บทความโดย THANYA วัชรสิทธา
ปรากฏการณ์ปมปัญหาระดับสากล ที่ปรากฎอยู่ในเรื่องเล่า ตำนานพื้นบ้าน บทละครกรีก ที่หลายคนน่าจะเคยผ่านตา จุดร่วมของพล็อตนี้คือ ตัวละครผู้ชาย (โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว) ฆ่าพ่อตัวเอง จากนั้นก็ร่วมรักกับแม่
จากพล็อตเรื่องที่ฟังดูผิดศีลธรรม ซิกมันด์ ฟรอยด์ นักจิตวิทยาที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ศาสตร์จิตวิทยา ได้นำไปพัฒนาต่อในการมองปัญหาทางจิตวิทยาที่เกิดขึ้นกับเด็กระหว่างช่วงเจริญเติบโต แนวทางการศึกษาจิตวิทยาของฟรอยด์จะสนใจเกี่ยวกับเรื่องเพศและความต้องการทางเพศ ฟรอยด์มองว่ากระบวนการทางเพศของมนุษย์ที่วางอยู่บนรากฐานพัฒนาการทางร่างกาย เป็นกระบวนการสำคัญมากที่จะส่งผลไปถึงจิต ดังนั้นการวิเคราะห์อาการป่วยทางจิตของฟรอยด์ จึงมักโยงกลับไปหาปรากฏการณ์ทางเพศที่เกิดขึ้น ซึ่งมีทั้งส่วนที่นักจิตวิทยายอมรับและเห็นต่าง แต่ในยุคสมัยนั้นก็เรียกได้ว่าเป็นแนวทางใหม่ที่ก้าวหน้า และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่วงการจิตวิทยาหลังจากนั้นต่อมา
Oedipus Complex ปมทางจิตที่ฟรอยด์นำชื่อมาจากตัวละครในบทละครคลาสสิกของกรีก เรื่องราวของ โอดิปุส ลูกชายของกษัตริย์องค์หนึ่งที่ได้รับคำทำนายว่า ลูกชายเกิดมาเพื่อจะฆ่าตน จึงสั่งให้คนเอาโอดิปุสไปฆ่าทิ้ง แต่โอดิปุสรอดมาได้และเติบโตกับครอบครัวบุญธรรม ต่อมาเขารับรู้ถึงคำทำนายว่าตัวเองจะฆ่าพ่อ จึงออกมาจากครอบครัวนั้นเพราะเข้าใจผิดว่านั่นคือพ่อที่แท้ของตน ระหว่างการเดินทาง ก็บังเอิญเจอกษัตริย์พ่อแท้ๆ เกิดเหตุการณต่อสู้กันและฆ่าพ่อไปโดยไม่รู้ตัว จากนั้นโอดิปุสก็เดินทางไปถึงเมืองบ้านเกิด และมีเหตุการณ์ที่ทำให้ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่งงานกับราชินีหม้าย ซึ่งจริงๆ แล้วคือแม่แท้ๆ ของเขา ภายหลังเมืองเกิดภัยพิบัติจากการที่เทพเจ้าลงโทษต่อความวิปริตผิดศีลธรรมและทั้งคู่ได้รู้ความจริง แม่ของเขาฆ่าตัวตาย โอดิปุสแทงตาตัวเองให้บอดและตายอย่างอนาถในภายหลัง
เรื่องราวสุดขั้วนี้ถูกตีความไปหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเตือนใจให้คนรักษาศีลธรรมต่อพ่อแม่ หรือแสดงถึงสภาวะเบื้องลึกบางอย่างที่มีร่วมกันของมนุษย์
Freud’s Oedipus Complex
ฟรอยด์อธิบายว่า อาการนี้จะเกิดขึ้นกับเด็กๆ ในช่วงวัย 4-5 ขวบ ที่เขาอ้างว่าเป็นวัยที่มีพัฒนาการด้านอารมณ์ทางเพศ เด็กผู้ชายจะเกิดความอยากครอบครองแม่แต่เพียงผู้เดียว และมองว่าพ่อเป็นคู่แข่งและอยากทำลาย ในขณะเดียวกันก็กลัวพ่อที่มีอำนาจมากกว่า และจะมาแก้แค้นด้วยการตัดอวัยวะเพศที่เป็นของหวงแหนที่สุด
