บทความโดย วิจักขณ์ พานิช
เรียบเรียงโดย พรทิภา จันทรพราม
สรุปความจากกิจกรรม “สังฆะปฏิบัติ” เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565
คำว่า “ความกรุณา” เป็นคำที่พูดง่ายแต่ทำได้ยาก
คุณอัญชลี คุรุธัช กล่าวไว้ใน Avalokita Talk ครั้งที่ 3 ว่า
“เมตตาคือปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขนั้นยังง่ายกว่ากรุณา เพราะกรุณาคือการปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์ — พอมีคำว่าความทุกข์เข้ามา มันเลยทำให้ความกรุณาเป็นคุณลักษณะที่บ่มเพาะได้ยากกว่า”
มีสิ่งที่เราต้องเรียนรู้และทำความรู้จักกับความกรุณาอยู่เยอะพอสมควรเลย
เพราะโดยกลไกของอัตตาแล้ว มันไม่ได้มีพื้นที่ให้กับความกรุณาสักเท่าไหร่ เพราะอัตตาไม่ชอบพื้นที่ว่าง และอัตตาเป็นอะไรที่อยู่ใน Mode ของการเอาตัวรอด ดิ้นรน ควบคุม แข่งขัน ต่อสู้ เปรียบเทียบ อยู่ตลอดเวลา
แม้กระทั่งเวลาที่เรามาสนใจการฝึกปฏิบัติทางจิตวิญญาณ ก็ไม่ได้หมายความว่า จำเป็นที่เราจะต้องมีความกรุณาเพิ่มขึ้น เพราะการปฏิบัติทางจิตวิญญาณก็สามารถเป็นเส้นทางไปสู่อะไรบางอย่าง เช่น อยากจะตรัสรู้ อยากไปนิพพาน อยากหลุดพ้น อยากพ้นทุกข์ แล้วเราก็คิดว่าน่าจะมีสิ่งที่ฉุดช่วยเราจากความทุกข์ไปสู่ความสุขสูงสุดได้ ซึ่งเราอาจเรียกมันว่า “ปัญญา การรู้แจ้ง การบรรลุ การตรัสรู้”
เรามักคุ้นเคยลักษณะการนำเสนอของพุทธศาสนาแบบชายเป็นใหญ่เช่นนี้ กระทั่งเราอาจไม่เข้าใจว่า “ความกรุณาจะไป fit อยู่ตรงไหนในการปฏิบัติธรรม”
ทว่าในปาฐกถา Avalokita Talk #4 หัวข้อ “รดน้ำความกรุณาในใจ” เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 พระไพศาล วิสาโล ได้ชี้ให้เห็นว่า จริงๆ แล้วความกรุณาเป็นคุณสมบัติที่สำคัญและสอดคล้องไปกับการฝึกฝนละอัตตาตัวตนของเรา เพราะมีแต่ความกรุณาเท่านั้นที่จะ decentralize ตัวเราให้ออกจากอำนาจของอัตตาได้ ปัญญาอาจช่วยเราได้ถึงจุดหนึ่ง แต่หากปราศจากความกรุณาก็ไม่อาจจะ decentralize ตัวเราออกจากพลังอำนาจและความเจ้าเล่ห์ของอัตตาได้อย่างแท้จริง
ไม่รวมศูนย์เข้าสู่ตัวเอง
วรรคทองคืนนั้น พระไพศาล วิสาโล ได้ยกโศลกของท่านศานติเทวะ (จากคัมภีร์โพธิสัตว์จรรยาวตาร, The Way of the Bodhisattva, chap. 8, verses 129-130.) ที่กล่าวไว้ว่า
“All the joy the world contains
Has come through wishing happiness for others.
All the misery the world contains
Has come from wanting pleasure for oneself.”
