บทความโดย แบรี่ บ็อยส์
แปลและเรียบเรียงโดย วิจักขณ์ พานิช
ในพุทธศาสนา มีคำศัพท์มากมายที่อธิบายถึงการกระทำที่มัวหมองของมนุษย์ เช่น บาป, กรรม, กิเลส, นิวรณ์, อกุศล, ฯลฯ ทว่าความงดงามของพุทธศาสนาคือ การไม่โฟกัสไปที่การกล่าวโทษหรือตัดสิน
พุทธศาสนาเน้นย้ำให้เข้าใจถึงธรรมชาติของสังสารวัฏ ซึ่งไม่ใช่บาปกำเนิด แต่เป็นเพียงมุมมองที่ผิดพลาด เป็นความผิดพลาดที่เริ่มต้นเล็กๆ แล้วจึงค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเราเริ่มเข้าใจและมองเห็นมุมมองที่ผิดพลาด เราก็อาจหยุดให้ความเข้าใจผู้กระทำความผิดพลาด แล้วค้นหาว่าเราได้ทำผิดพลาดเช่นไรตั้งแต่ทีแรก
ในตอนต้น มุมมองที่ผิดพลาดอาจพรางตาเรา กระทั่งคิดไปว่า “มีบางสิ่งที่ผิดปกติเกี่ยวกับฉัน” เช่น ฉันเป็นคนไม่โอเค ฉันไม่ดีพอ ฉันห่วยแตก เป็นต้น มันต้องใช้ความอดทนและความเพียรในการดำรงสติอยู่กับความเป็นจริงของประสบการณ์ เพื่อที่จะมองเห็น “สิ่งที่เข้ามาทำให้ใจเศร้าหมอง” ตามที่เป็นจริง และเห็นว่า มันต่างจากธรรมชาติของสิ่งที่เราเป็นจริงๆ อย่างไร
กิเลส แปลว่า อุปสรรค หรือ ความไม่บริสุทธิ์ เป็นบางสิ่งบางอย่างที่เข้ามากั้นขวาง ทำให้จิตมัว หมอง หรือติดขัด
แกนกลางของ “กงล้อชีวิต” มีภาพที่แสดงให้เห็นถึงพลังงานที่ขับเคลื่อนสังสารวัฏ ประกอบด้วยสัตว์สามตัว ซึ่งเป็นตัวแทนของ “ยาพิษทั้งสาม” เป็นรากของกิเลส หรือแก่นอันเน่าเฟะของสังสารวัฏ
หมู เป็นตัวแทนของ โมหะ หรือความไม่รู้ และความเพิกเฉย
ไก่ เป็นตัวแทนของ ราคะ หรือ การยึดมั่นถือมั่น และความอยากไม่มีที่สิ้นสุด
งู เป็นตัวแทนของ โทสะ หรือ ความโกรธ และความก้าวร้าว
ก่อกวนและยุ่งเหยิงอย่างที่มันเป็น กระนั้นกิเลสก็ดำรงอยู่ชั่วครั้งชั่วคราว มาๆ ไปๆ แต่ด้วยความที่มันแท็คทีมร่วมกับกรรม จึงพัฒนากลายเป็นมวลพลังของแนวโน้มและความเคยชิน
“ราวกับคู่หูศิลปินผู้เก่งกาจและเฉลียวฉลาด กรรม กับ กิเลส ร่วมมือกันสรรค์สร้างสังสารวัฏอันนำชีวิตไปสู่วงจรแห่งความทุกข์”
กรรม คือผลรวมของการกระทำในอดีต ที่ก่อให้เกิดเป็นนิสัยและความเคยชินในการเห็นสิ่งต่างๆ ในแบบหนึ่ง ส่งผลต่อเนื่องเป็นโมเมนตั้มของกิจกรรมในชีวิตเราทั้งหมด ส่วน กิเลส เข้ามาสวมรอยใช้งานโมเมนตั้มนั้น ด้วยการบรรจุหีบห่อเป็นชุดการตอบโต้ เพิกเฉยไม่รู้ไม่ชี้, ผลักไส, ดึงเข้า และขยายเป็นรูปแบบอีกนับไม่ถ้วนบนธีมหลักสามอย่างนั้น เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่า