Karma 101 – เหตุและผลแห่งการกระทำที่สรรค์สร้างเส้นทางเฉพาะตัวสู่การหลุดพ้น

บทความโดย TOON วัชรสิทธา


พูดถึง “กรรม” หลายคนอาจปวดหัวจี๊ดขึ้นมาทันที เพราะในความรู้สึกและความเข้าใจของเรา กรรมเป็นสิ่งที่ดูไม่ค่อยเป็นมิตร และมักจะพาแต่เรื่องเครียดๆ ความทุกข์ หรืออุปสรรคมาให้ เมื่อชีวิตผลักเราเข้าตาจน แพะรับบาปตัวแรกก็มักจะเป็นกรรมนี่แหละ โดยสัญชาตญาณ เราจึงรู้สึกว่าเราเป็นผู้ถูกกระทำจากกรรม และจะต้อง “หนี” กรรมไปให้ไกลแสนไกล เพื่อจะได้ไม่ต้องเผชิญหน้ากับมัน

ทรรศนะที่คนไทยมีต่อกรรม สะท้อนออกมาเป็นภาษาอย่างคำว่า “เจ้ากรรมนายเวร” “เวรกรรมจริงๆ!” “กรรมของเราแท้ๆ” “ช่วงนี้เธอมีกรรมนะ” “เด็กคนนี้เกิดมามีกรรมหนัก” ฯลฯ จะเห็นได้ว่า กรรม ถูกเอามาใช้อธิบายสิ่งเลวร้าย ไม่ว่าจะเกิดขึ้นไปแล้ว หรือมีโอกาสที่จะเกิดในอนาคต เมื่อมันเป็นสิ่งน่ากลัว มนุษย์เราก็พยายามหาวิธีแก้ไขมัน ผลลัพธ์คือพิธีกรรมต่างๆ ที่อ้างว่าสามารถแก้กรรมนั้นให้หายไป แล้วชีวิตจะได้กลับสู่ “ความเป็นปกติ” หรืออาจรุ่งเรืองขึ้น เมื่อไม่มีกรรมเป็นตัวถ่วง

บทความนี้อยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับคำว่า กรรม ใหม่อีกครั้งในแง่มุมที่เปิดกว้างมากกว่าเดิม แล้วบางทีเราอาจจะพบว่ามันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด มันอาจจะเป็นธรรมชาติที่แสนธรรมดา หรือบางทีมันอาจเป็นสิ่งพิเศษที่เปิดเส้นทางสู่การหลุดพ้นให้แก่เรา

กฎแห่งกรรม

คำว่า กรรม แปลว่า “การกระทำ” ซึ่งมีความหมายกลางๆ ไม่ดีและไม่ร้าย แต่เวลาพูดถึงกรรม มันมักจะตามมาด้วยการอ้างอิงถึงกฎเกณฑ์พื้นฐานของโลก ที่ว่าการกระทำต่างๆ ล้วนมีผลของมันเสมอ และผลนั้นก็จะสัมพันธ์ต่อทุกสิ่งรวมถึงผู้ที่เป็นคนกระทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย ถึงตรงนี้หลายคนอาจเกิดคำถามว่าการที่เรากระทำต่อสิ่งอื่นมันจะกลับมามีผลกับตัวเองได้ยังไง? การถูบ้าน ล้างจาน นินทาเพื่อน ช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยาก สิ่งเหล่านี้มันเกี่ยวกับเราตรงไหน?

นี่เป็นจุดแรกที่ทัศนคติต่อกรรมของผู้คนได้ละเลยความเป็นจริงไป เราเคยชินที่จะตัดตัวเองซึ่งเป็นผู้กระทำออกไปจากสมการอย่างสิ้นเชิง เราให้ความสนใจแต่เป้าหมายหรือสิ่งที่ถูกกระทำ หรือไม่ก็สนใจแต่กิริยาของการกระทำนั้นเอง แต่ไม่ว่าจะลืมใส่ตัวเองไปในสมการอย่างไร การกระทำนั้นก็ยังส่งผลต่อเราอย่างยุติธรรมอยู่ดี

