ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง : “มั่นคงและสบาย” พื้นฐานแห่งร่างกายเดิมแท้

บทสัมภาษณ์ นัด ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง หลังกิจกรรม Heart Steps ” ตามจังหวะใจ” 18-19 มีนาคม 2566 ณ วัชรสิทธา

สัมภาษณ์โดย THANYA วัชรสิทธา

ที่มาภาพ : Tima Miroshnichenko จาก Pexels

คุยกับพี่นัด ชวณัฏฐ์ จากชั้นเรียน Heart Steps ที่จัดขึ้นที่วัชรสิทธาผ่านมา พี่นัดขนเอาศาสตร์วิชามากมายมาให้ทุกคนได้ลองมีประสบการณ์ใหม่ และหนึ่งในศาสตร์ที่จดจำเป็นพิเศษในชั้นเรียนนี้ก็คือ “หยินโยคะ” ที่ไม่เพียงแค่เป็นความทรงจำในหัว แต่เป็นความรู้สึกในร่างกายด้วย จึงต้องมาชวนคุยนอกรอบถึงหยินโยคะกันอีกครั้ง

พี่นัดจะพาให้เราได้ทำความรู้จักกับโยคะที่เหมือนจะเรียบง่ายแต่ล้ำลึก (เหมือนไม่เจ็บแต่เจ็บ!) ทั้งที่มา หลักการ ประสบการณ์ และความเชื่อมโยงของศาสตร์นี้กับมิติต่างๆ ในชีวิต จากการใช้เวลาอยู่กับหยินโยคะมากว่าสิบปี

• ที่มาของหยินโยคะ ความแตกต่างจากโยคะทั่วไปที่เรารู้จัก

หยินโยคะในสายที่พี่เรียน มาจากครูชื่อว่าวิกเตอร์ (Victor Chng) เขาเป็นชาวสิงคโปร์ ที่มีความสนใจโยคะแบบดั้งเดิมและสนใจการแพทย์จีน ปรัชญาจีนมาก เขาจึงนำสองส่วนนี้มาพัฒนาร่วมกัน เพราะจริงๆ คอนเส็ปต์ของโยคะคือการทำความเข้าใจชีวิตในระดับต่างๆ ระดับร่างกาย ระดับจิตใจ ระดับพลังงาน ซึ่งมีความน่าสนใจที่โยคะกับแพทย์แผนจีนถูกพัฒนาขึ้นมาใกล้ๆ กัน ในช่วงห้าพันกว่าปีที่แล้ว 

ทีนี้เรามาโฟกัสที่มาของหยินโยคะ ก่อนหน้านี้ในช่วงเวลาหนึ่งโยคะถูกเผยแพร่ออกไปทางโลกตะวันตก ซึ่งรับเอาแต่รูปฟอร์มการฝึกร่างกายไป เหมือนไปฝึกกันเล่นท่ายาก แล้วมันทำให้เกิดการบาดเจ็บ ยิ่งในช่วงปี 70-80 ที่โยคะเฟื่องฟูในตะวันตกมาก หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า เราฝึกโยคะไปเพื่ออะไร? จึงมีการกลับมาหาที่รากของโยคะ 

  • โยคะคืออะไร? 
  • โยคะที่ทำให้เราเข้าใจชีวิต จิตใจ สามารถทำให้เรามีสมดุลทางร่างกายและจิตใจ พาให้เราค้นพบความหมายในชีวิต จริงๆแล้วเป็นอย่างไร?

หยินโยคะก็เกิดในช่วงนั้น ครูวิกเตอร์เริ่มคิดว่า อันที่จริง “อาสนะ” ในคัมภีร์โยคะสูตร ไม่ได้บอกว่าต้องฝึกท่าอะไรเลยด้วยซ้ำ แค่บอกว่า “อาสนะ คือสภาวะที่เรารู้สึกสบายและมั่นคงทางกาย” มีแค่นั้นเอง ครูวิกเตอร์จึงผสมสองส่วนนี้เข้าด้วยกัน ท่าอาสนะแบบไหนที่ทำให้ร่างกายรู้สึกมั่นคง สบาย และไม่ต้องใช้แรง เพื่อที่เราจะสงวนพลังงานของเราไว้ทำงานภายใน ในกระบวนการที่มันลึกลงไป 

