ตัวตนกับความว่าง : เส้นทางสู่อิสรภาพที่อยู่ตรงนี้เสมอ

บทความโดย THANYA วัชรสิทธา

กระบวนการทางจิตวิทยาทางตะวันตก คือการทำให้ตัว ‘self’ แข็งแรง ในขณะที่คำสอนของพุทธศาสนาคือ ‘ตัวตนไม่มีอยู่จริง’ สองสิ่งนี้จะเดินทางไปด้วยกันได้อย่างไร?” 

คำถามตั้งต้นของห้องเรียนจิตวิทยาการดูแลตัวเองเบื้องต้น “Awakening Self-Therapy” กับ เอก สมภพ แจ่มจันทร์ รอบปีนี้ของวัชรสิทธา  เป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางที่จะรู้จักตัวตนอย่างละเอียด เพื่อพบจุดที่เหรียญสองด้านแห่งความเป็นตัวเองกับความไม่ตัวตน มาบรรจบและส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ชีวิต เนื้อหาเฉพาะเจาะจงแบบนี้ไม่มีใครที่เหมาะสมจะสอนมากไปกว่านักจิตวิทยาบำบัด ผู้ที่เคยแปลงานเขียนตรุงปะ รินโปเช อีกแล้ว

จุดแรกที่คนตัดสินเข้าหาแนวทางจิตวิทยา หรือเข้ามาพูดคุยกับผู้ให้คำปรึกษา หรือไปหาหมอจิตแพทย์ เป็นจุดสำคัญที่คนคนนั้นรู้สึกว่า ต้องทำอะไรสักอย่างกับสภาวะที่ตัวเองเป็นอยู่ ตอนนี้ไม่สามารถที่จะโอบรับการเป็นอยู่นี้ไหวแล้ว สิ่งต่างๆ ที่เคยทำได้ เคยเอาอยู่ พังไปหมด และเราอยากจะเป็นอิสระจากการดิ้นรนจากการติดอยู่ตรงนี้เหลือเกิน

ฟังดูก็คล้ายๆ กับการเริ่มเข้าวัด เหมือนคำตอบสุดฮิตเวลามีใครถามว่าทำไมถึงมาสนใจธรรมะ “อกหัก” “โลกทั้งใบพังทลาย” “ไม่รู้จะพึ่งอะไรแล้ว เลยหันหน้าเข้าหาทางธรรม”

จุดร่วมของทั้งศาสนาและจิตวิทยาคงเป็นความทุกข์และการอยากหลุดพ้นจากความทุกข์นั้น การเดินทางจึงเริ่มต้นขึ้น

“I Think, Therefore I am.” 

ข้อความ “ฉันคิด ฉันจึงมีอยู่”  มาจากนักปรัชญาเรเน เดการ์ตส์ (René Descartes 1596-1650)

วลีอันโด่งดังที่พลิกเปลี่ยนทัศนะการมีอยู่ของสรรพสิ่ง ข้อสรุปนี้เกิดขึ้นมาจากการที่เดการ์ตส์ พยายามย้อนนึกถึงสิ่งต่างๆ ว่าสามารถตั้งข้อสงสัยถึงที่มา หรือการมีอยู่ของสิ่งนั้นได้อย่างไร ปรากฏคือ ทุกสิ่งสามารถตั้งข้อสงสัยและหาตัวอย่างแย้งได้ เว้นแต่ความคิด เพราะเมื่อเราคิดสงสัย นั่นคือเรากำลังคิดแล้ว ดังนั้นการคิดจึงเป็นสิ่งที่แน่นอน และสามารถใช้ในการยืนยันการมีอยู่ของเราได้ เมื่อไหร่ที่เราคิด นั่นคือตัวเราก็กำลังมีอยู่

ข้อความนี้ทำให้สิ่งที่ (เราคิดว่า) ไม่มีความสามารถในการคิด เช่น ต้นไม้ ตึก เครื่องครัว สัตว์ กลายเป็น “สิ่งอื่น” ที่ไม่ใช่มนุษย์ และมนุษย์คนอื่นๆ ที่คิดได้ ก็ไม่ใช่ตัวเรา เพราะการคิดนี้มีพลัง มีความเฉลียวฉลาดมาก ทำให้หลายครั้งสิ่งที่เป็นความคิดกลายเป็นความจริงที่เรายึดมั่น ซึ่งหลายครั้งไม่ตรงกับความเป็นจริง