เมื่อการกระทำเกิดขึ้น ผลของมันคือ เหตุการณ์ ซึ่งตัวเหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแล้วจบไปในทันที มันยัง “ทำงานต่อ” กับตัวเราและผู้ถูกกระทำ ทั้งในเชิงอารมณ์ความรู้สึก จิตใจ ความทรงจำ ปฏิกิริยาทางร่างกาย ไปจนถึงจิตใต้สำนึก สาเหตุนี้เองที่คำกล่าวที่ว่า “ทำอะไรก็ได้ผลอย่างนั้น” จึงเป็นคำที่ถูกใช้เมื่อพูดถึงการทำงานของกรรม “ผลอย่างนั้น” ในที่นี้อาจไม่ใช่เรื่องของการทำ A แล้วจะได้รับ A อย่างตรงไปตรงมา แต่คือผลที่ดำเนินต่อไปจากการกระทำ A ต่างหากที่จะมีอิทธิพลกับตัวเราต่อไปจวบจนถึงวันที่มันจางคลาย

ก่อนหน้านี้เราพูดถึงทรรศนะของคนไทยที่มักจะมองกรรมในแง่ร้าย ในฐานะตัวการที่ก่อเหตุไม่พึงใจในชีวิต แต่อันที่จริงแล้ว เวลาที่เจอเรื่องดีๆ ความโชคดี ความสมหวัง เรามักจะไม่ค่อยนึกถึงคำนี้เท่าไร ทั้งที่จริงๆ มันก็เป็นผลลัพธ์ของกรรมเช่นเดียวกับความโชคร้ายและเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ต่างๆ

กรรมทำงานกับทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่มีเทพเทวดาองค์ไหนคอยกุมบังเหียนเพื่อที่จะสนองคุณหรือโทษแก่เราเพื่อความสะใจ มันเป็นเป็นผลของการกระทำที่ดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ ตรงไปตรงมา ไม่มีอคติ ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง การทำงานของกรรมเป็นเหมือนกงล้อที่เคลื่อนหมุนจากการกระทำหนึ่งสู่อีกการกระทำอย่างต่อเนื่องไม่มีวันจบสิ้น ในทางพุทธ สิ่งนี้ถูกเรียกว่า “สังสารวัฏ”

ไม่มีใครสามารถหนีรอดจากรรมของตัวเอง แต่ข่าวดีคือกรรมแก้ตัวของมันเองได้

มีการเปรียบเทียบว่ากรรมมีลักษณะคล้ายกับเมล็ดพันธุ์แห่งเหตุการณ์ที่เติบโตอยู่ในตัวเรา เพื่อรอคอยวันที่ผลของมันจะสุกงอม และเผยตัวให้ได้สัมผัส บ้างก็ว่ากรรมมีลักษณะคล้ายขมวดปมของเชือก ทีซับซ้อนซ่อนเงื่อน มนุษย์ต่างพยามที่จะแก้ปมของมันให้คลายออก แต่กลับกลายเป็นว่าระหว่างที่นั่งแกะมัน เราก็ได้สร้างปมขึ้นมาใหม่อีกนับไม่ถ้วน

ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบถึงเมล็ดพันธุ์หรือปมของเชือก เราต้องไม่ลืมธรรมชาติที่แท้จริงอีกข้อหนึ่งของโลก นั่นคือความไม่เที่ยงแท้ถาวร ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนต้องดับสูญไป สัจธรรมข้อนี้รวมไปถึงเรื่องของกรรมด้วย

เมื่อการกระทำใดเกิดขึ้น ย่อมมีผลของการกระทำนั้นตามมา ผลนั้นอาจสืบเนื่องยาวนานข้ามภพข้ามชาติ แต่ท้ายที่สุดมันก็จะต้องดับสูญจางคลายลงไป นี่จึงอาจจะเป็นข่าวดีแรกที่เผยให้เห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องไปทำอะไรกับกรรมของเรา เพียงแค่ปล่อยให้มันเกิดขึ้น แล้วมันก็จะคลี่คลายตัวเองได้ตามธรรมชาติ สิ่งสำคัญคือเราต้อง “อนุญาต” ให้มันเกิดกระบวนการนั้น หากเราพยายามหลีกเลี่ยงหรือต่อต้าน ก็รังแต่จะทำให้กรรมนั้นขมวดแน่นไม่ไปไหนสักที ดีไม่ดีเราอาจจะเผลอไปสร้างกรรมเพิ่มโดยไม่รู้ตัว