– SHANTIDEVA (685-763)
แปลเป็นไทยว่า
“ความสุขใดๆ ในโลกหล้า เกิดขึ้นจากความปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นมีความสุข
ความทุกข์ใดๆ ในโลกหล้า เกิดขึ้นจากความต้องการเอาความสุขเก็บไว้ที่ตัวเราเอง”
– ศานติเทวะ (685-763)
นี่เป็นธีมหลักของปาฐกถาในคืนนั้น ที่ทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้วความกรุณานั้นสำคัญและยิ่งใหญ่ ไม่ใช่แค่ในแง่ที่ทำให้เราเป็นคนดี มีจิตใจดี ช่วยเหลือผู้อื่น ตรงตามที่ถูกปลูกฝังกันมาตามวัฒนธรรมไทย แต่ความกรุณานั้นสำคัญ เพราะมันเป็น พลังในการทำงานกับอำนาจของอัตตา
แทนที่เราจะควบคุม เพื่อเอาความสุขไว้ที่ตัวเราเอง เพื่อ centralize ความสุขหรือสิ่งที่เราต้องการเอาไว้ที่ตัวเราเอง
เรากลับเลือกที่จะเปิดออก เลือกที่จะตระหนักรู้ต่อเหตุการณ์ ต่อสถานการณ์ ต่อ welfare ของผู้คนที่เราสัมพันธ์ด้วย”
พอพระไพศาลพูดไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งเห็นชัดว่า การที่เราปรารถนาความสุขต่อผู้อื่นก็คือเรื่องเดียวกันกับการที่เรามี awareness
การฝึก compassion หรือความกรุณา ต้องมีความฉับพลันต่อสถานการณ์ตรงหน้า บ่อยครั้งเวลาที่เราฝึกความกรุณา จำเป็นจะต้องมีสิ่งที่มาเคาะประตู และในวินาทีนั้น เราต้องเปิดประตูและสัมพันธ์ด้วยท่าทีที่เปิดกว้าง ด้วยท่าทีที่เราไม่ตัดสิน ด้วยท่าทีของการรับฟัง เป็นมิตร ซึ่งเห็นชัดเลยว่าโคว้ทของศานติเทวะ เป็นเรื่องของการฝึกที่จะมี awareness กับสิ่งอื่น คนอื่น หรือความเป็นอื่นทั้งหลายที่เข้ามาเคาะประตูเรา สิ่งนี้จะขัดเกลาตัวเราออกจากการรวมศูนย์เข้าสู่ตัวเองของอัตตา และนี่ก็คือพลังอำนาจของความกรุณาที่ทำงานโดยตรงกับเส้นทางจิตวิญญาณ
เมื่อเราเริ่มค้นพบประตูของการสัมพันธ์กับความกรุณา ที่เป็นเหมือนตาน้ำในใจเราแล้ว พระไพศาลได้กล่าวต่อไปว่า… “เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องนำเอาความกรุณาที่บ่มเพาะในใจออกไปสู่การกระทำ ออกไป take Action อะไรบางอย่าง”
ไม่เดินตามนิสัยเดิมๆ
อีกประเด็นที่พระไพศาลพูดถึงคือ “หากเราต้องการรดน้ำหรือบ่มเพาะคุณสมบัติของความกรุณา เมื่อถึงจุดหนึ่งเราจำเป็นต้องฝึกไม่เดินตามนิสัยเดิมๆ ของเรา”
หลายครั้งเราอาจเคยมานั่งดีเบตอยู่ในหัวตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น เราอาจเคยลังเลว่า “ควรจะให้เงินขอทาน หรือไม่ควรให้เงินขอทาน” สุดท้ายแล้วคำตอบมันก็อาจขึ้นอยู่กับตัวเราว่า อะไรคือนิสัยเดิมๆ ของเรา อะไรคือสิ่งที่เราทำจนเป็นนิสัย เป็นสิ่งเคยชิน นี่ไม่ได้หมายความว่าถ้าปกติเราไม่ให้เงินขอทานแล้วเราควรจะเริ่มให้เงินขอทานนะ แต่มันมีความหมายลึกซึ้งกว่านั้น
“เมื่อเราเลิกใช้ความคิด แล้วเริ่มใช้ Intuition หรือใช้ความรู้สึกตัว อยู่ตรงนั้นอย่างเต็มที่ ในสถานการณ์นั้น ณ ตอนนั้น เราจะทำอะไร?”
- เราอาจจะให้เงินหรือไม่ให้เงินขอทานก็ได้ แต่มันสำคัญลึกลงไปกว่านั้นอีกก็คือ มันเกิดความกรุณาขึ้นในใจของเราจริงหรือเปล่า?
- ใจเรามีความเปิด ใจเรามีความอ่อนนุ่ม กับขอทานที่อยู่ตรงหน้าคนนั้นจริงหรือเปล่า?
- ไม่ว่าเราจะให้เงินหรือไม่ให้เงิน สุดท้ายการกระทำนั้นมันได้ Break Pattern อะไรบางอย่างที่เรามักตั้งกำแพงขึ้นมาทันทีต่อผู้อื่นหรือเปล่า?