ภาพ : Victor Chng
ที่มาภาพ : Yin Yoga in Asia

พอพัฒนาหยินโยคะไปร่วมกันระหว่างแพทย์แผนจีนและโยคะ ซึ่งมันไม่ได้มีอะไรขัดแย้งกัน ด้วยความที่ปรัชญาของศาสตร์การแพทย์ในเอเชียมองว่าเป็นการสร้างความสมดุลของกาย จิต และจิตวิญญาณ ในขณะที่โยคะก็เป็นการสร้างความเป็น Unity ของทั้งสามเช่นกัน สำหรับเส้นลมปราณที่ถูกพูดถึงในการแพทย์แผนจีน ความรู้ทางสรีรวิทยายุคใหม่ๆ ก็มีการค้นพบว่า เส้นลมปราณนี้จริงๆอยู่ในพังผืด (ฟาสเซีย Fascia) ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective Tissue) รูปแบบหนึ่ง ที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นผืนกาวที่เชื่อมต่อชั้นผิวหนัง กล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อ กระดูก รวมถึงอวัยวะต่างๆทั่วทั้งร่างกาย ครูวิกเตอร์คิดว่าจะทำงานกับพลังระดับที่ลึก เป็นพลังงานที่ดูแลร่างกายเรา สร้างสมดุลและดูแลรักษาตัวเองได้อันนี้ มันไหลโฟลว์ได้ทั้งตัว หยินโยคะจึงเป็นการโฟกัสกับการทำงานของฟาสเซีย นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการทำงานกับร่างกายส่วนที่เป็นหยิน เพราะวิถีชีวิตสมัยใหม่นี้มีความเป็นหยางมากขึ้น เราทำอะไรเร็วขึ้นทุกอย่าง นั่นคือพลังงานหยาง หยินโยคะก็จะเข้ามาบาลานซ์พลังงานหยินในตัว

การฝึกหยินโยคะ โดยหลักการคืออย่างไรบ้าง มีวิธีการอย่างไร

ในทางร่างกาย หยินคือส่วนที่อยู่ติดพื้น ตั้งแต่สะโพกลงไป เชิงกราน ฝ่าเท้า ในทางพลังงานและวิถีชีวิต หยางคือพลังงานของการเคลื่อนไหว ความเปลี่ยนแปลง ความรวดเร็ว ในขณะที่หยินจะเป็นความมั่นคง การเปิดรับ ความรู้สึกเหมือนผืนดิน และ ด้วยความตั้งใจที่อยากจะทำงานกับร่างกายส่วนหยิน และส่วนของพังผืด (Fascia) ที่อยู่ติดกระดูก ครูวิกเตอร์จึงได้พัฒนาหลักการสามอันขึ้นมา ได้แก่ Grounding, Holding และ Relaxation 

ภาพ : Fascia
ที่มาภาพ : UPLIFT Foundation

Grounding : หยั่งราก คือการที่เราอยู่กับความเป็นจริงของร่างกายในขณะที่เราอยู่ในท่าต่างๆ ตามหลักการของโยคะคือการเข้าสู่ความมั่นคงของร่างกาย ซึ่งแต่ละคนก็จะค้นหาและรับรู้การเข้าสู่ความมั่นคงในท่านั้นในแบบของตัวเอง ใช้ใจ ใช้การรับรู้ ใช้สมดุล ใช้ความรู้สึกที่ละเอียดขึ้นในการจัดปรับท่าทาง ในแง่หนึ่ง การ Grounding ก็เหมือนเราได้กลับมาใกล้ชิดกับผืนดินซึ่งเป็นพลังงานหยิน ที่มีความเมตตากรุณา เอื้อให้เกิดการเติบโตของสิ่งต่างๆ 

เมื่อเราเข้าสู่ท่าด้วยการ Grounding อยู่กับความเป็นจริงของร่างกายและสถานการณ์แล้ว จึงไปสู่หลักการข้อที่สอง นั่นคือ  

Holding : ประคับประคอง ท่าที่เราฝึกอยู่ในช่วงเวลานั้น เราจะค้างท่าที่ทำอยู่ประมาณ 3-5 นาที เพราะหากกล้ามเนื้อ เอ็น พังผืด ยืดได้น้อย การค้างท่าแบบนี้จะช่วยให้เกิดความปลอดภัย ในสมัยก่อนเราฝึกกันโดยไม่มีความเข้าใจเรื่องเอ็น พังผืด เราไปยืดเหยียดมันเยอะเกินไป นั่นทำให้เกิดการบาดเจ็บและส่งผลเสียมากกว่าที่จะได้รับผลดี  ดังนั้นครูวิกเตอร์จึงได้พัฒนาหลักการ “Holding” ขึ้นมา เป็นการค่อยๆยืด ด้วยร่างกายของเรา ด้วยแรงโน้มถ่วง ด้วยการหายใจ นี่เป็นสิ่งที่ครูวิกเตอร์คิดค้นขึ้น เพื่อความปลอดภัยและสอดคล้องกับการยืดเหยียดของแต่ละคน