“จากมุมมองของพุทธศาสนา ไม่มีใครหนีรอดไปจากกรรมของตัวเองได้ ทุกคนต่างต้องรับผิดชอบกับผลของกรรมชั่วที่เคยทำ รวมถึงผลของกรรมดีด้วยเช่นกัน” – เรจินัลด์ เรย์, จากหนังสือ Indestructible Truth

แต่อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น หนทางที่ดีที่สุดในการรับมือกับกรรม คือการเผชิญหน้าอย่างตรงไปตรงมา ไม่หนี ไม่แก้ ไม่หลบเลี่ยง เพราะนั่นอาจทำให้เราเสียโอกาสทองในการปล่อยให้มันคลี่คลายด้วยตัวเองไป

Paltrul Rinpoche ยกตัวอย่างถึงการวางใจเมื่อต้องเผชิญกับกรรมไว้อย่างงดงามว่า

“ถ้าเธอกำลังโดนผู้อื่นกล่าวหาและวิพากษ์วิจารย์บนความเข้าใจผิด นั่นคือผลจากการที่เธอเคยพูดโป้ปดในอดีต แต่แทนที่เธอจะโกรธหรือด่าทอเพื่อตอบโต้ผู้คนที่เข้าใจเธอผิด เธอจงรู้สึกซาบซึ้งและขอบคุณ ในฐานะที่พวกเขาได้ช่วยปลดปล่อยผลแห่งกรรมชั่วที่เธอเคยสร้างไว้ให้จางคลายลง และเธอควรมีความสุขกับสิ่งนี้นะ”


กรรมคือเหตุและผล ที่คลี่เผยเส้นทางแห่งความเป็นเรา

“สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตนฯ” “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” สำหรับชาวไทย เราคงได้ยินประโยคเหล่านี้บ่อยยิ่งกว่าบ่อย แต่จริงๆ แล้วมันหมายความถึงอะไร?

เรจินัลด์ เรย์ ธรรมาจารย์ชาวตะวันตก กล่าวว่ากรรมสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท หนึ่งคือกรรมที่เป็นผล (Effect) ซึ่งหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามี เป็น คิด รู้สึก ประสบ ล้วนแต่เป็น ผล จากการกระทำในอดีต เช่น การที่เราได้พบเจอธรรมะ ได้มีประสบการณ์แห่งการเป็นมนุษย์ มีความผิดหวัง สมหวัง หลงรัก อกหัก ฯลฯ ก็ล้วนแต่เป็นสายใยที่เกิดจากการกระทำในอดีตของเราทั้งสิ้น

กรรมประเภทที่สองคือ กรรมที่เป็นเหตุ (Cause) กรรมประเภทนี้คือทุกสิ่งที่เราทำในปัจจุบัน อันจะส่งผลต่อตัวเราในอนาคต ไม่ว่าอนาคตนั้นจะเป็นนาทีต่อไป ชั่วโมงต่อไป วัน เดือน ปี หรือแม้แต่ภพชาติต่อไป การกระทำที่เกิดขึ้นในโมงยามแห่งปัจจุบันคือการปรากฏขึ้นของเมล็ดพันธุ์ที่จะเติบโตและออกผลในภายภาคหน้า