นี่เป็นเรื่องสำคัญ เราอย่ามัวไป “ติดกับดักความคิด” ว่า “การกระทำไหนเรียกว่าความกรุณาหรือความไม่กรุณา” หรือ “คนไหนเป็นคนดีหรือคนไหนไม่ดี” “การกระทำไหนดี การกระทำไหนไม่ดี” แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือการที่เราสัมพันธ์กับสิ่งที่เป็นนิสัย หรือความเคยชินของเรา แล้วพร้อมจะกระโจนออกจากมันด้วยท่าทีอันเปิดกว้างของความกรุณา
แล้วเราจะค้นพบว่า มีพื้นที่ที่เปิดออกเวลาที่เราสัมพันธ์กับคนตรงหน้าอย่างเปิดกว้างมากขึ้น ใจที่ “อยู่ตรงนั้น” กับสถานการณ์นั้น อยู่กับคนนั้น ในชั่วขณะนั้น
เมื่อเข้าใจจึงกรุณา : กรุณาที่ไม่แยกขาดจากปัญญา
พระไพศาลเล่าถึงประสบการณ์สมัยเป็นนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา ตอนท่านถูกจับ และระหว่างทางที่ต้องวิ่งไปขึ้นรถผู้ต้องขัง จะมีแถวของประชาชนผู้รักชาติ รักสถาบัน รุมต่อย รุมกระทืบ โชคไม่ดีที่รถเที่ยวแรกเต็ม ท่านจึงต้องวิ่งกลับมาและวิ่งกลับไปอีกรอบ ในรอบหลังนี่เองที่ท่านโดนเตะอัดเข้าไปที่ชายโครงจนจุกและล้มลง เมื่อหันไปมองหน้าคนที่ทำร้ายท่าน ท่านกลับไม่รู้สึกโกรธเลย
“เราเห็นใบหน้าของเขา แววตาของเขา ที่ถูกความโกรธ เกลียด และอคติเข้าครอบงำ มันเหมือนถูกปีศาจเข้าสิง มันน่ากลัวมาก มันเหมือนไม่ใช่มนุษย์แล้ว พอเห็นแบบนั้น เราไม่มีความโกรธเลย มันมีความรู้สึกอื่นเข้ามาแทน เช่น ความเศร้า หรือกระทั่งความสงสาร”
วินาทีของการมองเห็นตามที่เป็นจริงนั่นเอง คือ ปัญญาที่มาควบคู่กับความกรุณา
กรุณา ด้วยการเลิกคิด!
อีกประเด็นที่พระไพศาลเน้นย้ำ ในหนทางของการรดน้ำความกรุณาในใจ
“สำหรับคนที่ฉลาด ใช้ความคิดเก่งๆ ช่างคิด คิดเยอะ หากต้องการจะฝึกบ่มเพาะความกรุณาในใจ ต้องปล่อยวาง ฝึกที่จะไม่คิด”
คืนนั้นที่อวโลกิตะ มีผู้เข้าร่วมท่านนึงได้ตั้งคำถามโดยยกตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับความอยุติธรรมในสังคม ซึ่งปกติถ้ามีเรื่องไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นตรงหน้า เราเห็นตรงนั้น เราก็ไม่ควรยอม ในด้านหนึ่งของการต่อสู้ทางสังคม ก็เพราะเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ยอมไม่ได้ และการต่อสู้ยังเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการตื่นรู้ต่อคนที่เพิกเฉย ทว่าในอีกด้านเมื่อการกระทำเหล่านี้กลายเป็นรูปแบบที่ตายตัว มันก็อาจจะสูญเสียคุณลักษณะเริ่มต้นของความกรุณาไป และอาจกลายเป็นการยึดมั่นถือมั่นในอุดมการณ์บางอย่างที่สามารถนำไปสู่ความรุนแรงได้เช่นกัน
ซึ่งในหนทางการบ่มเพาะความกรุณา มันอาจจะหมายถึง…
“บางครั้งเราก็ต้องยอมแบบโง่ๆ บางครั้งเราก็ต้องยอมถูกเอาเปรียบ
บางครั้งก็ต้องทนคนที่ bully เรา หรือยอมรับว่าเราไปเปลี่ยนแปลงใครไม่ได้
เราสามารถที่จะใช้โอกาสเหล่านั้นในการมองด้วยความเข้าใจและบ่มเพาะคุณสมบัติของความกรุณาได้”
(แน่นอนว่าสายแอคติวิสต์คงไม่ชอบมุมมองแบบนี้เท่าไหร่)
ตรงนี้มันขึ้นอยู่กับเรา ไม่มีใครรู้หรอกว่าลึกๆ แล้วข้างในเรากำลังทำอะไรอยู่ บางทีเราอาจจะดูโง่มากที่อยู่ในสถานการณ์นี้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เราถูกกดขี่หรือไม่เป็นธรรม เรายอมแล้วยอมอีก แต่ถ้าเราชัดเจนว่าเราอยู่ตรงนั้นเพื่ออะไร เราอยู่ตรงนั้นเพื่อบ่มเพาะอะไรในใจเรา มันก็โอเคนะ…
