หัวใจของวัชรสิทธา : การเรียนรู้บนพื้นฐานการภาวนา

บทความโดย THANYA วัชรสิทธา

“When we experience the body from the inside, we find a field of unconditional awareness. In Buddhism it is said that the body is the key to the awakened state. .”

— Reggie Ray

สถาบันวัชรสิทธาเป็นพื้นที่เรียนรู้บนพื้นฐานของการภาวนา ในชั้นเรียนที่หลากหลาย เป็นดั่งชุดภาษาที่แตกต่าง ให้คนได้มาเข้าใจเรื่องจิตวิญญาณในภาษาที่เข้าหูตัวเอง โดยมีจุดร่วมเป็นการเดินทางสู่ความเข้าใจและประสบการณ์ตรงของสภาวะธรรมชาติเนื้อแท้ของมนุษย์ ที่เป็นความรัก ความเปิดกว้าง ความเมตตา ความว่าง ความสว่าง และความศักดิ์สิทธิ์ 

ในคอร์สเรียนที่หลากหลาย หากได้เคยมาเข้าคอร์สภาวนากับวัชรสิทธา ก็จะได้เรียนรู้รูปแบบการภาวนาที่เรียกว่า Somatic Meditation ซึ่งเป็นแนวทางหลักของที่นี่ และในปีนี้ วัชรสิทธามีคอร์สต่อเนื่องในการเรียนรู้ Somatic meditation ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานและต่อเนื่องขึ้นไป ในคอร์ส “SOMA” ร่างกายคือประตูสู่จิตวิญญาณ กับพี่อ้อ อุทัยวรรณ ทองเย็น สมาชิกสังฆะวัชรปัญญาที่เรียนภาวนากับ ครูตั้ม วิจักขณ์ พานิช มานานกว่า 10 ปี 

SOMA as Self-Awareness Discipline

“Soma”  แปลว่า “ร่างกาย” แต่ในความหมายของร่างกายที่มีปัญญาญาณอยู่ในนั้น เป็นกายที่ไม่ใช่แค่กาย แต่คือ “กาย่า” เชื่อมต่อกับผืนดินและ bigger space อันไพศาล ภายในร่างกายของแต่ละคนเต็มเปี่ยมไปด้วย wisdom ที่มีอยู่แล้วภายใน ที่ไม่อาจรับรู้ได้ในระดับ conscious โดยปกติเรารับรู้ผ่านส่วนของ conscious เพียงแค่ 5% เท่านั้น ที่เหลืออีก 95% เป็นส่วนของการทำงานในระดับ unconscious ที่ซึ่งเข้าถึงได้ในช่วงการหลับ หรือการฝึกภาวนา

Somatic Meditation เป็นการสร้างความตระหนักรู้และสร้างสัมพันธ์ร่างกายอันศักดิ์สิทธิ์นี้ในฐานะประตูสู่จิตวิญญาณ ด้วยการภาวนาอยู่กับลมหายใจ ไม่ตามความคิด ไม่หนี ไม่ออกกลางคัน เพื่อให้อยู่ในสภาวะที่ว่างจากสิ่งกั้นขวางทั้งหลาย ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือความคิด และได้มีประสบการณ์อยู่กับเนื้อตัวตรงๆ อยู่กับสภาวะที่เกิดขึ้นตามที่เป็นจริง จุดที่จิตและกายประสานกันเป็นหนึ่งนั่นเองที่เป็นหัวใจสำคัญของ Somatic meditation

ในพุทธศาสนา มักมีคำสอนจำพวก “มีสติ” “รู้เนื้อรู้ตัว” “ใจอยู่กับตัว” นั่นคือจุดที่จิตอยู่กับกาย อยู่กับปัจจุบันขณะ กับสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นพื้นที่ว่างกับสภาวะที่ “ตื่น” ซึ่งต่างจากการที่เราใช้ชีวิตกันอยู่ในทุกวันนี้ มีคำกล่าวว่า ผู้คนใช้ชีวิตกันแบบ “neck up” จากคอขึ้นไป คืออยู่แต่กับหัว สมอง และผัสสะด้านบน  นึกภาพเวลาเล่นโทรศัพท์ เราใช้แค่การมองเห็นและสมองคิดตอบสนองเท่านั้น ส่วนคอลงมาไม่ได้ถูกใส่ใจและใช้งานเลย ใจไม่อยู่กับกาย เราจึงต้องฝึกที่จะพาจิตให้กลับมาอยู่กับเนื้อตัว ด้วยการภาวนานั่นเอง

