“ภาวนากับความตาย” : บ่มเพาะสายสัมพันธ์กับประตูแห่งความจริงสูงสุด

สรุปกิจกรรม “ภาวนากับความตาย” กับ วิจักขณ์ พานิช
เรียบเรียงโดย ทีมงานวัชรสิทธา
ภาพประกอบ : Nakkasu

ความตาย คือความเป็นจริงสูงสุดที่เราต่างต้องเผชิญในสักวัน เป็นความจริงที่เราไม่อาจล่วงรู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร แต่เมื่อมันเกิดขึ้น พลังของความตายจะตัดผ่านทุกมายาของชีวิตและเผยความเป็นจริงให้ปรากฏขึ้นตรงหน้าเราอย่างไร้ทางหลีกเลี่ยง

ความตายเป็นสิ่งทรงพลัง แม้ไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวเราโดยตรง แต่หากเกิดขึ้นกับคนใกล้ชิด คนรัก หรือคนที่เรามีสายสัมพันธ์แนบแน่น เราก็จะรับรู้ได้ถึงพลังในการตัดทะลวงนั้น และเมื่อไรที่ประสบการณ์ของการโดนตัดผ่านด้วยความจริงสูงสุดเกิดขึ้น มันคือช่วงเวลาแห่งการภาวนา ที่เราจะได้ฝึกตนทำงานกับตะกอนมากมายในพื้นที่อาลัยวิญญาณที่ตีขึ้นมาสู่การรับรู้ วิจักขณ์ พานิช กล่าวในคลาสภาวนากับความตายไว้ว่า 

“เมื่อเราเผชิญหน้ากับความตายไม่ว่าจะเป็นความตายของตัวเอง หรือคนใกล้ชิด เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ประตูแห่งความจริงสูงสุดได้เปิดออก เราจะได้สบตากับความจริง ความชัดเจน แน่นอนตายตัวของชีวิตที่เราเคยคิดว่าจริงจะถูกเขย่า และเผยให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของชีวิต และเมื่อประตูนี้เปิดออก เราจะรับรู้ได้เลยว่าเราควบคุมอะไรไม่ได้อีกต่อไป ความจริงแท้ของความตายจะนำพาความโกลาหล ความว่างโหวง และรูโหว่ขนาดใหญ่มาให้เรา”

ไว้อาลัยในอาลัย : ส่งผู้ตายด้วยกุศลจิต

ในกรณีที่ความตายนั้นเป็นของคนใกล้ชิด การมีประสบการณ์ร่วมของความตายนั้น จะเป็นจุดเชื่อมที่ทำให้เราร่วมอยู่ในกระบวนการตายของคนผู้นั้น และท่ามกลางความรู้สึกมากมายอันท่วมท้น เราสามารถรับรู้ทุกความรู้สึกให้เกิดขึ้น และทำงานกับมัน เพื่อ “ส่ง” ผู้ตายไปในทิศทางอันเป็นกุศล ในธรรมเนียมแต่เดิมเมื่อเราสูญเสียคนรักหรือบุคคลใกล้ชิดไป คนรอบข้างจะให้พื้นที่และเวลากับเราเพื่อ “ไว้อาลัย” คำว่า “อาลัย” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการติดอยู่กับความโศกเศร้า หม่นหมอง หรือสิ้นหวัง แต่เป็นช่วงเวลาที่เราได้เชื่อมโยงกับ “อาลัยวิญญาณ” หรือ วิญญาณการรับรู้ส่วนที่ลึกที่สุดของเรา เป็นพื้นเดิมแท้ของจิตที่ไร้ขอบเขตและเงื่อนไข เป็นพื้นแห่งความรักและสายสัมพันธ์ ที่เราและผู้ตายไม่แยกขาดจากกัน

