ยาพิษทั้งสาม vs โอสถของความตื่น

บทความโดย KONG วัชรสิทธา


“ตัวตนนี้ได้ตายไปตั้งนานแล้ว​ มันดำรงอยู่ได้เพราะดื่มกินยาพิษทั้งสามอยู่เสมอ”​ —วิจักขณ์​ พานิช

จากความข้างต้น​ “ยาพิษทั้งสาม” (ในที่นี้คือ โลภะ โทสะ โมหะ)​ คือสิ่งที่ตัวตนหรืออัตตาได้เสพกินอยู่แทบทุกขณะของชีวิต เป็นดังยาที่คอยบำรุงเลี้ยงสภาพแห่งตัวตน ทั้งเป็นที่มาของอาการทั้งหลายทางใจ (และทางกาย) เป็นเหตุของความวิปลาสนานา ชักพาตัวตนนี้ให้มีการรับรู้ที่​ “คลาดเคลื่อน”​ และ​ “ตัดขาด”​ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง​ จากการสัมผัสรับรู้ที่เชื่อมโยงกับร่างกาย​ กลับกัน​ การรับรู้ส่วนใหญ่ถูกดึงให้ลอยล่องติดพันอยู่ในโลกส่วนบน หรือ “ฐานหัว” ซึ่งคือโลกแห่งความคิด​ ความเห็น​ การวิพากษ์​ ตั้งแง่​ ตัดสิน​ หรือในอีกด้านนึง​คือ​ ความฟุ้งซ่าน​ เพ้อเจ้อ​ เหม่อลอย​ ฯลฯ​

เมื่อกายกับจิตมีการรับรู้อย่างไม่สอดคล้อง ก็คงเป็นการยากที่จะรับรู้สภาวะต่าง​ ๆ​ ได้อย่างไม่ตัดขาดจากเนื้อตัวของเรา​ กลับหัวกันเสียอีก​ เพราะการรับรู้ใด​ ๆ​ ก็คงไม่พ้นจะ “ติดแหง็ก”​ อยู่กับ​โลกทางความคิดโดยปฏิเสธมิติทางร่างกายออกไป ร่างกายนี้จึงแทบไม่เคยปักหลักทอดสมอของการตระหนักรู้ลงสู่เนื้อตัว​ ณ​ ตรงนี้​ตอนนี้​ มันจึงมีชีวิตไปอย่างแยกขาดและคลาดเคลื่อนจาก​จุดที่มันดำรงอยู่เสมอ

เช่นนั้น คงไม่เกินเลยนัก​หากจะกล่าวว่าตัวตนนี้ได้ตายไปแล้ว​

ตายจากความสัมพันธ์ที่มีต่อร่างกายนี้ ซึ่งเป็นที่สถิตของดวงจิตนี้ ในปัจจุบันขณะนี้

ถึงแม้จะดูเหมือนว่ามันกำลังมีชีวิตอยู่ หากก็อยู่อย่างไร้ชีวิต ปราศจากชีวา

ดังนั้น มันจึงได้ตายไปแล้วจริง ๆ

ในการภาวนาแบบ​ Somatic​ Meditation ทำให้เกิดการเรียนรู้ว่า แท้จริงแล้วกายกับจิตไม่ได้แยกออกจากกัน​ หากแต่การตระหนักรู้ในร่างกายนี้เอง คือรากฐานสำคัญทางจิตวิญญาณ

ด้วยทิศทางการภาวนาที่เน้นการทำงานกับความเป็นร่างกาย​หรือ​ SOMA​ ที่นำพาการระลึกรู้กลับมาอยู่ในเนื้อในตัว ขยายการรับรู้สู่ “ฐานกาย” ด้วยลักษณะอาการที่ “ผ่อนพัก” แล้วเพียง สังเกตและรับฟัง สิ่งที่ร่างกายต้องการจะสื่อสาร

หากได้ลองสังเกตสภาวะอารมณ์โดยทั่วไปในชีวิต​ ล้วนมีแง่มุมที่สัมพันธ์กับมิติทางกายทั้งสิ้น ดังเช่น​ เมื่อเรากังวล​ ก็อาจมีอาการมวนท้อง, เมื่อเราอยู่ในภาวะเบิกบานในอารมณ์ กายเราก็อาจรู้สึกโล่งโปร่ง, อาจมีอาการเสียดแน่นบริเวณช่วงอกเมื่อเกิดความสะเทือนใจ,​ หากชัด​หน่อยก็คงเป็นอาการที่​เรียกกันว่า “หัวร้อน”​ ซึ่งมักจะเชื่อมโยงกับโทสะ​ หรืออาการร้อนผ่าว เหงื่อตก ใจเต้นแรง เมื่อพบเข้ากับสภาวะอารมณ์ที่เข้มข้น ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นการสื่อสารของร่างกายทั้งสิ้น เพียงแต่เราไม่ค่อยเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ดูได้ฟังเท่าไรนัก ยิ่งกว่านั้น หลายครั้งก็อาจปิดกั้นหรือปฏิเสธมันไปเสียเลย

การภาวนาแบบ Somatic จึงเป็นท่าทีของการ “ดึงกลับ” – ดึงการตระหนักรู้กลับมาสู่กาย เพื่อรับรู้และรับฟังสิ่งที่กายต้องการจะสื่อสารด้วยความเป็นมิตร มิตรที่พร้อมจะอยู่ตรงนั้นด้วยความสันติและเปิดกว้าง มาสู่ความไว้ใจในร่างกาย วางใจต่อวิถีทางการภาวนา และสามารถที่จะ “ปล่อย” ให้สิ่งใด ๆ ก็ตามขณะภาวนาได้เข้ามาสู่การสัมผัสรับรู้ แม้จะดูเล็กน้อย​ อาจดูไม่ได้สลักสำคัญ​ หรือกระทั่งไม่สมเหตุสมผลเพียงใด​ ต่างก็ถูกโอบรับเข้ามาสู่พื้นที่ของผืนกายแห่ง SOMA​ นี้อย่างถ้วนทั่ว