ถ้ามันชัดเจนว่าเราอยู่ตรงนี้เพื่อบ่มเพาะความรักความกรุณา พร้อมอุทิศตนเพื่ออะไรบางอย่างเพื่อบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า welfare ของตัวเอง อยู่เพื่อก้าวข้ามอะไรบางอย่างที่ยังก้าวข้ามไม่ได้ การอยู่แบบนี้มันก็โอเค
กระนั้นในหนทางการบ่มเพาะความกรุณา เราไม่สามารถที่จะใช้ตรรกะหรือความคิดถูกผิดมาตัดสินได้
แต่เราจะรู้ด้วยตัวเราเองเท่านั้นว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เรากำลังสัมพันธ์กับสถานการณ์ตรงหน้าเพื่อพัฒนาคุณสมบัติอะไรที่ไปพ้นสถานการณ์นั้นอยู่ อันนี้คือความหมายของ ปารมิตา หรือ บารมี
ความกรุณาต่อผู้อื่น เกิดขึ้นพร้อมๆ กับความกรุณาที่มีให้ตัวเอง
สิ่งที่จำเป็นมากต่อการเติบโตทางจิตวิญญาณคือการบ่มเพาะความกรุณา
เส้นทางการบ่มเพาะความกรุณาของผู้ปฏิบัติภาวนา ที่ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่แค่ในห้องภาวนาต้องผ่าน คือ การต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกเข้าใจผิด ถูกติฉินนินทา ถูกเอาความเท็จไปพูด ในการบ่มเพาะความกรุณา เราต้องสามารถอยู่ตรงนั้นได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้อง Justify ตัวเอง ไม่จำเป็นต้องหาเหตุผลมาเข้าข้างตัวเอง ไม่จำเป็นต้องหาพวก หรือไม่จำเป็นต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อพยายามพิสูจน์หรือหาความถูกต้องให้แก่ตัวเอง การทำอะไรแบบนี้ จริงๆ มันก็มี dilemma อยู่เหมือนกัน เพราะด้านหนึ่งเราก็อาจจะรู้สึกว่าควรจะสู้เพื่อความถูกต้อง แต่อีกด้านหนึ่งเราก็อาจรู้สึกว่า “เออ ช่างเหอะ ใครจะคิดยังไงก็ช่างเขา เราไปบังคับความคิดใครไม่ได้” อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคน กระนั้นถึงคนจะเข้าใจผิดเราทั้งโลก เราก็อยู่ตรงนั้นได้ และนั่นคือการบ่มเพาะความกรุณาอย่างหนึ่ง
การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมนั้นเป็นเรื่องดี เป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับสังคม ถือเป็นการบ่มเพาะความกรุณาเช่นกัน แต่การยังถือว่าเป็นคนละส่วนกันกับการบ่มเพาะความกรุณาในใจ ทว่าสิ่งที่น่าสนใจคือหนทางที่เราสามารถประสานทั้ง 2 วิถีทางเข้าด้วยกันได้ เราไม่จำเป็นต้องทำอะไรด้วยความเอาเป็นเอาตาย เพื่อจะต้องได้ผลลัพธ์ในแบบเดียว ถึงเราจะต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ผลลัพธ์ก็อาจไม่ได้เป็นแบบที่เราต้องการก็ได้ หรืออาจไม่ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทันทีก็ได้ ซึ่งไม่ว่าจะออกมาในแบบไหน เราก็สามารถยอมรับได้ เรามีความกรุณาให้กับตัวเราเองได้เสมอ เรามีความกรุณาให้กับผู้ที่กดขี่เราได้ หรือหากเราไม่พร้อมจะต่อสู้ เราก็ยังสามารถสนับสนุน เป็น ally ให้คนอื่นๆ ที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องได้เช่นกัน