“กระบวนการเรียนรู้จากร่างกาย ไม่ได้หมายความถึงการพยายามที่จะให้ร่างกายปรับเข้าหาหลักการทางจิตวิทยาที่เรามีอยู่แล้วในหัว และไม่ใช่เรื่องของการพยายามอธิบายปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในร่างกายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ สารจากร่างกายจะส่งถึงเราจากเงามืด เป็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็น อธิบายไม่ได้ เป็นข้อความที่เราไม่เคยนึกถึงมาก่อน เมื่อเราหันมาใส่ใจกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นในร่างกายอย่างรู้ตัวในทุกขณะ ทุกข้อความจะช่วยปลุกให้เราตื่นขึ้นจากภวังค์ทีละน้อย เราพบว่ายิ่งเรามีสติกับร่างกายมากขึ้นเท่าไร เราก็จะสามารถเรียนรู้ภาษาของร่างกาย เข้าใจธรรมะที่ร่างกายพยายามสื่อสารกับชีวิตเราได้มากขึ้นเท่านั้น เมื่อนั้นเราก็จะพบความหมายชีวิตที่แท้ ณ วินาทีที่กายกับจิตรวมเป็นหนึ่ง สติกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวทั่วสรรพางค์ ณ ปัจจุบันขณะ เราสัมผัสได้ถึงพลังแห่งปัญญาอันยิ่งใหญ่ในทุกอณูขุมขน อานุภาพแห่งปัญญาบนพื้นฐานของสติในกายนี่เอง ที่จะเป็นบ่อเกิดแก่ความรักอันยิ่งใหญ่ไม่มีจำกัด”

เร้จจี้ เรย์
จากหนังสือ “บนเส้นทางแห่งการฝึกตน”

แบบฝึกภาวนา

ในชั้นเรียน SOMA level 1 พี่อ้อพาให้เราฝึกภาวนาด้วยวิธีการจาก Somatic Meditation ที่พัฒนาโดย เรจจี้ เรย์ วัชราจารย์ชาวตะวันตก ลูกศิษย์ใกล้ชิดของเชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ที่ผสมผสานจากหลายศาสตร์ที่เร้จจี้ได้ศึกษามา ตะวันตก ตะวันออก โยคะ จิตวิทยาแนวลึก และการบำบัดทรอม่า

Posture of Meditation

เริ่มต้นฝึกการภาวนาในท่านั่ง ด้วยท่าทางที่ผ่อนคลาย กระดูกสันหลังตั้งตรง หลับตาหรือลืมตาขึ้นเล็กน้อย มองไประยะสองเมตรข้างหน้าแต่ให้รู้สึกว่ากำลังมองกลับเข้ามาข้างใน และขยับให้น้อยที่สุดในระหว่างการภาวนา 

อาการเจ็บปวด เมื่อยขบทางร่างกายเป็นสิ่งสามัญที่ทุกคนจะต้องเจอและผ่านไป ในการภาวนานั้น หากรับรู้ได้ถึงจุดที่เจ็บ จุดที่เมื่อยในร่างกาย นั่นถือว่าเป็นวัตถุดิบที่ดีที่เราจะได้ฝึกที่จะอยู่กับความรู้สึกตัว อยู่เฉยๆ โดยไม่หนีและไม่ตีความ หลายครั้งที่เวลาเราเจ็บ เรามักจะขยายอาการนั้นให้ใหญ่โตขึ้น กลายเป็น double negativity จากความเจ็บ กลายเป็นการตัดสิน การต้าน และต้องการจะหนี เราสามารถมีท่าทีที่ผ่อนคลาย รู้เฉยๆ และให้กระบวนการในเนื้อตัวดำเนินไปของมันเอง

