บทความโดย โอม มณีปัทเมหุม
อัตตามักกอดความทุกข์ไว้แน่นหนาราวกับเป็นสมบัติส่วนตัว — “ความเศร้าของฉัน ความเจ็บของฉัน ความโกรธของฉัน” เมื่อเราแสดงตัวตนลงในอารมณ์เหล่านี้ ยึดมั่นว่าสภาวะมีเงื่อนไขทั้งหลายคือ “เรา” หรือ “ของเรา” ความทุกข์นั้นก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างตัวตนไปโดยไม่รู้ตัว เราเก็บสะสมมันไว้ราวกับของมีค่า พกพาไปทุกแห่งหน ไม่ยอมปล่อยแม้จะรู้สึกได้ถึงพิษร้ายที่กัดกินอยู่ลึกๆ แทบจะทุกลมหายใจ
อัตตาเชี่ยวชาญนักในเรื่องนี้ มันสามารถฉกฉวยทุกสภาวะจิตมาเป็นอาหารหล่อเลี้ยงตัวมันได้ แม้แต่สมาธิภาวนา ความดี ปัญญา ความรัก หรือคุณค่าทางจิตวิญญาณอันลึกซึ้ง มันก็สามารถนำมาห่มคลุมตัวมันได้ราวกับเป็นวัตถุที่มันเป็นเจ้าของ อาจกล่าวได้ว่าความเห็นแก่ตัวของอัตตาเป็นสิ่งที่แน่นอนและตายตัวเสมอ
การภาวนาคือ อริยมรรค หรือหนทางแห่งการตื่นรู้ หนทางที่จะนำผู้ปฏิบัติไปสู่การหลุดพ้นจากการครอบงำของอัตตา
พุทธะ โพธิสัตว์ และคุรุอาจารย์นับไม่ถ้วน ผู้เดินทางมาก่อน ได้คิดค้นคำสอน เทคนิค กระทั่งพิธีกรรม เพื่อสื่อสารถึงชีวิตที่ไม่ตั้งอยู่บนการยึดมั่นในตัวตน อย่างการเข้าพิธีรับไตรสรณคมณ์ ตั้งปณิธานในการรับพุทธะ ธรรมะ และสังฆะ เป็นที่พึ่ง ก็ถือเป็นการแสดงออกต่อความเข้าใจในธรรมชาติของความไม่มีตัวตนที่ลึกซึ้ง เราพร้อมผละออกจากอะไรก็ตามที่เราใช้เป็นที่พึ่ง ที่ยึดเหนี่ยว หรือบ้านอันมั่งคง แล้วตั้งปณิธานในการใช้ชีวิตอย่างไม่ยึดเอาอัตตาเป็นที่ตั้งอีกต่อไป เราเลือกที่จะเป็น “ผู้ไม่มีที่พึ่ง” “ออกจากบ้าน” “สู่ป่า” มีเพียงไตรรัตนะเป็นเครื่องอยู่ของจิตใจที่ตื่นรู้เท่านั้น
นอกจากนั้นยังมีวิธีปฏิบัติอื่นๆ เช่น การทำทาน การถือศีล การบริจาค การคิดถึงผู้อื่นก่อนตัวเอง การปล่อยวาง การให้ การอุทิศกุศล หากสังเกตดีๆ เหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงเส้นทางสู่การหลุดพ้นจากการยึดมั่นในตัวตนทั้งสิ้น
ยังมีอีกหนึ่งวิธีภาวนาที่โดดเด่นในพุทธศาสนาวัชรยาน อันสะท้อนถึงหนทางการถอนพิษอำนาจครอบงำของอัตตาด้วยเช่นกัน นั่นคือ “การมอบถวาย” หรือ “offering“
“True giving is the act of letting go of ego’s territory.”
