“Double Negativity” : ลบซ้อนลบ จุดเริ่มต้นห่วงโซ่ปฏิกิริยาสังสารวัฏ

บทความโดย อุษณี นุชอนงค์

ที่มาภาพ : Pixabay จาก Pexels

เวลาที่เกิดอารมณ์หรือความรู้สึกแรงๆ เช่น โกรธ เกลียด ต้องการ/ปรารถนา และอื่นๆ เรามองอารมณ์เหล่านี้ว่าเป็นอารมณ์ลบ (Negative Emotions) และบ่อยครั้งมองว่าเป็นปัญหา ทว่าจริงๆ แล้วปัญหาทั้งหมดไม่ได้อยู่ตรงที่อารมณ์เหล่านี้เป็นลบ เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช กล่าวว่า…

“อารมณ์ที่เป็นลบไม่ใช่ปัญหาทั้งหมด

อารมณ์เหล่านี้ เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่เคยหยุดนิ่ง อยู่กับที่ หรือติดแหง็ก มันเป็นพลังงานที่ระเบิดออกมา ก่อนจะหันเหไปในทิศทางที่ควบคุมไม่ได้ แต่มันก็ไม่เคยนำไปสู่การกระทำ”

– เชอเกียม ตรุงปะ

ยกตัวอย่างเช่น ความเกลียด ไม่เคยทำให้ใครลุกขึ้นมาฆ่าคนอีกคน หรือแม้แต่ความต้องการอะไรสักอย่างก็ไม่ได้ทำให้เราลุกขึ้นมาขโมยหรือทำร้ายใคร อารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในร่างกายของเรา ทว่ามันจำเป็นต้องกลายเป็นการกระทำ ดังนั้นเชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช จึงชี้ให้เห็นว่า “ปัญหานั้นไม่ได้อยู่ในความเป็นลบของอารมณ์” แต่ปัญหาอยู่ที่ “ความเป็นลบที่ซ่อนอยู่ในความเป็นลบ” หรือที่เรียกว่า Double Negativity ของอารมณ์นั้นๆ ต่างหาก

Double Negativity คืออะไร?

Double Negativity (ลบซ้อนลบ) คือความรู้สึกหรือปฏิกิริยาอัตโนมัติของเราที่มีต่ออารมณ์ของตัวเอง คือที่มาของการยืนยันว่าเหตุใดเราจึงสมควรหรือไม่สมควรรู้สึกเช่นนั้น เช่นนี้ ต่ออารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้น

“ฉันสมควรโกรธ”

“ฉันคู่ควรแก่ความต้องการ”

“ฉันไม่ควรโกรธ”

“ฉันควรรู้สึกดี”

“ฉันไม่ควรรู้สึกแย่”

ทั้งหมดนี้คือการต่อสู้ของตัวเราเองกับอารมณ์ เพื่อให้เรารู้สึกอย่างที่ต้องการ

ความเป็นลบซ้อนลบมักเชื่อมโยงกับรูปแบบสัญญาที่ซ่อนอยู่ข้างในลึกๆ ซึ่งยากที่จะตระหนักได้ทันในเสี้ยววินาทีที่เกิดขึ้น ดังนั้นรูปแบบการรับรู้/ความเชื่อ ทัศนคติ อคติ เหล่านี้ จึงเป็นตัวทริกเกอร์ จุดประกายให้เกิดปฏิกิริยาไปตลอดสาย และเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงยังคงอยู่ในความโกรธ ความเกลียด ความปรารถนา

หากจะกล่าวให้ชัดขึ้น ความเป็นลบซ้อนลบนี้มาจากตัวตน (Ego) ของเรา

‘เรา’ ต้องการให้ความเป็นจริงตรงหน้าเป็นอย่างที่ ‘เรา’ ต้องการ ซึ่งปฏิกิริยาของเราที่มีต่ออารมณ์ของตัวเอง เป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าเรากำลัง ‘ต้าน’ อารมณ์นั้น” (ถ้าสังเกตดีๆ จะมีคำว่า ‘เรา’ และมีคำว่า ‘ต้าน’)

มีคำของเชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ที่กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

“Pain is there because of you – ความเจ็บปวดอยู่ตรงนั้นเพราะ “เธอ””

– เชอเกียม ตรุงปะ

ที่มาภาพ : htmlgiant.com

ไม่ใช่เราหรอกหรือที่ไม่ต้องการความเจ็บปวด?