ความรู้สึก “อยากฆ่าพ่อ” ตามคำอธิบายของฟรอยด์ พูดในภาษากายภาพที่เป็นรูปธรรมมาก หากพูดด้วยภาษาอื่น อาจมองได้ว่า ลึงค์คือสัญลักษณ์ความเป็นชาย ที่เด็กผู้ชายในวัยนั้นกำลังพยายามสร้าง ด้วยการ identify ตัวเองกับพ่อ ในขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าพ่อเป็นคู่แข่งเพราะความเหมือนนี้ ซึ่งมาพร้อมกับความกลัวจากการที่พ่อเหนือกว่า พ่ออยู่ในบทบาทของผู้มีอำนาจ ผู้ควบคุมและออกคำสั่ง ฟรอยด์มองว่า มนุษย์ทุกคนจะต้องก้าวข้ามปมนี้เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มั่นคงทางอารมณ์
หากเราจะขยับมามองปมนี้ในมิติทางจิตวิญญาณ ความรู้สึก “อยากมีเซ็กส์กับแม่” สามารถมองเป็นประสบการณ์ทางจิตวิญญาณหรือทางศาสนา ในการโหยหาที่จะไปหลอมรวมกับ ultimate หรือสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง ความจริงสูงสุด ไม่ว่าจะด้วยคำอธิบาย พระเจ้า นิพพาน หรืออื่นๆ ซึ่งความรู้สึกอยากหลอมรวมนี้ เป็นอะไรที่ใกล้กับความรู้สึกทางเพศแบบปริ่มขอบมาก การร่วมรักคือการหลอมรวมเป็นหนึ่งกับอีกฝ่าย เป็นแรงขับทางอารมณ์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัณหา หรือความต้องการในระดับลึก อันเป็นความปรารถนาในการเข้าใกล้ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ เราจะเห็นได้ว่าเมื่อคำสอนของพุทธตันตระที่พูดเรื่องการหลอมรวมกับความจริงสูงสุดเข้าไปสู่โลกตะวันตก มันก็ถูกตีความและนำไปใช้ในทาง sexual มากมาย
แม่คือพื้นที่แห่งการโอบอุ้ม ความรักที่ไร้เงื่อนไข การถือกำเนิด การไม่กระทำ ในขณะที่พ่อคือสิ่งที่ต้องถูกทำลายเพื่อเข้าถึงสภาวะนั้น พ่อคือตัวแทนของอำนาจภายนอก การควบคุม การกระทำ คืออีโก้ หรือตัวเราที่ identify ตัวเองจากความคิด ยามที่เราเข้าสู่ความสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณ ปมปัญหาที่เรายังคงค้างคากับพ่อและแม่จะเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เราไม่สามารถสัมพันธ์กับครูทางจิตวิญญาณอย่างตรงไปตรงมาได้
ความสัมพันธ์แบบ ตัวเรา – ภาพฉาย
เวลาที่สัมพันธ์กับครูทางจิตวิญญาณ คนที่เราเคารพบูชาหรือมีสถานะสูงกว่าเรา ผู้ชายที่อยู่ในบทบาทของผู้สอนหรือผู้ให้ เช่นพระ ธรรมาจารย์ นักบวช หรือกระทั่งสามี เรากำลังสัมพันธ์กับคนคนนั้นที่ความเป็นเขาจริงๆ หรือด้วยมายาคติที่เราวาดไว้