“ในคำสอนของคัมภีร์มรณศาสตร์ของทิเบตได้กล่าวไว้ว่า การเปลี่ยนผ่านจากชีวิตหนึ่ง สู่ชีวิตหนึ่ง ใช้เวลา 49 วัน ช่วงเวลานี้คือช่วงเวลาแห่งการเชื่อมจิตเชื่อมใจกับผู้ตาย เป็นช่วงที่เส้นแบ่งของคนตายกับคนเป็นบางมาก เป็นช่วงที่พลังงานของผู้จากไปจะอยู่รอบๆ ตัวเราชัดเจนและเข้มข้น การที่เราหลีกหนีความเข้มข้นของช่วงเวลานี้ด้วยการ ปิดกั้นหรือเก็บกดความรู้สึกด้วยการหนีไปทำอย่างอื่น คิดอย่างอื่น แม้ว่าจะดูเหมือนทำให้เราปลงได้ อยู่ได้ หรือก้าวข้ามผ่านช่วงเวลานี้ไปได้อย่างเข้มแข็ง แต่ท้ายที่สุดแล้วพลังงานที่ติดค้างเหล่านี้ จะส่งผลเสียต่อเราในที่สุด ยิ่งพยายามหลบเลี่ยง การเยียวยาคลี่คลายที่แท้ก็ยากจะเกิดขึ้น” – วิจักขณ์ พานิช

การไว้อาลัย โดยการดำรงอยู่ในอาลัยวิญญาณผ่านการภาวนา เป็นหนทางที่เราจะได้คลี่ความยึดมั่นต่างๆ ซึ่งเป็นอกุศลทั้งของตัวเราและคนที่จากไปให้คลายออกสู่ความเป็นกุศล ช่วงเวลาของการไว้อาลัยจึงเป็นช่วงเวลาที่เข้มข้นของความรู้สึก ความทรงจำ ความหวัง และความกลัว แต่บนฐานของการภาวนา เราจะตั้งมั่นในวินัยของการ “รู้” และ “ปล่อย” ดำรงอยู่ตรงนั้น ร่วมประสบการณ์ในการเผชิญความจริงสูงสุด “เป็นเพื่อน” กับผู้ตาย 

“ในการภาวนาอยู่กับผู้ตาย อยู่กับกระบวนการของการไว้อาลัยนั้น เราและผู้ตายกำลังภาวนาและทํางานกับกระบวนการไร้หลักไปพร้อมๆ กัน เราสัมพันธ์กับทุกอารมณ์ ทุกผู้คน ทุกความรู้สึกอย่างเต็มเปี่ยม เป็นสิ่งที่เราแชร์ร่วมกับผู้ตาย ด้วยศรัทธาในโพธิจิต และเจตจำนงของการเดินทางไปในทิศทางแห่งแสงสว่าง” – วิจักขณ์ พานิช

ความตายกับโพธิจิต

หัวใจสำคัญในการดำรงอยู่กับสภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาของการไว้อาลัย คือการไม่ตัดสิน เมื่อความตายของใครสักคนเกิดขึ้น บ่อยครั้งสิ่งที่ตามมาคือความโกลาหลของสถานการณ์ ทั้งภายในตัวเราเอง และความปั่นป่วน รวมถึงการตอบโต้ที่หลากหลายของผู้คนรอบตัวต่อความตายนั้น การดำรงอยู่ด้วยความตระหนักรู้ในหัวใจที่ไม่ตัดสิน หรือหัวใจแห่งโพธิจิต คือหนทางที่เราจะรับรู้ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา

แม้ว่าสถานการณ์จะเข้มข้นเพียงใด เราสามารถที่จะปลุกเร้าหัวใจโพธิจิตขึ้นมาได้ผ่านการภาวนา เราเปิดรับทุกประสบการณ์ เพียงรับรู้และปล่อย วิจักขณ์ กล่าวถึงการสัมพันธ์กับโพธิจิตยามที่ต้องภาวนากับความตายว่า “มันคือการอนุญาตให้ตัวเองได้เผชิญกับความจริงตรงหน้าอย่างเต็มที่ ด้วยท่าทีที่เปิดกว้าง เป็นมิตร ไม่สู้ ไม่หนี ไม่ตัดสิน”

