เรียบเรียงโดย ทีมงานวัชรสิทธา
จากบทความ “Psychological Materialism”, by Chogyam Trungpa Rinpoche
แม้ว่าเธอจะต่อต้านกระแสวัตถุนิยมในสังคม และไม่ต้องการสนับสนุนมัน แต่การปฏิเสธที่จะทำงาน ก็ยังเป็นการมองปัญหาผิด การไม่ยอมมีส่วนร่วมในงานหรือกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมใดๆ จะไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์อะไรเลย ยิ่งไปกว่านั้น มันจะยิ่งขยายตัวตนด้านลบของเธอให้ชัดขึ้น เมื่อเธอไม่ทำอะไรเพื่อช่วยเหลือใครเลย เธอจะยิ่งรู้สึกว่าตัวเองไร้ประโยชน์ในสังคม และถ้าเธอดึงแนวคิดแบบ “ไม่เอาสังคม” นี้ไปจนสุดทางอย่างสมเหตุสมผล นั่นก็แปลว่า เธอไม่ควรกิน ไม่ควรหายใจ เพราะแม้แต่ อากาศที่เธอหายใจเข้าไป ก็เป็นของโลกและสังคมเช่นกัน แนวทางนี้อาจนำไปสู่ความสุดโต่งได้ ถ้าเธอผลักมันไปถึงที่สุดมันก็แปลว่า… เธอไม่ควรมีชีวิตอยู่เลยด้วยซ้ำ
มีความสับสนอย่างมากเกี่ยวกับเรื่องวัตถุนิยมและสังคม แค่การดูแลธุรกิจของตัวเอง หรือแม้กระทั่งการลงทุนทางธุรกิจ ไม่ได้แปลว่าคนนั้นยึดติดกับวัตถุนิยม ไม่มีอะไรผิดเลยในเรื่องนี้ สิ่งที่ทำให้เกิดมุมมองที่เป็นวัตถุนิยมต่อสังคมอย่างแท้จริงคือสิ่งที่เรียกว่า “วัตถุนิยมทางจิตวิทยา” (Psychological Materialism) วัตถุนิยมเป็นปรัชญาที่แฝงตัวอยู่ในชีวิต ที่ค่อยๆ ถูกส่งต่อกันจากคนหนึ่งไปสู่อีกคน ทั้งด้วยคำพูดและตัวอย่างที่เห็นในชีวิตประจำวัน มันแพร่กระจายเหมือนโรคติดต่อ คนหนึ่งรับมันมาจากอีกคนอย่างไม่รู้ตัว แต่การพยายาม “ปฏิเสธ” การติดเชื้อแบบนั้น ด้วยการ “ไม่ทำอะไรเลย” หรือ “ไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น” มันไม่ได้ผล
การ “ไม่ทำอะไรเลย” มักจะมาในรูปของความขี้เกียจ และเพื่อจะขี้เกียจได้อย่างแท้จริง เราจำเป็นต้องพัฒนาความฉลาดบางอย่างขึ้นมา ที่จริงแล้วความขี้เกียจมีความเฉลียวฉลาดในตัวมันอย่างมาก เวลาที่เราขี้เกียจ ตอนมีความคิดประมาณว่า “เราควรทำอะไรบางอย่างไหม?” เราก็จะมีคำตอบโผล่ขึ้นมาในใจทันที เป็นคำตอบที่ใช้บอกตัวเองว่า “ไม่ต้องทำก็ได้” ต่อมาเราก็สามารถพูดได้ว่า “เราไม่ทำนะ เพราะไม่มีเวลา” “พอดีมีเรื่องนี้เกิดขึ้น ก็เลยไม่มีโอกาสได้ทำ” “เป็นเพราะเรื่องนั้นแหละ…” คำตอบอัตโนมัติเหล่านี้มันทั้งสะดวกและคล่องแคล่ว คนเราต้องมีความฉลาดอย่างมาก ถึงจะคิดหาข้อแก้ตัวพวกนี้ได้อย่างแนบเนียน ดังนั้นความขี้เกียจจึงมีความเฉลียวฉลาดมหาศาลซ่อนอยู่ แต่เป็นความฉลาดที่ถูกนำไปใช้ผิดทาง
วิธีที่ดีที่สุดในการใช้ความฉลาดของเรา ก็คือการเรียนรู้ที่จะรู้สึกว่า “การกระทำที่เหมาะสม” ในแต่ละสถานการณ์คืออะไร และเพื่อจะทำเช่นนั้นได้ เราจำเป็นต้องเชื่อมโยงกับผืนดินโดยตรงที่สุดและจริงที่สุด
น่าสนใจที่เรามักเรียกสิ่งนี้ว่า “การหยั่งราก” หรือ “being grounded” ในการมองแบบนี้ เราไม่มองว่าการทำงานเป็นแค่อาชีพ แต่เป็นการแสดงออกถึงตัวตนของเรา อาจจะเป็นงานในสวน หรือเป็นงานเล็ก ๆ ในบ้าน เช่น ทำอาหาร ล้างจาน หรืออะไรก็ได้ สิ่งเหล่านี้อาจไม่ใช่ “งาน” ในเชิงอาชีพ แต่มันคือสิ่งที่ต้องทำ เพราะธรรมชาติเรียกร้องความใส่ใจจากตัวเรา
เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากว่าถ้าเราปล่อยบางอย่างไว้โดยไม่ทำ หรือไม่สัมพันธ์กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น การทำอาหารด้วยความใส่ใจอย่างเต็มที่ ความวุ่นวายบางอย่างก็จะเกิดขึ้น สิ่งนี้จะเกิดขึ้นเพราะเราไม่ได้สัมพันธ์อย่างเหมาะสม เราไม่ได้แสดงความรักอย่างเหมาะสมต่อโลก เราอาจทำจานแตก หรือทำอะไรหกเลอะเทอะ หรืออาหารที่เรากำลังทำอาจออกมาไม่ดี หรือมีบางอย่างผิดพลาด ธรรมชาติมักตอบสนองอย่างละเอียดอ่อนในลักษณะนี้ ถ้าเราไม่รู้สึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างงานกับตัวเราเอง ความวุ่นวายโกลาหลก็จะเกิดขึ้น
ภาวะจิตใจที่สมดุลขึ้นอยู่กับ “วิธีที่เราทำสิ่งต่างๆ” วิธีที่เรารินน้ำชา วิธีเติมน้ำตาลหรือนมลงไปในถ้วย สิ่งเหล่านี้อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก แต่ในความเป็นจริง มันคือทั้งหมดของสิ่งที่สำคัญ เราสามารถรู้ได้เสมอว่า คนคนนั้นรู้สึกเชื่อมโยงกับกิจกรรมที่กำลังทำอยู่หรือไม่ เขากำลังมองว่ามันคือการ “สัมพันธ์กับโลก” หรือมองมันเป็นแค่กิจกรรมจิปาถะ หรือแค่ “ต้องทำ” หากคนคนนั้น ไม่ได้เชื่อมโยงกับผืนดิน เราจะสัมผัสได้ถึง ความเก้ๆ กังๆ บางอย่าง แม้ภายนอกจะดูเรียบร้อย ลื่นไหลก็ตาม มันชัดเจนและสัมผัสได้ง่ายมาก