บทความโดย อุทัยวรรณ ทองเย็น
เราภาวนาไปเพื่ออะไร?
เชื่อว่านี่เป็นคำถามคลาสสิกที่สุดในเส้นทางของผู้ฝึกภาวนา โดยเฉพาะเมื่อเราได้ฝึกภาวนาไปเรื่อยๆ คำถามนี้จะเริ่มวนเวียนเข้ามาทักทายเราบ่อยครั้งขึ้น ทำให้เราเริ่มลังเลสงสัย
เราภาวนาไปเพื่ออะไร?
คำถามนี้ถูกโยนเข้ามาสู่วงผู้ฝึกภาวนาเสมอในระหว่างการฟัง Talk ของครูตั้ม วิจักขณ์ พานิช เป็นการกระตุ้นให้เราใคร่ครวญถึงสิ่งที่เราคาดหวังที่จะได้รับจากการมาฝึกภาวนา
“เราเสียเวลาไปกับการนั่งนิ่งๆ เช่นนั้นหรือ”
“คำถามที่เรายังคงถามตัวเองอยู่เรื่อยๆ เราภาวนาไปเพื่ออะไร ??”
หลังจากผ่านประสบการณ์ของผู้ฝึกภาวนามาสักระยะหนึ่ง แม้เราจะยังตั้งคำถามกับตัวเองอยู่เสมอ แต่ความเข้าใจต่อการภาวนาก็มีเพิ่มขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตามความเข้าใจของแต่ละคนก็อาจจะมีความเฉพาะตัวมากๆ เพราะนี่เป็นเรื่องราวภายในที่คลี่คลายด้วยตนเอง และการอธิบายประสบการณ์ด้วยภาษาก็ไม่ชัดเจนเท่าใดนัก แต่ในตอนนี้อยากเชิญชวนให้ทุกท่านได้ลองใคร่ครวญกับข้อความที่คิดว่ามันอธิบายถึงกระบวนการภาวนาที่ชัดเจนมากๆ นั่นคือ “การตระหนักรู้ความเป็นจริงที่นำไปสู่อิสรภาพโดยสมบูรณ์“ ซึ่งข้อความนี้ได้พบจากในหนังสือชื่อ “ตามรอยพระโพธิสัตว์ คำสอนว่าด้วยหัวใจของการปฏิบัติภาวนา” (เขียนโดย พักชก ริมโปเช แปลโดย พินทุสร ติวุตานนท์)
ส่วนตัวคิดว่านี่เป็นคำอธิบายถึงกระบวนการภาวนาที่ตรงไปตรงมาและชัดเจนที่สุดสำหรับเองในขณะนี้
เมื่อเราลงนั่งบนเบาะภาวนาเป็นเวลา 45 นาที เราแค่นั่งเฉยๆ เพื่อฝึกที่จะกลับมาตระหนักรู้ (Aware)
เราจะตระหนักรู้อะไร?
ก็แค่รู้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นภายใต้การรับรู้ของเรา ฟังดูเหมือนเรื่องง่ายๆนะ แต่ความเป็นจริงที่ว่าการรับรู้ของเราตามความเคยชินนั้นช่างคับแคบมาก เรารับรู้ผ่านจิตสำนึก (Conscious)ได้แค่ 5% เท่านั้น ส่วนอีก 95% เป็นเรื่องจิตใต้สำนึก (Subconscious) และจิตไร้สำนึก (Unconscious) ซึ่งโดยปกติเราจะไม่รับรู้ อาจเรียกว่าเป็นจุดบอดในชีวิตที่เราเข้าถึงยาก เป็น Unknown ของตัวเรา
ในกระบวนการภาวนาด้วยร่างกาย (Somatic Meditation) กล่าวว่า ร่างกายนั้นเปรียบเหมือนเป็นประตูไปสู่ Unknown ในตัวเรา ไปสู่ 95% ของตัวเรา เราต้องเรียนรู้เรื่องราวต่างๆในชีวิตที่ซ่อนไว้ภายใต้ภาษาของร่างกายที่เราต้องทำความเข้าใจใหม่ผ่านการภาวนาด้วยร่างกาย เป็นสิ่งที่ไม่สามารถเข้าใจได้ผ่านการคิดซึ่งเป็นภาษาที่เราคุ้นชิน ซึ่งภาษาของร่างกายที่เราต้องสนใจ เช่น Sensation , Body Feeling , Intuition, Felt Sense (Felt sense is what the body know directly of itself without thinking mind)
การตระหนักรู้ที่เราต้องฝึกในการภาวนาคืออะไร?