เหตุใดจึงกล่าวว่าความเจ็บปวดอยู่ตรงนั้นเพราะเรา?

ในที่นี้ครูบาอาจารย์พยายามอธิบายว่า “เราเจ็บ เพราะเรา ‘สู้’ กับอารมณ์”

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นความเจ็บปวดทางกายหรือทางใจที่เกิดขึ้น เกิดเพราะเราต่อสู้หรือต้านมัน เราต่อสู้กับความเจ็บปวดตลอดเวลาด้วยการตั้งการ์ดลึกๆ ว่า ความเจ็บปวดจะชนะเรา หรือเราจะชนะความเจ็บปวด นี่คือปฏิกิริยาทางอารมณ์ (Emotional Reactivity) ที่เรามีต่ออารมณ์ (Emotion) ของตัวเอง

ในประสบการณ์ของความทุกข์ หากลองสังเกตดีๆ เราจะพบ 2 สิ่งนี้อยู่เสมอ นั่นคือ  (1) ความทุกข์ และ (2) ปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่มีต่อความทุกข์

ความทุกข์ (1) คือ “สิ่งที่เกิดขึ้น”

ตัวอย่างเช่น เราทำค้อนหล่นใส่เท้าตัวเอง เราเจ็บ นี่คือความทุกข์(1)

แต่ทว่าเมื่อใดที่เราเริ่มเล่าเรื่อง เราเริ่มก่นด่าตัวเองว่าทำไมเลินเล่อ บ่นแฟนว่าทำไมไม่วางค้อนไว้ดีๆ สิ่งนี้คือปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่มีต่อความทุกข์ (2) เรากำลังต่อสู้กับความเป็นจริงที่ว่าค้อนหล่นใส่เท้าเราและเราเจ็บ

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ความกระวนกระวาย เราต้องการทำงานสำคัญให้ดี เราจึงรู้สึกกระวนกระวาย (1)

ทว่าเมื่อเรารู้สึกได้ถึงความกระวนกระวายนั้น เรากลับรู้สึกไม่ดีต่อความกระวนกระวายและต้องการให้ความกระวนกระวายนั้นหายไป (2) เรากำลังต่อสู้ดิ้นรนกับความกระวนกระวายที่เป็นผลจากความกระวนกระวายที่เกิดจากการที่เรากำลังทำงานสำคัญ

ด้วยเหตุนี้ เชอเกียม ตรุงปะ จึงอธิบายว่า …

“ความเจ็บปวดนี้จะไม่มีเลยหากไม่มี ‘เธอ’ … จะว่าไปแล้วการต่อสู้กับความเจ็บปวดนี้ไม่จำเป็นเลย ถ้าเธอเป็นความเจ็บปวดอย่างเต็มตัว เมื่อนั้นจะไม่มี ‘เธอ’ ในความเจ็บปวดนั้น”

-เชอเกียม ตรุงปะ

ที่มาภาพ : Pixabay จาก Pexels

ความเจ็บปวดเป็นเพียงพลังงาน มันไม่ได้เป็น “Pain” ดังนั้น ปัญหาของเราจึงอยู่ที่การไม่ได้เข้าไปมีประสบการณ์กับความเป็น “Pain” ว่ามันเป็น “Pain”  อย่างสุดๆ ต่างหาก

“เราไม่ได้เข้าไปมีประสบการณ์กับอารมณ์ (Emotions) อย่างเต็มที่ แต่เราดันไปติดแหง็กอยู่ตรงที่ว่า เราจะเอาชนะความเจ็บปวดได้ไหม