ปล่อยให้ประสบการณ์ต่าง ๆ ได้ผุดพรายขึ้นมา

เมื่อการภาวนาได้พาร่างกายมาสู่จุดที่สามารถผ่อนคลายได้ จึงเกิดเป็นท่าทีของการ “อนุญาต” ให้สิ่งที่นอนเนื่องเป็นตะกอนได้ “ลอยขึ้น” อย่างเป็นอิสระ สู่การเผยแสดงของสิ่งที่อาจยังคั่งค้างอยู่ในชั้นของกระแสสำนึกที่ลึกลงไป โดยตะกอนที่ว่านั้นสามารถจะเป็น “อะไรก็ได้” ตามแต่ประสบการณ์ตรงของแต่ละคนจะได้พบ ทุกสิ่งล้วนถูกนับรวม ไม่มีสิ่งใดผิด หรือถูก หรือแปลกประหลาดเกินไป ในมณฑลกว้างใหญ่ของการตระหนักรู้นี้

ตะกอนเหล่านั้นอาจเป็นภาพจำ ภาพฝัน ความเมื่อย-เกร็ง ภาวะปั่นป่วนในร่างกาย กระแสความคิด เสียงที่เกิดขึ้นขณะนั้น ฯ เมื่อมองแล้วก็อาจเป็นชิ้นส่วนที่ไม่มีความปะติดปะต่อกันเอาเลย ดูจะเป็นสภาวะใด ๆ ที่อธิบายได้ยาก (และการอธิบายอาจไม่ใช่สาระสำคัญอีกต่อไป) 

สิ่งที่พึงกระทำจึงมีเพียง เปิดออก (openness) และ ยอมรับ (acceptance) 

ไว้วางใจให้กระบวนการ​ SOMA​ ได้คลี่คลายตัวเอง ให้เหล่าวัตถุดิบที่ถูกกดเก็บ-กักขังไว้ภายใต้ได้เผยตัวขึ้นสู่การระลึกรู้​ สู่จิตสำนึก ทั้งความรู้สึกของ sensation ต่าง ๆ ทั่วสรรพางค์กาย​ ทั้ง​ moment​ มากมายระหว่างทาง​ที่ได้คลี่เผยออก โดยมีตัวเราซึ่งทำได้เพียงแค่เป็นพยาน​ รับรู้​และอยู่ตรงนั้น​ เพื่อสัมพันธ์กับบรรดาวัตถุดิบเหล่านี้อย่าง​ดิบ ๆ ตรง ๆ โดยไม่พยายามหลีกหนีออกไป

เปิดโอกาสให้ ความโกลาหล (chaos) ได้สำแดง

เผยศักยภาพมหาศาล ที่สามารถจะถูกแปรเปลี่ยนกลับกลายเป็น​ ความตื่น (wakefulness)

หรืออาจกล่าวได้ว่า “ยาพิษ”​ ได้ถูกแปรเป็น​ “โอสถขนานแท้”​ ที่จะปลุกเร้าเราให้ตื่น​จากความหลับใหล ฟื้นคืนจากความตายด้วยเหตุแห่งพิษร้ายทั้งสาม

“Somatic​ Meditation​ คือกระบวนการทางกายที่มาคลี่คลายภาวะทางใจ—อุทัยวรรณ​ ทองเย็น

ทุกการคลี่คลายของประสบการณ์นับเป็นสิ่งมีคุณค่าและความหมายในตัวเอง ด้วยเพราะเป็นประสบการณ์ตรงจากเนื้อจากตัว จึงเปี่ยมด้วยความดิบเดิมและจริงแท้ เสมือนว่ากายนี้ได้นำเราผ่าน “ประตู” ที่จะพาไปรับสาส์นที่มีไว้ให้สำหรับเราโดยเฉพาะ ให้เราได้น้อมรับ​ ยอมรับ และเคารพ​ ต่อข้อความหรือสัญญาณต่าง​ ๆ​ ใด ๆ ที่ SOMA​ นี้ได้ส่งผ่านมาสู่เรา


สุดท้ายนี้ คงเป็นความรู้สึกของการขอบคุณ​ ของ gratitude

ขอบคุณประสบการณ์แห่ง SOMA นี้
สำหรับการถอดถอนพิษร้ายของอัตตา​ ที่มาของความวิปลาสทั้งหลาย
สำหรับการปลดเปลื้องเสียงที่ถูกเมินชา​ ให้กลับคืนสู่สัมปชัญญะ
สำหรับอารมณ์ภาวนา ซึ่ง​ กาย-ใจ​ ได้​ผสานอย่างไม่แยกขาดจากกัน​ 

และ​ สำหรับ “โอสถ” ของความตื่น
“ชีวิต” จึงได้หวนคืนมา





+++++++++++++++++++++
หากท่านได้ประโยชน์จากการอ่านบทความชิ้นนี้ และชื่นชมการสร้างสรรค์เนื้อหาดีๆ บนเว็บไซท์นี้
ท่านสามารถร่วมบริจาคสนับสนุนการดำเนินงานของ vajrasiddha.com ได้ที่
ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกระบือ ชื่อบัญชี “มูลนิธิวัชรปัญญา” เลขที่ 053-3-67904-8