วิถีชีวิตในยุคสมัยใหม่ เรานั่งทำงานบนเก้าอี้กันนานขึ้น สะโพกและเชิงกรานเราก็จะยิ่งปิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชิงกราน ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมากของระบบร่างกาย เมื่อพลังงานถูกกั้นขวางไว้ ไม่สามารถไหลจากฝ่าเท้าไปถึงศีรษะได้ จึงทำให้สมดุลทางพลังงานในอวัยวะต่างๆ เสียไป

ในช่วง Holding ท่าหยินโยคะจะเน้นการทำงานกับการเปิดเชิงกราน เปิดพื้นที่ว่างในเส้นเอ็น ข้อต่อ ซึ่งจะช่วยให้กล้ามเนื้อ และข้อต่อต่างๆมีการจัด ปรับตัวเอง เพราะเชิงกรานเป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างสรีระของเราทั้งหมด นี่จึงเป็นจุดที่ทำน้อยแต่ได้มาก เราใช้พลังน้อย ใช้น้ำหนักตัว ใช้ร่างกายในปัจจุบันขณะของเรา ให้การยืดเหยียดตามธรรมชาติ มันจึงปลอดภัยและอ่อนโยน เพราะมันคือตัวเราเองที่ไม่ได้พยายาม

เมื่อเราจะหายใจไปที่หน้าท้อง นี่เป็นการทำงานกับระบบกระบังลม ถ้าในแง่ของโยคะ ก็เหมือนกับได้ฝึกหายใจที่ลึกและละเอียดขึ้น ซึ่งก็จะช่วยให้หัวใจเราทำงานน้อยลง และรับออกซิเจนได้มากขึ้น นี่คือธรรมชาติของการหายใจที่ถูกต้อง

Relaxation : ผ่อนคลาย หลักการข้อที่สามนี้จะสอดคล้องกับตำราโบราณ ที่กล่าวว่า ท่าอาสนะที่ถูกต้องจะให้ความรู้สึกมั่นคงและผ่อนคลาย เมื่อเราผ่านช่วงความตึง ความเจ็บปวด ผ่านช่วงท้าทายในการยืดเหยียดมาแล้ว เราก็ต้องผ่อนคลายเพื่อให้เลือดลม สิ่งต่างๆ ได้ไหลเวียน ในแง่จิตใจเราจะได้คลายความตึงเครียดที่สะสมมาจากวิถีชีวิตประจำวัน

ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง (นัด)

พี่นัดมีประสบการณ์ยังไงบ้าง 

พี่ฝึกโยคะมาเกือบ 15 ปี เพิ่งมาเจอหยินเมื่อสัก 10 ปีที่แล้ว จากนั้นก็ฝึกมาตลอด คือฝึกมาหลายอย่าง แต่พอครั้งแรกที่ทำหยินโยคะ รู้สึกเลยว่าร่างกายจิตใจมันเปลี่ยนไป พี่ฝึกวิปัสสนาที่มีเรื่องการภาวนามาด้วยเป็นสิบปี ก็คิดว่าโยคะมันก็ดี ในแง่ที่ช่วยร่างกาย แต่ว่ามันใช้แรงเยอะ จนมาเจอหยินโยคะครั้งแรก ก็รู้สึกเหมือนเราฝึกวิปัสสนาเลย แล้วมันเกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างกายระดับลึกจริงๆ ในความเจ็บปวดมันก็รู้สึกถึงการเคลื่อนที่ของสมดุลเกิดขึ้น

จากที่เคยฝึกทั้งการปฏิบัติภาวนาและหยินโยคะ พี่นัดเห็นความเชื่อมโยงของสองสิ่งนี้บ้างไหม

พี่ชอบโยคะตรงที่มันเป็นประสบการณ์ มันไม่ใช่แค่ส่วนของ intellectual  แต่มันทำให้เราเกิดประสบการณ์ในการรับรู้ร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นความตึงเครียด มันเหมือนกับการภาวนาที่ค่อยๆ รับรู้ในส่วนที่หยาบ รับรู้ความคิด จิตใจ และความรู้สึก มันมีท่าทีของการภาวนาอยู่ในหยินโยคะ เมื่อเรา grounding, holding ในแต่ละสเต็ป แล้วให้เวลากับการใคร่ครวญมากขึ้น