จากความเข้าใจนี้ กรรมจึงเป็นทั้งเหตุและผลในตัวเอง เป็นสิ่งอธิบายสภาวะการณ์ของเราในปัจจุบัน และเป็นอำนาจแห่งการเลือกที่เชื่อมโยงกับชีวิตในอนาคต ในแง่หนึ่ง กรรมจึงมีลักษณะคล้ายกับ “เส้นทาง” ที่มีทั้งหนทางที่ผ่านมา ที่ที่เรายืนอยู่ และที่ที่เราจะไป แต่เส้นทางนี้ไม่ใช่เส้นทางที่เราสามารถมองเห็นที่มาที่ไปได้อย่างชัดเจนนัก ส่วนใหญ่แล้วเราจะรับรู้ได้เพียงแค่จุดที่เราอยู่เท่านั้น ซึ่งผลของกรรมก็จะเปิดเผยตัวเองขึ้นในเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น ชีวิตจึงเป็นเหมือนการเดินอยู่บนเส้นทางที่คลี่เปิดตัวเองไปเรื่อยๆ หรือที่เรียกว่า Unfolding Journey

แต่คำว่าเส้นทางชีวิต ไม่ได้หมายความว่ากรรมได้ “เลือก” หรือ “กำหนด” ทุกอย่างไว้แล้วล่วงหน้า จนเราไม่มีสิทธิ์ที่จะทำอะไรกับมันได้เลย ตรงกันข้าม มันเพียงเผยผลลัพธ์ของการกระทำในอดีตทั้งหมดให้เราได้สัมผัส จากนั้นก็เป็นอำนาจแห่งปัจจุบันขณะ ที่เราสามารถเลือกปฏิสัมพันธ์กับกรรมด้วยวิธีใดก็ได้

การตระหนักว่าเราไม่ได้กำเนิดขึ้น แล้วมาอยู่ในจุดที่เราอยู่อย่างไร้ที่มา เป็นเรื่องสำคัญพอๆ กับว่าเราจะมีปฏิสัมพันธ์ต่อเหตุการณ์ในชีวิตอย่างไร ในตัวเรามีเมล็ดพันธุ์แห่งกรรมอยู่มากมายนับอนันต์ กระบวนการคลี่คลายของกรรมจึงดำเนินไปอยู่ตลอดเวลา และส่งผลออกมาเป็นเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิต มันคือเหตุผลที่เราเกิดมากับพ่อแม่คนนี้ คือความสมหวังและผิดหวังในชีวิต คืออุปสรรค โรคภัยไข้เจ็บ โอกาสดีๆ ที่ไม่ได้คาดคิด ฯลฯ สิ่งสำคัญคือหลังจากที่ได้ประสบกับกรรมของเราแล้ว เรามีปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างไร เพราะทุกการกระทำ ย่อมนำมาซึ่งผลลัพธ์และเส้นทางที่แตกต่างกันออกไป ชีวิตจึงเป็นการดำเนินไปเส้นทางของกรรมที่เราลิขิตขึ้นมาเอง ไม่ว่าเราจะตระหนักถึงมันหรือไม่ก็ตาม


กรรมสรรค์สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว

อย่างที่กล่าวในข้างต้นว่ากรรมคือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เราประสบในชีวิต เวลาพูดถึงกรรมเราจึงมักจะมองว่ามันเป็นเรื่องของปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกับตัวเรา แต่อันที่จริง กรรมยังประกอบสร้างสิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องภายในอย่าง “ตัวตน” ของเราขึ้นมาอีกด้วย

โดยคร่าว อัตลักษณ์ คุณลักษณะ บุคลิกภาพ อุปนิสัย สิ่งที่ชอบ-ไม่ชอบ ของตัวเราก็มีที่มาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน จึงกล่าวได้ว่า กรรม ซึ่งเป็นที่มาของเหตุการณ์ในชีวิตก็คือต้นธารที่รังสรรค์ความเฉพาะตัวของเราขึ้นมาด้วยเช่นกัน

มีคำกล่าวถึงความงดงามเฉพาะตัวที่เกิดจากกรรมเอาไว้ว่า

“กรรมของมนุษย์แต่ละคนมีความแตกต่างกัน มันนำพาเราไปสู่บริบท สภาพแวดล้อม สถานการณ์ ที่สร้างคุณลักษณะอันเฉพาะตัวมากๆ ให้กับเรา คล้ายกับการเกิดขึ้นของดวงดาวมากมายในจักรวาล ที่แตกต่างหลากหลาย มีความเป็นตัวของตัวเอง และจะไม่มีทางเกิดขึ้นซ้ำอีก” – วิจักขณ์ พานิช , จาก หินยานรีทรีท

