บทความโดย คณพล วงศ์วิเศษไพบูลย์ (aka. TOON วัชรสิทธา)
ในวันที่ฟ้าไม่เป็นใจ…
ในวันที่เรารู้สึกโง่ ไม่เข้าใจอะไรสักอย่างในพุทธศาสนา
ในยามที่รู้สึกห่วย ท้อแท้ต่อการปฏิบัติ
ในชั่วโมงที่รู้สึก “บาปหนา” ชดใช้กรรมเท่าไรก็ไม่หมด
ในวันที่รู้สึกว่าไม่มีเวลา สำหรับการปฏิบัติธรรม
ในวินาทีที่คิดว่านรก คงเป็นปลายทางหลังความตายแน่นอน
อย่าเพิ่งหวั่นไหว ทุกอย่างยังโอเคย์ เพราะยังมีพุทธะอยู่องค์หนึ่ง ที่พร้อมเปิดรับเราเข้าสู่พุทธเกษตรของท่านเสมอ
พุทธะองค์นั้นนามว่า อมิตาภะ ผู้เป็นศูนย์กลางของดินแดนสุขาวดี ผู้เอื้อเฟื้อต่อสรรพสัตว์ทุกชีวิตให้สามารถ “เดินทางต่อ” สู่การหลุดพ้นได้อย่างไร้เงื่อนไข ไร้เงื่อนไขขนาดที่ว่า เราไม่จำเป็นต้องใช้พาสปอร์ตแห่งความดี หรือตั๋วบุญใดๆ ทั้งสิ้น ในการที่พระอมิตาภะจะเปิดทางให้เราย่างเท้าเข้าไปสู่ดินแดนของท่าน
ในคลาสเรียน เซน & สุขาวดี กับ อ.ดอน ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา อาจารย์ดอนได้เริ่มเปิดโลกดินแดนสุขาวดีให้เราได้เรียนรู้อย่างตื่นตาตื่นใจ โดยยกคำพูดของ ท่านชินรัน ผู้ก่อตั้งนิกายโจโดชิน (สุขาวดีในญี่ปุ่น) ที่เคยกล่าวถึงการปฏิบัติในสุขาวดีเอาไว้ว่า
“ตัวเราแน่แท้ต่อการตกนรก”
จากนั้นจึงกล่าวต่อว่า ถ้าหากตัวท่านมีศักยภาพพอที่จะฝึกปฏิบัติในแบบอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นการสวดมนต์ นั่งสมาธิ หรือยึดถือคุณธรรมต่างๆ ท่านคงเสียใจที่มาได้รับฟังคำสอนของท่านโฮเน็น (อาจารย์ของท่าน) แล้วเกิดศรัทธาจนมาฝึกปฏิบัติในแนวทางสุขาวดี แต่ในความเป็นจริงท่านพบว่าตัวเองไม่มีศักยภาพเหล่านั้นเลย
“ถ้าหากฟังคำสอนของท่านโฮเน็นแล้วเราจะต้องตกนรก เราไม่เสียใจเลย” ในความหมายที่ว่าแต่เดิมท่านก็แน่แท้ต่อการตกนรกอยู่แล้ว และสิ่งเดียวที่ทักษะความสามารถของท่านจะพอทำได้ก็คือการปฏิบัติในแนวทางสุขาวดีที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมานี่แหละ
คุณลักษณะเด่นของนิกายสุขาวดีคือเป็นนิกายที่ไม่เรียกร้องอะไรมากมายนักจากผู้ปฏิบัติ สิ่งเดียวที่เป็นหัวใจของสายปฏิบัตินี้คือการสวดท่องพระนามของพระอมิตาภะพุทธเจ้า ส่วนจะสวดชื่อของพระพุทธองค์ไปเพื่ออะไรนั้น ต้องตามอ่านต่อไปอีกหน่อย