ในแง่ของร่างกายที่มีการยืดเหยียดที่ลึก นี่เป็นการคืนการเยียวยาให้กับร่างกาย ให้เขากลับไปสู่สภาวะที่เขาสามารถดูแลตัวเองได้ดีที่สุด พวกปรัชญาของโยคะกับการแพทย์แผนจีนเชื่อว่าร่างกายสามารถเยียวยาตัวเองได้ ฉะนั้นการทำโยคะก็ช่วยให้ร่างกายจิตใจสมดุลกัน ให้จิตมีความตั้งมั่นในการรับรู้สิ่งที่มันเป็นจริงในแต่ละขณะ

ในชีวิตจริง ถ้าร่างกายเรามีความเจ็บปวด ติดขัด ใจเราก็จะอยู่ตรงนั้น สังเกตเวลาร่างกายไม่สบาย เวลาที่นั่งภาวนา เสียงตรงที่เจ็บปวดมันจะดังสุด และใจเราก็จะไปอยู่ตรงนั้น ซึ่งจริงๆ ในการภาวนาก็ไปอยู่ได้ แต่มันก็จะรบกวนความสมดุล รบกวนการรับรู้อะไรที่มันละเอียดไปกว่านั้น 

เวลาฝึกหยินโยคะ มันเกิดความเจ็บปวดในกระบวนการด้วย เราจะมีท่าทีกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้อย่างไรดี

เราใช้ชีวิตกับแบบเสียสมดุล ความเจ็บปวดในโยคะมันก็เกิดขึ้นเพื่อคืนสู่ความสมดุล มันเป็นความเจ็บปวดที่สร้างสรรค์ เป็นความเจ็บปวดที่ร่างกายเราจะเปิดออก 

เราอาจจะนั่งบนเก้าอี้ราคาแพงที่สบาย แม้ว่าเชิงกรานเราจะแคบเข้าเรื่อยๆ แต่ในขณะนั้นเราอาจจะรู้สึกสบาย จนกระทั่งวันหนึ่งร่างกายเราอาจจะเริ่มรู้สึกตึง ติดขัด แล้วระบบย่อยอาหารของเราก็อาจจะเริ่มมีปัญหา…

ในความสบายที่เราไม่ได้สังเกตมัน เราค่อยๆ สะสมความไม่สบายในร่างกายและจิตใจไปทีละนิด สิ่งนี้มันอยู่กับเรา รอเวลาที่จะส่งเสียงดังขึ้น เป็นออฟฟิศซินโดรม ปวดคอ ปวดหลัง เพราะเราไม่มีกล้ามเนื้อที่จะซัพพอร์ตอย่างเพียงพอ จากการที่เรานั่งเก้าอี้ราคาแพง ทั้งที่จริงๆ ร่างกายเราสามารถพยุงตัวเองได้ถ้าเราอยู่ในท่าทางที่ถูกต้อง

เมื่อเราฝึกโยคะ เรายืดเหยียดพาร่างกายกลับไปสู่ธรรมชาติ ท่าทางที่ถูกต้อง มันก็เลยมีความเจ็บปวดเกิดขึ้น เพราะร่างกายพยายามที่จะค่อยๆ เปิดออก 

ในหลักการของอาสนะ มั่นคงและผ่อนคลายมันก็ไม่ได้หมายถึง “สบ๊ายยยสบาย” เวลาที่เราอยู่กับความเจ็บปวด เราก็ลองดูว่าเราสามารถอยู่กับมันได้แค่ไหน เราอาจจะอยากฝืนไปอีกสักห้าลมหายใจ แล้วกลับไปรีแล็กซ์ แต่ละคนจะมีจุดที่สามารถอยู่ได้ระดับหนึ่ง 

เราต้องมีทัศนะคติในความเจ็บปวดของการฝึกหยินโยคะว่ามันเป็นการทำงานของธรรมชาติของร่างกายที่พยายามจะยืดเหยียด เปิดเอ็น ข้อต่อ พังผืด จัดแนวกระดูกให้เข้าที่เข้าทาง ซึ่งในกระบวนการนี้มันก็มีความเจ็บปวดเกิดขึ้น แต่มันไม่ได้อยู่ตลอดไป เพราะถ้าเราเฝ้าดูไปเรื่อยๆ และทำงานกับการ Holding ตามความสามารถที่เราไหว เราก็จะพบว่า จากที่แค่หนึ่งนาทีก็ไม่ไหว เมื่อเราฝึกไปเรื่อยๆ ธรรมชาติของร่างกายจะค่อยๆ เปิดออก เราอาจจะอยู่ได้หนึ่งนาทีครึ่ง สองนาที สามนาที ห้านาที 

