บทความโดย วิจักขณ์ พานิช
มหายานคือพัฒนาการของพุทธศาสนาที่ได้เข้ามาอยู่ในกระแสหลักช่วงพุทธศตวรรษที่ 5 ในอินเดีย มหายานพลิกเปลี่ยนมิติคำสอนและอุดมการณ์พุทธศาสนาให้หลอมรวมประสบการณ์ที่เป็นมนุษย์และความแตกต่างหลากหลายเข้ามาอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด ทำให้คำสอนถูกตีความไปไกลกว่าความจริงแบบทวิลักษณ์ (dualitic reality) ที่มักถูกนำเสนอในพุทธศาสนายุคต้น
มหายานกลายมาเป็นศาสนากระแสหลักในอินเดียและมีความรุ่งเรืองอย่างสูงสุด ซึ่งคงไม่ผิดนักหากจะบอกว่า มหายานคือรูปแบบพุทธศาสนาที่รุ่งเรืองที่สุดในอินเดีย ไม่ใช่พุทธศาสนาแบบสาวกยานอย่างที่หลายคนเข้าใจ เห็นได้จากการก่อตั้งมหาวิทยาลัยนาลันทา สถาปัตยกรรม พุทธศิลป์ และรูปพระโพธิสัตว์ต่างๆ
โรเบิร์ต เธอร์แมน (Robert Thurman) ศาสตราจารย์ด้านศาสนศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวว่า คำสอนมหายานอยู่ร่วมสมัยกับคำสอนพุทธศาสนายุคพุทธกาล เพียงแต่ยังไม่แพร่หลายในคนหมู่มาก และก่อนนั้นไม่มีการแบ่งแยกอย่างชัดเจนระหว่างสาวกยานกับมหายาน สาวกยานพัฒนามาเป็นพุทธศาสนาเถรวาทในภายหลังที่ลังกา และเป็นจุดเริ่มต้นของธรรมเนียมการใช้ภาษาบาลีซึ่งเป็นการฟื้นภาษาขึ้นใหม่ที่ลังกาพัฒนาขึ้น
ก่อนมหายาน
เธอร์แมนอธิบายว่า เหตุที่มหายานมาแพร่หลายในอีก 500 ปีหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน เพราะผู้คนยังไม่มีชุดภาษาหรือมุมมองที่จะเข้าใจความจริงแบบอทวิลักษณ์ (non-dualitic reality) เพราะก่อนการเกิดขึ้นของพุทธศาสนา แนวคิดทวินิยมได้ถูกใช้อธิบายความจริงของจักรวาลว่ามี 2 อย่างหรือเป็นขั้วตรงข้ามกัน เช่น กาย-จิต, มืด-สว่าง คำสอนในพุทธศาสนายุคต้นจึงจำเป็นต้องสื่อสารไปในทิศทางนั้นเพื่อให้เข้าถึงผู้คน ไม่ว่าจะเป็นคำสอนให้ทำความดี ละเว้นความชั่ว การแบ่งแยกบทบาทระหว่างบรรพชิตกับฆราวาส ความเป็นชายกับหญิง โลกกับธรรม สังสารวัฏกับนิพพาน เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่า ในสมัยพุทธกาลยังไม่มีภาษาสำหรับการสื่อสารคำสอนมหายานในวงกว้าง
มีความเชื่อที่ว่า พุทธศาสนารุ่งเรืองสูงสุดในสมัยพุทธกาล แล้วจะค่อยๆ เสื่อมลงตามลำดับ อ.ตุล คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง แสดงความคิดเห็นค้านว่าการเปลี่ยนแปลงคำสอนตามกาลเวลาอาจไม่ใช่ความเสื่อมเสมอไป แต่เป็นการสื่อสารคำสอนที่เหมาะกับช่วงเวลาและผู้คนในยุคสมัยนั้นๆ ส่วนชุดคำสอนที่ล้าสมัยก็มีผู้คนให้ความสนใจน้อยลงเป็นธรรมดา
ในพุทธศาสนาทิเบต จุดเริ่มต้นของมหายาน คือ การหมุนกงล้อพระธรรมครั้งที่สอง
การหมุนกงล้อพระธรรม (Three Turnings of the Wheel of Dharma)
ครั้งที่ 1 (First Turning) – เกิดเมื่อหลังการตรัสรู้ กับปัจจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนฯ พุทธะสื่อสารคำสอนอริยสัจ 4, ขันธ์ 5 และ ปฏิจจสมุปบาทแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ให้คำนิยาม ความทุกข์ เหตุแห่งทุกข์คืออะไร ความดับทุกข์และหนทางสู่ความดับทุกข์ทำอย่างไร
ครั้งที่ 2 (Second Turning) – เกิดขึ้นบนยอดเขาคิชกูฏ กับคณะสาวกและโพธิสัตว์ใกล้ชิดกลุ่มใหญ่ รวมถึงเหล่าเทวดา อสูร และ สรรพสัตว์ (the great gathering) พระอวโลกิเตศวรเป็นผู้แสดงธรรม สอนพระสารีบุตร พุทธะเป็นผู้ฟังและยืนยัน อธิบายสภาวะในสมาธิของพุทธะ และการดำรงอยู่ในสภาวะสุญญตา (ความว่าง) เพื่อยังประโยชน์ต่อสรรพสัตว์ การหมุนวงล้อครั้งนี้รื้อถอนคำนิยามเดิม ไม่มีทุกข์ ไม่มีเหตุแห่งทุกข์ ไม่มีการดับไปของทุกข์ เพราะทุกสิ่งคือความว่าง ปรมัตถธรรม คือสภาวะอันไปพ้นถ้อยคำและการนิยาม
ครั้งที่ 3 (Third Turning) – นำเสนอว่าในสุญญตามีธรรมชาติของตถาคตพีชะ (Buddha-seed) ในการหมุนกงล้อพระธรรมครั้งนี้ พุทธะแสดงให้เห็นถึง “พุทธภาวะ” (Buddha Nature) ธรรมชาติแห่งการตื่นรู้ในสรรพสิ่ง เมื่อสภาวะธรรมทั้งปวงคือความว่าง แม้แต่กิเลสก็สามารถแปรเปลี่ยนเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งโพธิได้ เมื่อเข้าถึงโพธิจิต ทุกประสบการณ์ที่เข้าสัมพันธ์ด้วยล้วนมีศักยภาพที่จะปลดปล่อยเราบนเส้นทางสู่การหลุดพ้น สุญญตาจึงเป็นตถาคตครรภ์ หรือพื้นที่ที่ให้กำเนิดพุทธะแห่งสภาวะธรรมทั้งปวง
++++++++++++++++++++++++++++++++
หากท่านได้ประโยชน์จากการอ่านบทความชิ้นนี้ และชื่นชมการสร้างสรรค์เนื้อหาดีๆ บนเว็บไซท์นี้
ท่านสามารถร่วมบริจาคสนับสนุนการดำเนินงานของ vajrasiddha.com ได้ที่
ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกระบือ ชื่อบัญชี “มูลนิธิวัชรปัญญา” เลขที่ 053-3-67904-8