“ไตรยาน” : โลกทัศน์ก้าวหน้าทางจิตวิญญาณของพุทธศาสนาทิเบต

บทความโดย ฟาบริซ มิดาล
แปลและเรียบเรียงโดย วิจักขณ์ พานิช

จาก chapter 6 : “Progressive Approach of the Three Yanas”
ในหนังสือ Chögyam Trungpa : His Life and Vision

ในการวางรากฐานพุทธธรรมในโลกตะวันตก เชอเกียม ตรุงปะ นำเอาโครงสร้างคลาสสิคของไตรยาน มาใช้ในการสื่อสารคำสอนอย่างเป็นลำดับ

คำว่า “ยาน” แปลว่า พาหนะ “บางอย่างที่ยกเธอขึ้นและพาเธอไป” ยานคือสิ่งที่จะนำพาเราเดินทางไปสู่จุดหมาย ไม่ว่าจะเป็น รถ เรือ รถไฟ หรือ เครื่องบิน ในพุทธศาสนา ยานไม่ใช่แค่พาหนะ แต่คือถนนหรือเส้นทางในตัวมันเอง ที่ผู้ปฏิบัติจะใช้ในการพาตัวเองไป สู่เป้าหมายแห่งการหลุดพ้น

อาจารย์ชาวทิเบตบางคนเชื่อว่าการเลือก “พาหนะ” ที่เหมาะสม ขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะหรือการสุกงอมทางจิตวิญญาณของแต่ละคน ถ้าสติปัญญาน้อยก็ควรใช้หินยาน ส่วนผู้ที่มีศักยภาพทางจิตวิญญาณสูงก็ควรใช้วัชรยาน

ตรุงปะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดแบบนั้น เขาโคว้ตคัมภีร์หลายเล่มเพื่อเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ผู้ฝึกตนทุกคนจะต้องเริ่มต้นบนเส้นทางหินยาน ไม่เช่นนั้นก็มีแนวโน้มที่หนทางที่เหลือจะกลายเป็นแค่การเสริมสร้างอัตตาตัวตนไป เชอเกียม ตรุงปะ ไม่เคยพูดถึงหินยานในทางดูถูกเลยแม้แต่ครั้งเดียว

การให้ความสำคัญและการเน้นย้ำต่อหินยานแบบที่เชอเกียม ตรุงปะ ทำนั้น ค่อนข้างจะไม่ใช่เรื่องปกติในพุทธศาสนาทิเบต ธรรมาจารย์ชาวทิเบตที่มาสอนที่ตะวันตกส่วนใหญ่มักนำเสนอการปฏิบัติวัชรยาน การตั้งนิมิต มนตรา พิธีกรรม ให้ใครก็ตามที่ขอรับคำสอน แม้แต่นักเรียนใหม่มากๆ ที่ไม่รู้จักพุทธศาสนามาก่อน สำหรับเชอเกียม ตรุงปะ การทำแบบนั้นถือเป็นความผิดพลาด

“ชาวตะวันตกส่วนใหญ่ยังไม่ได้เตรียมพร้อมกับการฝึกปฏิบัติวัชรยาน เพราะพวกเขายังไม่ได้ทำความเข้าใจคำสอนพื้นฐานของพุทธศาสนาเลยสักนิด โดยทั่วไปพวกเขายังไม่มีแม้แต่ความเข้าใจเรื่องทุกขสัจ ที่อธิบายไว้ในคำสอนอริยสัจสี่เลย ดังนั้น ณ จุดนี้ การนำเสนอคำสอนพุทธศาสนาต่อชาวตะวันตกจึงต้องเริ่มด้วยพื้นฐานของหินยานก่อน ผู้คนจะต้องสัมพันธ์กับวัตถุดิบในจิตใจของพวกเขาเองให้ได้เป็นอย่างแรก”   – เชอเกียม ตรุงปะ

เชอเกียม ตรุงปะ รู้สึกถึงความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องเริ่มที่ “square one” หากปราศจากพื้นฐานตรงนี้ งานทางจิตวิญญาณทั้งหมดจะกลายเป็นวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ การเดินทางทางจิตวิญญาณที่จริงแท้จะเป็นไปไม่ได้เลยหากไม่เริ่มต้นด้วยความซื่อตรงของหินยาน