เราอาจเป็นอินโทรเวิร์ดที่รักการเดินทางท่องเที่ยว ชอบฟังเพลง R&B ไม่ชอบกินผัก ทว่าดันสนุกกับการปลูกพืช มีนิสัยจับผิดตัวเองอยู่เนืองๆ แต่ชอบจับผิดคนอื่นยิ่งกว่า ตีแบตมือซ้าย เขียนหนังสือมือขวา แถมยังตื่นสายอยู่บ่อยๆ ในมุมมองแบบพุทธ ลักษณะที่ประกอบขึ้นเป็นตัวเป็นตนเช่นนี้ ไม่ได้จู่ๆ ก็เกิดขึ้นอย่างไร้ที่มาที่ไป แต่เกิดจากแรงกระเพื่อมของผลกรรมที่ย้อนกลับไปหาเหตุได้เสมอ

ถึงตรงนี้ กรรม อาจเริ่มดูมีความน่าสนใจขึ้นมา มันไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วจบในทันที ไม่ใช่เพียงปัจจัยภายนอก ทั้งยังไม่ใช่สิ่งที่ต้องหลีกหนี (อันที่จริงก็คือหนีไม่ได้) แต่มันเป็นทั้งหมดของตัวเรา เป็นทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต มันเป็นคำอธิบายการมีอยู่ของตัวตน เหตุการณ์ แรงขับเคลื่อนของชีวิต รวมถึงเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันของมนุษย์ทุกคน

สิ่งนี้อาจทำให้เราอยากกลับมามองชีวิตของตัวเองใหม่อีกครั้ง มองอย่างละเอียดรอบด้าน มองอย่างซื่อสัตย์จริงใจ เพื่อสังเกตถึงผลกรรมที่ประกอบสร้างตัวตนของเราขึ้นมา ทั้งด้านที่น่าภูมิใจ เฉยๆ รวมถึงมุมมืดที่ไม่อยากแม้แต่จะรับรู้ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของเรา แต่ทั้งหมดนั้นคือสิ่งที่เรามี เป็นกรรมซึ่งสรรค์สร้างตัวตนอันไม่เหมือนใครของเราขึ้นมา เราไม่อาจผลักไส หรือลบล้างมันออกไปได้ ทั้งยังไม่อาจรู้ว่ามีเมล็ดพันธุ์ใดอีกบ้างที่จะสุกงอมขึ้นมาในอนาคต

สิ่งเดียวที่ทำได้คือการยอมรับตัวเองอย่างไร้เงื่อนไข ยอมรับว่าทั้งหมดนั้นคือเส้นทางและตัวตนที่เราได้สร้างมันขึ้นมา เราจึงต้องเผชิญ และปล่อยให้กระบวนของกรรมได้ดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ เพื่อที่มันจะพาเราไปสู่ความจางคลาย


ตื่นจากความเคยชิน – ตื่นจากสังสารวัฏ

คำสอนเรื่อง กรรม เป็นคำสอนชิ้นสำคัญในศาสนาพุทธ เพราะกรรมเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับตัวตนและเส้นทางชีวิตของเราอย่างลึกซึ้ง ความเข้าใจในสิ่งพื้นฐานของชีวิตอย่างกรรม เป็นประกายไฟชั้นดีที่จะทำให้เราเริ่มตั้งคำถามต่อเป้าหมายในชีวิต และอาจทำให้เกิดความรู้สึกอยากที่จะไปให้พ้นจากวงจรที่ไม่จบไม่สิ้นของกรรมและสังสารวัฏ