ในความเข้าใจทั่วไป “นิกายสุขาวดี” เป็นชื่อที่คนไทยคุ้นหู แต่ในแวดวงพุทธศาสนาสากล นิกายนี้ถูกเรียกว่า “วิสุทธิภูมิ” หรือ “Pure Land Buddhism” ซึ่งเป็นหนึ่งในนิกายของมหายาน อันมีความหลักอย่างหนึ่งที่แตกต่างจากยานอื่นๆ ว่าภายหลังพระพุทธเจ้าได้เสด็จปรินิพพานไปแล้ว บุญบารมีทั้งหมดที่ท่านเคยได้สั่งสมมาทุกชาติภพไม่ได้จากไปด้วย สิ่งที่ดับลงไปเป็นเพียง “นิรมานกาย” ซึ่งเป็นหนึ่งในสาม “กาย” ของพุทธะเท่านั้น สิ่งที่ยังคงหลงเหลืออยู่คือธรรมกาย ซึ่งก็คือธรรมะหรือสัจธรรมของสรรพสิ่ง และสัมโภคกายซึ่งเป็นทิพยกายที่รวบรวมบุญกุศลทั้งหมดของพุทธะเอาไว้
อย่างที่ทราบกันดีว่า นิรมานกาย คือกายของพุทธะที่ปรากฏขึ้นบนโลกมนุษย์ ธรรมกายคือกายแห่งสัจธรรมที่ดำรงอยู่ในทุกสรรพสิ่ง สัมโภคกาย คือกายที่ปรากฏอยู่ในพุทธเกษตร ซึ่งนิกายสุขาวดี ได้กล่าวถึงสัมโภคกายของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งที่มีนามว่า “อมิตาภพุทธเจ้า” ผู้สร้างพุทธเกษตรที่ชื่อว่า “สุขาวดี” หรือ “วิสุทธิภูมิ” ขึ้นมาจากปณิธานในการโปรดสรรพสัตว์ของท่าน ดังนั้นสุขาวดีในทีนี้จึงไม่ใช่สวรรค์! แต่เป็นพุทธเกษตร
ในพุทธเกษตรของพระอมิตาภะ ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะให้ผู้ที่เกิดในดินแดนของท่านเสวยสุขหรือเสพความสำราญไปวันๆ แต่ท่านได้รังสรรค์พุทธเกษตรนี้ขึ้นมาเพื่อที่สรรพสัตว์จะได้มีพื้นที่ที่เอื้อต่อการบำเพ็ญปฏิบัติเพื่อเข้าถึงการรู้แจ้งได้อย่างเท่าเทียม ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในดินแดนแห่งนี้ล้วนแต่เอื้อให้ผู้ที่อยู่ในนั้นบรรลุธรรมทั้งสิ้น ราวกับว่าถ้าได้ไปเกิดในสุขาวดีแล้วโอกาสที่เราจะได้ตรัสรู้เป็นพุทธะจะเป็นเรื่องง่ายดายสุดๆ ถึงขนาดที่มีคำกล่าวว่าทุกคนที่เกิดในสุขาวดีจะบรรลุถึงความเป็นพุทธะอย่างแน่นอน
พัฒนาการของสุขาวดีในแต่ละยุค
ด้วยคุณลักษณะที่น่าดึงดูดของพุทธเกษตรสุขาวดี จึงทำให้เกิดแนวทางการปฏิบัติต่างๆ เพื่อที่จะได้ไปเกิดในดินแดนแห่งนั้น พัฒนาการของการปฏิบัติสุขาวดีได้มีการเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่องในแต่ละยุคสมัย ทั้งวิธีการปฏิบัติ รวมถึงวิธีการตีความพระสูตรในนิกายด้วย
ยุคแรก – เน้นการเพ่ง/ตรึกภาพพระอมิตาภะจนเกิดความตั้งมั่นของจิต เพื่อที่เมื่อเราตายไป พระอมิตาภะจะมารับเราไปสู่สุขาวดี
ยุคต่อมา – เพิ่มการภาวนาพระนามเข้าไปในการปฏิบัติด้วย
