บทความโดย เอเลียน ยูเซฟ
เรียบเรียงโดย ทีมงานวัชรสิทธา
คุณเคยได้ยินคำว่า ไมตรี ไหม?
ครั้งแรกที่ฉันได้ยินคำนี้คือที่เนปาลในปี 2014 ระหว่างการเข้าร่วมรีทรีทภาวนา ในวันนั้น มีภิกษุณีท่านหนึ่งเป็นผู้นำการภาวนา และเธอได้เดินมาหาฉันพร้อมกับทิชชู่เมื่อฉันเริ่มร้องไห้ เธอบอกให้เราหลับตาและอธิษฐานขอให้ตัวเองมีความสุขก่อนที่จะขยายความปรารถนาดีนั้นไปยังผู้อื่น
ว่าไงนะ?
ขอให้ตัวเองมีความสุข?
อืม…
วันนั้นฉันร้องไห้หนักมาก (และในอีกหลายสัปดาห์ถัดมา ทุกครั้งที่ฉันนั่งภาวนา) เพราะการที่ฉันจินตนาการเห็นตัวเองเพียงลำพังและส่งความรักให้ตัวเองนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก
แต่น่าแปลก กลับไม่ใช่เรื่องยากเลยที่ฉันจะนึกถึงเพื่อน ครอบครัว คนรัก หรือเพื่อนบ้าน
ทำไมถึงเป็นเรื่องยากนักที่จะนึกถึงตัวเอง?
คุณเห็นไหม ฉันใช้เวลาหลายปีในการพยายามเลิกนิสัย “เอาแต่ใจผู้อื่น” (people pleasing)
เมื่อมองย้อนกลับไป การฝึกไมตรีต่อตัวเองนั้นยากลำบาก เพราะฉันไม่เคยทำมันมาก่อน
การเมตตาต่อตัวเองเป็นแนวคิดที่แปลกประหลาดสำหรับฉัน และดูเหมือนจะเป็นเพียงคำพูดในหนังสือหรือนิยายเท่านั้น
ถึงแม้ว่าฉันจะต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะพอเข้าใจการฝึกเมตตาภาวนาได้บ้าง
แต่ในที่สุด ฉันก็ได้เรียนรู้คำสอนที่สำคัญที่สุดในพุทธศาสนา
“ฉันไม่สามารถรักผู้อื่นได้ หากยังไม่รักตัวเอง”
และนี่คือจุดเริ่มต้นของ ไมตรี
ไมตรี หรือ เมตตา หมายถึง ความรัก ความเป็นมิตร ความอบอุ่นใจ ความอ่อนโยน
เราส่งพลังงานเหล่านี้ให้กับตัวเองก่อน แล้วจึงค่อยขยายไปยังผู้อื่น
ในพุทธศาสนา หากเราปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข แต่ไม่เคยสนใจความสุขของตัวเองเลย
นั่นแปลว่าเรายังไม่ได้เข้าใจแก่นแท้ของไมตรี
ฉันเคยคิดว่า “หากฉันเอาใจผู้อื่น ฉันจะมีความสุข”
ความสุขของฉันขึ้นอยู่กับสิ่งที่ผู้อื่นมอบให้ — การยอมรับ การชื่นชม การเห็นคุณค่า
แต่หากฉันไม่ได้รับสิ่งเหล่านั้น ฉันก็จะรู้สึกทุกข์และผิดหวังได้ง่ายๆ
แต่สิ่งที่ฉันได้เรียนรู้จากการฝึกไมตรีก็คือ
ความรักที่แท้จริงนั้นตรงข้ามกับ การเอาแต่ใจผู้อื่น
ไมตรีเป็นจิตใจที่ตื่นรู้ ไม่ใช่ความต้องการที่จะได้รับการยอมรับ
ไมตรีตั้งอยู่บนความกล้าหาญ ไม่ใช่ความกลัว
การยอมรับและรักตัวเองอย่างที่เราเป็นนั้นต้องอาศัยความกล้าอย่างมาก
เพราะเรากลัวที่จะมองลึกลงไปในตัวเองและยอมรับส่วนที่แตกสลายและยุ่งเหยิง
การให้อภัยคนรักที่นอกใจหรือทำร้ายเรา อาจฟังดูง่ายกว่า
แต่การยืนหน้ากระจกและบอกกับตัวเองว่า “ฉันรักเธอ” กลับยากเย็นซะเหลือเกิน
มันยากที่จะตกหลุมรักในข้อผิดพลาดของเรา ความเจ็บปวดของเรา
ในอดีตที่ยังหลอกหลอนของเรา
ในร่างกายที่อาจไม่เป็นไปตามมาตรฐานความงามในโลกโซเชียล
แต่หากฉันยังรักตัวเองไม่ได้ ฉันก็ไม่อาจรักใครได้เลย
ฉันพยายามเลิกนิสัยการเอาแต่ใจผู้อื่น และหันมาดูแลเด็กน้อยที่ถูกเพิกเฉยในตัวฉัน
เมื่อฉันตระหนักว่า ความรัก ความกรุณา ความอบอุ่นใจ ที่ฉันต้องการให้ผู้อื่นหรือต้องการได้รับจากผู้อื่น
“ต้องเริ่มต้นจากตัวเองก่อน”
เมื่อฉันเริ่มปฏิบัติต่อตัวเองด้วยความเข้าใจและความอ่อนโยน แบบเดียวกับที่ฉันเคยให้กับผู้อื่นอย่างง่ายดาย
ฉันจึงเริ่มเป็นเพื่อนกับทุกเสี้ยวส่วนของตัวเอง
พวกเขาสมควรได้รับความรักและการดูแล
เช่นเดียวกับ “คนสำคัญ” ทั้งหลายในชีวิตของฉัน
เราจะบรรลุไมตรีได้เมื่อเราตระหนักว่า
แก้วน้ำที่ว่างเปล่าของเราและของผู้อื่นนั้นเชื่อมต่อกัน
เราไม่สามารถเติมเต็มแก้วของคนอื่นได้ หากแก้วของเรายังว่างเปล่า
+++++++++++++++++++++++++
หากท่านชอบบทความที่ตีพิมพ์บนเว็บไซต์ vajrasiddha.com และต้องการสนับสนุนการทำงานของพวกเรา สามารถช่วยกันแชร์ คอมเมนท์ ติชม ได้ในทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย วัชรสิทธาดอทคอม ดำเนินงานเพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาอย่างไม่แสวงหาผลกำไร ผู้ที่ได้รับประโยชน์ และมีจิตศรัทธา สามารถสนับสนุนการดำเนินงานของเว็บไซต์ได้ที่ — ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกระบือ ประเภทออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “มูลนิธิวัชรปัญญา” เลขที่ 053-3-67904-8