ท่านั่งในการภาวนาเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เพราะบนเบาะภาวนานี้ เรากำลังมี journey ไปกับโลกภายใน ที่จะเปิดปรากฏการณ์ของจิตมากมาย ดังนั้นการนั่งให้ร่างกายเป็นบาทฐานจึงเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เราอยู่กับประสบการณ์ได้โดยไม่หนี ท่ากระดูกสันหลังตั้งตรงนั้นเป็นการจัดร่างกายให้เกิด alignment และช่วยให้หายใจได้ลึกลงไปถึงท้อง

Yin breathing 

เมื่อเราภาวนาอยู่กับลมหายใจได้จนละเอียด ร่างกายเป็นพื้นที่ของการตระหนักรู้ เทคนิคต่อมาคือการหายใจจากพื้นเข้ามาในร่างกายผ่านจุดดิน (Perineum) เข้ามาที่จุดตรงท้องน้อย Yin Breathing เชื่อมต่อกับพื้นที่ส่วนล่าง และทำงานกับพื้นที่บริเวณท้องน้อย ซึ่งเป็นพื้นที่การตระหนักรู้ที่กว้างใหญ่ที่เราไม่ค่อยเคยชิน

การหายใจจากจุดดิน หรือ Perineum Breathing เป็นการใช้จินตภาพ (visualization) ให้การหายใจเป็นมากกว่าการแลกเปลี่ยนออกซิเจน แต่เป็นการนำการตระหนักรู้ไปยังพื้นที่ต่างๆ ในร่างกาย เป็นพลังชีวิตที่ไปเชื่อมต่อและหล่อเลี้ยง ดังเช่นบริเวณท้องน้อยที่เต็มไปด้วยพลังชีวิตที่ฝึกที่จะดำรงอยู่ตรงนั้น

bodywork และ 10 point breathing

เทคนิคหนึ่งที่มีความสำคัญในการฝึก Somatic meditation คือการภาวนาในท่านอน หรือที่เรียกกันว่า bodywork ด้วยการนอนราบกับพื้น ชันเข่า แยกเท้าออกให้เป็นสามเหลี่ยมที่มั่นคง ท่านี้จะเป็นท่าที่ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายที่สุด แผ่นหนังแนบกับพื้น มือประสานอยู่ที่ท้องน้อย ผ่อนพักให้ผืนดินรองรับร่างทั้งหมดของเรา

ในท่านี้ เราฝึกที่จะหายใจผ่านจุดต่างๆ ของร่างกาย ด้วยเทคนิค 10 point breathing ประกอบไปด้วย ฝ่าเท้าสองข้าง สะโพกสองข้าง แผ่นหลัง หัวไหล่สองข้าง ข้อศอกสองข้าง และศีรษะ ไล่ขึ้นมา หายใจจากพื้นเข้ามาในร่างกาย 

ในชั้นเรียน มีคำถามว่าการทำ bodywork แตกต่างจากการทำ body scan อย่างไร พี่อ้อและพี่ๆ ในสังฆะที่มีประสบการณ์การภาวนามากว่าหลายปีก็ให้คำตอบว่า การทำ bodywork ไม่ใช่แค่ไปรับรู้กับส่วนต่างๆ ของร่างกายเท่านั้น แต่เป็นการสร้างพื้นที่ของการตระหนักรู้ และสร้างความเชื่อมโยงโดยตรงกับร่างกาย เพื่อที่เราจะสามรถเปิดรับสัญญาณต่างๆ ที่ปัญญาญาณในร่างกายเผยแสดงแก่เรา การตระหนักรู้ในความผ่อนคลายคือภาวะที่เราไม่เป็นผู้กระทำอะไรทั้งนั้น สิ่งที่ทำคืออยู่ตรงนั้น มี presence ณ ตรงนั้น และศิโรราบกับสิ่งที่เกิดขึ้น