มีคำอธิบายเกี่ยวกับการตระหนักรู้ที่น่าสนใจจากหนังสือ “รักโลก : In Love with the World“ (เขียนโดย ยงเก มินจู ริมโปเช หน้า 27-29) ได้กล่าวถึงการรับรู้ 3 ประเภท คือ การรับรู้ตามปกติ การระลึกรู้อยู่ภายใน และการระลึกรู้บริสุทธิ์
- การรับรู้ตามปกติ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันนั้นช่างวุ่นวายนัก ในแต่ละวันจิตเราคิดโน่นนี่ไปเรื่อย คิดถึงสิ่งที่อยากได้ คิดว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร แล้วก็เกิดปฏิกิริยาเป็นความชอบความชัง คล้ายๆเราสวมแว่นตาอีกอันซ้อนเข้าไปโดยไม่รู้ตัว ไม่รู้ว่าเลนส์เหล่านั้นได้บดบังและบิดเบือนการรับรู้ของเรา
- การระลึกรู้อยู่ภายใน หรือการมีสัมปชัญญะรู้ตัวอยู่ภายใน เมื่อนั้นเราจะถอดแว่นที่เอามาเพิ่มออกไปเสีย ลดการปรุงแต่ง แล้วมองเข้ามาข้างในก็จะเห็นว่าสัมปชัญญะเป็นคุณสมบัติของจิต เราจะปรุงแต่งน้อยลง มีความคิดหรือมโนคติน้อยลง เราจะเห็นอะไรๆอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน การระลึกรู้ที่กระจ่างชัดนี้ มีอยู่กับเราตลอดเวลาไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ มันอยู่ท่ามกลางความสับสน อารมณ์เชิงลบ และเงื่อนไขวัฒนธรรมที่หล่อหลอมวิธีมองโลกของเรา เมื่อเราเปลี่ยนจากการมองตามปกติเป็นการระลึกรู้อยู่ภายใน หรือรู้อย่างไม่แส่ส่าย การระลึกรู้นั้นจะไม่ถูกจำกัดด้วยความจำและความคาดหวัง ไม่ว่าการเห็น สัมผัส ลิ้มรส ได้กลิ่นหรือได้ยินสิ่งใด เราจะรับรู้ด้วยความคมชัดยิ่งขึ้น เราจะมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งนั้นๆอย่างมีชีวิตชีวา
การรับรู้ตามปกติกับการระลึกรู้อยู่ภายในนั้น มีความเป็น 2 ขั้ว คือ มีสิ่งที่เห็น และ สิ่งที่ถูกเห็น คือมีสัมปชัญญะรู้ว่าเรากำลังเห็นบางสิ่ง แต่เมื่อขจัดความเป็นสองขั้วนี้ได้ เราจะเข้าสู่สภาวะที่เรียกว่า การระลึกรู้บริสุทธิ์
- การระลึกรู้บริสุทธิ์ หรือรู้อย่างไร้ขั้ว คือ การไม่แบ่งแยก “ผู้รู้” กับ “สิ่งที่ถูกรู้” นี่เองคือคุณลักษณะของสัมปชัญญะบริสุทธิ์ เป็นสภาวะที่ค่อยๆเปลี่ยนจากการแบ่งขั้วไปสู่การไร้ขั้ว จากจิตที่ช่างเจรจาไปสู่จิตที่เป็นอิสระมากขึ้นเรื่อยๆ จากปฏิกิริยาตอบสนองที่เราทำไปตามความเคยชินและการคิดล่วงหน้าว่าสิ่งนั้นจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
เห็นได้ว่าการรับรู้ของเราต่อทุกสิ่ง ต่อตนเอง ต่อโลกภายนอก มีสภาวะการตระหนักรู้หลายมิติและสามารถแปรเปลี่ยนเลื่อนไหลไปได้ตามการฝึกฝนของเราเพื่อที่จะค้นพบว่าการตระหนักรู้ที่กระจ่างชัดมีอยู่แล้วในตัวเรา ทำให้เรามองเห็นตามความเป็นจริง เราใช้การตระหนักรู้ที่กระจ่างชัดเพื่อแปรเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อตนเองและต่อโลก เข้าสู่ความจริงแท้อันไม่บิดเบือนจากความหวังและความกลัว เราจะเริ่มมองเห็นกลลวงของอัตตาที่กำลังทำงานให้เราปั่นป่วนสับสน
ในหนังสือเรื่อง “ทะลวงวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ” ของท่านเชอเกียม ตรุงปะ ได้อธิบายถึงกระบวนการภาวนาที่จะทำให้เราเกิดการตระหนักรู้ความจริงอันนำไปสู่อิสรภาพได้อย่างชัดเจน ตรุงปะกล่าวไว้ว่า
“การปฏิบัติภาวนาเกี่ยวข้องกับการปล่อยให้เป็นไป
เราจะได้เรียนรู้วิธีที่จะเผชิญและสัมพันธ์กับเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้น