เราจะไม่มีทางมีประสบการณ์ของชั่วขณะอันสดใหม่ของความเปิดกว้าง และหากกิจกรรมของกิเลสถูกขัดจังหวะ เราจะสามารถมีประสบการณ์ของความเปิดกว้างและอิสรภาพได้ในทันที ณ ชั่วขณะนั้นๆ ซึ่งหากประสบการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อยและขยายความเป็นไปได้ออกไป สังสารวัฏก็อาจพลิกเปลี่ยนเป็นนิพพาน ซึ่งหมายถึง การหลุดพ้น หรือการรู้แจ้ง
ในโลกตะวันตก นอกจากจะแปล “กิเลส” ว่า “defilement” (มลทิน, ความด่างพร้อย) บ่อยครั้งในทางจิตวิทยา เรายังพบกับคำว่า “conflicting emotions” ในที่นี้ กิเลสคือ “อารมณ์ขัดแย้ง” ที่พลุ่งพล่าน ไม่คลี่คลาย ไม่ปลดปล่อย ในโลกสมัยใหม่อาจรวมถึงสภาวะจิตที่รวมศูนย์ไปที่ตัวตน อย่างความวิตกกังวล ความกลัว ความโกรธ ความอิจฉาริษยา ความหดหู่ซึมเศร้า ฯลฯ เมื่อเรานึกถึงมนุษย์ที่มีเลือดมีเนื้อ เราจะนึกถึงอารมณ์ที่พลุ่งพล่าน เป็นไปไม่ได้ที่ในฐานะ “มนุษย์ปุถุชนที่มีกิเลส” เราจะกำจัดสิ่งที่เป็นศูนย์กลางชีวิตของเราทิ้งไปในทันทีได้
กระนั้นหากไม่เผชิญความเป็นจริงของชีวิตมนุษย์ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยกิเลส หากกิเลสไม่ถูกทำงานหรือสัมพันธ์ด้วย ก็ไม่อาจมีความก้าวหน้าบนเส้นทางจิตวิญญาณ ตรงกันข้ามหากผู้ปฏิบัติพยายามจนเกินไปที่จะกำจัดกิเลส พยายามสร้างสภาวะ “กิเลส-ฟรี” และมุ่งหลุดพ้นจากความเป็นมนุษย์ สุดท้ายแล้วอาจกลายเป็นหนทางหลีกเลี่ยงที่จะทำงานกับกรรมของตนเอง เป็นเส้นทางที่ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภายในและการรู้แจ้งในธรรมชาติของจิตใจที่แท้จริง มาร์ปะเปรียบการพยายามกำจัดกิเลสจนเกินพอดี เหมือนกับ “การโยนจิตลงแม่น้ำ” เป็นการวิ่งหนีจากสิ่งที่จะช่วยให้เกิดการค้นพบตัวเองที่แท้จริง การปฏิเสธกิเลสก็เหมือนกับการโยนโอกาสแห่งการตื่นรู้ทิ้งไป
สิ่งที่น่าค้นหาสำหรับผู้ปฏิบัติภาวนาคือ ความสัมพันธ์อันแยกขาดจากกันไม่ได้ระหว่าง กิเลส กับ จิตรู้แจ้งที่เป็นมนุษย์และจริงแท้ ด้วยหนทางใดที่เราจะขจัดเครื่องกั้นขวางหรือสิ่งปกคลุมใจ ข้ามพ้นเงื่อนไขและข้อจำกัดของความเป็นมนุษย์ เพื่อไปสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
Meditation is a way to become more fully human.
การภาวนาคือหนทางสู่การหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลส
การภาวนาคือหนทางสู่อิสรภาพ และการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และเต็มเปี่ยมยิ่งๆ ขึ้น