ยุคต่อมา – ปรับการปฏิบัติมาให้เน้นการภาวนาพระนามเป็นหลัก และลดความสำคัญของการตรึกภาพลงไป เนื่องจากผู้ปฏิบัติบางคนอาจจะไม่ถนัด การปรับเปลี่ยนนี้สะท้อนให้เห็นถึงแก่นอย่างหนึ่งของสุขาวดีว่า พระอมิตาภะต้องการที่จะช่วยเหลือสรรพสัตว์ทั้งหมดให้ไปเกิดในสุขาวดี การปฏิบัติจึงควรทำได้โดยง่าย ผู้ปฏิบัติไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่มีสมาธิแก่กล้า ในยุคนี้จึงมีคำกล่าวว่า “สรรพสัตว์ที่ไปเกิดในสุขาวดีไม่มีพระอริยะเลย มีแต่คนธรรมดาๆ เท่านั้น”
ยุคต่อมา (ท่านโฮเน็น) – ความเปลี่ยนแปลงในยุคนี้เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญด้านการตีความเรื่องการสวดพระนาม ซึ่งท่านโฮเน็นได้สอนว่า เราไม่ได้ภาวนาเพื่อเก็บแต้มจำนวนครั้งให้พระอมิตาภะรับเราเข้าสุขาวดี แต่เราสวดเพราะว่าการรับเราเข้าสู่ดินแดนนั้นคือปณิธานของท่านอยู่แล้ว
ยุคต่อมา (ท่านชินรัน) – ในยุคนี้มีความเปลี่ยนแปลงใหญ่หลายประการ อย่างแรกคือมีการเพิ่มมิติของความศรัทธาเข้าไปในการสวดพระนามด้วย แต่สิ่งที่พิเศษคือศรัทธาที่เรามีต่อพระอมิตาภะ ไม่ใช่ศรัทธาที่เกิดจากตัวเราเอง แต่เป็นศรัทธาของพระอมิตาภะที่ปรากฏในตัวเรา รวมไปถึงการสวดพระนาม ที่แท้จริงแล้วเราก็ไม่ได้เป็นผู้สวด แต่พระอมิตาภะได้ส่องแสงแห่งความกรุณามาถึงเรา จนเราต้องเปล่งพระนามของท่านออกมา คล้ายกับเป็นการขอบคุณท่านที่รับเราเข้าไปสู่ดินแดนสุขาวดี ซึ่งเป็นการเปลี่ยนวิธีคิดจากที่เราสวดพระนามเพื่อขอโควต้าเข้าสุขาวดี เป็นการสวดเพื่อขอบคุณที่ท่านต้อนรับเราเข้าสู่ดินแดนของท่าน
ความเปลี่ยนแปลงประการต่อมาคือท่านชินรันได้ทำให้แนวคิดของนิกายสุขาวดีกลับมามีความเป็นพุทธศาสนา โดยท่านชินรัน ได้เสนอเราสามารถเกิดในสุขาวดีได้ทันทีในปัจจุบันขณะถ้าหากเราปฏิบัติโดยมีจิตศรัทธาอย่างเต็มที่ ท่านจึงเป็นคนแรกที่ทำให้สุขาวดีเป็นเรื่องของปัจจุบัน ไม่ใช่โลกหลังความตายที่ต้องรอให้พระอมิตาภะมารับเราไปสู่พุทธเกษตรของท่าน ทั้งนี้ท่านชินรันยังตีความต่อไปอีกว่า สุขาวดี คือการรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระอมิตาภะ ซึ่งเป็นความหมายเดียวกันกับพระนิพพาน การพูดย้อนกลับมาสู่การหลุดพ้นหรือนิพพาน ทำให้นิกายสุขาวดีในแนวทางของท่านชินรัน กลับมาอยู่ในโลกทัศน์เดียวกันกับพุทธศาสนาอีกครั้ง
แม้แต่คนดียังได้เกิดในสุขาวดี จะนับประสาอะไรกับคนชั่ว