นี่อาจเป็นอีกหนึ่งข่าวดีที่ว่าในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้พูดถึงแนวทางการดำเนินตนบนเส้นทางแห่งกรรม วิธีทำงานและสัมพันธ์กับกรรม เพื่อที่เราจะสามารถค้นพบช่องว่างของกงล้อนี้ ท่านได้กล่าวถึง “หนทางแห่งการหลุดพ้น” ที่มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในเส้นทางของกรรมแบบไหน ก็สามารถที่เดินออกจากบ่วงของมันได้อย่างสิ้นเชิง และหนทางนั้นไม่ได้ซับซ้อนหรือยุ่งยากไปกว่าการเริ่มต้นรู้จักกับการปฏิบัติภาวนา

ในคำสอนของพุทธทิเบต หนทางสู่การหลุดพ้นในระดับปัจเจก หรือ Individual Liberation จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราเริ่มความตระหนักรู้ถึงทุกข์แห่งสังสารวัฏ มีความเข้าใจในกรรมของตัวเอง รู้จักวิธีวางใจ และไม่ตกอยู่ภายใต้การตอบสนองต่อกรรมอย่างไร้สติ สิ่งนี้ถูกเรียกกันว่า ความตื่น, Awakened Mind, Enlighten Mind, ความหลุดพ้น ฯลฯ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เกิดขึ้นจากการภาวนา

ความตื่นนี้อาจมองได้ว่าเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับการหลับใหลอยู่ภายใต้ความไม่รู้ตัวที่ส่งผลให้เรามีปฏิกริยาโต้ตอบต่อสถานการณ์ต่างๆ ด้วยความเคยชิน เช่น การตอบโต้ต่อสิ่งไม่พอใจด้วยความรุนแรง การตัดสินล่วงหน้า การกล่าวโทษตัวเอง ความหงุดหงิดใจ ความดิ้นรนเพื่อหาสิ่งที่ดีกว่า ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นแพทเทิร์นที่เราคุ้นชินและกระทำลงไปโดยอัตโนมัติ โดยไม่รู้ตัว เราก็ได้สร้างเมล็ดพันธุ์ของกรรมเพิ่มขึ้นมาอีกจำนวนมาก

การตอบโต้แบบ “อัตโนมัติ” นี้ส่วนใหญ่แล้วมีไว้เพื่อปกป้องสิ่งที่เรียกว่า “ตัวตน” ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ยอมให้อะไรก็ตามล้ำเขตแดนเข้ามา มันอาจเป็นเรื่องเล็กน้อยตั้งแต่ยุงกัด อาการปวดขา ดีเจเปิดแพลงไม่ตรงใจ ไปจนถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ การถูกเข้าใจผิด การตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เป็นต้น ทั้งที่ความจริงแล้ว ตัวตนนั้นไม่ใช่สิ่งที่ตายตัวหรือเป็นผลงานการออกแบบชิ้นเอกของเราที่จะคงอยู่ตลอดไป แต่มันเปลี่ยนแปลงมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ทุกเหตุการณ์ ทุกการตัดสินใจ ทุกการกระทำ ล้วนมีอิทธิพลกับตัวตนของเราทั้งสิ้น ความพยามในการควบคุมและคงไว้ซึ่งเขตแดนสมมุติแห่งตัวตนนั้น จึงเป็นความพยายามที่รังแต่จะสร้างความทุกข์ใจให้กับเรา

ความตื่นจึงเป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝน เพื่อให้เราไม่ดำเนินชีวิตแบบ Auto Pilot ตอบโต้ทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร้สติ การตระหนักรู้ถึงเรื่องของกรรมที่ประกอบสร้างตัวตนและเส้นทางชีวิตขึ้นมา จึงเป็นบันไดขั้นแรกที่ทำให้เห็นว่ามันไม่มีอะไรที่เราต้องปกป้อง ทุกอย่างล้วนแต่เป็นกระบวนการคลี่คลายของกรรม และสิ่งเดียวที่น่าสนใจจะทำ คือการหาทางออกจากความน่าปวดหัวนี้