ไม่ใช่ด้วยอาการของการควบคุมมันให้ได้อย่างที่เราต้องการ
แต่ด้วยการเข้าไปทำความรู้จักในสิ่งที่มันเป็นและอยู่กับแบบแผนที่มันเป็นไป
ซึ่งก็คือการเข้าไปรู้ความจริงแท้นั่นเอง”
ความจริงแท้ที่ตรุงปะบอกว่าการภาวนาจะทำให้เราตระหนักรู้ได้นั้น คือ การทำงานของจิตหรืออัตตาของเรานั่นเอง ได้แก่ ความคิด อารมณ์ หลักการและกิจกรรมอื่นๆ ของจิต
การภาวนาจำเป็นต้องเริ่มต้นที่ชั้นนอกสุดของอัตตา อันได้แก่ความคิดฟุ้งซ่านที่วิ่งวนอยู่ภายในจิตอย่างต่อเนื่อง ความคิดจะถูกสร้างขึ้นมาตลอดเวลาให้ซ้อนเหลื่อมกันไปมาเพื่อจะได้ไม่มีสิ่งใดถูกมองเห็นนอกเหนือไปจากตัวมัน ส่วนอารมณ์ซึ่งสร้างความเพลิดเพลินตื่นตาตื่นใจชวนหลงใหลหรือเศร้าหมองก็จะขึ้นมาเพื่อล่อลวงให้เราคล้อยตาม
“ท่าทีของการภาวนาที่จริงแท้จะไม่มีความพยายามปลุกเร้าหรือกดข่มทั้งความคิดและอารมณ์”
ความคิดจะถูกปล่อยให้เกิดขึ้นเพื่อแสดงถึงภาวะความเป็นปกติพื้นฐาน ความเที่ยงตรงและความชัดเจนในการตื่นรู้ของจิต และด้วยการมองอารมณ์อย่างชัดเจนด้วยการปล่อยให้มันเป็นอย่างที่มันเป็น เราได้หยุดการอนุญาตให้อารมณ์สร้างความเพลิดเพลินหรือเบี่ยงเบนความสนใจของเราอีกต่อไป
สำหรับหลักการของการให้ชื่อกับปรากฏการณ์ที่สร้างความรู้สึกของโลกที่แน่นอนตายตัว (การให้ชื่อ Labeling คือภาพปรุงแต่งจากความคิดเราต่อทุกสิ่ง เช่น ความเป็นตัวตนของเรา) หลักการของจิตนี้จะสร้างความเชื่อมั่นว่าตัวเราเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องถาวร การภาวนาจึงเกี่ยวกับการมองเห็นธรรมชาติที่ทะลุผ่านได้ของหลักการเหล่านั้น เพื่อหยุดการทำหน้าที่สร้างโลกที่แข็งทื่อถาวร หยุดการสร้างภาพของตัวตนที่แน่นหนาไร้ชีวิตชีวา การภาวนาจะทำให้หลักการการให้ชื่อที่สร้างความยึดมั่นถือมั่นกลายเป็นเพียงการแยกแยะธรรมดาๆ
“ด้วยการตระหนักรู้ถึงความคิด อารมณ์ หลักการและกิจกรรมอื่นๆ ของจิต
พระพุทธเจ้าค้นพบว่าไม่มีความจำเป็นต้องดิ้นรนพิสูจน์การมีอยู่ของตัวเรา
ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนเพื่อเป็นอิสระ
เพราะความไม่มีอยู่ของการดิ้นรนคืออิสรภาพในตัวมันเองอยู่แล้ว”
ภาวะความไม่มีตัวตนนี้เองคือการบรรลุถึงพุทธภาวะ มันคือกระบวนการแปรเปลี่ยนวัตถุดิบของจิตใจจากการแสดงออกซึ่งความทะเยอทะยานของอัตตาไปสู่การแสดงออกซึ่งความเป็นปกติสุขและรู้แจ้งผ่านการปฏิบัติภาวนา
ตามความเข้าใจในขณะนี้ การภาวนาทำให้เราค้นพบการตระหนักรู้ที่กระจ่างชัดที่มีอยู่แล้วในตัวเรา และการตระหนักรู้เช่นนี้เปรียบเหมือนเป็นไฟฉายที่สาดแสงไปในความมืดมิดของ Unknown ความตระหนักรู้จะแสดงภาพตรงหน้าที่สว่างกระจ่างชัด และเมื่อประกอบไปด้วยการมองเห็นความเป็นจริงอย่างไม่บิดเบือน รับรู้และยอมรับทุกสภาวะตรงหน้าอย่างไม่หลบเลี่ยง ใจที่เปิดกว้างและศิโรราบจะทำให้เราผ่อนคลายลง เราจะมีทางเลือกเพิ่มขึ้นและไม่ถูกจำกัดอยู่แค่แบบแผนเดิมของเราอีกต่อไป ดังนั้นแม้ว่าเราต้องอยู่ท่ามกลางความโกลาหล เราสามารถรับมือกับมันได้โดยไม่ได้เติมเชื้อไฟโหมเข้าไปเพิ่ม แต่จะอยู่ตรงนั้นและเฝ้าดูกองไฟที่ค่อยๆมอดดับสลายไปในที่สุด
“จากจุดนี้เองเราจึงได้อิสรภาพสำหรับการอยู่กับทุกสถานการณ์ โดยไม่จำเป็นต้องต่อสู้หรือวิ่งหนีอีกต่อไป”