หลายครั้งทีเดียวที่เวลาคนทำ bodywork แล้วหลับไป แต่สามารถตื่นมาตรงเวลาได้ทุกครั้งเมื่อจบการนำ พี่อ้อเล่าว่า การทำ bodywork ไม่ได้ทำงานกับระดับ conscious ของเรา แต่ลงไปตระหนักรู้ในระดับ unconscious ดังนั้นแม้ว่าจะหลับ แต่หากเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือเป็นสภาวะหลับที่แปลกๆ นั่นก็หมายความว่าเรากำลังทำงานอยู่ในระดับจิตไร้สำนึก

ข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่เห็นชัดจากการทำ bodywork คือหลังจากที่เราลุกจากท่านอนขึ้นมาภาวนาในท่านั่งจะรับรู้ได้ถึงความเป็นเนื้อเดียวของร่างกาย ไม่ต้องใช้ความพยายามในการนั่งในท่าที่หลังตั้งตรง ให้ความรู้สึกราวกับว่าร่างกายและจิตเป็นหนึ่งเดียวกัน และเราใช้ตรงนี้ในการฝึกที่จะอยู่กับความว่างในปัจจุบันขณะได้

“ในการฝึกสติกับร่างกาย เราค้นพบว่าร่างกายพยายามสื่อสารกับเราอยู่ตลอด ทุกปฏิกิริยา ทุกชีพจร เต็มไปด้วยญาณทัศนะอันเปียมความหมายต่อชีวิตในปัจจุบันขณะ สิ่งเดียวที่เราต้องทำคือสัมผัส รับฟัง และสังเกต อันเป็นกระบวนการที่ตั้งอยู่บนความผ่อนคลายในทุกสรรพางค์ ซึ่งนั่นคือเป้าหมายของการฝึกสติในเนื้อในตัว

คนส่วนมากมักมองการภาวนาเป็นเรื่องของจิต (mental work) แต่จริง ๆ แล้วการฝึกจิตภาวนาต้องตั้งอยู่บนฐานของสติทางกายเสมอ (somatic work) การฝึกความรู้เนื้อรู้ตัวไม่ได้เป็นเทคนิคพิเศษ แต่มันคือรากฐานการเตรียมพร้อม อาจเรียกว่าเป็นประตูสู่การเรียนรู้ด้านใน ในการสร้างความสัมพันธ์กับพุทธมณฑลในกาย สู่การค้นพบคุณค่าและความหมายแห่งร่างกายที่มีชีวิต มีลมหายใจ มีความตื่น และเปียมด้วยพลังสร้างสรรค์ทางปัญญา”

เร้จจี้ เรย์
จาก “บนเส้นทางแห่งการฝึกตน”


Awareness and self-discipline

“การภาวนาคือการฝึกที่จะไม่ทำอะไร ซึ่งนั่นเป็นยาแรงของอัตตา

พี่อ้อ อุทัยวรรณ ทองเย็น

เส้นทางการภาวนาทั้งหมดน คือการฝึกที่จะอยู่กับความว่างที่เป็นสภาวะเดิมแท้ของจิต ในเวลาปกติของชีวิต เราถูกขับเคลื่อนโดยอัตตาที่ทั้งกำหนดว่าเราจะรับรู้สิ่งต่างๆ อย่างไร และบอกว่าเราต้องตอบโต้กลับไปอย่างไร ซึ่งนี่เองที่ขัดขวางไม่ให้เราสามารถสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ อย่างที่เป็น เราตีความ เราตัดสิน เราตัดขาด และความทุกข์ ความสุขชั่วคราวก็เกิดจากตรงนั้น ดังนั้นถ้าจะให้กลไกนี้ขับเคลื่อนชีวิตไปเรื่อยๆ ชีวิตคงไม่มีวันได้พบกับความสงบภายในที่แท้จริง 