ในระดับที่ลึกที่สุดเราต้องการพื้นที่ว่าง ในร่างกาย ในกล้ามเนื้อ เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น ความลื่นไหล 

ร่างกายเรามีแนวโน้มที่จะกลัวความเจ็บปวด เราจึงไม่อนุญาตให้ความอ่อนไหว เปราะบาง ความพัง เกิดขึ้น ซึ่งจริงๆ มันเป็นกระบวนการที่จะก้าวผ่านเพื่อไปสู่การเปิดกว้าง ความรักที่มากขึ้น การเยียวยาที่มากขึ้น พูดอย่างนี้อาจฟังดูนามธรรมไป แต่พอได้ลองทำเราจะพบว่า 

“อ๋อ… ร่างกายเราสะสมความเครียด ความตึงไว้ขนาดนี้เลยหรอ” 

แล้วในช่วงการฝึก เราจะมีความรักให้กับร่างกายเราได้อย่างไร มันจะเป็นกระบวนการที่เราแต่ละคนจะต้องใช้ความรักเยอะมากในการประคับประคอง และเป็นประจักษ์พยานของการคลี่ออกนี้ 

เช่นนี้ เราทุกคนควรฝึกหยินโยคะรึเปล่า?

มันขึ้นอยู่กับจังหวะชีวิต อย่างตอนแรกที่พี่ฝึก ก็ไม่ค่อยรู้ว่าโยคะคืออะไร แต่ทำแล้วรู้สึกดี ก็ฝึกไปเรื่อยๆ และก็ค้นหาข้างในไปด้วย มันเริ่มรู้สึกว่า เออ.. เรามีลมหายใจด้วยนะ เราหายใจแบบนี้ หายใจตื้นมันเหนื่อย พอเราหายใจลึกมันสบาย ผ่อนคลาย พอเรารู้จักลมหายใจ เราเห็นความคิดด้วย ..ทำไมเราฝึกท่านี้มีความคิดเข้ามา 

เหมือนการรับรู้ของเราจะค่อยๆ ละเอียดขึ้น ทีนี้มันก็ทำให้เรารับเอาทั้งหมดของชีวิตเราเข้ามาได้กลมกลืนขึ้น พอเริ่มอายุเยอะขึ้นก็รู้สึกเราไม่ค่อยอยากใช้พลังงานของเราในการฝึกอะไรที่มันเสียแรง พออายุสามสิบห้าก็รู้สึกว่าร่างกายมันเปลี่ยนไป มันเหนื่อยง่ายขึ้น มันเสื่อมเร็วขึ้น เลยมีความคิดว่าอยากฝึกโยคะที่ใช้พลังงานน้อย ที่ชอบโยคะอย่างนึงก็เพราะว่ามันทำที่ไหนก็ได้ แค่มีพื้นที่ปูเสื่อ และตัวเรา เท่านี้ก็เริ่มฝึกได้แล้ว และอีกอย่างที่ชื่นชอบโยคะเพราะมันมีความเป็นศาสตร์ มีกระบวนการเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ทางกาย ใจ พลังงาน ซึ่งเรามีความสามารถนี้กันทุกคน

“หลักการสามข้อของหยินโยคะ Grounding, Holding และ Relaxation

ควรจะเป็นคุณภาพที่อยู่ในชีวิตเรา…

ชีวิตนอกเสื่อโยคะ..”

สำหรับพี่ ประเภทโยคะที่แตกต่างไม่ใช่สาระสำคัญมากนัก รูปแบบของหยินโยคะ การฝึกอาสนะอาจจะต่างออกไปจากโยคะอื่นๆ ขึ้นอยู่กับจริตของแต่ละคนว่าชอบอันไหน เพราะนั่นเป็นเพียงประตูที่นำพาเข้าไปสู่แก่นภายในของเรา ให้เราติดตามกระบวนการภายในร่างกาย จิตใจ พลังงานของเราอย่างละเอียดไปสู่สมดุลเดิมแท้ของเรา ให้การฝึกฝนและคุณภาพต่างๆ ที่เราได้จากการฝึกโยคะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในเนื้อตัว นั่นเป็นหัวใจสำคัญมากกว่าการยึดติดอยู่กับการแยกประเภทต่างๆ