และนี่เอง เป็นต้นเหตุเห่งความทุกข์ ที่พุทธศาสนาและจิตวิทยาเห็นตรงกัน

ตัวตนที่ “แข็งแรง” 

กระบวนการบำบัดที่นักจิตบำบัดทำกับผู้เข้ารับการรักษา ในแต่ละครั้งจะมีการตั้งเป้าหมายร่วมกันว่าต้องการอะไรจากกระบวนการนี้ เพื่อเป็นทิศทางในการทำงาน ซึ่งเป้าหมายไม่ได้หมายถึง ต้องได้คำตอบกระจ่างชัดในแต่ละเซสชั่น แต่เป็นเหมือนเป้าหมายปลายทาง ที่ทำหน้าที่เป็นถนนไปพร้อมๆ กัน

จิตบำบัดแบบตะวันตกอธิบายตัวตนแบบ Developmental view  ที่มองว่าตัวเราในตอนนี้ พัฒนามาจากเหตุการณ์และประสบการณ์ในอดีตที่เป็นปัจจัยมากมายนับไม่ถ้วน ประกอบสร้างขึ้นมาเป็น “ตัวเรา” ที่มีลักษณะแบบนี้ บุคลิกแบบนี้ นิสัยแบบนี้ ซึ่งบางครั้งตัวตนนี้ก็ไม่สามารถเผชิญกับสถานการณ์บางอย่างได้ ทำให้เป็นทุกข์ หรืออาจเป็นหนักจนไม่อาจรับมือเพียงลำพัง ต้องพึ่งพาตัวช่วย

กระบวนการจิตบำบัดเป็นการทำให้ตัวตน หรือ self แข็งแรงขึ้น เพื่อที่จะสามารถเผชิญความทุกข์ได้ ทั้งการกลับไปหาปมในอดีตและทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน 

ในแบบฝึกหัดและคำอธิบายทั้งหลายที่ได้ทำในชั้นเรียนนี้ เราได้พบว่าการทำให้ self แข็งแรงขึ้น ไม่ใช่การพยายามทำให้ความเป็นตัวตนมั่นคงตายตัว แต่เป็นการคลี่คลายให้ตัวตนกว้างออก เพื่อที่จะสามารถรับมือกับสิ่งต่างๆ ได้ตามที่เป็นจริงมากขึ้น ผละออกจากความคาดหวังและความกลัวที่ถ่วงรั้งไว้

“เมื่อมองย้อนกลับไป จริงๆ แล้วสถานการณ์มันไม่ได้มีปัญหาในตัวมันเอง แต่ความทุกข์เกิดจากท่าทีของเราในการสัมพันธ์กับสถานการณ์นั้น”

แม้ปัญหาจะอยู่ที่ตัวเรา ก็ไม่ใช่ความผิดของเราเลย กลไกการป้องกันตัวเองเป็นความเฉลียวฉลาดที่ดูแลเราให้มีชีวิตรอดมาได้จนถึงวันนี้ เพียงแต่บางอันอาจเก่าเกินไป จนเปลี่ยนจากเสื้อผ้าใส่สบายกลายเป็นเสื้อเกราะแข็งๆ ที่ป้องกันไม่ให้สิ่งภายนอกเข้ามากระทบ แต่แล้วนานเข้า ก็ขยับตัวออกไปเจอสิ่งใหม่ๆ ได้ยาก เราจึงต้องฝึกที่จะมองทุกอย่างตามความเป็นจริง ลองเปิดเปลือยตัวตนเดิมออก แล้วไปเจอกับสถานการณ์ตรงหน้าอย่างเปลือยเปล่า

พี่เอกเฉลยตั้งแต่ต้นว่า กระบวนการจิตบำบัดไม่ได้ทำเพื่อแก้ไขอะไร แต่เป็นการทำให้เพื่อให้เห็นว่ามันเกิดอะไรขึ้น และจากการตระหนักรู้นั้น การคลี่คลายก็จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ



ตัวตนนั้นไม่มีอยู่

กลับมาที่พุทธศาสนา การกล่าวว่าตัวตนไม่มีอยู่ ฟังแล้วอาจไม่ได้เข้าใจได้ในทีเดียว เพราะตัวเราที่นั่งอ่านอยู่ตรงนี้ก็ดูมีอยู่จริงๆ คำอธิบายของคำว่า ตัวตน หรือ อัตตา ไม่มีอยู่จริง หมายความว่า ประสบการณ์ที่ดูเหมือนว่ามีตัวตนเป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมาจากหลายสิ่งนับไม่ถ้วน ร่างกาย สัญชาตญาณ ความทรงจำ ความคิด อารมณ์ความรู้สึกรูปแบบต่างๆ รวมมาเป็นเราที่เป็นอยู่ตอนนี้ เพื่อให้เราสามารถฟังก์ชั่นอยู่ในโลกนี้ได้ ดังนั้นหากจะข้ามไปบอกว่าตัวเราไม่มีอยู่ และไม่ยอมอยู่กับสิ่งที่เป็นตรงหน้าหรือแม้แต่กับตัวเอง ก็ทำไม่ได้เช่นกัน เพราะเราต้องใช้ชีวิต ต้องสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ และต้องรับผลจากการกระทำ

แล้วเราจะสามารถเข้าถึงสภาวะของการไม่มีตัวตนได้อย่างไร นี่เองที่กระบวนการจิตบำบัดและพุทธศาสนามาบรรจบกัน 

“หากเอาแค่การบำบัด เราก็จะหยุดอยู่ที่ตัวตนของเรา สิ่งที่เกิดขึ้นคือ สิ่งต่างๆ มันก็จะวนซ้ำกลับมาที่ตัวตน แต่หากไปทางพุทธ ไม่มีตัวตนเลย มันก็ไม่สามารถจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสิ่งอื่นๆ ในสังคม ในโลกนี้ได้”

เส้นทางสู่อิสรภาพจากอำนาจของอัตตา คือการทำงานกับตัวตนในทุกระดับ ฝึกสร้างความตระหนักรู้เพื่อเปิดพื้นที่ว่างให้ทุกสิ่งเผยแสดงออกมา รู้จักตัวเอง รู้เท่าทันตัวเอง และยอมรับสิ่งที่เราเป็น ค่อยๆ ปลดเสื้อเกราะที่เคยใช้ในการปกป้องตัวเองออก ค้นพบความเป็นไปได้อันไม่สิ้นสุดที่มีอยู่ข้างในตัวเรา ที่พร้อมจะสัมพันธ์กับทุกสถานการณ์ด้วยความเปิดกว้างและไว้วางใจ


 “If you look at anything carefully and deeply enough, you discover the mystery of interbeing, and once you have seen it you will no longer be subject to fear” – Thich Nhat Hanh


ในพุทธมหายานมีคำสอนว่าด้วย appearance – emptiness สิ่งปรากฏไม่เคยแยกขาดจากความว่าง เมื่อเรามองเข้าไปในปรากฏการณ์อย่างละเอียดลึกซึ้ง เราจะเห็นถึงความเชื่อมโยงมากมายมหาศาลของปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์นั้น ตัวเราก็เช่นกัน เราในตอนนี้ประกอบขึ้นมาจากองค์ประกอบมากมายที่ละเอียดไปจนสืบค้นไม่ได้ว่ามีอะไรบ้าง และเมื่อเรามีความตระหนักรู้ที่พ้นไปจากระดับของความคิด เราก็จะพบกับประสบการณ์ของความไม่แยกขาด ประสบการณ์ของความว่างที่เต็มเปี่ยมไปด้วยทุกสิ่ง 

เส้นทางการเดินทางของตัวเราที่ทำสองสิ่งไปพร้อมๆ กัน ทำความรู้จักกับตัวตนอย่างละเอียด และรับรู้ถึงความว่างที่เป็นพื้นหลัง เราฝึกที่จะสัมผัสความงดงามแห่งความเป็นจริงด้วยการดำรงอยู่ตรงนั้นอย่างเปลือยเปล่า อันเป็นสภาวะที่ไม่ใช่สองสิ่งที่แยกขาดจากกันของตัวตนกับความว่าง

การมีอยู่ของเราช่างจริงแท้เต็มเปี่ยม  และเป็นความว่างแห่งอิสรภาพไปพร้อมๆ กัน

…..

They have no inherent nature, they are just appearance-emptiness.

If you know how they resemble dreams and illusions,

All comings and goings will be open and relaxed.

Since appearances of friends and enemies are dependently existent,

Both are appearance-emptiness, like rainbows, and if you know this,

That is called, “meditation on illusion.”

Within openness you will achieve inner peace.

…..

– Khenpo Tsultrim Gyamtso Rinpoche