จะเห็นได้ว่าถึงแม้สุขาวดีจะมีการเปลี่ยนแปลงทรรศนะหรือวิถีปฏิบัติมาหลายยุคสมัย แต่หัวใจของสุขาวดีที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปคือการพึ่งพา “อำนาจภายนอก” ของพระอมิตาภพุทธเจ้า ซึ่งการพึ่งพาอำนาจภายนอกเช่นนี้เอง ที่ทำให้การปฏิบัตินิกายนี้เรียบง่าย ไม่มีความซับซ้อน ไม่ต้องอ่านตำราหรือศึกษาคัมภีร์ใดๆ โดยใช้เครื่องมือเพียงอย่างเดียวคือการสวดพระนาม “นโม อมิตาภพุทธ”
ความเรียบง่ายนี้เป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้นิกายสุขาวดี (โดยเฉพาะโจโดชินในญี่ปุ่น) เข้าถึงคนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนกลุ่มที่เป็นชนชั้นแรงงานและชาวบ้านธรรมดาทั่วไป ทั้งชาวประมง นายพราน ชาวบ้าน โสเภณี คนขายเหล้า ฯลฯ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อาจจะต้องข้องแวะกับอาชีพการงานที่ถูกมองว่าเป็น “บาป” หรือ ผิดศีลพรตของพุทธศาสนาในนิกายอื่นๆ
นอกจากชาวบ้านทั่วไปที่ต้องข้องแวะกับการทำบาปเล็กๆ น้อยๆ แล้ว สุขาวดียังมีลักษณะเฉพาะอีกอย่างที่ไม่พบในพุทธนิกายอื่น นั่นคือการเน้นย้ำว่าพระอมิตาภะช่วยเหลือคนเลวให้ไปเกิดในดินแดนสุขาวดีอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นคนชั่วร้าย คนทุศีล คนเลวทราม คนที่อยู่บนชายขอบของศีลธรรมทั้งหลาย แนวคิดเช่นนี้ทำให้พุทธศาสนิกชนเกิดความหวังที่จะไม่ต้องไปเกิดในอบายภูมิ คล้ายกับว่านิกายสุขาวดีเป็นเหมือน “รถไฟขบวนสุดท้าย” ที่พร้อมโอบอุ้มสรรพสัตว์ทุกชีวิตขึ้นขบวนที่จะนำไปสู้การหลุดพ้น โดยไม่แบ่งแยกว่าคนผู้นั้นจะเป็นคนดีมีศีลธรรมที่สุดหรือเป็นคนที่เลวทรามต่ำช้าที่สุด
ท่านชินรันเคยกล่าวไว้ว่า โดยทั่วไปเราอาจเคยได้ยินประโยคที่ว่า “แม้แต่คนชั่วยังได้ไปเกิดในสุขาวดี จะนับประสาอะไรกับคนดี” แต่ในคำสอนของท่าน ประโยคนี้จะกลับกลายมาเป็น “แม้แต่คนดียังได้เกิดในสุขาวดีเลย จะนับประสาอะไรกับคนชั่ว” ที่เป็นเช่นนี้เพราะคนชั่วที่ก่อกรรมทำเข็ญเอาไว้ในชีวิตคือเป้าหมายสูงสุดของพระอมิตาภะในการพาไปสู่การหลุดพ้น เพราะท่านต้องการที่จะนำพาสรรพสัตว์ทั้งหมดไปด้วยกัน หมายความว่าคนธรรมดาๆ คนโง่เง่า คนบาปทั้งหลาย ต้องสามารถไปสุขาวดีได้ทั้งหมด และกลุ่มคนที่ดูเหมือนจะไร้วี่แววในการพ้นทุกข์ที่สุดอย่างคนชั่ว จึงถูกจัดอยู่ในความสำคัญลำดับต้นๆ