การภาวนากับโพธิจิต เริ่มโดยการหยั่งลงไปในความรู้สึกของร่างกายที่เป็น felt sense หรือ มวลความรู้สึกบางอย่างในเนื้อตัวก่อนจะมีชื่อเรียก ลองสัมพันธ์กับมวลเหล่านั้น และมองธรรมชาติของการเคลื่อนและแปรเปลี่ยนของความรู้สึกจากเศร้าสู่ความรักอันไร้เงื่อนไข

“ด้วยท่าทีของการฝึกภาวนาเช่นนี้ เราจะค่อยๆ มีมุมมองทางบวกต่อความตาย มองว่านี่คือช่วงเวลาสำคัญในการภาวนา แม้ว่าความตายจะควบคุมไม่ได้ แต่เราจะเริ่มมองเห็นว่าความตายไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว แต่บริบูรณ์แล้วในตัวมันเอง ซึ่งการภาวนาจะเป็นโอกาสอันดีที่เราได้เชื่อมต่อกับผู้ที่จากไป ผ่านความรักอันไร้เงื่อนไขของโพธิจิต” – วิจักขณ์ พานิช

ด้วยโพธิจิต เราสามารถดำรงอยู่ภายในสถานการณ์ที่เข้มข้น ไม่อาจคาดเดา อย่างไม่ตัดสิน เราสามารถเป็นพื้นที่ให้ทุกปรากฏการณ์เผยแสดงขึ้นมา ในแง่มุมนี้ เราอาจพบประกายของความว่าง ที่ไม่ใช่ความไม่มีอะไรเลย แต่เป็นความว่างที่เป็นพื้นของทุกสถานการณ์และทุกปรากฏการณ์ อาจเป็นแวบของความรู้สึกที่เกิดในใจ อย่างที่วิจักขณ์กล่าวว่า “อยู่หรือตาย มาหรือไป สุขหรือเศร้า หัวเราะหรือร้องไห้ ล้วนคือสุ้มเสียงของความว่าง”

การดำรงอยู่ในโพธิจิตที่เปิดกว้างและตื่น เป็นหนทางในการรับรู้ประสบการณ์ต่างๆ อย่างที่เป็น วิจักขณ์ ชี้ว่า ในการภาวนากับความตาย เราสามารถสัมพันธ์กับคุณสมบัติของ gratitude ในพื้นที่ของโพธิจิตได้ ซึ่งเป็นโอกาสในการมองเห็นความบริบูรณ์ของทุกประสบการณ์ และเกิดเป็นความรู้สึกขอบคุณต่ออะไรก็ตามที่เกิดขึ้น

“ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว บริบูรณ์แล้วในตัวเอง ความตายนี้บริบูรณ์แล้วในตัวมันเอง เป็นความรู้สึกขอบคุณอย่างลึกซึ้งต่อทุกสถานการณ์ที่ได้เกิดขึ้น แปรเปลี่ยนพลังความเศร้าหมอง ไปสู่ความรักอันไร้เงื่อนไข เป็นการสนับสนุนการเดินทางให้กับผู้จากไปในทิศทางแห่งกุศล” – วิจักขณ์ พานิช

ใจเขาอยู่ในใจเรา ทุกข์ของเขาคือทุกข์ของเรา

โดยทั่วไปแล้ว การสัมพันธ์กับความตายของเรามักจะเต็มไปด้วยความคิด การหาเหตุผล การชี้นิ้ว ตัดสินถูกผิดทั้งต่อผู้อื่นและต่อตัวเราเอง ปฏิกิริยาทางความคิดเช่นนี้คือความเคยชินเดิมที่เรามักทำไปโดยไม่รู้ตัว แต่เมื่อเรานำเอาความตายมาสู่การภาวนา คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ “เราสามารถซื่อตรงกับการภาวนาของเราแค่ไหน เมื่อความจริงสูงสุดอยู่ตรงหน้า เราใช้การฝึกของเราสัมพันธ์กับมันแค่ไหน”

เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช เคยกล่าวไว้ว่า “ทุกอย่างจะชัดเจนขึ้น เมื่อเราจนมุม” บางครั้ง โอกาสที่เราจะได้สัมพันธ์ตรงๆ กับความเป็นจริง ก็มาในรูปของการ “จนมุม” เมื่อเราไม่สามารถใช้กลยุทธ์ทางความคิดหรือตัวตนในการหนีหรือหลบเลี่ยงได้อีกต่อไป ความตายคือสิ่งที่ทำให้เราจนมุม ซึ่งในช่วงเวลาเช่นนี้ สิ่งเดียวที่ make sense คือการภาวนา

วิจักขณ์ พานิช กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความตายของคนที่เรารัก เราเหมือนถูกดึงพรมออกจากใต้เท้า ขณะเดียวกันคนที่เรารัก ก็กำลังถูกดึงพรมเช่นกัน ชั่วขณะที่ความตายอยู่ตรงหน้า ไม่ว่าเราจะมีอัตตาหนาแค่ไหน ความตายจะเป็นเหมือนฟ้าผ่า ที่ผ่าลึกเข้าไปถึงความว่าง”

ด้วยวินัยของการปฏิบัติ ชั่วขณะที่พรมถูกดึงออกจากเท้านั้น คือชั่วขณะที่เราจะภาวนา เมื่อความเป็นจริงได้ผ่าลึกลงถึงความว่าง เราจึงค้นพบบานประตูที่จะหยั่งลงไปในวิญญาณส่วนลึกที่สุดอย่างอาลยวิญญาณ การหยั่งลงไปในอาลยวิญญาณคือพื้นที่ที่เราสามารถภาวนาร่วมไปกับผู้ตาย และเราจะพบว่ามันมีประสบการณ์ ความรู้สึก ความทรงจำ ซึ่งเป็นตะกอนของกรรมที่เก็บอยู่ในอาลยวิญญาณ ลอยขึ้นมาเพื่อให้เราได้ทำงานด้วย

รูปแบบการปฏิบัติหนึ่ง ที่พาเราให้เข้าไปใกล้ชิดและสัมพันธ์กับตะกอนที่ตีขึ้นมาโดยตรง คือ “ทองเลน”

วิจักขณ์นำภาวนาโดยใช้จังหวะของลมหายใจเป็นจุดที่เราจะทำงานกับสิ่งที่ลอยขึ้นมานั้น “หายใจเข้า : แตะ” – สัมผัสรับรู้ประสบการณ์ที่ผุดเผยขึ้นมาอย่างเต็มที่ “หายใจออก : ปล่อย” – ปล่อยจากความคิด สายเรื่อง สัมพันธ์กับประสบการณ์ในเนื้อในตัว และสังเกตการเคลื่อน การแปรเปลี่ยนของประสบการณ์จากการที่อยู่กับกระบวนการของทองเลน

จากนั้นเราอาจลองเชื้อเชิญผู้จากไปอันเป็นที่รักของเราเข้ามา รับรู้การมีอยู่ของเขาอย่างเต็มที่ อนุญาตให้ความคิด ความทรงจำจากอาลัยวิญญาณได้ลอยขึ้นมา แล้วภาวนากับสิ่งที่ผุดขึ้น ด้วยการ หายใจเข้า : แตะ, หายใจออก : ปล่อย ให้กระบวนการที่เกิดขึ้นในพื้นที่ว่างนี้ เป็นช่วงเวลาแห่งการเชื่อมต่อกับความรัก ความปรารถนาดี การขอบคุณ การอโหสิกรรม และขออโหสิกรรมต่อกัน จากนั้นจึงลองรู้สึกถึงพลังแห่งความรักอันไร้เงื่อนไข ที่ไปพ้นจากการมอบให้เพียงแค่ตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หากแต่เป็นการแผ่ออกไปในวงกว้างให้แก่ทุกสรรพสัตว์ ทุกสรรพชีวิต ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีข้อยกเว้น