— Chögyam Trungpa
การมอบถวายเป็นท่าทีของการสละและปล่อยทั้งหมดอย่างรู้ตัว ในชีวิตประจำวัน เราอาจบูชาด้วยน้ำเจ็ดถ้วยเบื้องหน้า shrine เป็นสัญลักษณ์แห่งการมอบถวายประสบการณ์ทั้งมวลให้แก่เส้นทางแห่งการตื่นรู้ โดยมีพุทธะ โพธิสัตว์ และคุรุเป็นประธาน ตามขนบของวัชรยาน เครื่องถวายทั้งเจ็ดได้แก่ น้ำ ดอกไม้ ธูป เทียน กลิ่นหอม อาหาร และเสียงดนตรี — ซึ่งล้วนเป็นสัญลักษณ์แห่งการมอบถวายประสบการณ์ผ่านประสาทสัมผัสทั้งหลาย สู่การรู้แจ้งในพุทธภาวะ
การมอบถวายคือการ “ข้ามพ้น” อย่างลึกซึ้ง — ข้ามจากฝั่งสังสารวัฏสู่ฝั่งนิพพาน ด้วยการมอบประสบการณ์ทั้งหมดที่เราเคยกอดไว้แน่นหนาว่าเป็น “เรา” หรือ “ของเรา” เราข้ามจากการยึดกุมตัวตน สู่การว่างจากตัวตนในชั่วขณะของการมอบถวายนั้น
“ขอมอบประสบการณ์นี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ ดีหรือร้าย
ไม่ว่าเป็นความคิด ความรู้สึก หรือแม้แต่ความกลัวที่ลึกที่สุด
ขอให้ทั้งหมดนี้ กลับคืนสู่ความว่างอันศักดิ์สิทธิ์”
— “บทถวายมณฑล” mandala offering
สิ่งที่ใกล้เคียงกับการมอบถวายมากที่สุด ที่เราน่าจะคุ้ยเคยกันดี คือ “การแผ่เมตตา” เรามอบความดีที่เราทำมาให้แก่สรรพสัตว์ทั้งปวงโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน แต่การมอบถวายในพุทธวัชรยาน ยังข้ามพ้นแม้กระทั่ง “บุญ” หรือ “ความดี” ไปด้วย เรามอบถวายได้ทั้งบุญและบาป ความดีและความชั่ว ความสุข ความรัก ความโกรธ ความหลง — ทุกอารมณ์ทั้งบวกและลบ ล้วนเป็นของถวายที่รุ่มรวยและมีคุณค่าเท่ากัน เป็นความหมายของคำว่า “ข้ามพ้น” ในอีกมิติหนึ่ง นั่นคือการข้ามพ้นการแบ่งขั้ว หรือทวิลักษณ์ (duality)
ด้วยการตระหนักรู้ที่ “ข้ามพ้น” ในขณะที่เรามอบถวายทั้งหมดของตัวตนของเรา คุณสมบัติของจิตตื่นรู้หรือจิตพุทธะ (enlightened mind) ก็ฉายฉานอยู่ตรงนั้นอยู่แล้ว การมอบถวายจึงเป็นดั่งท่าทีในการเชื่อมโยงกับพุทธภาวะในตัวมันเอง เป็นการกระทำที่ไม่ได้ขับเคลื่อนจากความขาดพร่อง แต่เกิดจากความเต็ม เต็มจนเห็นว่า ไม่มีสิ่งใดเป็นของเราอยู่แล้ว เราไม่ต้องการสิ่งใดมาเติมเต็ม เพราะเราเต็มเปี่ยมมาแต่แรกอยู่แล้ว
“ข้าขอมอบแม้แต่ร่างกายนี้แก่ธรรมะ
เพราะไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ที่ข้ายึดไว้ได้อีกแล้ว”
— มิลาเรปะ
“Every emotion, every thought — offer it.
That’s the beginning of liberation.”