ลองนึกภาพ เราศรัทธาหลวงปู่คนนึงมาก เอาตัวเองไปใกล้ชิด ฟังคำสอนอย่างสม่ำเสมอ เชื่อหลวงปู่สุดหัวใจไม่ตั้งคำถาม อยู่กับหลวงปู่แล้วสบายใจมาก มีหลวงปู่เป็นที่พึ่งทางใจ เรากำลังสัมพันธ์กับตัวหลวงปู่จริงๆ หรือกำลังทำให้หลวงปู่เป็นพลังอำนาจภายนอก เพื่อมาเติมเต็มความบกพร่องอะไรบางอย่างในตัวเอง ไม่กล้าตั้งคำถามเพราะกลัวว่าคำตอบจะพาให้ “หลวงปู่” เป็นอย่างอื่นนอกเหนือไปจากภาพอุดมคติที่ตนมีในใจ แล้วเมื่อเกิดเหตุการณ์บางอย่าง หรือพฤติกรรมบางอย่างของคนคนนั้นที่ก่อให้เกิดวิกฤตศรัทธาใหญ่หลวง ทำลายความเชื่อ ความไว้วางใจ ความเคารพที่มีต่อตัวบุคคล ปฏิกิริยาอันรุนแรงของเราก็เหมือนว่าเราอยากฆ่าพ่อให้ตายเสีย
หรืออีกรูปแบบ เราเข้าหาครูทางจิตวิญญาณด้วยความศรัทธา เชื่อว่าเขาจะสอน จะฉุดช่วยเรา เรายินดีจะอยู่ใกล้ชิดเพื่อรับใช้เรียนรู้ให้มากที่สุด แต่ระหว่างทางของความสัมพันธ์ ครูคนนี้มีหลายสิ่งที่ไม่ตรงกับที่คิดไว้ เช่น คิดว่าเป็นคนอ่อนโยน แต่จริงๆ แล้วกลับเข้มงวด ว่ากล่าวตักเตือนในตรงๆ ในสิ่งที่เราไม่อยากได้ยิน การอยู่ใกล้ครูกลายเป็นความอึดอัด กลายเป็นการตั้งคำถาม ตั้งข้อหา จนไกลไปถึงการก้าวร้าวกับครูตรงๆ แล้ววันหนึ่งเราก็เลือกเดินหนีออกจากครูคนนั้น ฆ่าครูคนนั้นให้ตาย แล้วออกล่าครูคนใหม่ด้วยภาพโปรเจคชันในใจภาพเดิม
ด้วยปม oedipus complex เราต้องการใช้ครูมาตอบสนองความต้องการข้างในของเราและติดกับอยู่ตรงนั้น ดังนั้นจึงส่งผลให้ความสัมพันธ์ที่มีต่อกันคับแคบ เป็นไปได้แค่แบบเดียว ไม่เปิดกว้างต่อความเป็นจริงหรือความเป็นมนุษย์ของคนคนนั้น เพื่อให้ความสัมพันธ์กับครูได้ทำงานกับอีโก้ตัวเอง เพื่อเดินไปในเส้นทางจิตวิญญาณจริงๆ แต่กลายเป็นว่าเราเลือกที่จะยึดอยู่กับ projection เป็นภาพของครูในมุมพักผ่อนจิตใจที่คับแคบทว่าสะดวกสบายของเรา
นั่นหมายความว่า projection นี้เกิดจากปมในใจที่ยังไม่ก้าวข้าม ฉายออกไปสู่บุคคลข้างนอก ครู พระ หรือใครก็ตาม ซึ่งขัดขวางการที่จะสัมพันธ์กันบนความเป็นจริง สิ่งที่ตามมาจึงเป็นวิกฤตศรัทธาที่ย้อนกลับมาทำร้ายข้างในอีกที และการโต้ตอบของเราจะกลายเป็นความก้าวร้าวรุนแรง (aggression) ไม่ว่าจะเป็นการด่าทอ การแหกประจานครู การแก้แค้น ว่าร้ายลับหลัง ซึ่งจากอีโก้ที่รับไม่ได้กับความเป็นจริงที่จะมาทำลายมัน
ฟรอยด์เองก็กล่าวถึงเรื่องความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อพระเจ้า มองว่าเป็นโปรเจ็คชันจากปมโอดิปุส เป็นการที่มนุษย์ฉายภาพพระเจ้าให้เป็นตัวแทนของพ่อ เพื่อทำหน้าที่คุ้มครอง และเป็นอำนาจที่อยู่ภายนอกตัว ในขณะเดียวกันมนุษย์ก็กลัวพระเจ้า กลัวไม่ได้รับการยอมรับ กลัวถูกลงโทษ