สัมพันธ์กับจิตสุดท้ายด้วยโพวา

อีกหนึ่งในรูปแบบการภาวนาที่สัมพันธ์กับความตายคือ โพวา ซึ่งเป็นการปฏิบัติภาวนาเพื่อที่จะทำงานกับ “จิตสุดท้าย” ยามที่กระบวนการตายเริ่มต้นขึ้น ธาตุต่างๆ ในร่างกายจะเข้าสู่กระบวนการสลายตามธรรมชาติ และจิตก็จะค่อยๆ เดินทางออกมาจากร่างกาย ซึ่งการปล่อยให้กระบวนการนี้ดำเนินไปอย่างราบรื่น เราต้องภาวนาด้วยการหยั่งลงไปในอาลยวิญญาณ และโน้มเข้าหาแสงสว่าง กุศล หรือปีติ ซึ่งการภาวนาโพวาจะช่วยประคับประคองให้จิตสุดท้ายของเราเดินทางออกตรงกลางกระหม่อม ด้วยทิศทางอันเป็นกุศล

วิจักขณ์ กล่าวถึงประสบการณ์ตรงขณะภาวนาว่า “ร่างกายจะรู้สึกถึงการ fall ในขณะที่จิตจะรู้สึกถึงปีติ แสงสว่าง และเป็นทิศทางที่ลอยขึ้นไป เป็นจิตที่สว่าง เป็นจิตที่สูง เป็นจิตที่ยกระดับขึ้นไป” นอกจากนี้ ในการทำโพวา เราจำเป็นจะต้องมีศรัทธา และมีสายสัมพันธ์กับพลังงานของสิ่งดีงาม ไม่ว่าจะเป็น พระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ ครูบาอาจารย์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพ พลังแห่งความรัก แสงสว่าง โพธิจิต ฯลฯ ซึ่งพลังของศรัทธานี้จะช่วยหนุนเสริมและเหนี่ยวนำให้จิตสุดท้ายเดินทางออกจากร่างกายไปสู่ทิศทางที่สูงขึ้น


รักษาสายสัมพันธ์กับความตาย

“อันที่จริงการเรียนรู้ธรรมะ หรือการฝึกปฏิบัติภาวนาทั้งหมดบนเบาะภาวนา ล้วนแล้วแต่เป็นการฝึกในสนามทดลองทั้งสิ้น แต่ของจริงนั้นคือชั่วขณะที่เรา “ถูกดึงพรมใต้เท้า” เป็นชั่วขณะที่เราควบคุมอะไรไม่ได้ เราไม่อาจหลีกหนี ซึ่งนี่เป็นชั่วขณะสำคัญที่เราจะค่อยๆ โน้มเข้าไปหาและสัมพันธ์ด้วย” – วิจักขณ์ พานิช

แม้เราอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ขัดกับความเคยชิน แต่ท่าทีของการภาวนานั้นไม่มีหนทางอื่นนอกจากโน้มเข้าหา “ชั่วขณะที่ถูกดึงพรมใต้เท้า” แล้วมองว่าชั่วขณะนั้นไม่ใช่ชั่วขณะที่เรากำลังถูกคุกคามตัวตน แต่เป็นชั่วขณะที่เราสามารถที่จะรับคำสอนและเรียนรู้จากความเป็นจริงสูงสุด วิจักขณ์ กล่าวว่า “ประตูแห่งความตายกับประตูแห่งการตรัสรู้ คือประตูเดียวกัน และเป็นประตูเดียวกันกับการเชื่อมต่อสัมพันธ์กับคำสอน ครูบาอาจารย์ กัลยาณมิตร ความรักความกรุณาที่ไปพ้นตัวตน” ซึ่งเราสามารถฝึกที่จะมองเห็นประตูเหล่านี้ที่เปิดออกอยู่ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน มองเห็นช่องว่างที่เกิดขึ้น เมื่อมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านทะลุตัวตนของเราเข้ามาแล้วมอบคำสอนสำคัญบางอย่างให้แก่เรา