ตอนที่ตรุงปะ เดินทางไปสอนธรรมะในโลกตะวันตกช่วงแรกๆ มีนักเรียนชาวตะวันตกจำนวนมากที่ตื่นตาตื่นใจกับคำสอนซกเช็น ซึ่งถือเป็นคำสอนขั้นสูงสุดของวัชรยาน และ “ล้ำค่า” มากกว่าคำสอนอื่น ทัศนคติแบบนั้นทำให้ตรุงปะโกรธมาก เขาพบว่ามันเป็นการลดทอนคุณค่าของสายธรรมปฏิบัติ และเป็นปัญหาใหญ่ของยุคสมัย ที่ผู้คนกำลังมองทุกอย่างรวมถึงคำสอนทางจิตวิญญาณเหมือนเป็นสินค้า

การศึกษายานทั้งสามอย่างสมบูรณ์ ก็เหมือนกับการศึกษาแผนที่ก่อนที่จะออกเดินทาง มันจะช่วยเราให้รู้ว่ากำลังไปที่ไหนและทำให้ความสนใจใคร่รู้และสติปัญญาของเราตื่นตัวและแหลมคมขึ้น เมื่อถึงเวลาเดินทางจริง ไม่มีเส้นทางใดที่สูงค่ากว่าเส้นทางอื่น ทั้งหมดต่างเป็นหนทางที่แตกต่างทว่าสำคัญต่อการพาเราไปสู่จุดหมายทั้งสิ้น

ในการอธิบายเส้นทางนี้ ตรุงปะมักใช้ภาพตัวอย่างคลาสสิกของการเปรียบเทียบหินยานเหมือนเป็นฐานรากของบ้าน ขณะที่มหายานคือตัวบ้าน และวัชรยานคือหลังคาทองคำ ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องน่าขันหากจะเริ่มต้นที่หลังคาแทนที่จะเป็นฐานราก แต่ละขั้นตอนนำไปสู่ขั้นถัดไปอย่างเป็นธรรมชาติ และเป็นการข้ามพ้นทว่าหลอมรวมขั้นก่อนหน้า เส้นทางไม่ใช่การผ่านจากระดับหนึ่งไปสู่อีกระดับหนึ่ง เหมือนเรียนในโรงเรียน หรือไม่ใช่การเปรียบเทียบว่าอันไหนดีกว่า แล้วตัดสินใจเลือกว่าจะนั่งรถไปอิตาลี หรือจะนั่งเครื่องบินไปเที่ยวป่าดงดิบในเคนย่า เส้นทางเผยตัวเองอย่างสอดคล้องต่อประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติ  the path will unfold according to the practitioner’s experience…

ตรุงปะอธิบายว่า สำคัญที่จะเรียนรู้ยานหนึ่งก่อนหน้าอีกยานหนึ่ง แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องสำเร็จยานหนึ่งก่อนที่จะเริ่มต้นยานถัดไป การทำความคุ้นเคยกับประสบการณ์ในยานก่อนหน้าเป็นสิ่งที่จะเป็นต้องมี ก่อนที่จะก้าวต่อไปสู่ยานถัดไป แต่ผู้ปฏิบัติไม่จำเป็นต้องรู้แจ้งในยานนั้นๆ โดยสมบูรณ์ก่อนที่จะฝึกยานถัดไปได้ ในท้ายที่สุด ยานทั้งสามจะดำรงอยู่ไปด้วยกันในการปฏิบัติของคนคนนั้นอย่างเป็นธรรมชาติ ดังนั้นมันจึงไม่ใช่การข้ามพ้นหินยานไปสู่ยานอื่นที่ลึกซึ้งกว่า

“คำสอนหินยานไม่ควรถูกมองในฐานะบางสิ่งที่เธอแค่ถือไว้พักนึง แล้วทิ้งไปได้ในภายหลัง คำสอนหินยานคือพลังชีวิตที่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติและวินัยของเธอ ซึ่งดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ด้วยมุมมองเช่นนี้ หินยานควรถูกให้การเคารพในฐานะ life’s strength จำไว้นะ “Never forget Hinayana””

– เชอเกียม ตรุงปะ

สถาบันวัชรสิทธา ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ทดลองทางการศึกษา บนพื้นฐานของการภาวนา การใคร่ครวญด้วยใจ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างเป็นมนุษย์ระหว่างผู้เรียน