กล่าวคือ เราไปติดอยู่ตรงปฏิกิริยาทางอารมณ์ (Emotional Reactivity) ซึ่งนี่เองคือเหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงรู้สึกเจ็บปวด

เราเจ็บปวดเพราะเราคิดว่าเรากำลังจะแพ้ความเจ็บปวด และหากเราแพ้ ความเจ็บปวดจะกลืนกินจนเราไม่เหลืออะไร นี่คือปฏิกิริยาทางอารมณ์ แต่เมื่อใดที่เราเลิกดิ้นรน เมื่อนั้นรอยต่อไม่มี และเมื่อนั้นความเจ็บปวดจะกลายเป็นความเจ็บปวดอย่างสมบูรณ์

ทั้งหมดนี้คือ ทุกข์ ซึ่งเป็น อริยสัจข้อที่ 1

ความทุกข์ในที่นี้คือความไม่สบายกาย ไม่สบายใจในทุกกรณี (Discomfort) ตั้งแต่ความรู้สึกอึดอัดเล็กๆ น้อยๆ เวลาต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นชิน ไปจนถึงความเจ็บปวดที่เกิดจากความเจ็บป่วย เมื่อมีความไม่สบายกาย ไม่สบายใจเกิดขึ้น สิ่งแรกที่เราจะทำคือ พยายามกำจัดความไม่สบายกาย ไม่สบายใจให้หายไป เช่น เราเครียดแต่ไม่อยากเครียด เรามีความสุขและอยากให้ความสุขนี้อยู่กับเราตลอดไป (ซึ่งเป็นไปไม่ได้) หรือเราป่วยแต่ไม่ต้องการป่วย จุดนี้เองที่เราเริ่มแยกตัวเองออกจากประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นตรงหน้า

นี่คือเหตุผลว่าทำไมพุทธศาสนาจึงบอกว่า “จงอย่าปฏิเสธอารมณ์ ความรู้สึก”

หากเราลองอนุญาตให้ตัวเองได้ “รู้สึก” โดยไม่ปล่อยให้ความรู้สึกนั้นผลักดันให้ต้อง “ทำ” อะไร เช่น อนุญาตให้รู้สึกโกรธโดยไม่ต้องระเบิดออกไปเป็นคำพูดหรือการกระทำ หรือแม้แต่กลับมากัดกิน ก่นด่าตัวเอง

การไม่แยกตัวเองออกจากประสบการณ์นับเป็น ไมตรี (Loving-Kindness) ที่ตัวเราหยิบยื่นให้กับตัวเอง เพราะการไม่แยกตัวเองออกจากประสบการณ์เป็นการหลอมรวมกับความจริง “ที่โคตรจริง” (Non-Duality) ส่วน ความก้าวร้าว ซึ่งเป็นด้านที่ตรงข้ามกับไมตรีโดยสิ้นเชิงนั้น เกิดขึ้นจากการที่เราเอาแต่ปฏิเสธว่าไม่ใช่ เราต้องการให้ความจริงเป็นอย่างที่เราต้องการ

ที่มาภาพ : Oleksandr Pidvalnyi จาก Pexels

กล่าวโดยสรุป ตัวอารมณ์ไม่เคยเป็นปัญหา ทว่าความรู้สึกหรือปฏิกิริยาของเราที่มีต่ออารมณ์ต่างหากที่เป็นตัวปัญหา ความทุกข์เกิดจากปฏิกิริยาที่เรามีต่ออารมณ์ ในชั่วขณะที่เรามองไม่เห็นความแตกต่างระหว่างอารมณ์ และ ความรู้สึกที่มีต่ออารมณ์ ของตัวเอง (Emotion vs Feeling to the Emotions)

เมื่อใดก็ตามที่เราเริ่มเห็นปฏิกิริยานี้ เมื่อนั้นเรากำลังเห็น เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ซึ่งเป็น อริยสัจข้อที่ 2

และเมื่อนั้นเรากำลังเห็นอัตตาของตัวเอง