มีข้อแนะนำในการเริ่มต้นฝึกไหม

อยากให้ลองมีประสบการณ์ จริงๆแล้วการฝึกโยคะและการภาวนามันเป็นเรื่องของประสบการณ์ เราจะรับรู้ได้ด้วยกาย ด้วยใจของเรา และมันก็เกิดขึ้นเลยในขณะที่เรากำลังทำ ร่างกายได้ปรับสมดุล ได้ผ่อนคลาย มีความตื่นตัว มีความว่องไวในการรับสิ่งต่างๆมากขึ้น

การฝึกโยคะควรฝึกตอนเช้า เพราะจะทำให้การยืดเหยียดสามารถลงไปได้ลึก เอาจริงๆ ร่างกายมันก็ต้องเสื่อมไปเรื่อยๆ ตามธรรมชาติ เป็นอนิจจัง แต่ด้วยการทำงานกับร่างกายที่มันอ่อนโยนแบบหยินโยคะ และมันอยู่ในอำนาจของเราที่จะฝึก พี่ชอบโยคะอย่างหนึ่งเพราะว่ามันเชื้อเชิญให้เรากลับมาสู่การรับรู้ในตัวเรา มันไม่ได้ให้เราออกไปข้างนอก เราดูร่างกาย รับรู้มันตามที่เป็นจริง และเราทำได้เลย มันให้อำนาจบางอย่างกับเรา ในการที่จะเป็น Master ของตัวเอง 

แต่ละคนก็ค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ ค้นหาวิถีทางของตัวเอง เป็นการค้นหาที่เรารับรู้ได้ บางทีคีย์เวิร์ด “ความมั่นคงและผ่อนคลาย” ของแต่ละคนในแต่ละช่วงเวลาก็ไม่เหมือนกัน มันเป็นทั้งทางกายทางใจที่เราก็จะต้องฝึกฝนและเดินทางไปในชีวิต 

และไม่ว่าจะฝึกโยคะแบบไหนให้เรากลับมารับรู้ กาย ใจ และพลังงานของเราค่อยๆปรับ ค่อยๆ เรียนรู้ไปสู่แก่นของโยคะ ซึ่งคือการกลับสู่ธรรมชาติที่แท้จริงของเรา นั่นคือ “เราคือการรับรู้อันไร้ขีดจำกัด” การฝึกอย่างสม่ำเสมอจะพาเรากลับมาเป็นผู้รับผิดชอบต่อชีวิต จิตใจ และโลกใบนี้จากธรรมชาติที่เป็นความรักและตระหนักรู้ของเรา  มันเป็นศาสตร์ที่เป็นธรรมชาติของเรา  โยคะเป็น science of transformation

หยินโยคะในชีวิตของพี่นัด 

ในตำราของจีน พลังหยินและหยางต้องอยู่ด้วยกันถึงจะเกิดความสมดุล ผืนดินเป็นหยิน ท้องฟ้าเป็นหยาง พระอาทิตย์เป็นหยาง พระจันทร์เป็นหยิน มันเหมือนกับเชื่อมโยงเราในการฝึกตัวเอง เกิดความเข้าใจในตัวเองในร่างกายและจิตใจ มันทำให้เราค่อยๆเห็นความสัมพันธ์กับตัวเรา ผู้คน และสิ่งต่างๆ เข้าใจธรรมชาติของคนในสิ่งที่เขาเป็น เข้าใจธรรมชาติของสิ่งต่างๆ นั่นน่าจะเป็นคีย์ของปรัชญาโยคะดั้งเดิมที่มันทำให้เรากลับมาเริ่มที่ตัวเรา สังเกตความจริงที่ตัวเรา หาสมดุลที่ตัวเรา 

สำหรับพี่ ในแง่หนึ่งมันคือการ Empower ตัวเรา มันไม่ต้องไปรอให้สภาพแวดล้อมมันเปลี่ยน เงื่อนไขมันถูกต้อง เราถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลง และมันสร้างอำนาจที่เราจะไปทำงานกับคน กับโลกด้วย เพื่อเกิดความสมดุล เกิดความมั่นคง เกิดความสบาย และเราจะเห็นว่าการเปลี่ยนตัวเองมันก็สัมพันธ์กับคนอื่น มันไม่ได้แยกจากกัน

..เพียงเรากลับมาเริ่มต้นที่ความมั่นคงและสบาย ..

..เป็นสภาวะเดิมแท้ของร่างกายเรา..