ผมคิดว่าเราไม่มีทางสรุปเป็นอย่างอื่นนอกจากว่าความต้องการศาสนาเกิดจากความอ่อนแอเอาตัวรอดไม่ได้ของทารกและความต้องการพ่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความรู้สึกนี้ไม่ใช่แค่ยังคงอยู่กับเขาตอนโต แต่อยู่ตลอดไปเพราะความกลัวอำนาจล้นฟ้าของชะตากรรม ผมไม่คิดว่าเด็กจะต้องการอะไรมากไปกว่าความคุ้มครองจากพ่อของเขา
ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (SE, XXI.72)
นี่เป็นสัญญาณอันตรายในการมีความสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณ บนเส้นทางการทำงานกับตัวตนหากไม่สามารถก้าวข้ามปมโอดิปุสในตัวเอง เราก็ยังเป็นทารกที่ต้องการพ่อและกลัวพ่อ หรือตัดขาดและไม่อาจหลอมรวมกับแม่ อยู่ร่ำไป ความสัมพันธ์กับครูกลายเป็นสิ่งที่ทั้งน่าดึงดูดและน่าหวาดหวั่น ปั่นป่วนด้วยพลังราคะ โทสะ และโมหะ และอาจจะต้องเผชิญกับการอกหักจากครูซ้ำๆ กลายเป็นความบอบช้ำ แทนที่จะร่วมกันสร้างสายสัมพันธ์ที่งดงามและมีคุณค่า
พ่อ ครู พระพุทธเจ้า God ที่ต้องถูกฆ่าทิ้ง
ความสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณที่ถูกกั้นขวางจาก projection ภาพใต้ภาพที่งดงามสวยหรู แท้จริงแล้วคือความก้าวร้าวของอัตตา หากเราไม่ฆ่าโปรเจคชันนั้นในใจ ความก้าวร้าวนั้นก็จะสำแดงต่อครูในที่สุด เส้นทางจิตวิญญาณคือการฝึกฝนเพื่อทำลายการพึ่งพาอำนาจภายนอก แล้วกลับมาสู่การเชื่อมต่อกับอำนาจภายในตัวเอง ซึ่งจะทำเช่นนั้นได้ ต้องทำงานเพื่อก้าวข้ามปมเอดิปุสเพื่อเติบโตทางด้านจิตวิญญาณในฐานะมนุษย์ที่เต็มเปี่ยมอย่างแท้จริง
เราจำเป็นต้องฆ่า projection ที่มีต่อครูทิ้ง เพื่อสัมพันธ์กันด้วยการเปิดกว้างต่อความเป็นจริงตรงหน้า ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ได้หอมหวานเหมือนสวนดอกไม้ให้จิตมาพักผ่อน ทว่าเป็นการเดินทางที่เข้มข้น ตื่นตัว มีขึ้นมีลง ต้องทำงานกับ reality ในความสัมพันธ์ และตัวตนเราอยู่ตลอดเวลา ความศรัทธาที่มีต่อครู คือการสัมพันธ์กับทุกความเป็นไปได้ของครูอย่างเปิดกว้าง ตระหนักรู้ ทั้งต่อตัวบุคคล ระหว่างบุคคล และไปพ้นตัวบุคคล ตื่นรู้ต่อทุกสภาวะและร่ายรำไปกับมัน
ด้วยท่าทีนี้ เราจึงจะได้สัมพันธ์กับครู เติบโตเป็นเส้นทางจิตวิญญาณ และได้ทำงานกับตัวตนของเราจริงๆ แต่ละขณะคือการเห็นแจ้งในตัวเองว่ากำลังติดอยู่กับมายาคติทางจิตวิญญาณอยู่หรือเปล่า หากมี ก็ให้ฆ่ามันทิ้งเสีย
ดังเช่นในพุทธศาสนาเซน มีคำกล่าวว่า “เมื่อเจอพระพุทธเจ้ากลางทาง ให้ฆ่าท่านเสีย”