เหตุสำคัญของความทุกข์หรือความกระวนกระวายใจ คือความไม่รู้หรือเพิกเฉยต่อธรรมชาติของความจริง และความอยากและการยึดมั่นต่อสิ่งที่เป็นมายา ที่เรียกว่า อัตตา นั่นเอง เชื้อเพลิงของพาหนะแห่งอัตตาก็คือ ความกลัว อัตตางอกงามได้ดีบนความกลัว ดังนั้นนอกเสียจากเราจะเข้าใจปัญหาของความกลัว เราก็จะไม่มีวันจะเข้าใจและเข้าถึงประสบการณ์ของความไม่มีตัวตนหรือความไม่เห็นแก่ตัวได้
เรามีความกลัวที่รู้ๆ อยู่ในชีวิตประจำวัน กลัวอุบัติเหตุ กลัวความสูญเสีย กลัวโรคร้าย ฯลฯ แต่ยังมีความกลัวที่เป็นคลื่นใต้น้ำ ซึ่งเป็นความกลัวที่เกี่ยวข้องกับผู้ฝึกปฏิบัติทางจิตวิญญาณมากๆ คลื่นใต้น้ำนี้จะมีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังนิสัยหรือความเคยชินหลายๆ อย่างของเรา ทำไมถึงยากนักที่จะนั่งเฉยๆ หรือยืนเฉยๆ ในแถว อยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร โดยไม่รู้สึกกังวลหรือกระสับกระส่าย เรามีความกลัวต่อการอยู่เฉยๆ
ทำไมเราจึงปั่นป่วนด้วยความคิดฟุ้งซ่านอยู่ตลอดเวลา? เรานั่งลง พยายามทำใจให้สงบ แต่แล้วมันกลับปั่นป่วน ตีเอามวลความคิดมากมายให้โผล่ขึ้นมา ทำไม? เหตุก็เพราะคลื่นใต้น้ำแห่งความกลัวนี่เอง เหมือนกับว่าเราต้องพยายามรักษาให้สิ่งต่างๆ เคลื่อนไปอยู่ตลอด เราต้องคอยทำให้ตัวเองถูกเบี่ยงเบนความสนใจครั้งแล้วครั้งเล่าในระดับมูลฐาน เราต้องคอยรักษาโมเมนตัมของตัวเองให้ดำเนินไป เพราะมันเป็นอะไรที่น่ากลัวสุดๆ ที่คิดว่ามันจะหยุดลง หรือแม้แต่เกิด dead air ขึ้น ครั้นเรามีการแยกขาดหรือทวิลักษณ์ เราก็ต้องรักษาโมเมนตัมนั้นให้ต่อเนื่องไป ปัญหาของตัวตนหรือทวิลักษณ์ก็คือ มันเป็นอะไรที่สุดจะหลอกลวง แต่เราต้องรักษามันไว้ บางส่วนของคลื่นใต้น้ำของความกลัวคือ ความกลัวที่จะถูกเปิดโปงว่าเราใช้เวลาไปกับปั้นภาพลวงตาขึ้นมาจากอากาศบางๆ
ความกลัวมีสองขั้วสุดโต่ง ขั้วแรกคือมันทำให้เราแข็งทื่อ เกร็ง ทำตัวไม่ถูก จู่ๆ เราแข็งเหมือนหิน และอีกขั้วคือ เราแพนิค แล้วเราจะเดินบนหนทางที่จะเผชิญสองขั้วสุดโต่งของความกลัวนี้อย่างไร?
มีหลายขั้นตอนในการทำงานกับความกลัวบนเส้นทางของผู้ปฏิบัติ แต่สิ่งสำคัญคือต้องรู้ว่าจะเริ่มที่ตรงไหน เพื่อเราจะได้มีก้าวแรกที่ถูกต้อง
จุดเริ่มต้นนั้นเรียกว่า “ทางแคบ” คุณมองไปยังประสบการณ์ของคุณเองอย่างตรงไปตรงมา คุณตรวจสอบความกลัวและจำแนกมันออกเป็นองค์ประกอบย่อยๆ มันปรากฏขึ้นที่ไหน? มันรู้สึกยังไงตอนที่คุณรู้สึกกลัว? ความคิดแบบไหนที่วิ่งวุ่นอยู่ในจิตเวลาตกอยู่ในความกลัว? เวลากลัว คุณเห็นความเคยชินของตัวเองยังไงบ้าง? คุณแพนิคไหม? คุณเกร็งไหม? ตัวแข็งหรือเปล่า? หรือวิ่งวุ่นพยายามแก้ไขทุกอย่าง? คุณโกรธไหม?
ณ ขั้นนี้ของเส้นทาง คุณพยายามเข้าใจประสบการณ์ของตัวเอง ลองพยายามแยกมันออกมา เป็นแต่ละชั่วขณะว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง
การทำเช่นนี้จะช่วยให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ขณะที่มันเกิดขึ้น ก่อนที่มันจะเติบใหญ่เต็มที่ แล้วดึงคุณไปไหนต่อไหน ซึ่งในจุดนั้นคุณไม่สามารถทำอะไรกับมันได้มากนักแล้ว
ในการปฏิบัติภาวนา คุณทำให้สิ่งต่างๆ ช้าลง ซึ่งจะอนุญาตให้คุณเห็นการเกิดขึ้นของประสบการณ์อย่างลึกซึ้ง ด้วยการทำให้สิ่งต่างๆ ช้าลง คุณจะสามารถขัดจังหวะการโยนไม้ขีดลงไปบนกองใบไม้แห้งได้ คุณบอกตัวเองว่า “ฉันไม่ต้องการจะไปตรงนั้น ฉันเห็นแล้วว่าอะไรจะตามมา” คุณจับประสบการณ์ของคุณได้ทัน ในชั่วขณะที่มันยังจัดการได้
การทำความเข้าใจ ตรวจสอบ ใคร่ครวญ รู้ตัวเอง และช้าลง ทั้งหมดนี้คือขั้นแรกของการทำงานกับความกลัว จุดเริ่มต้นของเส้นทางแห่งความกล้า กล้าเผชิญความกลัว หรือไม่กลัวที่จะกลัว