และสุดท้ายการที่เราสามารถยอมรับตัวเราเองได้ในสภาวะต่างๆ ไม่ว่าจะในเวลาที่เราเหนื่อย เศร้า ท้อ สมหวัง สิ้นหวัง สุข ทุกข์ หรือในสถานการณ์ที่สำเร็จหรือล้มเหลว หรือในสภาวะอีรุงตุงนังที่พัวพันอยู่กับความสัมพันธ์ที่ตัดไม่ได้ การฝึกที่จะยอมรับตัวเองในทุกสภาวะโดยไม่ต้องหาเหตุผลอธิบายหรือตั้งคำถาม ก็คือการบ่มเพาะความกรุณาด้วยเช่นกัน การมีความกรุณาให้กับตัวเองเป็นสิ่งที่แยกขาดไม่ได้จากการมีความกรุณาให้กับผู้อื่น เพราะในความเป็นจริง หาได้มีพรมแดนกางกั้นระหว่างตัวเรากับผู้อื่นในความเป็นมนุษย์นี้แต่ประการใด
หัวใจของความกรุณาคือความว่าง
ประเด็นหลายๆ อย่างที่พระไพศาลพูดทำให้เราเริ่มเข้าใจว่า ความกรุณาผลิบานจากความว่างเช่นไร
จะกรุณาได้ เราต้องปล่อยวาง ปล่อยวางจากความคิด ปล่อยวางจากความคาดหวัง ปล่อยจากการควบคุมของอัตตาตัวตน ความว่างนั้นเองจะเป็นพื้นฐานต่อการทำความเข้าใจสถานการณ์ตามที่เป็นจริง ไม่ใช่แค่เรามีความตั้งใจที่จะบ่มเพาะความกรุณาอย่างเดียว แต่พื้นฐานของพลังงานที่ดีนั้นจะเกิดขึ้นจากการปล่อยวาง ในวินาทีที่ “ว่าง” จะเป็นวินาทีที่เราเห็น เข้าใจ มี Insight มีความสว่าง ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันใด มันเกิดปิ๊งแวบขึ้นว่าเราเห็นอะไร มันพลิกเปลี่ยนจากมืดเป็นสว่าง จากยึดเป็นคลายอย่างฉับพลัน และเมื่อวินาทีนั้นเกิดขึ้น อนุสัยที่ก่อให้เกิดเป็นความโกรธ เกลียด ก็จะเบาบางลงกลายเป็นความว่างและความกรุณา
ดังนั้นความกรุณาไม่อาจตัดขาดจากธรรมชาติของความว่างได้ ยิ่งถ้าเราพูดถึงในแง่ของความลึกซึ้งของประสบการณ์ที่เราฝึกจากการภาวนา เราตระหนักว่าพื้นฐานของความเข้าใจในความว่างเป็นหัวใจของการสัมพันธ์กับสถานการณ์ชีวิตที่เข้ามาปะทะกับเรา อะไรก็ตามเกิดขึ้น ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม สุดท้าย Ultimate Nature ของมันก็คือความว่าง
“ต่อให้เราโกรธไปจนถึงที่สุด เกลียดไปจนถึงที่สุด คิดไปจนถึงที่สุด เราจะอะไรกับอะไรไปจนถึงที่สุดก็ตาม
สุดท้ายมันก็ไม่ได้พาเราไปไหน นอกจากการตระหนักถึง Ultimate Nature ซึ่งก็คือความว่าง
ถึงเราจะคิดจนหัวแตก เกลียดใครสักคนถึงที่สุด ถึงเราจะ Justify ทุกอย่างว่าเรารู้ดี เราเข้าใจถ่องแท้
แต่สุดท้ายสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้พาเราไปสู่อะไร มันไม่ได้เป็นตัวเป็นตนอะไร ไม่ได้มีความยิ่งใหญ่อะไรเลย
แม้แต่สิ่งที่งดงามที่สุด สิ่งที่เราเคารพสูงสุด อะไรก็ตามที่เราให้ค่า ลบ หรือ บวก ยกกำลัง อะไรก็แล้วแต่
ท้ายที่สุดแล้ว Ultimate Nature ของมันก็คือความว่าง”
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าไม่ให้เต็มที่กับมันนะ เราเต็มที่กับมัน แต่การภาวนาทำให้เห็นถึงการไม่แยกขาดจากกันของธรรมชาติของรูปกับความว่าง การไม่แยกขาดของการแสดงตนของปรากฏการณ์ต่างๆ กับความว่าง นี่เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องตระหนักรู้ตรงนี้ด้วย “มันไม่ได้พาเราไปสู่อะไรทั้งนั้น” มันพิเศษในวินาทีนั้นๆ เพราะมันเป็นอย่างที่มันเป็น แล้วเราปล่อยได้ วางได้ เลิกคิดกับมันได้
“ไม่ว่าจะดีที่สุดหรือจะแย่ที่สุด ก็ขอให้เต็มที่กับมัน แล้วสุดท้ายแล้วก็รับรู้อ้อมกอดที่แท้จริงของความว่าง”
ทุกประสบการณ์ เราสัมพันธ์ด้วยท่าทีของการภาวนา
เราปล่อยได้…
รัก ละ
ไปพร้อมกันได้
นี่แหละคือท่าทีของ การรดน้ำความกรุณาในใจ ในทุกๆ วัน