จากนั้น เราอาจเกิดความรู้สึกที่อยากจะทำแต่กรรมดีและละเว้นกรรมชั่ว เพื่อวางรากฐานของผลแห่งกรรมดีให้กับตัวเองในภายภาคหน้า เพราะหากต้องเผชิญกับผลของกรรมชั่วที่สร้างความลำบากแสนสาหัสให้กับชีวิต เราอาจจะตกอยู่ในความทุกข์จนไม่เหลือพื้นที่ที่จะรับเอาธรรมะเข้ามาอยู่ในใจ

แต่ถึงที่สุดแล้ว คำสอนเรื่องกรรม ไม่ใช่แนวคิดเชิงวัตถุนิยม มันไม่ได้มีเป้าหมายในการสะสมกรรมดีให้มากที่สุด แต่มันพยามจะชี้ให้เรามองเห็นถึงทุกข์ของการถูกคุมขังอยู่ในกงล้อแห่งวัฏสงสาร และเกิดแรงบันดาลใจในการเสาะหาหนทางที่จะออกไปจากวงจรนี้


อำนาจที่แท้จริงของมนุษย์

การที่เราต่างมีกรรมเป็นของตัวเอง ทำให้เส้นทางในชีวิตของมนุษย์ทุกคนไม่เหมือนกันแม้แต่น้อย เราต่างมีอุปสรรค โอกาส ความบกพร่อง ความวิปลาส ความรู้สึก และอุปนิสัย ที่ไม่เหมือนใคร นั่นทำให้เส้นทางสู่การหลุดพ้นของเรามีความเฉพาะตัว เพราะไม่ว่าอย่างไร ทุกคนต่างต้องเผชิญกับ กรรม ของตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สิ่งเดียวที่ทำได้คือการเลือกว่าจะวางใจแบบไหน บนเส้นทางที่ซัดส่ายเราให้เผชิญทั้งสิ่งน่าพึงใจและความยากลำบาก บางครั้งเราอาจรู้สึกถึงแรงต้านทานที่เกิดขึ้นในใจเมื่อต้องประสบกับความเลวร้ายในชีวิต แต่เมื่อใดที่ระลึกรู้ตัวได้ รู้ว่าสถานการณ์ที่กำลังเผชิญคือกรรมของเรา เราก็สามารถปลุกตัวเองให้ตื่นขึ้น ผ่อนแรงต้านทานนั้น และเปิดใจยอมรับสิ่งที่กำลังเผชิญอย่างไร้เงื่อนไขและทำงานไปกับมัน

การยอมรับผลของกรรม ไม่ใช่การยอมจำนนต่อชีวิต ตรงกันข้าม มันคือการที่เราซื่อสัตย์ต่อตัวเองและสถานการณ์ที่พบเจอเป็นอย่างยิ่ง มันคือการยอมรับตัวเองในแบบที่เป็น และกล้าที่จะเผชิญหน้ากับความจริงที่ว่าชีวิตไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของเรา แม้เราจะวางแผน ตระเตรียมการทุกอย่างเป็นอย่างดี แต่ผลลัพธ์สุดท้ายก็ไม่มีความเกี่ยวข้องกับความคาดหวังของเราเท่าไรนัก

หากเรามีมุมมองเช่นนี้ เราอาจจะเห็นถึงความเป็นไปได้เดียวที่สำคัญและจริงแท้ที่สุด นั่นคือการฝึกฝนหนทางแห่งการวางใจหรือก็คือวิถีแห่งการภาวนา ที่จะเปิดเผยให้เราเห็นถึงความเป็นปกติและสันติภายในที่มีอยู่ในตัว เรียนรู้วิธีที่จะปลุกตัวเองให้ตื่นจากความหลับใหล เพราะนั่นคืออำนาจหนึ่งเดียวที่แท้จริงของเรา


+++++++++++++++++++++
หากท่านได้ประโยชน์จากการอ่านบทความชิ้นนี้ และชื่นชมการสร้างสรรค์เนื้อหาดีๆ บนเว็บไซท์นี้
ท่านสามารถร่วมบริจาคสนับสนุนการดำเนินงานของ vajrasiddha.com ได้ที่
ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกระบือ ชื่อบัญชี “มูลนิธิวัชรปัญญา” เลขที่ 053-3-67904-8