แต่ด้วยวิธีคิดเช่นนี้ อาจทำให้บางคนตีความไปว่าเป็นการสนับสนุนให้คนทำความชั่วเพื่อที่จะให้พระอมิตาภะเมตตา ท่านชินรันจึงได้มอบคำสอนเพิ่มเติมว่า “ถึงแม้ว่าเราจะมียาถอนพิษอยู่กับตัว มันก็ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องไปสรรหายาพิษมาดื่มกิน”
อำนาจภายนอกที่สยบอัตตาตัวตน
พุทธศาสนานิกายสุขาวดี สะท้อนคุณลักษณะเด่นของมหายานหรือยานใหญ่ออกมาได้อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา เพราะอุดมการณ์แห่งความกรุณาของพระอมิตาภะนั้นไม่มีเงื่อนไขใดๆ เป็นอุดมการณ์แห่งโพธิสัตว์ที่ต้องการพาทั้งหมดไปสุ่การหลุดพ้น ดินแดนสุขาวดีจึงเป็นที่สำหรับคนทุกคน ทุกระดับชนชั้น ทุกระดับสติปัญญา และทุกระดับภูมิธรรม
ดังที่ครูบาอาจารย์ฝ่ายสุขาวดี ทั้งในจีนและญี่ปุ่นกล่าวอยู่เสมอว่า “พวกฉันเป็นคนโง่” คุรุในสายธรรมปฏิบัติหลายท่านเคยได้เล่าเรียนคัมภีร์มามากมายจนสุดท้ายท่านก็ค้นพบว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ความจำเป็น สิ่งเดียวที่จำเป็นในยุคเสื่อมโทรมอย่างปัจจุบันคือการท่อง “นโม อมิตาภพุทธ” หรือพระนามของพระอมิตาภะ เพราะในทรรศนะของสุขาวดีโดยเฉพาะในญี่ปุ่นมองว่ามนุษย์เราเต็มไปด้วยความไม่รู้ ความโง่เขลา จนไม่สามารถปฏิบัติเพื่อการรู้แจ้งได้ด้วยตัวเอง จึงจำเป็นต้องพึ่งพา “อำนาจภายนอก” อย่างพระอมิตาภะ
แต่ถึงที่สุดแล้ว การปฏิบัติที่พึ่งพาอำนาจภายนอกนี้ ก็มิใช่การอ้อนวอนร้องขอ ทว่าเป็นการปฏิบัติบนความศรัทธาเพื่อขอบคุณมหากรุณาของพระอมิตาภะที่มีต่อสรรพสัตว์ทั้งปวง ประกอบด้วยรูปแบบการปฏิบัติที่เป็นการลดละตัวตน อย่างการอธิบายว่าความศรัทธาก็มิใช่จากตัวเราแต่เป็นศรัทธาที่เกิดจากพระอมิตาภะ การสวดพระนามก็ไม่ใช่เราสวดเองแต่เป็นพระอมิตาภะ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีสิ่งใดเลยที่มาจากตัวเรา ทั้งหมดเกิดจากอำนาจภายนอกอย่างพระอมิตาภะทั้งสิ้น สุขาวดีจึงเป็นเส้นทางจิตวิญญาณที่จะนำไปสู่การสลายตัวตนของผู้ปฏิบัติ จนกลายเป็นหนึ่งเดียวกับพระอมิตาภะในที่สุด
หนึ่งในปณิธานของพระอมิตาภพุทธเจ้าก็คือ “ถ้าสรรพสัตว์ทั้งหลายสดับยินชื่อของข้าพเจ้า แล้วนึกถึงข้าพเจ้า แม้เพียง 10 ครั้งในใจ แล้วไม่ได้เกิดในสุขาวดี ข้าพเจ้าไม่ขอตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า”
บัดนี้ แน่นอนที่สุดว่าพระอมิตาภะท่านได้สำเร็จเป็นพุทธะเรียบร้อยแล้ว ปณิธานนี้ของท่านจึงย่อมเป็นความจริง
….ว่าแต่วันนี้คุณนึกถึงพระอมิตาภะแล้วหรือยัง