— ชับการ์ รินโปเช
“อาหาร ความมั่งมี มิตรสหาย ชื่อเสียง และความยึดมั่นในรสสัมผัส
ทั้งหมดนี้ ข้าขอมอบเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลหลากสีสันอันวิจิตร
ความต้องการ ความปรารถนา และตัณหา
ข้าขอมอบถวายดั่งมหาสมุทรเลือดแดงฉาน
จากการประหัตประหารของสังสารวัฏ”
— จากบทสาธนามหามุทรา, เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช
เราอาจจะคุ้นเคยกับการมอบถวายอาหารหรือทรัพย์สินเงินทองให้แก่ พระ, วัด, หรือคุรุอาจารย์ แต่ในความหมายของ inner offering ที่เรานำมาใช้ในการปฏิบัติภาวนา เรามอบถวายทุกประสบการณ์แด่ “พุทธะ” การยึดมั่นทั้งหมด กิเลสตัณหาทั้งหมด บาปกรรมทั้งหมด การมอบถวายเช่นนั้นคือการแสดงออกซึ่ง devotion สูงสุดต่อพุทธะ อันจะเป็นพลังในการถอดถอนตัวตน และ “ประหัดประหารวัฏสงสาร” อย่างถึงราก
เรา มอบจักรวาลทั้งใบ ที่ปรากฏอยู่ในจิต — ภูเขา สายน้ำ ดอกไม้ ความทรงจำ และบาดแผล — โดยมี “พุทธะ” เป็นศูนย์กลาง มิใช่ตัวตนเป็นศูนย์กลาง เราคลี่มือที่เคยบีบแน่น ต่อหน้าพุทธะ ให้ทุกสิ่งที่เคยยึดไว้ กลายเป็นการวางใจและการเปิดใจอันศักดิ์สิทธิ์
ในแง่หนึ่ง การ offering จึงเป็นการมอบชีวิตทั้งหมดของเราแด่พุทธะ ซึ่งได้กลายเป็นสะพานสู่ความหมายของคำว่า “refuge” อันเป็นหัวใจของเส้นทางแห่งการตื่นรู้ เรามอบทั้งหมด เพราะเราเห็นแจ้งว่าไม่มีตัวเรา จึงไม่มีสิ่งใดเป็นของเราอยู่แล้ว ทุกสรรพสิ่ง ทุกสภาวะ ล้วนเกิดขึ้นเพื่อสำแดงธรรมชาติสูงสุดของความว่าง ดังนั้นการมอบถวายด้วยศรัทธาอันตั้งมั่นต่อพุทธะ เราก็กำลังละลายขอบเขตของอัตตา กลับคืนสู่ธรรมชาติเดิมแท้ไพศาลไร้ขอบเขตแห่งพุทธภาวะ เราจะเห็นว่า ไม่มีสิ่งใดที่แยกขาดจากพุทธะ ทุกสิ่งที่เราเคยมองว่าเป็นภาระ เป็นความเจ็บปวด หรือแม้แต่เป็นบุญกุศลที่น่าภาคภูมิ กลับกลายเป็นดอกไม้แห่งการปล่อยวางที่เบ่งบานบนแท่นบูชาของจิตตื่นรู้
แม้เพียงชั่วพริบตา ที่เราวางมือจากการยึดมั่น แม้เพียงชั่วขณะ ที่เราเห็นว่าทุกสิ่งเป็นเพียงปรากฏการณ์ ว่างเปล่าจากตัวตน เราก็ได้ลิ้มรสเสี้ยวขณะหนึ่งของอิสรภาพแห่งการตื่นขึ้นแล้ว นั่นเองคือความลึกซึ้งของการภาวนา ที่ไม่ใช่การแสวงหาสิ่งใดเพิ่มเติม แต่คือการคืนกลับ คืนทุกสิ่งที่ยึดถือไว้ กลับสู่ความว่างอันศักดิ์สิทธิ์ คืนชีวิตที่กอดยึดไว้ กลับสู่ความเป็นไปได้อันไพศาล ณ จุดนั้นเอง เราจะรู้ว่าแท้จริงแล้ว การไม่ยึดมั่นในอะไรเลยคือสมบัติล้ำค่าที่สุดของผู้เดินทางสู่การตื่นรู้ ซึ่งเราก็มอบถวายความเข้าใจนั้นไปด้วยเช่นกัน
การมอบถวายจึงไม่ใช่แค่พิธีกรรมหรือแบบแผนประเพณี แต่คือหัวใจของเส้นทางแห่งโพธิ