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่สอนเรื่องการเข้าถึงความสงบภายใน (inner peace) แบบเห็นภาพและมีวิธีสอนที่จับต้องได้มาก หลักสำคัญของพุทธหินยานคือการทำงานกับอัตตาตัวตน สลัดจากสิ่งที่มายึดเกาะจิตเดิมแท้ ไม่ว่าจะเป็นความคิด การตัดสิน อารมณ์ ความอยากได้อยากมี ซึ่งต้องอาศัยวินัยอย่างสูงที่จะทำงานกับสิ่งเหล่านี้ 

อย่างไรก็ตาม พี่อ้อพูดตั้งแต่เริ่มต้นวันแรกว่า การภาวนาไม่ได้ช่วยให้คุณมีชีวิตที่ดี สงบ ร่มเย็นขึ้นแบบราบเรียบแน่นิ่งอย่างแน่นอน ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอาจเป็นสัญญาณว่าคุณกำลังใช้การภาวนาเป็นที่หลบเลี่ยงอะไรอยู่หรือเปล่า การภาวนาเป็นการฝึกอยู่กับความว่าง เพื่อเข้าถึงความ “เปิด” ในการดำรงอยู่ และเข้าไปสัมพันธ์กับสถานการณ์ต่างๆ ด้วยสภาวะนั้น ซึ่งนั้นอาจจะเป็นสถานการณ์ที่ดี หรือทำให้เกิดความเจ็บปวดก็ได้ แต่เราจะไม่หนีออกมา เราอยู่ตรงนั้นด้วยความเปิดกว้างแบบที่ไม่มีอัตตามากั้นา บนเส้นทางแห่งการฝึกตนนี้  เราฝึกที่จะ “ตื่น” อยู่กับโลกของปรากฏการณ์ สัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ อย่างเปิดกว้าง ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง

วินัยเป็นหัวใจแห่งการฝึกบ่มเพาะความเปิดและความตื่นของจิต จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมากของการเดินทางทางจิตวิญญาณ เมื่อเราอยู่ในสถานการณ์ที่เริ่มจะยาก มันเป็นเรื่องง่ายมากที่จะหนีออกไป เช่นเดียวกันกับอาการเจ็บปวดขณะนั่งภาวนา 

เมื่อเราฝึกอยู่กับความตื่นรู้ในร่างกาย เรากำลังฝึกวินัยในการอยู่กับประสบการณ์ ฝึกสัมพันธ์กับความเป็นจริงตรงๆ ด้วยความเปิดกว้าง และนี่เองคือประตูสำคัญ สู่การค้นพบปัญญาญาณ เปิดต่อศักยภาพที่กว้างใหญ่พ้นตัวเราไป สู่โลกจิตวิญญาณที่ศักดิ์สิทธิ์ จุดเริ่มต้นคือการดำรงอยู่ในร่างกายเราเอง

ดังที่อาจารย์ เรจินัลด์ เรย์ กล่าวไว้ว่า

การเรียนรู้ลักษณะนี้นี่เองที่จะทำให้เราเติบโตเป็นอริยบุคคล เป็นมนุษย์ผู้ดุ่มเดินอยู่บนเส้นทางแห่งการแสวงหาคุณค่า เส้นทางแห่งการเติบโตและเรียนรู้ในทุกขณะ เราสังเกตเห็นแง่มุมด้านต่าง ๆ ของชีวิตที่ลึกซึ้งขึ้น ต่อเติมความสัมพันธ์ด้วยจิตใจที่เปิดกว้าง จากจุดแรกเริ่มที่ชีวิตไร้ซึ่งความรู้สึกต่อสิ่งใดๆ ทว่าด้วยการภาวนา ชีวิตเราจะค่อย ๆ คลี่ ขยายกว้าง ทั้งกายและใจได้ผ่อนพัก ประสบการณ์ชีวิตไหลผ่านเราได้โดยสมบูรณ์ เราเริ่มมองเห็นความหมายของการมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า เต็มศักยภาพ เชื่อมโยง สัมพันธ์ ข้ามพ้นเมฆหมอกแห่งตัวตนอันคับแคบ เราได้ค้นพบศักยภาพอันแท้จริงของตัวเราเอง”