วิจักขณ์ ชวนใคร่ครวญต่อว่า “การภาวนากับความตาย จริงๆ แล้วเป็นเรื่องเดียวกันกับการมีชีวิตอยู่ หากเรารู้วิธีการที่เราจะตายอย่างไร เราก็จะรู้วิธีการที่เราจะมีชีวิตอยู่” การโน้มเข้าหาเพื่อดำรงอยู่กับความจริงอันไร้หลักด้วยวินัยของการภาวนาจะช่วยให้เราเพิ่มพูนความเข้าใจ ความอุทิศตน ปณิธาน และทำให้เรารู้สึกชัดเจนขึ้นว่า เราจะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่นี้อย่างไร

แต่แน่นอนว่า เมื่อเวลาผ่านไป ความเข้มข้นของความรู้สึกและประสบการณ์ต่างๆ ในช่วงเวลานี้ก็จะจางไป อัตตาอันเป็นเพื่อนเก่าของเราก็จะค่อยๆ กลับเข้ามาถมพื้นที่แห่งความเปราะบางนี้ แล้วเราแต่ละคนก็จะกลับเข้าไปสู่ชีวิตในแบบที่เราคุ้นชินอีกครั้ง ทว่าในเมื่อเราได้มีโอกาสสัมพันธ์กับความจริงสูงสุดมาแล้ว คำถามก็คือ เราจะยังคงรักษาสายสัมพันธ์กับประตูนี้เอาไว้ต่อไปได้อย่างไร

นี่จึงเป็นที่มาของการฝึก “มรณานุสติ” ด้วยการให้เราหมั่นระลึกถึงความตายอยู่เสมอ หมั่นระลึกถึงความจริงสูงสุดที่สามารถจะเผยตัวในชีวิตเราได้เสมอ และเมื่อความตายเผยตัว ก็ให้เรากล้าสบตาด้วยท่าทีที่เปิดกว้าง หมั่นทำแบบนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ว่าจะกับคนที่เรารัก หรือคนแปลกหน้า ยิ่งในฐานะที่เป็นผู้ปฏิบัติบนหนทางโพธิสัตว์ เราจะใช้โอกาสนี้ในการอุทิศบุญกุศลเพื่อบ่มเพาะความรัก ความกรุณาต่อสรรพสัตว์ และจากการฝึกฝน เรียนรู้การภาวนากับความตายนี้ เราสามารถที่จะใช้โอกาสนี้ทำหน้าที่เป็นผู้นำทางความตายได้ เราสามารถที่จะอยู่ตรงนั้นกับผู้ตาย ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นคนที่เรารัก คนที่เราเฉยๆ คนที่เราไม่รู้จัก หรือคนที่เราสบตาด้วยได้ยาก และเกื้อหนุนให้เขาเดินทางไปสู่ทิศอันเป็นกุศล

+++++++++++++++++++++++++

หากท่านชอบบทความที่ตีพิมพ์บนเว็บไซต์ vajrasiddha.com และต้องการสนับสนุนการทำงานของพวกเรา สามารถช่วยกันแชร์ คอมเมนท์ ติชม ได้ในทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย วัชรสิทธาดอทคอม ดำเนินงานเพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาอย่างไม่แสวงหาผลกำไร ผู้ที่ได้รับประโยชน์ และมีจิตศรัทธา สามารถสนับสนุนการดำเนินงานของเว็บไซต์ได้ที่ — ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกระบือ ประเภทออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “มูลนิธิวัชรปัญญา” เลขที่ 053-3-67904-8